“คืนนี้ อิหร่านทำผิดพลาดครั้งใหญ่ และต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ใครก็ตามที่โจมตีเรา เราจะโจมตีพวกเขากลับ”

ข้างต้นคือคำกล่าวของ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวถึงเหตุโจมตีเมื่อคืนนี้ (2 กันยายน 2024) หลังอิหร่านเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ด้วยการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ล่าสุดเป็นครั้งแรกถึง 180 ลูกมายังอิสราเอล โดยมุ่งโจมตีฐานทัพ 3 แห่งในกรุงเทลอาวีฟ (Tel Aviv) และทะเลทรายเนเกฟ (Negev Desert)

เหตุการณ์โจมตีดังกล่าวถือเป็นการโจมตีครั้งที่ 2 ของอิหร่าน และมีระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 6 เดือน โดยมีความแตกต่างกับครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง เพราะเตหะรานส่งสัญญาณเพียงเล็กน้อย และจู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัว เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรมีโอกาสเตรียมสกัดกั้นและรับมือได้เพียงเล็กน้อย ทำให้พื้นที่บางส่วนได้รับความเสียหาย แม้กองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces: IDF) เผยว่า ขีปนาวุธบางส่วนถูกทำลายไปแล้วก็ตาม 

ฝันร้ายที่อาจตามมาของคนทั้งโลกคือ สงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลาง นอกจากสงครามในกาซาที่ไร้จุดจบ เมื่อข้อตกลงหยุดยิงไปไม่ถึงฝั่งฝัน และอิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีเลบานอนและเยเมนภายใน 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา หลังโศกนาฏกรรมเพจเจอร์ระเบิด แต่มหาอำนาจอย่างอิหร่านกำลังถูกชักนำเข้าสู่สมรภูมิแห่งความขัดแย้งเต็มตัว หลังเนทันยาฮูลั่นวาจาจะตอบโต้ โดยมีการวิเคราะห์ว่า หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายการโจมตีคือ ‘โรงงานนิวเคลียร์’ ของอิหร่าน 

The Momentum สรุปเหตุการณ์ทั้งหมด นับตั้งแต่ปมความขัดแย้งของอิหร่าน-อิสราเอล ผลจากการโจมตี ความคืบหน้า จนถึงอนาคตของตะวันออกกลางและโลกนับจากนี้

ทำไมอิหร่านจึงโจมตีอิสราเอล

ในมุมของอิหร่าน การโจมตีอิสราเอลถือเป็น ‘แค้นที่ต้องชำระ’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) ให้เหตุผลผ่านแถลงการณ์เมื่อคืนนี้ว่า การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการตอบโต้ต่ออิสราเอล ทั้งการฆ่าบุคคลสำคัญ ทหารในกองกำลัง IRGC และผู้นำกองกำลังอื่นที่อิหร่านให้การสนับสนุน

เริ่มตั้งแต่การลอบสังหาร อับราฮิม ไรอิซี (Ebrahim Raisi) อดีตประธานาธิบดีอิหร่าน และฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน (Hossein Amirabdollahian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ในเดือนพฤษภาคม

ตามมาด้วยการสังหาร อิสมาอิล ฮานิเยห์ (Ismail Haniyeh) ผู้นำฮามาส พันธมิตรสำคัญของอิหร่าน กลางกรุงเตหะรานในเดือนกรกฎาคม รวมถึงปฏิบัติการณ์เพจเจอร์ระเบิดที่คร่าชีวิตกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) อีกหนึ่งกลุ่มพันธมิตรที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ฮามาสในสงครามกาซา

หรือแม้แต่เหตุการณ์ล่าสุดอย่างการปลิดชีพ ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้ มาซูด ปีเซชเคียน (Masoud Pezeshikian) ประธานาธิบดีอิหร่าน ตอบคำถามเลี่ยงในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อิหร่านจะปกป้องกลุ่มพันธมิตรที่ลุกขึ้นสู้เพื่อตนเอง ทว่าแหล่งข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ระบุว่า ผู้ออกคำสั่งโจมตีคือ อายะตุลลอฮ์ อาลี โคไมนี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดตัวจริงของอิหร่าน

