ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นจริง สิ่งที่อยู่เบื้องหลังลึกไปกว่า ‘วิวาทะ’ ว่าด้วยกำไรธนาคารสูงเกินจริง และดอกเบี้ยเงินฝาก-ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่างกันมาก คือการพุ่งเป้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมๆ กัน และพุ่งเป้าตั้งคำถามมากกว่าตัว ‘ธนาคารพาณิชย์’ ที่กำไรด้วยซ้ำ
สังเกตได้จากเมื่อ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ สรกล อดุลยานนท์ พูดถึง ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย’ สิ่งที่ตามมาคือบรรดาคนในรัฐบาลที่ต่างก็ออกมาถล่ม ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ราวกับว่าเป็นสิ่งที่คิดตรงกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกฯ ไม่ว่าจะเป็น กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกฯ ที่ต่างก็พูดราวกับว่า ความผิดหนึ่งเดียวที่ทำให้ธนาคารกำไรสูงเกินไป ความผิดที่ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากห่างกันราวฟ้ากับเหว มาจากการที่แบงก์ชาติไม่ทำหน้าที่ ‘ควบคุม’ และ ‘ตรวจสอบ’ การทำหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงปล่อยให้ดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไป
ข้อมูลสนับสนุนของฝ่ายนี้บอกว่า เมื่อ ‘เงินเฟ้อ’ เริ่มลดลง ‘ดอกเบี้ย’ ก็ควรลดตาม ข้อมูลสนับสนุนของฝ่ายนี้คือ ปีที่แล้วมีการขึ้นดอกเบี้ยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 8 ครั้ง ซึ่งอาจทำให้ดอกเบี้ยสูงเกินจริง ข้อมูลสนับสนุนยังบอกด้วยว่า หากตัด ‘อคติ’ ทั้งหมดทั้งปวงออก เศรษฐาตั้งข้อสังเกตเรื่องดอกเบี้ยสูงมาตั้งแต่ก่อนเป็นนายกฯ แล้ว
ว่ากันตามจริง ต่างก็เป็นความเห็นร่วมกันของบรรดาคนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รู้สึกว่าธนาคารพาณิชย์ ‘ปล่อยกู้’ ให้คอนโดมิเนียม-บ้านราคาถูกกว่า 3 ล้านบาทน้อยเกินไป เป็นความรู้สึกของบรรดาคนทำธุรกิจว่าจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินไป และในแง่หนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ จีดีพีโตน้อย ธนาคารพาณิชย์ควรมีส่วนต้องรับผิดชอบบ้าง
แต่ในเมื่อธนาคารพาณิชย์เป็นเอกชน และไม่ใช่เรื่องที่คนนอกจะเข้าไปยุ่มย่ามได้ เรื่องทั้งหมดจึงพุ่งเป้าตรงไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ที่ควรทำหน้าที่ดูแลธนาคารพาณิชย์ให้อยู่กับรูปกับรอย เพื่อตั้งคำถามว่ากรณีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ‘เพิกเฉย’ หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีสถานะเป็น ‘รัฐอิสระ’ ไม่อนุญาตให้ ‘ฝ่ายการเมือง’ เข้าไปแทรกแซง รัฐบาลจึงทำหน้าที่ได้เพียงบ่นแรงๆ
เพราะพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 พยายามแยก ‘รัฐบาล’ กับ ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ออกจากกัน เนื่องจากต้องการป้องกันไม่ให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายนโยบาย และดูแลด้าน ‘การคลัง’ เข้าไปแทรกแซงในฝั่งของ ‘การเงิน’
ทั้งนี้ เพื่อคานอำนาจ-เพื่อถ่วงดุล ไม่ให้ใช้นโยบายด้านการคลังจนขาดดุลงบประมาณ ขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจเสียหาย ธนาคารแห่งประเทศไทยก็สามารถใช้นโยบายด้านการเงินมาช่วยฟากเศรษฐกิจ
หากจำกันได้ ปี 2551 ที่กฎหมายนี้ประกาศใช้ คือปีเดียวกับที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคประชาชน อันมี หมอเลี้ยบ-นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทั่งมีข่าวลือถึงความพยายามที่จะปลด ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลานั้น เนื่องจากช่วงนั้นเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงพยายามขยับดอกเบี้ยในการควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำนโยบายการเงินเพื่อหนุนนโยบายการคลังฟากรัฐบาล แต่สุดท้าย หมอเลี้ยบยังไม่ทันได้ใช้อำนาจนั้น สมัครถูกศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน
ขณะเดียวกัน เมื่อปี 2554 ขณะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็มีข่าวลือถึงความพยายามของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการปลด ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการกำหนดดอกเบี้ยที่สูงเกินไปเช่นเดียวกัน
