พูดถึงการสักยันต์ เราอาจมีภาพจำเกี่ยวกับความเชื่อโบราณที่ไกลตัวคนรุ่นใหม่ไปทุกที แต่ในตอนนี้มันได้กลายเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวที่ปรากฏอยู่ในแพลตฟอร์มของโลกยุคใหม่อย่าง Airbnb ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้ได้ลองสัมผัสงานคราฟต์บนความเชื่อนี้ รวมถึงวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาอื่นๆ ที่มีรากผูกพันกับท้องถิ่นประเทศไทยมาเนิ่นนาน
ประสบการณ์เหล่านี้จัดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังเผชิญกับการท่องเที่ยวระดับแมส ทั้งโดยนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ซึ่งสิ่งที่จะหยิบขึ้นมาชูเป็นจุดเด่นท่ามกลางการท่องเที่ยวแบบบริโภคนิยมทั้งหลาย อาจไม่ใช่แค่ร้านรวงเก๋ๆ ที่ผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ แต่คือการเข้าไปหาภูมิปัญญาหรือสิ่งที่มีอยู่นานแล้ว เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในชุมชนเป็นสำคัญ
นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มหาที่พักแบบยูนีค Airbnb เป็นพื้นที่ให้คนได้เสาะหา ‘ประสบการณ์’ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง เปิดโอกาสให้มีการปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม เน้นให้ความสำคัญกับท้องถิ่น ด้วยกิจกรรมที่แม้แต่คนไทยเราเองก็อาจจะไม่ได้สัมผัสกันได้ทุกวี่วัน เช่น ลองทำลูกประคบจากสมุนไพร เดินตามเส้นทางพระธุดงค์ไปชมพระอาทิตย์ขึ้น เยี่ยมชมวิถีชีวิตชนเผ่า ลองทำคราฟต์เบียร์ รวมถึงเวิร์กช็อปอื่นๆ
Airbnb จริงจังกับเรื่องนี้ โดยเปิดตัว ‘ประสบการณ์’ ต่างๆ ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา โดย ศรีราม ไวดยะ หัวหน้าส่วนทริปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย Airbnb ได้พูดถึงแนวโน้มการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวให้เติบโตและยั่งยืนว่า
“จากการสำรวจของเรา ชาวมิลเลนเนียลกว่า 84% อยากมีประสบการณ์แบบคนท้องถิ่นในพื้นที่ที่พวกเขาไปเยือน และ 80% ก็พร้อมจะจ่ายเงินเอาประสบการณ์มากกว่าช้อปปิง ด้วยข้อมูลนั้น เราจึงต้องการสร้างแพสชั่นของคนในท้องถิ่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอยู่กับตัวเอง มาออกแบบวิธีการท่องเที่ยว ซึ่งในทางหนึ่งมันจะกลายเป็น antidote สำหรับการท่องเที่ยวระดับแมส”
ในทางธุรกิจ เขาก็มองว่าเชียงใหม่เป็นพื้นที่น่าสนใจสำหรับการเปิดตลาด Experiences ของ Airbnb หลังจากที่พวกเขาเริ่มบริการนี้ในลอสแอนเจลิสเมื่อปี 2015 ปัจจุบันมีทั้งหมด 13,000 ประสบการณ์ใน 180 เมืองทั่วโลก มีเชียงใหม่เป็นเมืองล่าสุดสำหรับครึ่งปีแรกปี 2018 นี้
น่าสนใจที่คนธรรมดาๆ สามารถเป็น host ในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้หากเขาเชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ หากเป็นก่อนหน้านี้ใครจะคิดว่าการพานักท่องเที่ยวไปพบอาจารย์ทางอาคมเพื่อสักยันต์จะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำธุรกิจโลกเทคโนโลยี แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว
ในเวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมง มื้ออาหารพื้นเมือง 1 มื้อ และการเดินทางทั้งหมดไปกับ ‘นิคม’ ผู้บวชเรียนเป็นเวลา 7 ปี และเป็นพระอีก 1 ปี ผู้รับหน้าที่เป็นโฮสต์ พาไปเยี่ยมชมสำนักเล็กๆ ของ ‘อาจารย์สมพงษ์’ ที่จะอธิบายลวดลายสักยันต์แบบต่างๆ รวมถึงความหมายของแต่ละรอยสัก ทั้งสัตว์ เทวดา หรือรูปทรงเรขาคณิตแบบไทยโบราณ พร้อมคำแนะนำในการเลือกรอยสักยันต์ที่จะเข้ากันกับธาตุของแต่ละคน —สำหรับคนไทยบางคน นี่คือความเชื่อจากโลกเก่า แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันยังคงดำรงอยู่ในสังคม และเมื่อได้กลายเป็นประสบการณ์การท่องเที่ยวซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ท้องถิ่น ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
หรือ จากการนวดแผนไทยหรือนวดแผนโบราณที่ขึ้นชื่ออยู่แล้ว เหล่าโฮสต์ก็ได้คลี่ขยายประสบการณ์นั้นให้มีเสน่ห์ขึ้นด้วยการทำอุปกรณ์ปรนนิบัติต่างๆ ด้วยตัวเอง อย่างเช่น ลูกประคบ บอดี้สครับ น้ำมันหอมระเหย เทียนหอมจากไขถั่วเหลือง สบู่สมุนไพร พร้อมกับที่ผู้สัมผัสประสบการณ์จะได้เรียนรู้สรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิด
นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์เพื่อสังคม (Social Impact) ที่ร่วมมือกับมูลนิธิในพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม อย่างการเยี่ยมชมชาวบ้านและเตรียมนาข้าวก่อนเข้าฤดูเพาะปลูก การทำสีย้อมผ้าจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไปจนถึงการเข้าไปเยี่ยมเยียนวิถีชีวิตชนเผ่าในเชียงใหม่ เช่นชาวม้งหรืออาข่า เรียนรู้วิธีที่พวกเขาอยู่ร่วมกับป่า ใช้ภูมิปัญญาในการสร้างรายได้ รวมทั้งร่วมรับประทานอาหารชนเผ่าที่หาทานได้ยาก ฯลฯ
“ที่ท้าทายคือ เราจะทำอย่างไรให้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวรู้สึกรับผิดชอบ เพื่อจะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการแช่แข็งบางวัฒนธรรมเอาไว้เพียงเพื่อจะเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว” ศรีรามทิ้งท้าย และนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องติดตามชม
ขอขอบคุณ: ภาพ ข้อมูล และการเดินทางสู่เชียงใหม่ โดย Airbnb
Tags: Airbnb, แอร์บีเอนบี