หนึ่งในประเด็นใหญ่หน้าสื่อหลายวันที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น ‘การฟ้องร้องของเจ้าชายแฮร์รี (Prince Harry) ดยุกแห่งซัสเซกส์ (Duke of Sussex) ต่อหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ในสหราชอาณาจักร ‘มิร์เรอร์’ (Mirror) หลังให้เหตุผลว่า ต้องการทวงคืนความยุติธรรมให้ตนเอง และเมแกน มาร์เคิล (Meghan Markle) ดัสเชสแห่งซัสเซกส์ (Duchess of Sussex) หรือภรรยาของเขา ซึ่งปรากฏการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 130 ปี ที่สมาชิกราชวงศ์ระดับสูงแห่งอังกฤษให้ปากคำการพิจารณาคดีตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

เพื่อติดตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น The Momentum จึงสรุปและรวบรวมข้อมูลเรื่องราวการยื่นฟ้องของเจ้าชายแฮร์รีต่อมิร์เรอร์ดังต่อไปนี้

มูลเหตุที่เจ้าชายแฮร์รีถึงฟ้องมิร์เรอร์?

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าชายแฮร์รีปรากฏตัวที่ศาลสูงของประเทศอังกฤษ ในฐานะพยานเพื่อยื่นฟ้องต่อ ‘มิร์เรอร์กรุ๊ป’ (Mirror Group) บริษัทใหญ่เจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือ Daily Mirror, Sunday Mirror และ Sunday People ด้วยข้อหา ‘การแฮ็กข้อมูลทางโทรศัพท์’ และการเข้าถึงข้อมูลอย่างผิดกฎหมาย 

การฟ้องร้องครั้งนี้ เป็นเพียง 1 ใน 3 คดีจากทั้งหมดเท่านั้น เพราะเจ้าชายแฮร์รียังมีคดีฟ้องร้องสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ได้แก่ เดอะซัน (The Sun) ของ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch) และเดลีเมล (Daily Mail) ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมข้อมูลทางโทรศัพท์เช่นเดียวกัน ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งสองข้างต้นปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมขอให้ศาลยกฟ้อง โดยคาดการณ์ว่า ผลการพิจารณาคดีของเดอะซันและเดลีเมล จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

แม้ว่าเรื่องราวการยื่นฟ้องต่อมิร์เรอร์ของเจ้าชายแฮร์รีจะโด่งดังที่สุด แต่ยังมีคนดังมากมายที่ร่วมขบวนการในครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอดีตนักฟุตบอล นักร้อง หรือผู้จัดรายการโทรทัศน์ นับตั้งแต่ เอียน ไรต์ (Ian Right) เชอรีล โคล (Cheryl Cole) หรือจอร์จ ไมเคิล (George Michael) แต่มิร์เรอร์กรุ๊ปปฏิเสธอย่างเหนียวแน่น โดยอ้างว่าคนดังเหล่านี้ ใช้เวลายาวนานเกินไปที่จะฟ้องร้องพวกเขา

สำหรับเนื้อหาการฟ้องร้อง ดยุกแห่งซัสเซกส์ให้เหตุผลว่า สื่อแท็บลอยด์ภายใต้มิเรอร์กรุ๊ปทั้งสามมุ่งเป้าโจมตีไปที่ตนเองและราชวงศ์ โดยเข้าถึงข้อความเสียงส่วนพระองค์ และใช้วิธีผิดกฎหมายอื่นๆ ตั้งแต่ปี 1996-2011 เช่น การขโมยข้อมูลทางการแพทย์ จนทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา เช่น ความรู้สึกทุกข์ทรมานใจอย่างมาก หรืออาการหวาดระแวงคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือคนรอบตัว 

เจ้าชายแฮร์รีเปิดเผยว่า เขาทราบว่าตนเองถูกแฮ็กโทรศัพท์ในปี 2005 เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ของเจ้าชายวิลเลียมแจ้งกับทางการถึงสถานการณ์นี้พร้อมแนบหลักฐานบทความ 150 ฉบับต่อศาล ซึ่งอ้างว่าข้อมูลทั้งหมดที่ผลิตโดยเครือมิร์เรอร์กรุ๊ป ผิดกฎหมายทั้งหมด 

