ผู้คนเดินพลุกพล่านในชุดแฟนซีสุดสร้างสรรค์ บรรยากาศบนท้องถนนที่จอแจกว่าปกติ แต่ก็ชวนสะพรึงขวัญไม่เบา เมื่อสถานที่เกือบทุกแห่งตกแต่งอย่างน่าขนลุก จากจินตนาการเหนือล้ำของมนุษย์ 

เหล่านี้คือภาพคุ้นชินที่ปรากฏในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี หรือ ‘เทศกาลเฉลิมฉลองฮัลโลวีน’ (Halloween) วันปล่อยผีตามความเชื่อของชาติตะวันตก ที่แผ่ขยายอิทธิพลไปในทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยเฉพาะสีสันในบริเวณถนนข้าวสาร สถานที่ประชันทางความคิดผ่านการแต่งกาย ไม่ว่าจะเป็น ‘นางฟ้า’ ถึง ‘ผีนางรำ’ ซึ่งบางครั้งก็สมจริงจนเรียกเสียงฮือฮาจากผู้คน เพราะแยกไม่ออกว่า ใครคือคนหรือผีกันแน่

ทว่าความสุขและเสียงหัวเราะในเทศกาลนี้กลับกลายเป็นเสียงคร่ำครวญของผู้คน เมื่อวันแห่งการเฉลิมฉลองกลายเป็นโศกนาฏกรรมเลวร้ายที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ นับตั้งแต่เหตุการณ์การอับปางของเรือเซวอล (Sewol) ในปี 2014 หลังวันที่ 29 ตุลาคม 2022 เกิดเหตุการณ์เบียดเสียดของฝูงชนในย่านอีแทวอน (Itaewon) สถานที่ท่องเที่ยวในยามราตรีสุดโด่งดังของกรุงโซล ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 ราย บาดเจ็บเกือบ 200 ราย ยังไม่รวมผู้สูญหายอีก 4,000 ราย

ภาพ: AFP

29.10 ในอีแทวอน: วันแห่งโศกนาฏกรรมที่เปลี่ยนเกาหลีใต้ไปตลอดกาล

ย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุการณ์ มีรายงานจากหลายแห่งเปิดเผยว่า จำนวนตัวเลขของผู้มาเยือนในย่านอีแทวอนมากกว่า 1 แสนคน ขณะที่บางส่วนรายงานว่า มีผู้คนนับหมื่นในวันเกิดเหตุ

สัญญาณแห่งโศกนาฏกรรมค่อยๆ ส่งเสียง หลังปรากฏโพสต์หนึ่งบนโซเชียลมีเดียว่า อีแทวอนเต็มไปด้วยผู้คนหนาแน่นอย่างผิดปกติ และเบียดเสียดกันในตรอกเล็กๆ จนทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจโทรสอบถามสถานการณ์กับประชาชนบางส่วน แต่ก็ยังมีผู้ยืนยันว่า ตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น

“มันบ้ามาก ในช่วง 5 โมงเย็น คนตามท้องถนนในอีแทวอนเยอะไปหมด ตอนนั้นผมเริ่มคิดแล้วว่า หากเป็นตอนหนึ่งหรือสองทุ่ม สถานการณ์จะเป็นอย่างไร” นูห์ยิล อาห์อัมเหม็ด (Nuhyil Ahammed) ชายชาวอินเดียในเกาหลีใต้บอกเล่าสถานการณ์กับบีบีซี (BBC)

ต่อมาในเวลาประมาณ 20.00 น. ตำรวจได้รับสายด่วนฉุกเฉินถึง 10 สาย โดยมีสายหนึ่งรายงานว่า เห็นคนล้มและได้รับบาดเจ็บเพราะถูกผลัก กระทั่งในเวลา 22.15 น. มีรายงานว่า ย่านอีแทวอนกำลังอยู่ในวิกฤต

ประชาชนบางส่วนล้มลงจากทางเดินที่ลาดชัน ขณะที่มีฝูงชนจำนวนมากออกมาจากที่เกิดเหตุไม่ได้ ตามมาด้วยคลิปวิดีโอที่ปรากฏในโลกโซเชียลฯ ว่า ผู้คนกำลังพยายามปีนหรือเกาะกำแพงเพื่อเอาชีวิตรอดจากเหตุสลดครั้งนี้ ก่อนจะมีความช่วยเหลือจากตำรวจและหน่วยฉุกเฉินตามมา

ภาพ: AFP

เรื่องราวดังกล่าวถูกตีแผ่ซ้ำในมุมของ ฮเย มินอี (Hye Min-yi) ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในอีแทวอนผ่านบีบีซีว่า เธอไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจำได้แม้แต่ความรู้สึกที่อึดอัดหายใจไม่ออก

