กรณีคนดังและเศรษฐีจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ลูกหลานได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยใช้เงินราว 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แย่งที่นั่งของเด็กร่ำรวยปัญญาแต่อับจนทุนทรัพย์ บ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียมในระบบอุมศึกษาอเมริกัน
ข่าวดาราและนักธุรกิจผู้มั่งคั่งทุ่มเงินจำนวนมหาศาล ซื้อใบเบิกทางให้ลูกได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง เช่น สแตนฟอร์ด เยล จอร์จทาวน์ และเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
คดีอื้อฉาวนี้เรียกเสียงวิจารณ์อย่างร้อนแรงต่อระบบการศึกษาในสหรัฐฯ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมแบบ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” ลูกคนทั่วไปที่สอบแข่งขันด้วยสติปัญญาต้องถูกลูกคนรวยเบียดขับออกไป เพียงเพราะไม่มีเงินสู้
ฉากเหลือเชื่อของการช่วงชิง
เรื่องราวการใช้เงินซื้ออภิสิทธิ์ในการเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อวันพุธที่ 13 มีนาคมอัยการของเมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ แถลงข่าวการส่งฟ้องบุคคลที่อยู่ในขบวนการรวม 50 คน ผู้ต้องหามีตั้งแต่ดาราฮอลลีวูด ซีอีโอบริษัท โค้ชทีมกีฬาประจำมหาวิทยาลัย ไปจนถึงเจ้าหน้าที่คุมสอบ
คนเหล่านี้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง พฤติการณ์มี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ โกงการสอบ กับปลอมเอกสารสมัครสอบ จำเลยเหล่านี้ต้องไปขึ้นศาลในท้องที่ต่างๆ หลายเมือง เช่น ลอสแองเจลิส บอสตัน นิวยอร์ก คอนเนกทิคัต
ตัวการใหญ่ในคดี คือ วิลเลียม ซิงเกอร์ ชาวแคลิฟอร์เนีย ซึ่งรับงานเป็นคนวิ่งเต้นแทนคนดังและคนรวย โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เขาทำเงินจากธุรกิจนี้ได้กว่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อได้รับค่าจ้างมาแล้ว เขานำไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบวัดคุณสมบัติผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อให้แก้ไขผลสอบหรือจ่ายสินบนให้คนคุมสอบเพื่อให้เด็กคนอื่นเข้าไปนั่งสอบแทน
บางครั้ง นายซิงเกอร์ติดสินบนโค้ชกีฬาของมหาวิทยาลัยที่เด็กต้องการเข้า เพื่อให้ช่วยปลอมแปลงประวัติว่า เด็กเล่นกีฬาเก่ง ทั้งๆ ที่ไม่เคยเล่นเลย หรือไม่ได้เก่งกาจอย่างที่รับรอง
พ่อแม่บางคนเลือกใช้บริการของนายซิงเกอร์ตามวิธีแรก บางคนเลือกบริการแบบที่สอง และบางคนทุ่มจ่ายทั้งสองแบบ เงินที่จ่ายนั้นมีตั้งแต่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ จนถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเด็ก 1 คน
ตั้งแต่เรื่องเกิดแดงขึ้นมา นอกจากถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง พ่อแม่หลายคนต้องลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ดาราถูกเลิกจ้าง โค้ชกีฬาขอลาออก ขณะที่เด็กที่สอบไม่ติดได้รวมกลุ่มกันฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะหลายคนเคยเสียค่าสมัครสอบหลายปีต่อเนื่องกัน แต่ก็ยังสอบไม่ได้แม้ว่าผลการสอบจะเข้าเกณฑ์ก็ตาม
มหกรรมการโกง
การฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่ว่านี้มีต้นสายปลายเหตุมาจากดีมานด์กับซัพพลายที่ห่างกันลิบลับ มหาวิทยาลัยชื่อดังรับนักศึกษาได้น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น ฮาร์วาร์ดมีเด็กสมัครปีละ 40,000 คน รับนักศึกษาได้แค่ 4.6 เปอร์เซนต์ สแตนฟอร์ดรับได้แค่ 4.3 เปอร์เซนต์ โคลัมเบียรับได้แค่ 5.5 เปอร์เซนต์
ในคดีนี้มีการไต่สวนพ่อแม่รวม 33 คน โค้ชกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบ 13 คน ตัวนายซิงเกอร์เอง รวมทั้งพรรคพวกของเขาอีก 3 คน
กรรมวิธีในการโกงนับว่าหลักแหลมทั้งฝ่ายผู้จ่ายและผู้รับเงิน โดยพ่อแม่จะบริจาคให้แก่มูลนิธิคีย์เวิลด์ไวด์ ที่เมืองนิวพอร์ทบีช มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งนายซิงเกอร์ก่อตั้งขึ้นโดยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาส และบริจาคให้แก่องค์กรการกุศลต่างๆ ที่โค้ชกีฬาเป็นผู้ดูแล เมื่อบริจาคแล้ว พวกพ่อแม่สามารถนำใบเสร็จไปขอลดหย่อนภาษีได้ด้วย
แต่คนที่หลักแหลมที่สุดก็คือ นายซิงเกอร์ นั่นเอง เพราะเมื่อเขาถูกจับได้ว่าฉ้อโกง เขารับสารภาพ และให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนในการรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดคนว่าจ้างและสมัครพรรคพวก เพื่อให้ตัวเองได้รับความปราณีลดหย่อนโทษทัณฑ์
‘ถูกกฎหมาย’ แต่ ‘ไม่เท่าเทียม’
กรณีนี้ได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงถึงความเป็นธรรมในด้านโอกาสทางการศึกษา นักวิจารณ์หลายรายออกมาแสดงความเห็นว่า ต่อให้ไม่มีการโกงเลย การแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกาก็เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว
การช่วงชิงความได้เปรียบของคนรวย ซึ่งทำได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ก็คือ การบริจาค ดังเช่นกรณีนายยาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเข้าฮาร์วาร์ดได้เมื่อปี 1998 เพราะพ่อของเขาบริจาคให้แก่ทางมหาวิทยาลัยเป็นเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์ฯ
การใช้สถานะทางการเงินที่เหนือกว่า ยังมีให้เห็นในรูปของการเรียนพิเศษ ติวเข้ม สอบเอนทรานซ์หลายรอบ สอบพรีเทสต์ ซึ่งแต่ละอย่างมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งนั้น พ่อแม่บางคนพาลูกไปนั่งคุยกับนักแนะแนว ซึ่งคิดค่าปรึกษาโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 200 ดอลลาร์ บางครั้งสูงถึง 40,000 ดอลลาร์
นักวิจารณ์บอกว่า การช่วงชิงกันเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ได้สร้างอุตสาหกรรมขนาดมหึมาขึ้นรองรับความต้องการนี้ ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย แต่อย่าถามถึงความเป็นธรรมในการแข่งขัน
ถึงแม้ฟังดูน่าเศร้า แต่เรื่องราวคงไม่จบแบบหดหู่ เพราะอัยการเจ้าของสำนวน แอนดรูว์ เลลลิง ยืนยันว่า การศึกษาต้องมีมาตรฐานเดียว กระบวนการยุติธรรมต้องมีมาตรฐานเดียว
ท่านอัยการพูดว่า “ทุกปี เด็กที่ฉลาดและขยันเรียนนับแสนๆ คนแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ต้องไม่มีระบบแอดมิดชั่นสำหรับคนรวย และต้องไม่มีกระบวนการยุติธรรมสำหรับคนรวย”
อ้างอิง:
Tags: สหรัฐอเมริกา, ความเหลื่อมล้ำ, สินบน, ระบบการศึกษา, แป๊ะเจี๊ยะ, โกงข้อสอบ