1. ในที่สุดศึกชิงประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จบลง หลังจากยืดเยื้อ แย่งชิงเก้าอี้กันระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยหลายยก ด้วยมติเลือก วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ ประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาลเดิม 188 เสียง โดยไม่มีผู้เสนอชื่อแข่งขัน ต่อด้วย ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 โดยมีผู้ออกเสียงเลือกเป็นการลับทั้งหมด 312 เสียง ขณะที่มีผู้โหวตให้ผู้แข่งขันอย่าง วิทยา แก้วภราดัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ 105 เสียง และงดออกเสียงทั้งสิ้น 77 เสียง ขณะที่รองประธานสภาฯ คนที่ 2 คือ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ไม่มีผู้เสนอชื่อแข่งขัน
2.นัยหนึ่งของการลงคะแนนวันนี้บอกอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ หรืออย่างที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการกีดกันพรรคก้าวไกลจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 2 เนื่องจากมีผู้เสนอแข่งขันเพียงตำแหน่งเดียว คือตำแหน่งของปดิพัทธ์ที่มาจากพรรคก้าวไกล
3. แล้วทำไมตำแหน่งประธานสภาฯ ถึงสำคัญและถูกแย่งชิง หากพูดให้เข้าใจง่ายประธานสภาฯ คือผู้ถือหมวก 2 ใบ ได้แก่ การเป็นหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ดำเนินกิจการของรัฐสภา เช่น การคุมประชุม นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ระบุอำนาจหน้าที่ต่างๆ เช่น การกราบบังคมทูลตำแหน่งนายกฯ หรือเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ยังคุมสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่ง ‘จัดคิว’ ‘จัดระเบียบวาระ’ และ ‘นัดประชุม’ ครั้งต่างๆ ไปจนถึงการเดินเรื่อง ‘ถอดถอน’ หรือส่งเรื่องไปยังองค์กรอิสระ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เคยถูกตีตกในยุคประธานสภาฯ ชุดก่อน ด้วยการไม่บรรจุวาระการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยตีความว่าร่างการแก้ไขดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6
4. ด้วยอำนาจหน้าที่ส่งผลให้ประธานสภาฯ มีความสำคัญ และเป็นตัวแปรหลักในการเปลี่ยนแปลงประเทศด้านต่างๆ เพราะนอกจากเป็นผู้กำหนดและบรรจุระเบียบวาระการประชุมแล้ว ยังรวมไปถึงนโยบายหรือกฎหมายที่จะบังคับใช้อีกด้วย เพราะทุกสิ่งต้องผ่านการพูดคุยในที่ประชุมรัฐสภา และแน่นอนว่า ประธานสภาฯ คือคีย์แมนสำคัญที่สามารถเร่งวาระหรือเตะถ่วงได้
5. รอยร้าวและความไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะมีความพยายามสะท้อนว่าทั้งสองยังชื่นมื่น แต่ดูอย่างไร ปัญหาก็ยังไม่เปลี่ยน จนเป็นเหตุให้สุดท้าย หวยดันออกที่ ‘คนกลาง’ อย่าง วันมูหะมัดนอร์ มะทา แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ต้องยอมรับว่า ทั้งหมดเกิดจากความ ‘เปลี่ยนไปมา’ อยู่หลายรอบ จากครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยบอกว่า ‘พรรคอันดับหนึ่ง’ ควรได้ประธานสภาฯ ไปเป็นการที่พรรคเพื่อไทยบอกว่า เนื่องจากพรรคอันดับสองมีเสียงใกล้กับพรรคอันดับหนึ่ง จึงต้องแบ่งกันเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุล
หนึ่งสัปดาห์ก่อนจะเลือกประธานสภาฯ ทั้งสองพรรคก็ยังตกลงกันไม่ได้ พรรคก้าวไกลประกาศล่วงหน้าไว้แล้วว่า ปดิพัทธ์จะเป็นประธานสภาฯ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็มีการ ‘วิ่ง’ อย่างหนักให้ สุชาติ ตันเจริญ เป็นประธานสภาฯ
6. ในที่สุด เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงนำมาสู่การดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ของพรรค 9 เสียง อย่าง ‘วันนอร์’ และทั้งสองพรรคกลายเป็นรองประธานสภาฯ แทน เพื่อไม่ให้รอยร้าวของฝ่ายประชาธิปไตยหนาไปกว่านี้ คำถามคือด้วยความขัดแย้งนี้ หน้าตาและอนาคตของรัฐบาลผสมฝ่ายประชาธิปไตยนี้จะเป็นอย่างไรต่อ?
