เกษตรกรรมเป็นอาชีพแรกๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เป็นอาชีพที่สำคัญมากที่สุดอาชีพหนึ่ง เพราะช่วยผลิตอาหารให้คนทั้งโลกได้กินกัน

จากยุคที่คนต้องใช้มือขุดดินตามเก็บพืชผักผลไม้ในป่า ต่อมามีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า คันไถ อาจฟังดูง่าย แต่นวัตกรรมนี้สร้างประโยชน์ต่อชาวไร่ชาวนาได้มหาศาล ผูกคันไถไว้กับวัวหรือควายแล้วไถดินในหน้าดินที่แห้งแตก หรือช่วยกำจัดวัชพืชเพื่อเปลี่ยนเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ช่วยทุ่นแรงเกษตรกร และช่วยสร้างผลผลิตให้เพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติเกษตรกรรมขนาดย่อมได้เลย

ต่อมา ช่วงรอยต่อของปลายศตวรรษที่ 17 และ 18 ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม การนำเครื่องจักรและกระบวนการผลิตแบบสายพานเข้ามาใช้สร้างสินค้าเครื่องมือต่างๆ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนเราดีขึ้น สิ่งประดิษฐ์บางอย่างก็ย้อนกลับไปช่วยให้ขั้นตอนกระบวนการในการเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งรถแทร็กเตอร์และอุปกรณ์รดน้ำพืชพันธุ์ เป็นต้น

เครื่องมือใหม่ที่เกิดขึ้น ผสมผสานกับปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐศาสตร์ เช่น ความสามารถของตลาดแรงงานในแต่ละประเทศ การนำเข้าส่งออก หรือความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละภูมิภาค สิ่งเหล่านี้มีผลต่อแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยภาพรวมแล้ว ผลิตผลที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดทำให้ไม่ต้องการจำนวนแรงงานมากเหมือนแต่ก่อน สัดส่วนของแรงงานเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศจึงลดลง

ในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น อังกฤษ อิตาลี หรือฝรั่งเศส สัดส่วนแรงงานที่อยู่ภาคเกษตรมีจำนวนลดลงเหลือไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ ส่วนประเทศไทยในปี 2015 มีอัตราส่วนของแรงงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 33 เปอร์เซ็นต์ ลดลงครึ่งหนึ่งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา และหากเปรียบเทียบกัน บางประเทศที่กำลังพัฒนา มีประชากรอยู่ในภาคการเกษตรสูงถึง 2 ใน 3 ของประเทศเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี อาชีพเกษตรกรรมคงไม่ใช่อาชีพท็อปฮิตติดอันดับของวัยรุ่นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะการขยายของสังคมเมือง และภาพลักษณ์ของงานเกษตรกรรมยังเป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงงานค่อนข้างมาก

แต่ถ้าดูแนวโน้มด้านประชากร ปัจจุบัน โลกนี้มีประชากร 7.5 พันล้านคนและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 9.8 พันล้านคน ภายในปี 2050 ปัญหาที่ว่าปริมาณอาหารที่ผลิตได้ในโลกนี้จะเพียงพอกับความต้องการบริโภคของประชากรโลกหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าใจถึงจุดนี้ และพยายามนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพขององค์กรเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างล่าสุดเห็นได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Deere & Company หรือ จอห์น เดียร์ (John Deere) ที่เซ็นสัญญาซื้อบริษัทสตาร์ตอัป บลู ริเวอร์ เทคโนโลยี (Blue River Technology) ที่เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และประยุกต์ใช้ในการเกษตร เช่น การใช้กล้องตรวจจับวัชพืชของต้นไม้รายต้นพร้อมพ่นยาฆ่าแมลงไปที่ต้นไม้นั้นๆ เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องพ่นเป็นวงกว้างอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน เป็นการลดค่าใช้จ่ายและดูแลพืชพันธุ์ได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ขณะที่จอห์น เดียร์ เป็นบริษัทใหญ่ที่ผลิตนวัตกรรมทางการเกษตร แต่มีปัญหาว่า ชาวนาและเกษตรกรที่เคยซื้ออุปกรณ์ถูกผูกมัดด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา นั่นคือ ถ้าซื้อรถแทร็กเตอร์ไปแล้วจะเอาไปซ่อมเองไม่ได้ และทางบริษัทไม่ยอมให้คนนอกมาซ่อมหรือดัดแปลงเครื่องเอง ต้องให้เข้าศูนย์เท่านั้น เกษตรกรไม่มีสิทธิ์ปรับแต่งซ่อมเครื่องเอง

มีปัญหาว่า ชาวนาและเกษตรกรที่เคยซื้ออุปกรณ์ถูกผูกมัดด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา นั่นคือ ถ้าซื้อรถแทร็กเตอร์ไปแล้วจะเอาไปซ่อมเองไม่ได้

แต่นอกจากบริษัททั้งเล็กและใหญ่ที่เล็งเห็นโอกาสเพิ่มผลิตผลการเกษตร ยังมีกลุ่มคนเล็กๆ ที่พยายามใช้ทักษะที่ตัวเองมีอยู่ รวมกับเทคโนโลยีที่เปิดให้ใช้ได้โดยไม่เสียเงินจากชุมชนโอเพนซอร์ส (Open-source community) ทดลองสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยพัฒนาการเกษตรให้ชาวไร่ชาวสวนไม่ต้องทำงานซ้ำๆ จำเจเหมือนแต่ก่อน