“มันกลายเป็นหนังคนละม้วน ผู้คนเริ่มเตะและกรีดร้อง ตอนนั้นฉันคิดว่า น่าจะมีเหตุฆ่ากันในฝูงชนแน่” มินอีเล่าเหตุการณ์ เมื่อท้องถนนที่แออัดกลายเป็นลานประหารคนในชั่วพริบตา เธอล้มลงจากการเบียดเสียดของฝูงชน แต่ก็ยังเห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาพของคนอื่นๆ ที่สวมชุดแฟนซีล้มลง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่มินอีได้รับบาดเจ็บครั้งใหญ่ เธอมีอาการข้อเท้าหัก แผลฟกช้ำ และอาการไมเกรนร่วมสัปดาห์ ยังไม่รวมแผลทางจิตใจ เพราะเธอต้องเผชิญกับฝันร้ายถึงโศกนาฏกรรมครั้งนี้อย่างไม่รู้ลืม

ขณะที่ อี จูฮยอน (Lee Ju-hyun) เหยื่อผู้รอดชีวิตอีกรายก็ถ่ายทอดเรื่องราวในทำนองเดียวกัน เธอสะดุดล้มลงไปบนพื้นและโดนผู้คนทับ จนกล้ามเนื้อบริเวณขาแตกออก แม้จะสลบไปจากอาการบาดเจ็บ แต่ก็ยังจำเสียงของทุกคนในคืนนั้นได้ดี

“มีเสียงกรีดร้องทุกที่ ฝูงชนตะโกนว่า ‘ช่วยด้วย ฉันไม่อยากตาย’ ส่วนคนที่อยู่ในคลับก็ตะโกนกลับมาว่า ไม่นะ อย่าตายนะ” เธอเล่าเรื่องราว เมื่อผู้คนบางส่วนได้แต่ยืนมองเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากไม่สามารถให้ช่วยเหลือได้ ขณะที่เสียงกรีดร้องและคร่ำครวญค่อยๆ แผ่วเบาลงจากการเสียชีวิต

ไม่ใช่แค่ผู้คนและญาติผู้เสียชีวิตที่ได้รับผลกระทบ เพราะคลับบางแห่งในอีแทวอนปิดกิจการถาวร เหตุเพราะยังมีความกลัว ‘ซ้ำรอย’ โศกนาฏกรรมอีกครั้ง ขณะที่สีสันของย่านนี้ก็แปรเปลี่ยนไปด้วยบรรยากาศแห่งความโศกเศร้าในช่วงที่ผ่านมา โดยปรากฏภาพของผู้คนมากมายที่นำดอกไม้หรือสิ่งของไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต

ภาพ: AFP

ครบรอบ 1 ปี ฮัลโลวีนสีเลือด: เสียงเรียกร้องถึงผู้รับผิดชอบ เมื่อคนผิดยังลอยนวล

นอกจากความโศกเศร้าที่เกิดขึ้น เหตุการณ์นี้ยังกระตุ้นความโกรธแค้นของสาธารณชน เมื่อมีการเรียกร้องถึง ‘ความรับผิดชอบ’ จากรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ตอบสนองล่าช้า หลังมีรายงานจากนิวยอร์กไทม์ (New York Times) ว่า ประชาชนจำนวนมากชุมนุมประท้วงที่ศาลากลางกรุงโซลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

“10.29 โศกนาฏกรรมอีแทวอน: เราไม่ลืม”

“10.29 ภัยพิบัติอีแทวอน: ออกกฎหมายพิเศษซะ” 

ส่วนหนึ่งของป้ายชุมนุมจากประชาชน โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ การออกกฎหมายพิเศษเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผย เพราะประชาชนบางส่วนเชื่อว่า มีข้อผิดพลาดในระหว่างการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับอนุญาตจาก ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

ทั้งนี้ การสอบสวนเบื้องต้นสรุปว่า ความผิดพลาดของเหตุการณ์เกิดจากรัฐบาลท้องถิ่นที่ไร้มาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่แออัด และตำรวจเป็นฝ่ายเพิกเฉยสายด่วนของประชาชนที่ออกโรงเตือน โดยมีความเชื่อว่า โศกนาฏกรรมนี้สามารถป้องกันได้ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ความสนใจมากพอ 

แม้การสอบสวนครั้งนี้ทำให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ราว 23 นาย ต้องจำคุกในข้อหาละเลยต่อหน้าที่และประมาทเลินเล่อ ทว่าสาธารณชนบางส่วนไม่พอใจต่อการสรุปดังกล่าว เมื่อไม่มีคำอธิบายของมูลเหตุผิดพลาดอย่างชัดเจน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป แม้ว่าการสอบสวนจะดำเนินอยู่

เช่นเดียวกับท่าทีของ โอ เซฮุน (Oh Se-hoon) นายกเทศมนตรีกรุงโซล ที่อ้างว่า หนึ่งในความผิดพลาดมาจากจุดบอดของกล้อง CCTV และพยายามใช้คำศัพท์เลี่ยงความผิด โดยเรียก ‘ผู้บาดเจ็บ’ แทนที่คำว่า ‘เหยื่อ’ และนิยามเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น ‘อุบัติเหตุ’ มากกว่า ‘โศกนาฏกรรม’

