หมุดหมายสำคัญในปี 2024 ของผู้สนใจการเมืองโลก คงหนีไม่พ้นการติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งทั่วโลก นับตั้งแต่การเลือกตั้งรัสเซียในเดือนมีนาคม ตามมาด้วยการเลือกตั้งอินเดียช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และศึกท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน 

ทว่าประเทศอื่นๆ อย่างภูฏาน พื้นที่ที่ใครหลายคนขนานนามว่า ‘ดินแดนเล็กๆ แต่ผู้คนมีความสุข’ ก็มีประเด็นในการเลือกตั้งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อ เชอริง ต๊อบเกย์ (Tshering Tobgay) อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏานและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยประชาชน (People’s Democratic Party: PDP) จุดประเด็น ‘ความท้าทายทางเศรษฐกิจ’ ท่ามกลางนโยบายดั้งเดิมที่เน้นการ ‘สร้างความสุขให้คนในชาติ’ ด้วยการใช้ ‘ค่าดัชนีมวลรวมแห่งความสุข’ (Gross National Happiness) แทนค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product: GDP) เป็นตัวชี้วัดในการพัฒนาประเทศ 

ขณะเดียวกัน ประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะ ‘ภาวะสมองไหล’ ของคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ โดย อัลจาซีรา (Al Jazeera) เผยว่า อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในภูฏานอยู่ที่ 29% ขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.7% ตลอดทั้ง 5 ปีที่ผ่านมา 

“เราไม่ต้องการถนนหรือสะพานที่มากกว่านี้ สิ่งที่เราต้องการคืองานสำหรับคนรุ่นใหม่” คินลีย์ วังชุก (Kinley Wangchuk) ชาวนาชาวภูฏานวัย 46 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) ซึ่งสะท้อนถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจ และการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่ท่ามกลางการเลือกตั้งภูฏานรอบสุดท้ายวันที่ 9 มกราคม 2024 หลังพรรคการเมือง 2 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยประชาชน และพรรคภูฏานเทนเดรล (Bhutan Tendrel Party: BTP) ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในการเลือกตั้งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา

‘ภูฏาน’ ดินแดนแห่งความสุขที่คนในอยากออก เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและเสรีภาพในการแสดงออก

การเมืองและเศรษฐกิจของภูฏานต่างจากประเทศอื่นทั่วทุกมุมโลก สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ประกอบกับความเกรงกลัวว่า อิทธิพลจากต่างชาติจะบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์และวัฒนธรรมสำคัญในประเทศ จึงทำให้ประเทศแห่งนี้ปิดกั้นตนเองจากโลกภายนอกเสมอ

เหล่านี้สะท้อนจากการเปิดประเทศในช่วงปี 1970 และการเข้าถึงโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตในปี 1999 โดยสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) พระราชบิดาของ จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) กษัตริย์องค์ปัจจุบันถึงกับเอ่ยปากว่า ภูฏานเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่ผู้คนเพิ่งรู้จักเทคโนโลยีเหล่านี้

ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปด้วยดีในโลกยุคใหม่ เมื่อมีคำสัญญาจากรัฐบาลและสถาบันในการสร้างแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการริเริ่มลงทุนกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น สังคมภูฏานเต็มไปด้วยความเน่าเฟะ ทั้งการคอร์รัปชัน และวัฒนธรรม ‘เลือกที่รัก มักที่ชัง’ ในกลุ่มชนชั้นนำ ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ขณะที่สาธารณูปโภคในภูฏานก็ไร้ประสิทธิภาพ นับตั้งแต่เที่ยวบินที่หายาก สนามบินที่ได้รับการกล่าวขานว่า ‘อันตรายในอันดับต้นของโลก’ หรือการที่เมืองทิมพู (Thimpu) เมืองหลวงของภูฏานไร้สัญญาณไฟจราจร

ยังไม่รวมประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อบทความจากเดอะดิโพแมต (The Diplomat) เผยว่า เยาวชนจำนวนมากไม่สามารถวิจารณ์การทำงานอันล้มเหลวของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะนโยบายต่างๆ มักเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ที่ได้รับการเคารพรักจากผู้คนในประเทศ นั่นหมายความว่า การวิจารณ์รัฐบาลเท่ากับการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และพวกเขาจะถูกตีตราในฐานะ ‘เหลือบไรของสังคม’ 

เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนรุ่นใหม่ผ่านกลุ่มฮิปฮอบที่มีชื่อว่า Thrigyal, Norlha & Zhingkham พวกเขาประพันธ์บทเพลง ‘Thimphu Wonderland’ เพื่อแสดงความขุ่นข้องหมองใจจากนโยบายที่ล้มเหลวของรัฐ 

“มีงานสำหรับฉันไหมในเมืองแห่งนี้? ให้โอกาสฉันหน่อย นั่นคือสิ่งที่ฉันต้องการ 

“ฉันเครียดแทบตาย เพราะความลำบากถาโถมเรื่อยๆ และตอนนี้ฉันเกือบจะถูกไล่ออกจากงาน

“ในเมืองแห่งนี้ ฉันเห็นแต่พระราชวังของผู้ร่ำรวย แต่ฉันแทบจะเอาชีวิตไม่รอดจากเศษอาหารที่ได้รับมา” 

