การส่งเสียงของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เท่ากับทิ้งระเบิดไปยัง ‘พรรคเพื่อไทย’ ว่าจะไปต่อในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค หรือจะตัดขาด แยกทางกันเดิน

คำให้สัมภาษณ์ของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่บอกว่า ถ้อยแถลงของพิธาไม่ได้อยู่ในข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 8 พรรคนั้นชัดเจน ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้เวลานี้ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และถึงที่สุด ในนาทีนี้ พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ก็ยังไม่ได้ตกผลึกว่า จะส่งพิธาเข้าชิงชัยในตำแหน่งนายกฯ อีกรอบ

ข่าวที่แว่วมาก็คือ ในพรรคเพื่อไทยปั่นป่วนไม่น้อย บรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่อยากเสียเวลาลากยาวในการโหวตชื่อพิธาอีกต่อไป หากสุดท้ายจะโหวตเหมือนเดิม แล้วแพ้เหมือนเดิม ขณะเดียวกัน ก็รู้ทั้งรู้ว่า พรรคก้าวไกลไม่อาจหาเสียง ส.ว.มาได้เพิ่มเติม ในการโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม เสียงบีบจาก ส.ส.ให้เปลี่ยนตัวนายกฯ เพื่อเปลี่ยนเกมเล่นมาสู่การที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกน จึงดังมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ใจกลางปัญหาสำคัญนั้นยังคงอยู่หลายเรื่อง เป็นภาวะอันน่ากระอักกระอ่วนที่ไม่มีใครอยากพูดถึง หากจะมีก็เพียงคนเดียวที่แทงตรงประเด็นคือ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่พูดสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่กล้าพูด นั่นคือ ‘พรรคก้าวไกลต้องเสียสละไปเป็นฝ่ายค้าน’

แล้วเรื่องนี้มีเหตุผลอย่างไร คนในแวดวงการเมืองพูดคุยกันอย่างไร ฉากทัศน์ต่อจากนี้จะวุ่นวายแค่ไหน The Momentum ชวนอ่านเบื้องหลัง และสาเหตุที่แม้คน 14 ล้านเสียงจะกาก้าวไกล แต่ทำไมประเทศไทยยัง ‘วุ่นวาย’ เหมือนเดิม

1. ระบอบ คสช.ยังเข้มข้น

ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา การที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบรัฐราชการ ทุนผูกขาด และนักธุรกิจ จนหลายคนลืมไปแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

อันที่จริง ระบอบ คสช.ไม่ได้เตรียมใจมาก่อนว่ารอบนี้จะพ่ายให้กับฝ่ายตรงข้าม พวกเขายังคิดเสมอว่าการแยกกันเดิน ร่วมกันตี โดยแตกพรรคย่อยเป็นหลายพรรค เอาชนะที่ระบบเขต ใช้เงินเป็นตัวตั้งจะสามารถเอาชนะพรรคก้าวไกลได้ ด้วยรู้ทั้งรู้ว่า จุดอ่อนที่สุดของก้าวไกลคือไม่มีตัวลงในเขตเลือกตั้ง ปัจจัยเดียวที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่เอาชนะในการเลือกตั้งปี 2562 คือ ‘กระแส’ ที่นำมาสู่จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

เมื่อก้าวไกล พรรคที่อันตรายที่สุดชนะเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยระบบใด ฝ่ายอนุรักษนิยมจึงเกิดอาการ ‘ช็อก’ ไปสักพัก และเมื่อตั้งตัวได้ พวกเขาก็รู้ว่ายังสามารถใช้เครื่องมือผ่านองค์กรอิสระ และผ่าน ส.ว.ได้

เป็นเวลาที่พวกเขาพลิกเกมกลับมาเป็นต่ออีกครั้งหนึ่ง

2. เป็นฝ่ายค้านนั้นอดอยากปากแห้ง

เอาเข้าจริง ในระบบการเมืองไทยไม่มี ส.ส.คนไหนที่อยากเป็นฝ่ายค้าน การเมืองแบบผู้แทนราษฎรตั้งแต่ 40 ปีที่ผ่านมา ต้อง ‘ทำพื้นที่’ ให้คนเห็นหน้า ต้องไปงานบุญ งานศพ งานแต่ง ต้องมีถนน น้ำไหลไฟสว่าง และการจะทำเช่นนั้นได้ การเป็นรัฐบาลย่อมมีภาษีมากกว่าเป็นฝ่ายค้าน ฉะนั้น นักการเมืองในระบบการเมืองแบบเก่าๆ ไม่ว่าจะพรรคใด ก็จะกระเสือกกระสนเอาตัวเองเข้าไปเป็นรัฐบาลให้ได้

ลองสังเกตดู ณ วันนี้จะเห็นว่า ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ แม้อยู่ในซีกเสียงข้างน้อย ก็ล้วนไม่ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายค้าน เพราะยังมีหวังว่าจะเป็นรัฐบาลต่อไป

