ผู้บริหารท่านหนึ่งซึ่งเพิ่งกลับมาจากการไปเรียนและดูงานที่ซิลิคอน แวลลีย์ ในสหรัฐอเมริกา กับหลักสูตร Leading in a Disruptive World หนึ่งในหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารของ SEAC (South East Asia Center) กล่าวกับทีมงาน The Momentum ไว้อย่างน่าสนใจว่า “Digital Disruption เป็นประโยชน์ต่อคนที่รักความก้าวหน้า แสวงหาความรู้ แต่จะเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่กลัวความเปลี่ยนแปลงและคนที่ไม่มี Awareness (ความตระหนัก) แต่ไม่ว่าคุณจะกลัวหรือไม่กลัว Digital Disruption มาแน่ ดังนั้น จงเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันและใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุด”
SEAC (South East Asia Center) เป็นชื่อที่รู้จักกันดีสำหรับผู้บริหารระดับสูงในองค์กรใหญ่และเจ้าของธุรกิจ ในฐานะศูนย์การเรียนรู้ของผู้นำสำหรับโลกอนาคต มีรูปแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้นำและผู้ที่สนใจเรียนรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ มากมาย
หลักสูตรที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในขณะนี้ คือ Leading in a Disruptive world (LDW) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development) เปิดสำหรับผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจในประเทศไทยและในอาเซียนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็ว (Disruptive Change) อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
ประไพรัตน์ ภวสันต์ Executive Director ของ SEAC หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ Leading in a Disruptive World (LDW) เล่าถึงกระบวนการคิดเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นหลักสูตร LDW ว่า “ยุคข้างหน้ามันเป็นยุคดิจิทัล เพราะฉะนั้น เทคโนโลยี แพลตฟอร์มต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนได้ เราพยายามค้นหาหลักสูตรหรือทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดหรือไปต่อได้กับกระแส Digital Disruption นี้ จนสุดท้ายเราพบว่า คำตอบคือเรื่อง ‘นวัตกรรม’
“นวัตกรรมที่เราพูดถึงเป็นเรื่องของนวัตกรรมทางธุรกิจ ซึ่งก็คือเรื่องอนาคต แต่เวลาพูดเรื่องอนาคต เราอาจยังนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร แต่เราต้องมองให้ออกว่าในอนาคตลูกค้าอยากเห็นอะไร ลูกค้าอยากใช้อะไร ลูกค้าอยากได้อะไร และที่เราทำธุรกิจแบบเดิมๆ มันตอบโจทย์ลูกค้าในอนาคตหรือไม่ คือถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้ไปต่อแน่ๆ”
นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการนี้ที่มุ่งช่วยให้ผู้นำองค์กรเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการนำองค์กรก้าวผ่านโลก disruption และให้เห็นโอกาสและสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นได้ เพื่อนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนหรือความสำเร็จ
หลักสูตร Leading in a Disruptive world (LDW) มุ่งเน้นการเปิดมุมมองให้ผู้นำธุรกิจมีโลกทัศน์กว้าง ตื่นตัว และสามารถเล็งเห็นแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินธุรกิจในวันข้างหน้า เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ได้ เพราะลำพังประสบการณ์และสิ่งที่ทำมาในอดีตไม่อาจการันตีถึงความอยู่รอดขององค์กรในอนาคตได้
หนึ่งในผู้ร่วมหลักสูตร LDW เจี๊ยบ – กานติมา เลอเลิศยุติธรรม Chief Human Resources Officer แห่ง AIS มองว่า โลกปัจจุบัน ทุกคนพูดคำว่า Digital Disrupt กันเยอะมากจนกลายเป็นแฟชั่น แต่สิ่งสำคัญคือ ถ้าเราจะเคลื่อนตัวไปได้ เราต้องรู้นิยามความหมายของมันจริงๆ เพราะทุกคนมีนิยามความเข้าใจในมุมของตัวเอง