ขณะที่ในภาคการเมืองเกาหลีใต้ก็เกิดการปะทะครั้งใหญ่ หลังพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (Democratic Party of Korea: DPK) พรรคฝ่ายค้านโจมตีการบริหารงานของยุน ซอกยอลในรัฐสภา และลงคะแนนเสียงถอดถอน อี ซังมิน (Lee Sang-min) ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทว่าการถอดถอนครั้งนี้กลายเป็นโมฆะ หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโดยมีมติเอกฉันท์ว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดจากความผิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เพิกเฉยหน้าที่ของตนเอง

ทั้งหมดนี้จึงยิ่งตอกย้ำวิกฤตทางการเมืองของเกาหลีใต้ และสภาวะไร้ความเป็นผู้นำของยุน ซอกยอล ในมุมของประชาชนบางส่วน โดยเฉพาะการนิ่งเฉยไม่แสดงความรับผิดชอบ นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมทางตอนใต้ของกรุงโซลที่มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รวมถึงการยกเลิกงานลูกเสือโลกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

บทเรียนจากอีแทวอน: มาตรการป้องกันของเกาหลีใต้และชาติอื่นๆ ในเทศกาลฮัลโลวีนปี 2023 

แม้จะมีเสียงวิจารณ์จากคนในประเทศถึงการไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาล แต่ในอีกมุมหนึ่ง รายงานของรอยเตอร์ (Reuters) และซีเอ็นเอ็น (CNN) เผยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามป้องกันเหตุร้ายในเทศกาลฮัลโลวีนปี 2023 ด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลท้องถิ่นเตรียมเฝ้าระวังพื้นที่ โดยคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงแออัดสูงในกรุงโซลทั้ง 14 เขต หนึ่งในนั้นมีอีแทวอน เขตยงซาน (Yongsan)

2. ติดตั้งกล้อง CCTV ที่มีระบบ AI คำนวณความแออัดของฝูงชน และจะแจ้งเตือนหน้าจอของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือ เบื้องต้นมีการจำลองสถานการณ์และคาดว่า จะมีการติดตั้งกล้องให้ครบ 1,000 ตัวใน 71 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้

3. ใช้กฎจราจร One-Way Rules หรือการสัญจรทางเดียวเพื่อลดการแออัดของฝูงชน

4. หยุดจอดรถไฟใต้ดินในสถานที่ที่แออัดเป็นพิเศษ

5. เตรียมหน่วยรักษาพยาบาลฉุกเฉินไว้ประจำการในพื้นที่เสี่ยง

ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างจีนและญี่ปุ่น ต่างก็เตรียมพร้อมรับมือต่อเหตุฉุกเฉิน ท่ามกลางความกังวลว่า อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนอีแทวอน โดยญี่ปุ่นมีมาตรการเตือนให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการรวมตัวที่ ชิบูย่า (Shibuya) ย่านท่องเที่ยวยามค่ำคืนยอดฮิต และห้ามดื่มเหล้าบนท้องถนนตั้งแต่เวลา 18.00-05.00 น. ในช่วงสัปดาห์ของวันฮัลโลวีน รวมถึงย่านที่มีแนวโน้มเสี่ยงแออัด ขณะที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพร้อมกระจายกำลังมากขึ้นเพื่อดูแลผู้คน

ขณะเดียวกัน เมืองกวางโจว (Guangzhou) ประเทศจีน ออกมาตรการห้ามผู้ใช้รถไฟ ‘แต่งตัวหรือแต่งหน้าน่ากลัว’ เพราะอาจทำให้ผู้โดยสารคนอื่นตกใจ และมีการปิดบางพื้นที่ของสถานีเพื่อให้บางคนได้เปลี่ยนเสื้อผ้าหรือล้างหน้า หลังกลับจากการเฉลิมฉลองเทศกาลวันฮัลโลวีนอย่างสุดเหวี่ยง

แม้โศกนาฏกรรมจะสร้างความสูญเสียให้กับผู้คนอย่างไม่น่าอภัย แต่การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุซ้ำรอยอีกครั้ง คือสิ่งที่เกาหลีใต้และหลายประเทศในเอเชียตระหนักและเรียนรู้อยู่เสมอ โดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า และนั่ง ถอดบทเรียน’ นับครั้งไม่ถ้วน ท่ามกลางชีวิตที่สูญเสียไปเรื่อยๆ อย่างน่าเหนื่อยใจ

อ้างอิง

https://www.bbc.co.uk/news/world-63448040

https://apnews.com/article/south-korea-halloween-surge-anniversary-a1f52ef140d566e897d77c699cdd2ce7

https://time.com/6328290/south-korea-itaewon-halloween-crowd-crush-anniversary/

https://edition.cnn.com/2023/10/27/asia/south-korea-itaewon-halloween-crush-anniversary-intl-hnk/index.html

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/top-south-korea-court-rules-against-ministers-impeachment-over-halloween-crush-2023-07-25/

https://www.nytimes.com/2023/10/29/world/asia/halloween-itaewon-seoul-korea.html

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/south-korean-night-life-district-mourns-dead-year-after-halloween-crush-2023-10-28/

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/south-korea-halloween-crush-seoul-tests-crowd-safety-plan-ahead-anniversary-2023-10-25/

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,