กล่าวสำหรับบางพรรคนั้นชัดเจนว่า การได้นั่งเป็นรัฐบาล คุมกระทรวงใหญ่ๆ เป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้ ‘ทำทุน’ กวาด ส.ส.มาได้จำนวนมาก

ขณะที่ฟาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในรอบนี้ต่างก็หวังจะเป็นพรรครัฐบาลบ้าง นอกจากเหตุผลข้างต้นในการดึงงบประมาณลงไปยังพื้นที่แล้ว ก็ยังหวังจะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจบางอย่างให้พรรคกลับมายิ่งใหญ่

คำว่าเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ แล้ว ‘อดอยากปากแห้ง’ จึงเป็นเรื่องจริงในสารบบการเมืองไทย และทำให้หลายพรรคไม่อาจปล่อยให้โอกาสการเป็นรัฐบาลหลุดมือไปอีก

3. 188 เสียง กับ ส.ว.ย่อมเป็นองคาพยพเดียวกัน

เกมสำคัญตอนนี้คือการที่สภาล่างต้องทำตามใจ ส.ว. เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เสียงสนับสนุนจนเกิน 376 เสียง และดูเหมือนว่าตอนนี้ คนที่มีบทบาทกำหนดเกมมากกว่าได้กลายเป็น ส.ว.

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ว.กับฝั่ง ‘เสียงข้างน้อย’ ณ วันนี้ ก็คือพวกเดียวกัน ลองคิดดูง่ายๆ ว่า คนที่เป็นประธานแต่งตั้ง ส.ว. ก็คือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงสถานะ ‘พี่ใหญ่’ ของ สาม ป. และวันนี้นั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้มีพระคุณหากไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ที่ทำให้ ส.ว.มีสถานะ มีเงินเดือน ลากยาวมาถึงปีที่ 5 อย่างในวันนี้

ไม่ว่าสภาบนและสภาล่างจะมีระยะห่างกันเพียงใด แต่ก็น่าคิดใช่หรือไม่ว่า หัวหอกของ 188 เสียง อย่างพลเอกประวิตร ย่อมสามารถ ‘สั่ง’ ได้ ให้ ส.ว.โหวตอย่างไร และสามารถสั่งได้ว่าให้พรรคไหนเป็นแกนนำ แล้วสัดส่วนของรัฐบาลผสมจะมีพรรคใดบ้าง

ไม่ใช่เรื่องยากที่พลเอกประวิตรและ ส.ว.จะเลือกผลักสิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดอย่างพรรคก้าวไกลออกไป แล้วกำหนดรัฐบาลในรูปแบบของตัวเองว่าจะหน้าตาเป็นอย่างไร

และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ถึงที่สุด พรรคก้าวไกลจะไม่มีวัน และไม่มีทางที่จะรวมเสียง ส.ว.ได้

4. ประกาศิตสั่งฟ้า ทำอย่างไรก็ได้ ก้าวไกลต้องไม่เป็นรัฐบาล

สิ่งสำคัญก็คือ ขณะนี้ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ ‘คำสั่ง’ จากผู้มีอำนาจที่รวมตัวกัน ‘บล็อก’ ไม่ให้ก้าวไกลขึ้นเป็นรัฐบาล เพราะเป็นอันตรายทั้งกับจารีตประเพณี กลุ่มทุนผูกขาด และระบบราชการจนเกินไป คำอธิบายของฝั่งนี้มักบอกว่า ก้าวไกลไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีประสบการณ์เพียงพอ และหากพิธาขึ้นเป็นนายกฯ ก้าวไกลร่วมรัฐบาล ระบบราชการจะล่มจมทั้งหมด

ในการเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 การแก้ไขมาตรา 112 จึงเป็นใจกลางของปัญหาทั้งหมด เพื่อบอกว่า ก้าวไกลนั้นอันตรายมากเพียงใด

ทั้งเนื้อหาการอภิปรายและเสียงโหวตที่ได้จาก ส.ว.มาเพียง 13 เสียงนั้น บอกชัดเจนแล้วว่า ‘ชนชั้นนำ’ คิดอย่างไรกับพิธาและพรรคก้าวไกล และต่อให้ ‘หมอบกราบ’ อย่างไร พวกเขาก็ไม่เลือก

เรื่องน่าเศร้าก็คือ การเมืองไทยโดนกำหนดโดยกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน มีการเลือกตั้งที่เป็นเพียงเป็นพิธีกรรม หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นอย่างที่เขาคิด ก็ใช้กลไกทั้งหลายภายในรัฐธรรมนูญที่พวกเขาร่างขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนเกม

ความเชื่อที่คนพรรคก้าวไกลเชื่อเสมอมาก็คือ ‘เวลา’ นั้นอยู่ข้างพวกเขา ซึ่งก็ดูเหมือนจะจริง แต่หากระบบและโครงสร้างยังเป็นอย่างนี้…

ยังไม่มีหนทางไหนที่ง่าย ที่จะเปลี่ยนประเทศแบบที่พรรคก้าวไกลเชื่อเลย

Tags: , , , , , ,