รอบนี้ ณ ปี 2566 หนังม้วนเดิมจึงวนกลับมาอีกครั้ง ทว่านอกเหนือจากวังวน ‘ดอกเบี้ยสูง’ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมลดตามที่รัฐบาลพอใจแล้ว ยังมีเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความไม่เห็นด้วยทั้งไม่ว่าจะต่อหน้าเศรษฐา ในงานการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย หรืองานเสวนาอื่นๆ
ในงาน The Standard Economic Forum เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เศรษฐาเจอกับเศรษฐพุฒิโดยตรง เศรษฐาขึ้นพูดบนเวทีว่า เห็นไม่ตรงกับเศรษฐพุฒิว่าเศรษฐกิจไทย ‘วิกฤต’ หรือไม่ เพราะเหตุผลสำคัญที่เศรษฐาตั้งใจออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 5.6 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องอยู่ใน ‘วิกฤต’ ก่อน
พูดง่ายๆ เศรษฐาเห็นว่า เศรษฐกิจไทย ‘วิกฤต’ แต่เศรษฐพุฒิยืนยันว่า ‘ไม่วิกฤต’
ด้วยเหตุนี้ ทุกคนจึงพยายามชี้ไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเป็นเหตุแห่งปัญหา ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ไม่ควรจะเป็น ‘รัฐอิสระ’ และคอยขัดแข้งขัดขากับรัฐบาลในทุกเรื่อง
ข้อสรุปในเรื่องนี้จึงเป็นการพยายามโยนหินถามทาง โดยใช้ประเด็นที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยมี ‘จุดร่วม’ และ ‘กระอักกระอ่วน’ กับเรื่องนี้มายาวนานว่า ทำไมประชาชนถึงเข้าถึงเงินกู้ สินเชื่อ ได้ยากเย็น เพราะเหตุใดดอกเบี้ยเงินฝากถึงต่ำ ดอกเบี้ยเงินกู้ถึงสูง และเพราะเหตุใดในเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำไมธนาคารถึงกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ได้ขนาดนั้น
เพียงแต่วันนี้ ไม่ว่าอย่างไร เศรษฐาและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ ที่จะเข้าไปยุ่งกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เพียงแต่วันนี้ ไม่ว่าอย่างไร เศรษฐาก็ไม่สามารถส่งคนเข้าไปจัดการในธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แม้แต่ให้นโยบายด้านการเงินกับแบงก์ชาติก็ยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ ความเป็น ‘รัฐอิสระ’ จึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หลายคนมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ‘แข็ง’ เกินไป มีความอนุรักษนิยมเกินไป โดยไม่สนใจโลกภายนอก
ถึงวันนี้ แม้แต่จะ ‘ปลด’ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังไม่ได้ให้อำนาจนายกฯ โดยตรง โดยกฎหมายล็อกไว้ว่า ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจะพ้นจากตำแหน่งนอกเหนือจากตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องมีส่วนรับรองว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอรัฐมนตรีว่า ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบกพร่องอย่างร้ายแรง หย่อนความสามารถ
ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในแวดวงการเงินการคลังจึงเห็นว่า เป็นเรื่องยากมากหากจะอาศัยกฎหมายนี้ในการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และสถานะรัฐบาลอกแตก พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีสถานะนำ หากแต่มีพรรคการเมืองหลากหลายพรรคเช่นนี้ เศรษฐาจะยิ่งไม่กล้าใช้อำนาจนี้ปลดเศรษฐพุฒิ และหากลงดาบเมื่อไร โมเมนตัมจะเปลี่ยนให้เศรษฐากลายเป็น ‘ตัวร้าย’ ทันที
รัฐบาลจึงต้องใช้โอกาสนี้ ‘นวด’ ให้ประชาชนเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยผิดพลาดอย่างไร เพิกเฉยต่อเรื่องนี้อย่างไร เพื่อทำให้สังคมเห็นภาพเดียวกับที่รัฐบาลเห็น โดยมองข้ามไปว่า แท้จริงแล้ว การที่เศรษฐกิจฝืดเคือง การที่เงินเฟ้อพุ่ง ไม่ใช่มาจากนโยบายการเงินอย่างเดียว หากแต่มาจากนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา 4 เดือนแล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้แม้แต่เปราะเดียว
สถานะของเศรษฐาและเศรษฐพุฒิจึงน่าจะยังคงเป็น ‘ลิ้นกับฟัน’ ต่อไป และไม่ว่าจุดใด นายกฯ อดีตนักธุรกิจอสังหาฯ หมื่นล้าน ก็คงไม่ลงรอยกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ง่ายๆ
ทั้งหมดจะรุนแรงขึ้นในวันที่โครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ใกล้โหมโรง
Tags: Analysis, The Momentum ANALYSIS, เศรษฐา ทวีสิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย