เมื่อวานนี้ (25 กรกฎาคม 2023) รัฐบาลจีนประกาศปลด ฉิน กัง (Qin Gang) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง ขณะที่ หวัง อี้ (Wang Yi) ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party Central Committee Foreign Affairs Commission) จะกลับมาดำรงตำแหน่งนี้อีกครั้งหนึ่ง
“สภานิติบัญญัติสูงสุดของจีนลงคะแนนเสียงให้ หวัง อี้ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (…) ตามที่มีการประชุมในวันอังคาร
“ฉิน กัง พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ” ส่วนหนึ่งของเนื้อความประกาศจากสำนักข่าวซินหัว (Xinhua) โดยทางการจีนไม่ระบุถึงสาเหตุของการปลดฉิน กัง ออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของใครหลายคน เมื่อมีสัญญาณบางอย่างบ่งบอกถึงความผิดปกติ นั่นคือการหายตัวไปจากหน้าสื่อเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม หลังอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ปรากฏตัวครั้งสุดท้ายในการเจรจาระหว่างรัสเซีย เวียดนาม และศรีลังกา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา
แม้รัฐบาลจีนจะให้เหตุผลว่า การงดปฏิบัติหน้าที่ของฉิน กัง มาจากปัญหาด้านสุขภาพ แต่ความเคลือบแคลงสงสัยก่อตัวขึ้นในหมู่สาธารณชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเหตุการณ์นี้ซ้ำรอยกับ ‘การหายตัวอย่างลึกลับ’ ของบุคคลสำคัญในหน้าการเมืองจีนอีกหลายคน
ไม่ว่าจะเป็น ป๋อ ซีไหล (Bo Xilai) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลฉงชิ่ง (Chongqing) แจ็ก หม่า (Jack Ma) นักธุรกิจพันล้าน เจ้าของบริษัทอาลีบาบา (Alibaba) หรือแม้แต่เหล่าคนดังอย่าง ฟาน ปิงปิง (Fan Bingbing) นักแสดงสาว และเผิง ฉ่วย (Peng Shuai) นักกีฬาเทนนิส ซึ่งบุคคลทั้งหมดข้างต้นล้วนมีความข้องเกี่ยวกับการทุจริต หรือการก่ออาชญากรรมบางอย่าง
เพื่อคลายความสงสัยบางประการ The Momentum ชวนทุกคนวิเคราะห์การหายตัวไปอย่างลึกลับ ที่จบลงด้วยการปลดตำแหน่งของ ฉิน กัง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยการย้อนรอยประวัติ เส้นทางการทำงานที่ผ่านมา และบทบาทสำคัญในฐานะคนสนิทของผู้นำจีน
จากนักการทูตสู่คนสนิทของ สี จิ้นผิง (Xi Jinping): ฉิน กัง ผู้อยู่เบื้องหลังการทูต ‘นักรบหมาป่า’
ฉิน กัง มีอายุ 57 ปี มีภูมิลำเนาในมณฑลเทียนจิน (Tianjin) และเริ่มเส้นทางการเมืองด้วยการทำงานด้านการต่างประเทศให้รัฐบาลจีนช่วงปลายทศวรรษ 1980 ไม่ว่าจะเป็นอาชีพนักการทูต รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตประจำการที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
แต่บทบาทที่โดดเด่นของเขา คือคนสนิทของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) และ ‘ดาวรุ่ง’ ในพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเป็นผู้ริเริ่มการทูต ‘นักรบหมาป่า’ (Wolf-warrior diplomacy) หรือการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนรูปแบบใหม่ในยุคสี จิ้นผิง ที่มีลักษณะดุดัน แข็งกร้าว ทะเยอทะยานในโลกระหว่างประเทศ และกล้าเผชิญหน้ากับมหาอำนาจ จากเดิมที่จีนมักมีท่าทีสงบเสงี่ยม ถ่อมตัวในโลกระหว่างประเทศตามหลักการ ‘หลบซ่อนเขี้ยวเล็บ’ หรือเทากวางหย่างหุ้ย (tāo ɡuānɡ yǎnɡ huì: 韬光养晦/韜光養晦) ของเติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping)
