การจากไปของ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสาหลักคนสำคัญของบ้านใหญ่สมุทรปราการอย่างกะทันหันย่อมส่งผลกระทบให้การเมืองเปลี่ยนทิศทาง

วันนี้ตระกูลอัศวเหมยังคงกุมอำนาจอยู่ใน 3 บทบาทสำคัญ บทบาทแรกอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ โดยรับหน้าเสื่อคุมการเลือกตั้งใหญ่ ปัจจุบันมี สุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนของตระกูลอัศวเหมเป็นคนออกหน้า และการจัดคิวปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐนั้นก็ให้เกียรติบ้านใหญ่มาก โดยมี พิม อัศวเหม หลานของชนม์สวัสดิ์ อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 8 ของพรรค

บทบาทที่ 2 คือที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งจัดให้ ชนม์ทิดา อัศวเหม บุตรสาวของชนม์สวัสดิ์อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 5 ซึ่งเป็นระยะปลอดภัย เพราะ อนุทิน ชาญวีรกูล บอกว่าเธอมีสถานะเป็น ‘ลูกสาว’ จากการที่เป็นแฟนของ เศรณี ชาญวีรกูล ลูกชายของอนุทิน

บทบาทที่ 3 นันทิดา แก้วบัวสาย อดีตภรรยาของชนม์สวัสดิ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการจนถึงวันนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ทั้งหมดนี้คือตำนานของตระกูลอัศวเหม บ้านใหญ่แห่งเมืองสมุทรปราการซึ่งยังคงยิ่งใหญ่ในเมืองปากน้ำ สืบทอดต่อเนื่องกันมา

ทว่าหากดูเส้นทางบ้านใหญ่อัศวเหมกันจริงๆ ก็ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2518 ภายใต้ชายร่างเล็กที่ชื่อ วัฒนา อัศวเหม

วัฒนาเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกภายใต้พรรคชาติไทย โดยมี สังข์ พัธโนทัย คนสนิทของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นครูทางการเมือง ในตอนแรกเขาทำธุรกิจน้ำมัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จากนั้นได้เข้าร่วมเส้นทางการเมืองกับพรรคชาติไทยในปี 2518 ยุคเดียวกับ บรรหาร ศิลปอาชา

ใช้เวลาเพียง 1 ปี วัฒนาก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นเขาก็ยึดกุมเก้าอี้ ส.ส.ในเมืองปากน้ำมาโดยตลอด โดยเป็น ส.ส.สมุทรปราการ ถึง 10 สมัย ได้เป็นรัฐมนตรีอีกหลายครั้ง คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 3 รอบ ในปี 2531 2533 และ 2540 รวมถึงเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีช่วงสั้นๆ ก่อนเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนพฤษภาคม 2535

ขณะเดียวกัน วัฒนายังอยู่ร่วมชายคาทางการเมืองกับหลายพรรค เช่น พรรคชาติไทย พรรคราษฎร พรรคประชากรไทย พรรคมหาชน พรรคเพื่อแผ่นดิน รวมถึงเป็นหนึ่งในตำนาน ‘งูเห่า’ เมื่อเขาและกลุ่มของพลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ ย้ายจากพรรคประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งสนับสนุนให้ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสนับสนุนให้ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2542 เป็นต้นกำเนิดของนิทาน ‘ชาวนากับงูเห่า’ ที่สมัครเป็นผู้เล่าขาน และสืบทอดมาจนวันนี้

ในทางธุรกิจ เขาเป็นเจ้าของธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะธุรกิจปั๊มน้ำมันเอ็มพี (ปิดกิจการไปแล้ว) ธุรกิจขายรถยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจด้านการเกษตรหลายอย่าง จนกลายเป็น ‘บ้านใหญ่’ แห่งเมืองปากน้ำ

ทว่าในระยะหลัง ชื่อเสียงของตระกูลบ้านใหญ่แห่งนี้กลับเป็นไปในทางลบ วัฒนาเผชิญกับคดีทุจริตโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยมีการระบุว่า เมื่อวัฒนาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เขาได้กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูก และได้ออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ รุกล้ำที่ดินสาธารณประโยชน์ แล้วนำไปขายต่อให้รัฐทำโครงการบำบัดน้ำเสีย

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดเขาให้ไปรายงานตัว แต่วัฒนากลับไม่ปรากฏตัว จนสุดท้าย ศาลได้ออกหมายจับ และจนถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 15 ปี ก็ยังไม่มีใครพบเห็นวัฒนา ซึ่ง ณ วันนี้ มีอายุกว่า 86 ปีอีกเลย มีเพียงแต่ข่าวลือว่าเขาทำธุรกิจสีเทาๆ อยู่แถวๆ ประเทศเพื่อนบ้านใกล้กับชายแดนไทยนี้เอง

