เอเซอร์ (Acer) เผยกลยุทธ์ธุรกิจปี 2020 แบบ Dual Transformation ด้วยสองแนวทางคือสร้างธุรกิจใหม่ที่รองรับการเติบโตในอนาคตอย่างธุรกิจด้านโซลูชั่น และจะเจาะกลุ่มลูกค้าสถาบันการศึกษา และสองในแง่ของเทรนด์ผู้บริโภค ออกสินค้าใหม่หรือสร้างแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะกลุ่มมากขึ้น 

อลัน เจียง กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดไซน่า บริษัท เอเซอร​์ คอมพิวเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้งานด้านเทคโนโลยีของลูกค้าทั่วไป กับกลุ่มองค์กรมีความแตกต่างกัน ทางเอเซอร์จึงอยากนำเสนอสินค้าและอุปกรณ์ พร้อมกับโซลูชั่นต่างๆ ที่ตรงกับการใช้งานเฉพาะกลุ่ม ผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า Dual Transformation 

“Dual Transformation จะเป็นกลยุทธ์ที่ทำคู่ขนานกันไป ในด้านหนึ่งจะเป็นการนำจุดแข็งของเราด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการ มายกระดับและสร้างประสบการณ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทำให้เกิดธุรกิจใหม่ และสองในด้านของผู้บริโภคที่มักจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Micro Trend ซึ่งเราก็จะนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์กับเทรนด์ของผู้ใช้งานดังกล่าวด้วย” 

ด้านนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กล่าวเสริมว่า เอเซอร์มองเห็นการเติบโตในตลาดองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐ จากเดิมที่ส่วนมากเราขายแค่อุปกรณ์ด้านฮาร์ดแวร์ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ โดยยังไม่ค่อยมีโซลูชั่นพวกซอฟต์แวร์ต่างๆ เท่าไร แต่ปีนี้จะเน้นไปที่การขายโซลูชั่นดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการศึกษา

“เราจะนำเสนอ Total Solution Design, Professional Service และ One-stop Efficient Support เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ที่เราต้องการจะเป็น Education’sIT Vendor เนื่องจากเราเห็นแนวโน้มว่าสถาบันการศึกษาเริ่มมีการปรับตัวให้ทันกับโลกสมัยใหม่ เช่น มีหลักสูตรด้านอีสปอร์ต หรือหลักสูตรการสร้างเกม เป็นต้น”

นิธิพัทธ์ บอกว่าสิ่งที่เอเซอร์จะเข้าไปในกลุ่มสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1. Qualified Education Services คือการให้บริการด้านการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เช่น การเรียนแบบบูรณาการ ที่ต้องมีเทคโนโลยีหรือโซลูชั่นที่ทำให้เกิดขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ ที่เอื้อให้ห้องเรียนปรับเปลี่ยนได้ความต้องการได้ตามคลาสเรียน แม้แต่อุปกรณ์การเรียนการสอนด้าน AI ก็ตาม 

2. Smart Campus ในเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนในชั้นเรียน การเปิดปิดไฟในห้องเรียนโดยที่ถ้าไม่มีคนอยู่ระบบไฟก็จะปิดเอง หรือมีคนอยู่ก็เปิดเอง การดูสภาพอากาศ ค่าฝุ่นในสถาบันการศึกษา เป็นต้น 

และ 3. เรื่องของ Cultural and Social Driven การที่สถาบันการศึกษาต้องมีส่วนร่วมกันคนรอบๆ พื้นที่ หรือชุมชน การทำวิจัยหรือสร้าวนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน เป็นต้น

ด้าน สุพงศ์ ตั้งตรงเบญจศีล รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก กล่าวถึงธุรกิจคอนซูมเมอร์ว่า ทาง Acer ก็ได้มีการแตกแบรนด์อื่นๆ ออกมา เพื่อให้สินค้าตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่น Aspire สำหรับลูกค้าทั่วไป Nitro สำหรับลูกค้าทั่วไปและเล่นเกมด้วย ส่วน Swift สำหรับคนที่ชอบความสะดวกสบายพกพาไปได้ทุกที่ Predator สำหรับคนเล่นเกมเป็นหลัก และ Concept D ที่เน้นสายกราฟิก ออกแบบ  และล่าสุดยังออกแบรนด์ใหม่ในชื่อ Enduro ที่ตอบโจทย์การใช้งานนอกสถานที่ เน้นความทนทาน 

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทางผู้บริหารเอเซอร์ก็บอกว่ากระทบเพียงระยะสั้น จากผู้ผลิตบางส่วนในประเทศจีน แต่อย่างไรก็ตาม เอเซอร์ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศฟิลิปปินส์ และอินเดีย ก็ไม่ได้กระทบมากนัก และเชื่อว่าจะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น