“มันคือการหารือด้วยแนวทางที่แตกต่างกันออกไป เพื่อหยุดความเกลียดชังที่มีต่อตัวผมและภรรยา” ดยุกแห่งซัสเซกส์กล่าว โดยเปิดเผยว่าตนคิดถึงการดำเนินคดีการทางกฎหมายเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งไปพักผ่อน ณ ฝรั่งเศสในปี 2018 ตอนนั้นเขาได้พบกับ เดวิด เชอร์บอน (David Sherborne) หรือทนายความของเจ้าชายแฮร์รีปัจจุบัน

ทั้งนี้ บีบีซี (BBC) รายงานว่า การขึ้นศาลของแฮร์รีเป็นไปอย่างสงบและเยือกเย็น เขาไม่ได้โต้แย้งข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งคาดว่า เขาน่าจะเตรียมตัวมาอย่างดีสำหรับการให้การครั้งนี้

คำกล่าวอันทรงพลังที่สุดของเขาในชั้นศาล คือ “ชีวิตของผมพังเพราะการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวจากสื่อ” แม้ว่าจะเป็นคำพูดที่เราได้ยินบ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้นั้นน่าเห็นใจมาก แม้แต่ แอนดรูว์ กรีน (Andrew Green) ทนายความของฝั่งมิร์เรอร์ยังแสดงความรู้สึก

นอกจากนั้น อีกหนึ่งคำถามที่เป็นจุดแข็งของเขาในครั้งนี้ เพราะทำให้ทุกอย่างมีน้ำหนักมากขึ้น คือ “พวกเขารู้เรื่องเหล่านี้ของผมได้อย่างไร?” ดยุกแห่งซักเซกส์กล่าว พร้อมอธิบายประกอบว่า เรื่องราวที่เผยออกสู่สาธารณะมีความเป็นส่วนตัวมาก ไม่มีทางที่ผู้คนจะได้มาด้วยวิธีการที่ถูกกฎหมาย

วัตถุประสงค์ของการฟ้องร้องครั้งนี้

มากกว่าการได้รับเงินหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับพระองค์ การฟ้องร้องครั้งนี้ คือการทวงคืนความยุติธรรมให้ตนเองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นตนเองที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจากการถูกโจมตีมาตลอด นับตั้งแต่การถูกพาดหัวข่าวอย่างน่าอัปยศอดสู หรือการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา (Princess Diana) พระมารดาของตน ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์จากการถูกปาปารัสซีไล่ล่าในปี 1997 รวมถึง เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกส์ กับแม่ของเธอที่เฉียดตายแบบเส้นยาแดงผ่าแปด หลังปาปารัสซีขับรถไล่ตามในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น ‘ความร้าวฉาน’ ในครอบครัว หลังจากเจ้าชายแฮร์รีเปิดเผยในปี 2020 ว่า News Group Newspapers ภายใต้การควบคุมของเมอร์ด็อก จ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับพี่ชายของเขา วิลเลียม (Prince William) เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) เพื่อปิดปากต่อข้อกล่าวหาการโจรกรรมข้อมูลทางโทรศัพท์ของเขา ซึ่งเป็นข้อตกลงลับกับราชวงศ์อังกฤษเพื่อเลื่อนการฟ้องร้องทางกฎหมาย และไม่ให้เป็นพยานในการพิจารณาคดี 

ส่วน News Group Newspapers ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อข้อกล่าวหาการพูดคุยกับเจ้าชายวิลเลียมแต่อย่างใด เพียงแต่ปฏิเสธว่า ไม่มีข้อตกลงลับกับราชวงศ์อังกฤษ

ทำไมการฟ้องร้องของเจ้าชายแฮร์รีถึงมีความสำคัญต่อราชวงศ์อังกฤษ?

การฟ้องร้องของแฮร์รีครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะขัดต่อธรรมเนียมดั้งเดิมของราชวงศ์อังกฤษที่ปรากฏในสาธารณะมาตลอด เมื่อเจ้าชายแฮร์รีกลายเป็นคนแรกในราชวงศ์นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ยืนในอยู่คอกพยาน นั่นหมายความว่าเขากำลังเปิดเผยตนเองในฐานะราชวงศ์และเรื่องราวส่วนตัวสู่โลกภายนอก เพื่อต่อสู้อย่างดุดันแบบ ‘ดับเครื่องชน’

“ปกติแล้ว ราชวงศ์อังกฤษมักพยายามอย่างดีที่สุด เพื่อที่พวกเขาจะไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องราวของศาล เพราะมันไม่น่าพอใจและไม่สนุกสำหรับพวกเขา และต้องเปิดเผยในเรื่องที่พวกเขาไม่อยากเปิดเผย

“แต่แฮร์รีปรากฏตัวด้วยทัศนคติ “ผมไม่แคร์อะไรอีกต่อไปแล้ว” จิม วอเทอร์สัน (Jim Waterson) บรรณาธิการของเดอะการ์เดียน (The Guardian) อธิบายการต่อสู้ของแฮร์รีที่ยังมีนัยสำคัญต่อราชวงศ์ แม้ว่าเขาและเมแกนจะลดบทบาทหน้าที่ของพระราชวงศ์ชั้นสูงในปี 2020 ก็ตาม

(ที่มา: Reuters)

ความเสี่ยงของการฟ้องร้องครั้งนี้

แน่นอนว่า การเปิดหน้าฟ้องร้องของเจ้าชายแฮร์รี มีความเสี่ยงที่เขาต้องแบกรับตามมาหลายอย่าง เช่น เขาอาจสูญเสียเงินจำนวนมากไปกับการฟ้องร้อง หากไม่เซ็นข้อตกลง ‘ไม่ชนะ ไม่มีค่าธรรมเนียม’ (No Win, No Fee) กับทีมกฎหมาย หรือสื่อสิ่งพิมพ์อังกฤษอาจหยามหน้าประจานเขา หากผลการพิจารณาคดีไม่ออกมาตามที่เขาคาดหวัง 

“เขารู้สึกว่าสื่อสิ่งพิมพ์อังกฤษ โดยเฉพาะแท็บลอยด์ ทำผิดกับเขา แม่ และคนรอบตัว และเขาต้องการจะทำบางอย่าง

“สิ่งที่ผมเห็น คือ เขารู้สึกโกรธ เขาคือผู้ชายที่เต็มไปด้วยบาดแผล และเขารับมันไม่ไหวแล้ว 

“เขายินดีที่จะต้องรับสิ่งเลวร้ายหรือลงมือทำมัน เพราะแฮร์รีเห็นว่า นี่คือหนทางที่เขาจะได้รับความยุติธรรม” จิมอธิบายความรู้สึกของดยุกแห่งซักเซกส์ที่ยอมรับความเสี่ยง เพื่อแลกกับศักดิ์ศรีของเขากับคนรอบตัว เพราะต่อให้ไม่ชนะคดี แต่การสร้างความวุ่นวายด้วยการ ‘ลาก’ มิร์เรอร์มาขึ้นศาลประจานต่อหน้าสาธารณะ เป็นสิ่งที่สาแก่ใจสำหรับเขา

เดอะการ์เดียนวิเคราะห์ความเสี่ยงของการพ่ายแพ้การพิจารณาคดีได้ 2 รูปแบบ คือ 

1. หากมิร์เรอร์กรุ๊ปโต้แย้งว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากสายข่าวลับ ศาลก็จะตัดสินว่าโทรศัพท์ของเขาไม่ได้ถูกแฮ็ก ซึ่งในการพิจารณาคดีวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา เจน เคอร์ (Jane Kerr) อดีตบรรณาธิการมิร์เรอร์อ้างว่า เธอให้นักสืบเอกชนดำเนินการสืบเรื่อง และไม่คิดว่าการกระทำดังกล่าวจะผิดกฎหมาย

2. การโต้แย้งว่าแฮร์รียื่นดำเนินการฟ้องร้องช้าเกินไป เพราะเงื่อนไขทั่วไป เหยื่อมีเวลา 6 ปี ในการเริ่มยื่นฟ้องเพื่อดำเนินคดี จิมอธิบายว่า หากกรณีนี้เกิดขึ้น ศาลแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากบอกว่าคุณดำเนินการช้ากว่าเส้นตาย 

ผลลัพธ์ของการฟ้องร้อง: หลากหลาย Scenarios ที่จบแบบไหน มิร์เรอร์ก็ไม่พ้นที่จะเจ็บตัว