เช่นที่มหาวิทยาลัย Harper Adams ในสหราชอาณาจักร มีกลุ่มวิศวกรรวมตัวกันเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการเกษตร โจนาธาน กิลล์ (Jonathan Gill) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Hands Free Hectare ซึ่งมีจุดประสงค์ง่ายๆ คือ (หากสำเร็จ) กิลล์และเพื่อนจะคิดวิธีที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าเข้าไปในไร่นาเลยตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต

ทีมงานเห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน เช่น โดรน ที่ความสามารถของกล้องและหน่วยประมวลผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งความช่วยเหลือจากกลุ่มคนในชุมชนโอเพนซอร์ส ทำให้กิลล์และเพื่อนๆ มีความหวังว่า การทดลองประดิษฐ์เครื่องมือที่ช่วยลดภาระของเกษตรกรน่าจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง

สิ่งที่กิลล์และทีมงานเริ่มทำ คือ นำซอฟต์แวร์ที่ใช้บังคับโดรนมาประยุกต์ใช้กับรถแทร็กเตอร์ เพื่อทำให้รถแทร็กเตอร์ธรรมดากลายเป็นรถแทร็กเตอร์อัจฉริยะ ไม่ต้องใช้คนขับเหมือนแต่ก่อน และก็สามารถควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติให้รถขับเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ ของไร่นาได้ตามต้องการ นอกจากนี้ ทีมงานจะทดลองหาเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยให้การปลูกพืชง่ายขึ้น เช่น หัวละอองสำหรับพ่นน้ำหรือยา หัวขุดเจาะหน้าดินที่ควบคุมได้ด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ

กิลล์และเพื่อนยังสนใจหาวิธีการตรวจสุขภาพพืชผล โดยไม่ต้องใช้คนเข้าไปเก็บตัวอย่างดินหรือต้นกล้าเหมือนแต่ก่อน ซึ่งโดรนถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานนี้ได้อย่างดี ทีมงานใช้โดรนบินผ่านพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเก็บข้อมูลการสังเคราะห์แสงและความชื้นของหน้าดิน ทั้งหมดที่กิลล์และเพื่อนเริ่มต้นในโครงการ Hands Free Hectare เป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่น่าตื่นเต้นของการทำการเกษตรยุคอนาคต

กิลล์และเพื่อนเริ่มต้นในโครงการ Hands Free Hectare เป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่น่าตื่นเต้นของการทำการเกษตรยุคอนาคต

นอกจากการปลูกและดูแลผลผลิต ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและคัดกรองพืชผักก็สำคัญไม่แพ้กัน ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าใส่ใจกับรูปลักษณ์ของผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างมาก สตรอว์เบอร์รีลูกสวยๆ ไม่มีรอยช้ำ สามารถขายได้ในราคาหลักร้อย หรือถ้าเป็นแตงกวาก็ต้องมีรูปทรงตรงๆ ความหนาเท่าๆ กันทั้งผล ถ้าขนาดไม่ได้ตามมาตรฐานก็จะถูกนำไปขายในตลาดที่รองลงไปในราคาแค่ครึ่งเดียว

มาโกโตะ โคอิเกะ (Makoto Koike) ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นอดีตวิศวกร ที่ปัจจุบันผันตัวไปช่วยพ่อแม่ปลูกแตงกวา เข้าใจดีถึงกลไกตลาดนี้ เพราะแม่ของเขาต้องทำหน้าที่ตรวจคัดคุณภาพของแตงกวา บางวันตรวจแตงกวาถึง 4,000 ผลเลยทีเดียว

โคอิเกะมีความคิดคล้ายกับกิลล์ที่เชื่อว่า เทคโนโลยีปัจจุบันที่เปิดให้ใช้อย่างเสรีในชุมชนโอเพนซอร์ส น่าจะช่วยให้เขาประดิษฐ์เครื่องมือบางอย่างเพื่อช่วยลดภาระของแม่เวลาตรวจเลือกแตงกวาได้

การทดลองเล็กๆ ที่โคอิเกะทำ คือการเก็บภาพถ่ายตัวอย่างของแตงกวาที่ได้รับคัดเลือกกว่าเจ็ดพันรูป หลังจากนั้น ก็นำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผลเพื่อสร้างโมเดลสำหรับแบ่งแยกว่า แตงกวาผลไหนเข้าเกณฑ์มาตรฐาน แน่นอนว่านี่เป็นการทดลองเบื้องต้น ถึงแม้ความแม่นยำในการคัดเลือกแตงกวาจะสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้งานได้จริง โคอิเกะยังไม่ย่อท้อ ตอนนี้เขากำลังวางแผนว่าจะสร้างอุปกรณ์ที่สามารถวิเคราะห์และคัดแยกแตงกวาหลายๆ ผล ในเวลาเดียวกันได้

 

เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของแอมะซอน (Amazon) เคยกล่าวไว้ว่า มีแต่คนชอบถามเขาว่า อะไรจะเปลี่ยนแปลงไปในอีกสิบปีข้างหน้า แต่ไม่ค่อยมีใครถามเลยว่าอะไรที่จะ ‘ไม่เปลี่ยน’

หากพิจารณาคำตอบ เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ คนเรายังต้องการอาหาร ต้องมีการผลิตอาหารให้มากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ และแพร่หลายมากขึ้นด้วยพลังไร้พรมแดนอย่างอินเทอร์เน็ตและชุมชนโอเพนซอร์ส

ภาคเกษตรกรรมจึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตามองว่า จะมีนวัตกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง ในอนาคตอันใกล้ เราอาจมีสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าหลายร้อยหลายพันล้านบาท แต่ทำในสิ่งที่เหมือนกับสิ่งที่กิลล์หรือโคอิเกะกำลังทดลองอยู่นี้ก็เป็นได้

Tags: , , , , , , , , , ,