จากข้อมูลของสถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติบราซิล หรือ INPE ชี้ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ของปี 2020 ป่าแอมะซอนถูกทำลายไปแล้วกว่า 1,202 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าขนาดของเมืองแมนฮัตตัน ในสหรัฐอเมริกาถึง 20 เท่า เพิ่มความกังวลว่าป่าไม้ในแอมะซอนจะถูกทำลายมากขึ้นกว่าเดิมในปีนี้ 

INPE ยังรายงานด้วยว่า แค่เดือนเมษายนเดือนเดียว ป่าแอมะซอนถูกทำลายลงไปถึง 405 ตารางกิโลเมตร มากกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 157 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบ 2 เท่า 

ขณะที่ เมื่อปี 2019 ที่ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู เข้ารับตำแหน่งเป็นปีแรก ป่าแอมะซอนถูกทำลายลงถึง 10,123 ตารางกิโลเมตร หรือใกล้เคียงกับขนาดของประเทศเลบานอนเลยทีเดียว และหากเทียบกับสถิติในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในปีนี้ป่าแอมะซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55 นับเป็นการทำลายสถิติอีกครั้งตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลรายเดือน เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2015

“ปกติแล้ว ช่วงต้นปีไม่ใช่เวลาที่เราจะเห็นการทำลายป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นแบบนี้ เพราะมันเป็นช่วงที่ฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก” อิริกา แบร์ริงกิล (Erika Berenguer) นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดกล่าวต่อว่า หากดูตามสถิติที่เคยเก็บในปีที่แล้ว หากการทำลายป่าไม้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นปี มันจะเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 

ถึงแม้ว่า โบลโซนารูจะมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้กองทัพเข้าไปในพื้นที่ป่าแอมะซอนเพื่อป้องกันการตัดไม้เถื่อนและป้องกันไฟป่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้ว โบลโซนารูเพิ่งไล่เจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์ระดับสูงออก หลังจากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวอนุมัติให้เข้าไปรื้อถอนการทำเหมืองผิดกฎหมายในป่าแอมะซอน อีกทั้ง โบลโซนารูยังมีนโยบายตัดเงินสนับสนุนและค่าแรงเจ้าหน้าที่ของสถาบันสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแห่งชาติบราซิล หรือ IBAMA 

แบร์ริงกิลมองว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาไฟป่า แต่เพิกเฉยต่อต้นตอของปัญหาที่มาจากเกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ เธอกล่าวว่า “เหมือนกับสั่งให้กินยาพาราเซตามอลเวลาปวดฟันนั่นแหละ มันช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้ แต่มันไม่ทำให้ฟันผุหายไป” 

ไม่ใช่เพียงแต่ปัญหาการทำลายป่าแอมะซอนเท่านั้น ขณะนี้ สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในบราซิลก็รุนแรงเช่นกัน โดยมียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 135,773 คน และผู้เสียชีวิต 9,190 คน นับว่าสูงที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน มีการรายงานว่ามีชนพื้นเมืองที่อาศัยในป่าแอมะซอนติดเชื้อไวรัสแล้ว นำไปสู่ความกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะส่งผลต่อพวกเขาอย่างรุนแรงและยาวนาน

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของป่าแอมะซอนที่ถูกทำลายมาจากปัญหาไฟป่า ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ลากยาวถึงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลักลอบตัดไม้ การทำเหมือง และการขยายฟาร์มเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์

อ้างอิง:

https://www.japantimes.co.jp/news/2020/05/09/world/coronavirus-amazon-deforestation/#.XraomWgza70

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-52595030

https://www.reuters.com/article/us-brazil-environment/deforestation-in-brazils-amazon-surges-in-april-idUSKBN22K1U1

 

ภาพจาก: REUTERS/Bruno Kelly

Tags: , , , , ,