นอกจากนี้การโจมตีครั้งนี้ยังทำให้ ‘สงครามเงา’ ในอดีตของ 2 ประเทศเด่นชัดขึ้น เพราะหากย้อนความตั้งแต่อดีต อิหร่านไม่ยอมรับอิสราเอลในฐานะประเทศมาโดยตลอด ขณะที่อิสราเอลเชื่อว่า อิหร่านคือภัยคุกคามสำคัญของประเทศ และพยายามกำจัดอิสราเอลอย่างลับๆ ซึ่ง ‘อาวุธนิวเคลียร์’ เป็นส่วนหนึ่งของชนวนความขัดแย้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์โจมตีเป็นอย่างไร

รายงานของสำนักข่าวบีบีซี (BBC) และอัลจาซีรา (Al Jazeera) เผยว่า อิหร่านยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้มายังกรุงเทลอาวีฟราว 180 ลูก ก่อนที่เสียงไซเรนดังขึ้น พร้อมแสงสีส้มบนท้องฟ้า โดยไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนจากฝั่งอิหร่านให้ทราบเหมือนครั้งก่อนหน้า แตกต่างจากการโจมตีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ด้วยรูปแบบการโจมตีดังกล่าว ทำให้บางพื้นที่ในอิสราเอลได้รับผลกระทบ ได้แก่ พื้นที่ทางตอนกลางและตอนใต้ ทว่าสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอ้างว่า สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธได้เกือบ 200 ลูก รวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศอย่างไอรอนโดม (Iron Dome) ที่ทำหน้าที่ทำลายขีปนาวุธจากอิหร่านอีกด้วย

ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลเผยรายละเอียดการโจมตีบางส่วนว่า อิหร่านใช้ขีปนาวุธพิสัยใกล้ความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Missile) เป็นครั้งแรก โดยมีความแม่นยำถึง 90% เพื่อโจมตีฐานทัพของอิสราเอล 3 แห่ง ขณะที่ เจก ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า การโจมตีของอิหร่าน ถือเป็นความพ่ายแพ้และไร้ประสิทธิภาพ 

สำหรับตัวเลขของผู้ได้รับผลกระทบในอิสราเอล รายงานระบุว่า มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ภาพจากสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) เผยให้เห็นประชาชนบางส่วนในอิสราเอลทางตอนกลางกำลังอพยพชั่วคราวบริเวณสะพาน หลังได้ยินเสียงไซเรนแจ้งเตือน

อย่างไรก็ตาม เจก แทปเปอร์ (Jake Tapper) ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ได้รับรายงานจาก IDF ว่า มีชาวปาเลสติเนียน 1 รายในเมืองเจริโค (Jericho) บริเวณเวสต์แบงก์ (West Bank) เสียชีวิตในการโจมตีครั้งนี้

หากย้อนกลับไปน่าสนใจว่า สหรัฐฯ ส่งคำเตือนก่อนการโจมตีไม่กี่ชั่วโมง โดยแถลงการณ์จากทำเนียบขาวระบุว่า พบข้อบ่งชี้บางอย่างที่อิหร่านกำลังเตรียมการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ขณะที่อิสราเอลประเมินไว้ล่วงหน้าคร่าวๆ ว่า ฐานทัพ 3 แห่งอาจถูกโจมตี

ขณะที่อิหร่านก็แจ้งเตือนชาติพันธมิตรอาหรับ 1 วันก่อนการโจมตีว่า รัฐบาลพร้อมโต้ตอบอิสราเอลในลักษณะเดียวกันกับครั้งที่ผ่านมา

อิสราเอลจะโต้กลับด้วยวิธีใด

เนทันยาฮูให้คำมั่นว่า จะตอบโต้การกระทำของอิหร่าน พร้อมระบุว่า รัฐบาลของอีกฝ่ายไม่เข้าใจอย่างแน่แท้ว่า อิสราเอลมีความมุ่งหมายที่จะปกป้องชาติและโต้ตอบศัตรูอย่างไร