ขณะที่ลูกชายของวัฒนาก็สร้างสีสันได้ไม่แพ้กัน วัฒนามีบุตร 3 คน คือ พิบูลย์ อัศวเหม, พูลผล อัศวเหม (เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเมื่อปี 2558) และชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นบุตรคนสุดท้อง

ทว่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือชนม์สวัสดิ์ โดยมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ปี 2542 ในเวลาที่ชนม์สวัสดิ์อายุเพียง 26 ปี มีภาพหลุดการโกงเลือกตั้ง โดยกลุ่ม ‘ปากน้ำ 2000’ ของชนม์สวัสดิ์ได้เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งในหีบ ระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลนครปากน้ำ และในเวลานั้น บิดาของเขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ในที่สุด ชนม์สวัสดิ์ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ โดยคดีนี้ศาลฎีกาได้ตัดสินให้จำคุกชนม์สวัสดิ์เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559

ชีวิตของชนม์สวัสดิ์นั้นครบเครื่องการเป็น ‘แบดบอย’ เขามีคดีขับรถฝ่าด่านตำรวจพร้อมกับ โย-ยศวดี และเอ-อัญชลี หัสดีวิจิตร เมื่อปี 2550 และฝ่าฝืนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน ในปี 2553 ชนม์สวัสดิ์กับพวกยังได้รับหมายจับพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยชนม์สวัสดิ์และลูกน้องนำอาวุธปืนจ่อหัวตำรวจขณะพยายามห้ามไม่ให้ชนม์สวัสดิ์และลูกน้องรื้อกำแพงลานจอดรถของร้านเรือนเพชรสุกี้

วิบากกรรมเรื่องคดียังไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพิ่งชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย เมื่อครั้งชนม์สวัสดิ์ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการพร้อมพวก กรณีทุจริตการจัดสรรเงินอุดหนุนวัดในสมุทรปราการโดยมิชอบกว่า 20 โครงการ ระหว่างปี 2554-2556 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท

แม้จะมีกี่คดี แต่เส้นทางการเมืองของเขาก็ยังเดินไปปกติ ระหว่างปี 2542 ถึงปัจจุบัน ชนม์สวัสดิ์ทำหน้าที่ในการเมือง ‘สนามเล็ก’ หลายระดับ ได้แก่ นายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ ไปจนถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ

และในวันนี้ นันทิดา แก้วบัวสาย อดีตภรรยาของชนม์สวัสดิ์ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ด้วยลมใต้ปีกสนับสนุนโดยชนม์สวัสดิ์ ผู้ที่ในวันนี้หันไปเอาดีในการทำทีมฟุตบอล สมุทรปราการซิตี้ ทำทีมแข่งรถ รวมถึงเป็น ‘ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ’ ซึ่งหลายคนมองว่า ชนม์สวัสดิ์กำลังวาดเส้นทางตัวเองให้เป็น ‘เนวิน ชิดชอบ’ แห่งเมืองปากน้ำ แต่ยังไม่ทันก้าวถึงจุดเดียวกับเนวิน ก็มีอันต้องด่วนจากไปเสียก่อน

แน่นอนว่าการจากไปโดยกะทันหันของชนม์สวัสดิ์ย่อมส่งผลต่อ ‘บ้านใหญ่’ สมุทรปราการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันที่จริง บ้านใหญ่สมุทรปราการเองเพิ่งจะกลับมาแข็งแรงไม่นาน โดยเพิ่งกลับมายึดการเมืองระดับชาติได้เมื่อปี 2562 ภายใต้พรรคพลังประชารัฐ จากที่ก่อนหน้านี้พ่ายแพ้ให้กับเครือข่ายของพรรค ‘ทักษิณ ชินวัตร’ มาโดยตลอด และบ้านใหญ่ยึดได้เพียงการเมืองระดับท้องถิ่น หรือการเมืองสนามเล็กเท่านั้น

หลายคนต่างก็ให้เครดิตค่อนข้างสูงว่าการเลือกตั้งปี 2566 บ้านใหญ่อัศวเหมจะยึดสมุทรปราการได้ทั้งจังหวัด และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เพิ่งไปนั่งรถกอล์ฟที่ชนม์สวัสดิ์ขับให้เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง

แน่นอนว่าการเมืองสมุทรปราการจะเปลี่ยนทันทีหลังสิ้นชนม์สวัสดิ์ ส่วนจะเปลี่ยนไปในทางที่ร้าย หรือเปลี่ยนไปในทางที่ดี อีกไม่นานได้รู้กัน…

Tags: , , , , , ,