“การเข้าหลักสูตรนี้ ไม่ใช่การไปดูงานอย่างเดียว และไม่ใช่การไปอบรมทั่วๆ ไป แต่เป็นการไปทำความเข้าใจว่า Digital Disrupt คืออะไร ผ่านการสัมผัสประสบการณ์โดยตรง
“จริงๆ แล้วดิจิทัลไม่ใช่คำหรูหรา ไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องมีระบบไอทีเข้ามาช่วย แต่โลกดิจิทัล คือสังคมหรืออีโคซิสเต็มใหม่ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาสนองความต้องการของมนุษย์ การที่เราได้ไปหลักสูตรนี้ทำให้เราได้เห็นว่า ตัวอย่างจริงๆ คืออะไร และยิ่งเป็นห่วงว่า การเคลื่อนในแบบที่เราเคยเคลื่อนอาจยังเร็วไม่พอ แต่ในความน่ากลัวนั้น เราก็มองเห็นโอกาส ว่าเราต้องเตรียมศักยภาพคนให้พร้อมทำในสิ่งที่นอกเหนือไปจากที่ทำในปกติชีวิตประจำวัน”
ที่สำคัญ ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของความรู้ใหม่ที่มาได้ทุกนาที ถ้าใครคิดว่าความคิดเราสมบูรณ์แบบแล้ว จะไม่เกิดการพัฒนาการเลย กานติมากล่าว
“หลายๆ อย่าง เมื่อไปเจอต้องไม่ต่อต้าน ต้องไปด้วยใจที่เปิดกว้าง”
ประไพรัตน์ขยายความถึงรายละเอียดหลักสูตร LDW ว่า หลักสูตรนี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อพาผู้นำระดับสูงหรือเจ้าของธุรกิจออกไปเปิดประสบการณ์ โดยตัวโปรแกรมจะเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดประมาณห้าวัน เพื่อพบเจออาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิระดับร็อคสตาร์
“เราต้องการให้เขาได้มาเห็นภาพว่า เวลาที่คุณพูดถึงเรื่องการขับเคลื่อนองค์กรไปในอนาคต มีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องเข้าใจ ให้เขาได้เห็นว่าในซิลิคอน แวลลีย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสุดยอดแหล่งสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโลก เขาเคยเจออะไรมาบ้าง ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ ทำอะไรแล้วล้มเหลว เพราะคนที่มาสอนในหลักสูตรนี้ไม่ได้เป็นแค่อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมดาๆ แต่ทุกคนมีประสบการณ์ตรงในการอยู่เบื้องหลังสตาร์ทอัปดังๆ หลายๆ แห่งในซิลิคอน แวลลีย์
“หลักสูตรนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องของ Innovation Ecosystem (ระบบนิเวศทางนวัตกรรม) เพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพและเข้าใจว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรา เกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างไร ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร แล้วสำเร็จด้วยกันทั้งหมดอย่างไร”
กานติมาย้ำประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนรู้มาว่า “ตลอดระยะเวลาห้าวัน มีกระบวนการเรียนรู้หลายอย่าง มีการแชร์ มีการพูดคุยสอบถาม แลกเปลี่ยนมุมมองกันว่าเราอยู่ตรงไหน กลับไปแล้วจะทำอะไรต่อ กลับมามีกลุ่ม LDW รุ่นหนึ่งรุ่นสองที่นัดเจอกันทุกเดือน มี Learning Event เกิดขึ้น ไม่ใช่เรียนครั้งเดียวหรือไปดูงานต่างประเทศแล้วจบ แต่เป็นการแชร์การเรียนรู้จากกันและกันต่อในลักษณะ community และช่วยกันต่อยอดให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไป
“โอกาสในการเรียนรู้สำคัญกว่ารางวัลทุกอย่าง ต้องรีบจับฉวย เพราะสิ่งที่คุณได้รับกลับไป ไม่มีใครเอาไปจากตัวคุณได้” กานติมาเสริมว่า การเดินทางและการเข้าร่วมหลักสูตรแบบนี้ทำให้เกิดความเป็นชุมชนขึ้น มีพี่มีน้อง และที่สำคัญ การรวมคณาจารย์ ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงมาแชร์ประสบการณ์เป็นกลุ่มเป็นก้อนขนาดนี้ต้องใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
