สถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยอวกาศ (Inpe) เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่าไฟป่าในแอมะซอน (Amazon) บนพื้นที่บราซิลเพิ่มขึ้นกว่า 84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จนทำให้ปัจจุบันป่าแอมะซอนกำลังเผชิญหน้ากับไฟไหม้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ทาง Inpe ตรวจพบเพลิงไหม้ในป่าแอมะซอนมากกว่า 74,000 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 2013 และจนถึงขณะนี้ยังตรวจพบไฟป่ามากกว่า 9,500 ครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2018 มีไฟป่าทั้งหมดประมาณ 40,000 ครั้ง หรือถ้าเทียบกับปีที่แย่ที่สุดอย่างปี 2016 ที่จำนวน 68,000 ครั้ง ปีนี้ก็ยังคงเป็นตัวเลขที่แย่ที่สุด

โดยภาพถ่ายจากดาวเทียมยังแสดงให้เห็นว่ารัฐ Roraima ทางตอนเหนือสุดของบราซิลปกคลุมไปด้วยควันดำ ในขณะที่พื้นที่ป่าแอมะซอนใกล้ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินจากเหตุไฟไหม้ แม้ไฟป่ามักจะเกิดบ่อยครั้งในฤดูแล้งของบราซิล แต่ก็เห็นได้ว่าไฟป่าในปัจจุบันเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการทำลายป่าเพื่อการปศุสัตว์

จากข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานต่างๆ ที่ระบุว่าไฟไหม้ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติของหน้าแล้ง เนื่องจากไม่มีความผันผวนของสภาพอากาศแต่อย่างใด แต่ ‘ฌาอีร์ โบลโซนารู’ ประธานาธิบดีบราซิลเลือกที่จะอธิบายว่า ไฟไหม้แอมะซอนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของฤดูแห่งคิวมาดา (queimada) เมื่อเกษตรกรใช้ไฟในการเคลียร์พื้นที่

ด้าน ‘ริคาร์โด เมลโล’ หัวหน้าโครงการกองทุนโลกเพื่อธรรมชาติ (WWF) ของแอมะซอน เปิดเผยว่า ไฟป่าครั้งนี้เป็นผลมาจากตัวเลขการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นล่าสุด เช่นเดียวกับภาคอนุรักษ์ที่กล่าวโทษนายโบลโซนารูว่า เขามีส่วนที่ต้องรับผิดชอบกับชะตากรรมปัจจุบันของแอมะซอน เพราะเขาสนับสนุนการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำเกษตร 

ทั้งนี้ รายงานข่าวการลุกไฟไหม้ของไฟป่าในแอมะซอนเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสิ่งแวดล้อมของประธานาธิบดีบราซิล โดยนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดีโบลโซนารูเข้ารับตำแหน่ง แอมะซอนสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก่อนสามารถลดการตัดไม้ทำลายป่าด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบทำงานของรัฐ 

โดยในเดือนก่อนประธานาธิบดีฝ่ายขวาผู้นี้ได้กล่าวหาว่าผู้อำนวยการของ Inpe พยายามบ่อนทำลายรัฐบาล หลังจาก Inpe เปิดเผยข้อมูลผืนป่าที่หายไปของแอมะซอน ก่อนที่ผู้อำนวยการคนดังกล่าวจะถูกไล่ออก แม้จะสามารถยืนยันได้ว่าข้อมูลมีความแม่นยำถึง 95% และได้รับความเชื่อถือจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์หลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม ‘แอมะซอน’ ไม่ได้เป็นแค่ป่าดงดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยชะลอความเร็วของการเกิดสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งโลก รวมถึงยังเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ป่ากว่า 3 ล้านชนิดและในพื้นที่บราซิลมีผู้คนอยู่อาศัยมากกว่า 1 ล้านคน

ที่มา

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-49415973

https://edition.cnn.com/2019/08/03/americas/brazil-space-institute-director-fired-amazon-deforestation-intl/index.html

 

ภาพ: REUTERS/Nacho Doce

Tags: ,