“ไม่มีพื้นที่ไหนในอิหร่านที่แขนอันยาวเหยียดของอิสราเอลเข้าไม่ถึง ซึ่งนั่นหมายรวมถึงทั้งตะวันออกกลาง” เนทันยาฮูเคยกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนในสุนทรพจน์บนเวทีสหประชาชาติ (United Nations: UN)

ขณะเดียวกัน โจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้นำสหรัฐฯ ชาติพันธมิตรสำคัญยังย้ำว่า เขาและประเทศพร้อมอยู่เคียงข้างอิสราเอล แต่อาจจะขอหารือกันภายในว่า ควรใช้วิธีใดตอบโต้อย่างเหมาะสม

แม้ยังไม่มีข้อมูลปรากฏชัดเจนถึงรายละเอียด ทว่าในหน้าสื่อและผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่า อิสราเอลอาจใช้การโจมตีครั้งนี้เป็นข้ออ้างในการทำลายโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน สะท้อนจากท่าทีของ นาฟตาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่เรียกร้องให้รัฐบาลกำจัดโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน พร้อมกับกล่าวว่า เตหะรานกำลังทำผิดพลาดครั้งใหญ่

“อิสราเอลมีโอกาสที่ล้ำค่าในรอบ 50 ปีที่จะเปลี่ยนแปลงตะวันออกกลาง เราต้องทำ ‘ตอนนี้’ เพื่อกำจัดปฏิบัติการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แหล่งพลังงาน และระบอบก่อการร้ายให้สิ้นซาก” 

เบนเนตต์ย้ำว่า อิสราเอลมี ‘ความชอบธรรม’ และเมื่อถึงเวลาที่ประวัติศาสตร์มาเคาะประตูหาที่หน้าบ้าน ประเทศก็ควรเปิดประตูเพื่อกำจัดระบอบดังกล่าว เพื่อให้ชาวอิหร่านที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ด้านอิหร่านส่งสัญญาณไม่ให้อิสราเอลตอบโต้ พร้อมกับขู่ว่า หากลงมือจริง เตหะรานจะส่งขีปนาวุธที่ใหญ่กว่าครั้งล่าสุดไปให้

ในความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ราเอ็ด จาร์ราร์ (Raed Jarrar) ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัย DAWN ในสหรัฐฯ วิเคราะห์ผ่านอัลจาซีราว่า ขณะนี้ตะวันออกกลางเข้าสู่สงครามภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ และทุกอย่างจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง หากสหรัฐฯ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยการพูดตรงไปตรงมากับอิสราเอลว่า จะไม่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งอาวุธ การเงิน และการเข่นฆ่าอีกต่อไป

ขณะที่ โอมาร์ ราห์มาน (Omar Rahman) ผู้เชี่ยวชาญจาก Middle East Council on Global Affairs คิดว่า อิสราเอลจะตอบโต้อย่างแน่นอนและไร้ข้อสงสัย ทว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือ ตะวันออกกลางและโลกจะรับมือกับการตอบโต้ของอิสราเอล ที่อาจขยายสงครามในวงกว้างขึ้นอย่างไร โดยเขาเห็นว่า อิสราเอลส่งสัญญาณพร้อมเปิดหน้าเล่นในสมรภูมิรบมาสักพักแล้ว

อนาคตของตะวันออกกลาง สหรัฐฯ และโลกจะเป็นอย่างไรต่อ

แหล่งข่าวเผยว่า นักการทูตของสหรัฐฯ และชาติอาหรับ ต่างหวาดกลัวสงครามที่อาจลุกลามไปทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ แม้ในหน้าสื่อจะเห็นผู้นำชาติยุโรปออกโรงเตือนและประณามอิหร่านก็ตาม