ประไพรัตน์เสริมรายละเอียดถึงวัฒนธรรมแห่งซิลิคอน แวลลีย์ที่น่าสนใจอย่างมากว่า “เขามีคีย์เวิร์ดที่ใช้กันว่า Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward คือ คุณล้มได้ แต่ก็ลุกขึ้นมาแล้วเรียนรู้ นับเป็นเคล็ดลับสำคัญข้อหนึ่งเลยของซิลิคอน แวลลีย์บอกว่า นี่คือสิ่งที่สร้างให้เกิดขึ้นที่นี่ แล้วคนที่เข้ามาทำธุรกิจในนี้เขาจะเชื่อในเรื่อง Just do it คือลงมือทำไปเลย แล้วถ้าคุณล้ม มีแต่คนอยากได้ตัวคุณด้วยซ้ำ เพราะเขาอยากได้ประสบการณ์ที่คุณได้มาแล้ว คุณไม่ใช่ Loser แต่คุณเป็น Winner สำหรับเราด้วยซ้ำ” แง่มุมนี้ตรงกับหัวใจของหลักสูตรที่ต้องการส่งเสริมเรื่องความกล้าเสี่ยง และการยอมรับความล้มเหลวเป็นบทเรียนเพื่อให้ปรับตัวและแก้ไขพัฒนาต่อไปได้อย่างรวดเร็วจนสามารถสำเร็จได้ก่อนคนอื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับองค์กรใหญ่ๆ ที่ก่อตั้งมานาน อาจจะติดกับอุปสรรคของความล่าช้าเชิงกระบวนการ ดังนั้นเมื่อต้องปรับเปลี่ยน หรือสร้างเรื่องใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ก็อาจจะทำให้การขับเคลื่อนไปได้ไม่เร็วพอ รวมถึงอุปสรรคที่อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากผู้นำที่จะเปิดรับหรือยอมรับความคิดคนรุ่นใหม่หรือความคิดที่แตกต่าง ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมที่จะทำให้บุคลากรกล้าคิด กล้าทำ
“ในขณะที่โลกอนาคต มันคือเรื่องของสปีดจริงๆ คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่ว่าไอเดียใครเกิดมาก่อน แต่ใครเข้าไปถึงลูกค้าก่อน ก็ถือว่าชนะ นี่เป็นสิ่งที่เราย้ำกับผู้บริหารที่มาเข้าเรียนตลอด”
กานติมาเสริมเรื่องนี้ว่า “ที่สังคมเราขาดและช้า ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของความตระหนัก (Awareness) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เงินซื้อได้ เป็นเรื่องที่ต้องสร้าง หลายองค์กรซื้อเทคโนโลยีมาเต็มเลยแต่ใช้ไม่เป็น หลักสูตรนี้จะทำให้เรากลับมาใช้ศักยภาพของทรัพยากรบุคคลและทักษะความรู้ของบุคลากรให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้บริหารเห็นภาพ ทำให้เกิดความมั่นใจ ว่าสังคมดิจิทัลที่เปลี่ยนไปแล้วเขาพัฒนากันไปอย่างไร”
“โดยส่วนตัวถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ทำให้มีความมั่นใจ กลับมาแล้วเหมือนได้เชื้อเพลิงช่วยยืนยันในสิ่งที่เชื่ออยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกธุรกิจเราต้องเจออุปสรรค เราไปได้เรียนรู้ว่าคนทำธุรกิจเขาก็ล้มเหลวเหมือนกัน แต่เขาปรับตัวแล้วเรียนรู้เพื่อรับมือกับความล้มเหลวนั้นอย่างไร” กานติมากล่าวทิ้งท้าย
Fact Box
South East Asia Center (SEAC หรือเอสอีเอซี) คือศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานร่วมกับ Stanford Center for Professional Development ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
- หลักสูตร Leading in a Disruptive World โปรแกรมเจาะลึกด้านนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ ที่ได้รับการออกแบบขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้นำองค์กรและผู้บริหารระดับสูงในบริบทของประเทศไทยและอาเซียน
- หลักสูตร Leading in a Disruptive World เหมาะสำหรับผู้บริหารที่มี Passion ในการเรียนรู้ มี Awareness ต่อสิ่งต่างๆ และโลกที่กำลังเปลี่ยนไป และมี Attitude ที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ
- หลักสูตร Leading in a Disruptive World กำลังเปิดรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 3 ที่สนใจอยากไปสัมผัสประสบการณ์นี้ โดยมีกำหนดเดินทางวันที่ 30 เมษายน – 4 พฤษภาคม นี้