เนื้อเพลงส่วนหนึ่งจาก Thimphu Wonderland ที่พูดถึงความยากลำบากของคนรุ่นใหม่ของภูฏาน เมื่อพวกเขาเดินทางมาเมืองหลวงของประเทศเพื่อหน้าที่การงานที่ดี ทว่ากลับเอาตัวไม่รอดเพราะความยากจน

ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่สภาวะสมองไหล หลังเยาวชนภูฏานจำนวนมากพยายามเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ จนมีการเปรียบเทียบว่า จำนวนการสอบ วัดระดับทางภาษา IELTS ยังมากกว่าการสอบรับราชการในประเทศ

ทั้งนี้ ออสเตรเลียคือหมุดหมายสำคัญของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเหตุผลด้านการศึกษา และความง่ายดายในการรกรากตั้งถิ่นฐาน โดยออสเตรเลียนบรอดแคสติงคอร์ปอเรชัน (Australian Broadcasting Corporation: ABC) ระบุว่า ชาวภูฏาน 1.4% ของประชากรทั้งหมด ยื่นขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศออสเตรเลียในเดือนมิถุนายน 2022 

“ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญที่ผู้คนจำนวนมากออกนอกประเทศ เพราะพวกเขาคิดว่า ตนไม่มีความสามารถหรือโอกาสที่จะอยู่อย่างสบายใจหรือมีความสุขในภูฏาน

“ในภูฏาน เราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นและบรรยากาศย่ำแย่ มันทำให้ผมรู้สึกไม่ดี” คินลีย์ ปุนโช (Kinley Phuntsho) นักเขียนอิสระชาวภูฏาน ให้สัมภาษณ์กับ ABC หลังตัดสินใจไปย้ายที่ออสเตรเลีย 

เช่นเดียวกับ กิปซู (Kipchu) วิศวกรด้านเคมีที่ย้ายไปเมืองเพิร์ท (Perth) เพราะ ‘โอกาสทางธุรกิจ’ เขาให้สัมภาษณ์กับวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America: VOA) ว่า ต่อจากนี้ไป ชาวภูฏานจะเดินทางมายังออสเตรเลียมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหน้าที่ทำงานและนโยบายที่ยืดหยุ่นในประเทศแห่งนี้จะดึงดูดผู้คนในภูฏานที่โหยหาโอกาส

ภาวะสมองไหลของคนรุ่นใหม่ในภูฏาน: คำถามสำคัญในการเลือกตั้ง แต่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด

สิ่งที่เห็นได้ชัดในการเลือกตั้งภูฏานครั้งนี้ คือการหยิบยกประเด็นปากท้องของประชาชน แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ และการย้ายถิ่นฐานของผู้คน สะท้อนจากการที่ พรรคการเมือง 2 พรรคต่างพูดถึงปัญหาดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา หลังชาวภูฏานเกือบ 2% ของประชากรทั้งหมด กำลังยื่นขอวีซ่าไปออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าสถิติใน 6 ปีรวมกัน

“เรากำลังสูญเสียกำลังสำคัญของชาติ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราอาจต้องเผชิญการที่ชุมชนรกร้าง และทั้งประเทศถูกละทิ้ง” เปมา เชวัง (Pema Chewang) หัวหน้าพรรคภูฏานเทนเดรลระบุ แม้ว่าพรรคของเขา และพรรคประชาธิปไตยประชาชนต่างยืนยันว่า จะรักษา ‘ปรัชญาการสร้างความสุขให้กับคนในชาติ’ ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2008 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม

ขณะที่สถิติจากพรรคประชาธิปไตยประชาชนสะท้อนว่า เศรษฐกิจภูฏานกำลังย่ำแย่ เมื่อทุก 1 ใน 8 ของประชากรต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารหรือปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต หลังวิกฤตโควิด-19 โหมกระหน่ำจนทำให้ทุกอย่างในประเทศหยุดชะงัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏคำตอบอย่างเป็น ‘รูปธรรม’ ในการจัดการวิกฤตจาก 2 พรรคการเมืองที่กำลังท้าชิงในขณะนี้ ท่ามกลางความคิดเห็นจากสาธารณชนว่า การหยิบยกประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงการซื้อใจคนรุ่นใหม่ในภูฏานที่ต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าติดตามในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/world-south-asia-12484025

https://www.aljazeera.com/news/2024/1/7/bhutan-holds-general-election-as-economic-crisis-hits-national-happiness

https://www.abc.net.au/news/2023-07-05/bhutan-is-experiencing-an-exodus-of-young-people/102376144

https://thediplomat.com/2022/10/the-paradox-of-bhutans-australian-dream/

https://www.straitstimes.com/asia/bhutan-to-vote-as-economic-strife-hits-national-happiness

Tags: , , , , , , , , , , , ,