นอกจากนี้ เดวิด เฮิรสต์ (David Herst) บรรณาธิการประจำสำนักข่าวมิดเดิลอีสต์อาย (Middle East Eye) ยังเขียนบทวิเคราะห์สถานการณ์ในโลกอาหรับอย่างน่าสนใจ หลังจากเกิดเหตุการณ์โจมตีของอิหร่านว่า ความก้าวร้าวของอิสราเอลอาจเป็น ‘กาวใจ’ ที่ทำให้ชาติอาหรับกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง หลังเผชิญความขัดแย้งฝังลึกจากช่วงอาหรับสปริง (Arab Spring)

เขาอธิบายว่า ไม่ใช่แค่ความพยายามของอิสราเอลและสหรัฐฯ ในการสถาปนาระเบียบใหม่ในตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ปมปาเลสไตน์ที่ยังคารังคาซัง ทว่าปัญหาดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับความเชื่อและศาสนา เพราะการสังหารนาสรัลเลาะห์ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ที่ได้รับความนิยมในหมู่มุสลิมชีอะห์ จนเปรียบเสมือน ‘ฮุซัยน์’ (Husayn) อิหม่ามคนที่ 3 ของนิกายชีอะห์ หรือหลานชายของมูฮัมหมัด (Muhammed) ศาสดาศาสนาอิสลาม ยังสร้างภาพจำใหม่ให้อดีตผู้นำเป็น ‘สัญลักษณ์’ แห่งการต่อต้านในหมู่กบฏ อีกทั้งยังถูกจดจำในฐานะตำนานผู้สู้เพื่อปาเลสไตน์และเยรูซาเล็มอีกด้วย

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่หลายคนยังหลงลืมคือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง มีผลโดยตรงกับ ‘การเลือกตั้งสหรัฐฯ’ หรือ ‘การเลือกตั้งของโลก’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดี พยายามโจมตีว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน และกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดี และแคนดิเดตท้าชิงเก้าอี้ผู้นำจากพรรคเดโมแครต ล้มเหลวในการบริหารจัดการนโยบายต่างประเทศในตะวันออกกลาง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การต่างประเทศของสหรัฐฯ มีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงไม่แพ้ปัจจัยอื่น และหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เพราะควันหลงของสถานการณ์ตะวันออกกลาง เมื่อรัฐบาลเดโมแครตคุมสถานการณ์ไม่อยู่ 

ไม่แน่ว่า โลกคงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงชนิด ‘หน้ามือเป็นหลังเท้า’ โดยไม่ต้องหาคำอธิบายใดจากการกระทำที่ ‘คาดเดาไม่ได้’ ของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ สะท้อนจากผลงานในช่วง 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง 

นั่นหมายความว่า สงคราม หรือความขัดแย้งทั่วโลก อาจอยู่ไม่ไกลตัวมนุษยชาติ โดยเฉพาะ ‘สงครามเงา’ ในเอเชียที่อาบเคลือบไปด้วยความขัดแย้ง แต่ถูกกลบด้วยสงครามจากพื้นที่อื่นของโลก

 

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/news/liveblog/2024/10/1/israel-attacks-lebanon-live-israelis-launch-ground-operation-in-lebanon

https://www.aljazeera.com/news/2024/10/1/israel-says-iran-launches-missile-attack-warns-residents-to-shelter

https://www.bbc.com/news/articles/c70w1j0l488o

https://www.timesofisrael.com/liveblog_entry/bennett-now-the-time-for-israel-to-destroy-irans-nuclear-program/

https://apnews.com/article/israel-lebanon-hezbollah-gaza-news-10-01-2024-eb175dff6e46906caea8b9e43dfbd3da

https://www.wsj.com/livecoverage/israel-iran-hezbollah-conflict/card/iran-gave-warning-ahead-of-attack-in-response-israel-promised-heavy-retaliation-bLNC6W0OspEIy0DwdquQ

https://www.middleeasteye.net/opinion/chaos-israel-sowing-across-middle-east-could-come-back-haunt-it

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,