ดังนั้น การขึ้นมาของฉิน กัง ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในเดือนมกราคม 2023 จึงถูกจับตามองจากนักวิเคราะห์ว่า จีนอาจใช้นโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวกว่าเดิมถึงสองเท่า
ดังที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนย่ำแย่ลงเป็นอย่างมาก เพราะความตึงเครียดจากข้อพิพาทการสอดแนมบอลลูน ความสัมพันธ์สามเส้าในประเด็นไต้หวัน และเรื่องอื่นๆ ในอดีตที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
“จีนขอเรียกร้องให้บางประเทศหยุดเติมเชื้อไฟทันที หยุดโยนความผิดไปที่จีน และหยุดสร้างความปั่นป่วนให้ยูเครน รวมถึงไต้หวัน” ท่าทีส่วนหนึ่งของฉิน กัง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลัง แอนโทนี บลิงเคน (Anthony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ อ้างว่า จีนกำลังให้ความช่วยเหลือรัสเซีย
รวมถึงภาพลักษณ์ของจีนที่เปลี่ยนแปลงในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อจีนโดยการนำของฉิน กัง พยายามเน้นย้ำว่า ปักกิ่งคือผู้บรรลุสันติภาพในโลกระหว่างประเทศ และเสนอ ‘แผนสันติภาพ 12 ข้อ’ เพื่อยุติวิกฤตในยูเครน แต่ได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่า แผนดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดียิ่งขึ้นได้
ย้อนไทม์ไลน์การหายตัวไปของฉิน กัง
แม้ฉิน กัง ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังเข้าเจรจากับรัสเซีย เวียดนาม และศรีลังกา แต่ตามรายงานของสื่อภายใต้รัฐบาลจีน ฉิน กังยังเข้าพบ อันเดรีย รูเดนโก (Andrey Rudenko) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ที่เดินทางมาเยือนปักกิ่งภายใน 48 ชั่วโมง หลังกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ (Wagner) พยายามก่อจลาจลในกรุงมอสโก
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทราบสถานการณ์ของเขาอีกเลย เมื่อมีการยกเลิกการพบปะ โจเซฟ บอร์เรลล์ (Josep Borrell) หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป (European Union: EU) เพียงไม่กี่วันก่อนกำหนดการเดิม คือวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เขายังพลาดการเข้าร่วมงานสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาวงแคบกับสหรัฐฯ การพบกับคนสำคัญของวอชิงตันอย่าง เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) หรือแม้แต่การพบปะระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในการประชุมสุดยอดอาเซียนในจาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งหวัง อี้ รับหน้าที่นี้แทน
ในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์เพื่อคลายความสงสัยของมวลชนว่า ฉิน กังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะมีเหตุผลด้านสุขภาพ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม หรือมีหลักฐานอย่างใบรับรองทางการแพทย์แต่อย่างใด ขณะที่ก็เลี่ยงตอบคำถามเกี่ยวกับฉินจนถึงปัจจุบัน
บทวิเคราะห์: การหายตัวไปของฉิน กัง มีความหมายอย่างไร?