เดอะการ์เดียนยังมองว่า ไม่ว่าผลลัพธ์การพิจารณาคดีจะออกมารูปแบบไหน แฮร์รีก็ได้เปรียบหมด นับตั้งแต่ผลลัพธ์รูปแบบแรก หรือสิ่งที่แฮร์รีอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดในการฟ้องร้อง คือศาลตัดสินว่ามิร์เรอร์หรือใครสักคนแฮ็กข้อมูลทางโทรศัพท์ของเขาจริง โดยเฉพาะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กร ต้องรู้เห็นเป็นใจ และอย่างน้อยต้องมีผู้ที่ยอมรับผิด

 ซึ่งหากกรณีนี้เป็นจริงจะสร้างความเสียหายให้กับมิร์เรอร์อย่างมหาศาล แต่ก็มีเงื่อนไขสำคัญ คือฝ่ายเจ้าชายแฮร์รีต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า มิร์เรอร์ทำผิดจริงและตนตกเป็นเป้าหมายจากการกระทำผิดกฎหมายนี้ 

หรือในกรณีที่สอง หากศาลตัดสินตรงข้ามกับความต้องการของแฮร์รี เรื่องราวอาจจะยุ่งยากกว่านี้ เพราะเรื่องราวการแฮ็กโทรศัพท์จริงของมิร์เรอร์ที่เคย ‘ดีล’ นอกศาลหลายกรณี จะถูกตั้งคำถามและนำออกมาพูดถึง จนอาจกลายเป็นมหากาพย์ที่ไม่จบสิ้น

รวมถึงกรณีสุดท้าย ผู้พิพากษาตัดสินเข้าข้างมิร์เรอร์ และอ้างว่าคนจำนวนมากก็ไม่ทราบว่าตนเองตกเป็นเหยื่อ ข้อพิพาทจะดำเนินไปหลายปี เพราะปรากฏหลักฐานว่า มิร์เรอร์กรุ๊ปจ่ายเงินไปมากกว่า 100 ล้านปอนด์เพื่อไกล่เกลี่ยการดำเนินคดีการแฮ็กโทรศัพท์ รวมถึงค่าธรรมเนียมทางกฎหมายมากกว่า 100 รายการที่ผ่านมา

“นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการแฮ็กโทรศัพท์ แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อการมีอำนาจ” จิมกล่าวพร้อมอ้างคดีเก่าของเมอร์ด็อก

คดีการแฮ็กโทรศัพท์ของสื่อไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร เพราะกรณีดังกล่าวเคยเป็นประเด็นมาแล้วในปี 2011 หลังจากอดีตสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดัง ‘The News of the World’ ของเมอร์ด็อก ต้องปิดตัวลง หลังมีการเปิดเผยจากสาธารณชนว่า นักข่าวแฮ็กข้อความเสียงจาก มิลลี ดาวเลอร์ (Milly Dowler) ผู้ที่ถูกลักพาตัวในปี 2002 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการไต่สวนระดับรัฐสภาเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเหล่านี้ จน แอนดี โคลสัน (Andy Coulson) บรรณาธิการของ The News of the World ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานดักฟังข้อความเสียงอย่างผิดกฎหมาย

อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้?

ข้อตัดสินจากคดีความระหว่างมิร์เรอร์กรุ๊ปและเจ้าชายแฮร์รี อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อหาข้อสรุป ซึ่งตอนนี้ศาลรับถ้อยคำของเจ้าชายแฮร์รีเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังมีเวลาอีกกว่า 2 สัปดาห์ที่จะดำเนินการรายละเอียดอื่นๆ เช่น การเรียกพยานเพิ่มเติมและการแถลงการณ์ปิดคดี 

นอกจากนั้น เพราะลักษณะคดีเป็นความผิดทางแพ่ง จะไม่มีใครต้องติดคุก ยกเว้นการจ่ายค่าเสียหายอย่างมหาศาล ซึ่งมีการคาดการณ์จากบีบีซี (BBC) ว่า ผู้พิพากษาจะเผยคำตัดสินของเขาในปลายปีนี้

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/uk-news/2023/jun/05/prince-harry-phone-hacking-trial-whats-at-stake

https://www.nytimes.com/article/prince-harry-uk-privacy-lawsuits.html

https://www.bbc.com/news/live/uk-65767193

https://www.cnbc.com/2023/06/09/prince-harry-uk-court-case-heres-whats-going-on.h

https://www.bbc.com/thai/international-56125759

Tags: , , , , , , , , , , , , ,