7. ข้อแรกคือหลายคนเห็นว่า พรรคก้าวไกลนั้น ‘อ่อน’ เกินไป ยอมให้พรรคเพื่อไทยมากเกินไป แต่อีกจำนวนหนึ่งก็มีข้อเสนอว่า สิ่งที่ได้เพิ่มจากการ ‘ถอย’ ในวันนี้ คือเสียงยืนยันจากพรรคเพื่อไทยในการให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญอย่าง ‘นิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง’ และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ รวมถึงร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ รวมถึงข้อกำหนดในแถลงการณ์ คือทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะเสนอพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจน ‘สุดความสามารถ’
8. คำถามคือ เมื่อถึงเวลาจริง กฎหมายที่เกิดความขัดแย้งสูงเหล่านี้จะผ่านไปได้ถึงไหน และถึงที่สุด การเสนอพิธาเป็นนายกฯ จนสุดความสามารถนั้น ‘แค่ไหน’ ถึงจะเรียกว่าสุดความสามารถ หมายถึงการเสนอสองรอบหรือแค่รอบเดียว หรือทั้งหมดจะเพียงหมุดหมายหลักลอยที่ช่วยประคับประคองให้ทั้งสองพรรคผ่านช่วงเวลาแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ไปได้เพียงเท่านั้น
9. แม้ผลการเลือกประธานสภาฯ เป็นไปตามคาด แต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ทำไมจึงมีผู้เสนอชื่อเข้าแข่งขันแค่เพียงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 กับปดิพัทธ์เท่านั้น หรือนั่นจะเป็นหมุดหมายของฝ่ายตรงข้าม ของกลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ที่ ‘รับได้’ กับพรรคเพื่อไทย รับได้กับพรรคประชาชาติ แต่รับไม่ได้กับพรรคก้าวไกลเท่านั้น จึงต้องส่งคนลงแข่ง
10. เคราะห์ยังดีที่รอบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใคร ‘แตกแถว’ แม้แต่เสียงเดียว… แต่ร่องรอยที่สะท้อนให้เห็น ณ วันนี้ คือการแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดว่า หากเสนอพรรคก้าวไกล และเสนอพิธาเป็นนายกฯ ฝ่ายตรงข้ามก็จะไม่ยอมรับ แต่หากเป็น ‘เพื่อไทย’ รับได้ และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ เกมของการแยก ‘ก้าวไกล’ ออกจากเพื่อไทย สุมไฟความขัดแย้งให้หนักขึ้นไว้ เผื่อว่าวันหนึ่ง หากก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เพื่อไทยจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเอง แล้วดึงบรรดาฝั่งรัฐบาลเดิมไปอยู่ด้วยกัน
แต่ทั้งหมดนี้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบไว้แล้วว่า “เราถูกมัดด้วยอาณัติของประชาชน แม้เราอยากออกไป แต่เราออกไปไม่ได้ เรามีสิทธิด้วยนะที่จะออกไป แต่ไม่ชอบธรรม เราถูกพี่น้องประชาชน 25 ล้านเสียง มัดเรากับก้าวไกลให้ติดกัน เหมือนเป็นพ่อแม่ เราเป็นลูก เขาจับคลุมถุงชนให้ติดกัน เราไม่มีสิทธิปฏิเสธจริงๆ ทั้งหมด เจตจำนงพี่น้อง 25 ล้านคนสำคัญที่สุด”
10. เพราะแท้จริงแล้ว ‘ว่าที่ฝ่ายค้าน’ ณ วันนี้ ล้วนเกิดมาเพื่อเป็นรัฐบาล เพราะ ณ วันนี้ วันนี้ 312 เสียง ยังคงเหลืออีก 64 เสียง ที่จะชี้ชะตาว่า พิธาจะเป็นนายกฯ หรือไม่ รวมถึงยังไม่มีใครกล้าให้คำตอบได้ว่า เส้นทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือจะเจอขวากหนามอะไรอีก
11. ต้องไม่ลืมว่าอำนาจเดิมนั้นอยู่มานานเกือบ 10 ปี และแม้วันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะไม่มีอำนาจเหมือนเดิม ผ่านจำนวนเก้าอี้ที่ร่อยหรอในสนามเลือกตั้ง
แต่บรรดาอำนาจเงิน อำนาจทุน รัฐพันลึก (Deep State) ที่อยู่เบื้องหลัง ยังคงทำงานอย่างแข็งขัน ข่าวว่าด้วยการ ‘วิ่ง’ ไม่ให้ ส.ว.โหวตพิธา ข่าวว่าด้วยการ ‘วิ่ง’ ภายในพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ ส.ส.แตกเป็นมุ้ง ย้ายข้ามขั้ว หรือโหวตคนอื่นจึงดังระงม
ทั้งหมดนี้ โจทย์ใหญ่ของพวกเขายังเป็นโจทย์เดิมนั่นคือ
“ทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล”
โจทย์นี้จะสำเร็จหรือไม่ อีกไม่กี่วันได้รู้กัน
Tags: เพื่อไทย, ประธานสภา, ก้าวไกล, Analysis, พิธา