ข้อถกเถียงถึงการหายตัวไปของฉิน กัง ที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย คือสาเหตุการก่อความผิดในเรื่องชู้สาว หลังสื่อต่างประเทศแท็บลอยด์หลายสำนักรายงานว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการสอบวินัยของฉิน กัง เนื่องจากมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ ฟู เสี่ยวเทียน (Fu Xiaotian) นักข่าวฮ่องกง-สัญชาติอเมริกัน แห่งสถานีโทรทัศน์ฟีนิกซ์ (Phoenix TV) และมีลูกนอกสมรส 1 คน
หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง รัฐบาลจีนอาจเปิดเผยในเร็ววัน และฉิน กัง คงได้รับบทลงโทษไม่ต่างจากนักการเมืองคนอื่นๆ ดังที่ ป๋อ ซีไหล เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลฉงชิ่ง ถูกตัดสินในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยรับสินบนและใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว
แต่เพราะสถานการณ์การเมืองของจีนปิดกั้นจากโลกภายนอกและขาดความโปร่งใส นักวิเคราะห์จำนวนมากจึงมีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า การหายตัวไปของฉิน กัง (รวมถึงใครหลายคนในอดีต) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์กำจัดศัตรูทางการเมืองที่เห็นต่างจากสี จิ้นผิง เพื่อรักษาอำนาจของเขา ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองของจีน ขณะที่ยังไม่มีการเปิดเผยทายาทคนต่อไปที่จะสืบทอดตำแหน่งผู้นำแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แคทรีนา หยู (Katrina Yu) นักข่าวชาวจีนแห่งอัลจาซีรา (Al Jazeera) ตั้งข้อสังเกตว่า การหายตัวไปของเขามีความแปลกประหลาดมาก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า บุคคลสำคัญที่ขึ้นมามีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็วและได้รับความสนใจจากมวลชนเป็นจำนวนมาก จะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
“มันไม่แปลกถ้าการหายตัวไป เกิดขึ้นกับคนมีชื่อเสียง เช่น นักธุรกิจหรือคนดัง แต่สำหรับบุคคลที่มีอำนาจในรัฐบาลจีน นี่เป็นเรื่องที่หายากมาก” เธออธิบาย
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจะนำมาสู่ความวุ่นวายในการปฏิบัติงานทางการทูตของจีน เพราะฉิน กัง เป็น ‘หัวหอก’ ที่แนะนำสี จิ้นผิง ในการวางแผนและดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีน ขณะที่หวัง อี้ เป็นผู้ปรับใช้และทำตามคำสั่ง
“นี่เป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับจีน (…) ฉิน กังในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานในแต่ละวัน ซึ่งนั่นสำคัญมาก เพราะวงการนักการทูตอยู่ได้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่น ทำความรู้จักกันและกัน รวมถึงการมีความสามารถเข้าหาอีกฝ่าย
“ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องน่ากังวล เมื่อคุณปล่อยให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศหายไปเป็นเวลา 1 เดือนเต็มโดยไม่มีคำอธิบาย” นิโคลัส บีเกลิน (Nicholas Bequelin) นักวิชาการอาวุโสประจำมหาวิทยาลัยเยล กล่าว
เขาเสริมต่อว่า การปลดฉิน กัง โดยปราศจากคำอธิบาย ทำให้สังคมทั่วโลกมองว่า จีนคาดเดาไม่ได้ ไร้ความน่าเชื่ออีกครั้ง ซึ่งสวนทางกับความพยายามสร้างภาพลักษณ์อันน่าเชื่อถือ เป็นมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบในโลกระหว่างประเทศ
แม้ว่าบทสรุปยังไม่ชัดเจนและต้องติดตามความคืบหน้า แต่สิ่งเดียวที่แน่ชัด คือหวัง อี้ กลายเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศมากที่สุด ทั้งในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ ‘บุคคล’ ที่สี จิ้นผิง ไว้ใจและฝากฝังให้ดูแลการต่างประเทศของจีนนับจากนี้
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/foreign/news_4098835
https://www.theguardian.com/world/2023/mar/07/china-foreign-minister-qin-gang
https://www.aljazeera.com/news/2023/7/20/where-is-chinas-foreign-minister-qin-gang
https://www.aljazeera.com/news/2023/7/25/chinas-foreign-minister-qin-gang-removed-from-office
https://mgronline.com/around/detail/9560000119463
Tags: หวัง อี้, กระทรวงต่างประเทศจีน, CCP, การทูตนักรบหมาป่า, เติ้ง เสี่ยวผิง, สี จิ้นผิง, เทากวางหย่างหุ้ย, จีน, รัฐมนตรีต่างประเทศจีน, พรรคคอมมิวนิสต์จีน, การต่างประเทศจีน, ประเทศจีน, นโยบายต่างประเทศจีน, หายตัวลึกลับ, ฉินกัง