เรื่องอาจจะเริ่มจากพ่อที่ไม่อยู่บ้าน เริ่มจากการเติบโตกันเองของพี่น้องและแม่ที่ทำทุกอย่างเพื่อลูก จนเกิดเป็นความสงสัย ทำไมมีพ่อก็เหมือนไม่มี ทำไม่พ่อถึงไม่เคยอยู่บ้าน

คำถามของเด็กโดดเดี่ยวย้อนไปไกลกว่านั้น แล้วพ่อของพ่อเล่า พ่อมีพ่อแบบที่เขามีหรือเปล่า พ่อเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวในบ้านที่ไม่มีปู่เหมือนเขาหรือเปล่า

มีรูปครอบครัวเพียงรูปเดียวที่มีพ่ออยู่ในรูป นอกนั้นเป็นเพียงรูปของเขากับแม่และพี่น้อง แต่เด็กจนโต พ่อเหมือนคนที่มีก็เหมือนไม่มีอยู่ เขาเริ่มต้นคล้ายๆ กัน มองย้อนกลับไปยังรูปครอบครัวของพ่อ ไม่มีรูปใบไหนเลยที่มีปู่อยู่ในนั้น มีแต่รูปย่า พ่อ และลุงป้า กับที่ว่างตรงตำแหน่งที่น่าจะเป็นปู่

จากรูปใบนั้นนั่นเอง เขาหันเหจากเรื่องพ่อมายังเรื่องราวของปู่ เรื่องราวที่ย่าไม่เคยปริปากบอก เรื่องที่ย่าเก็บไว้กับตัวจนแกตาย เรื่องที่ว่าปู่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาและโดนยิงตายต่อหน้าครอบครัว เรื่องที่ว่าลุงต้องแอบไปจ้างคนวาดรูปปู่เอาไว้เพื่อไม่ให้ลืมเพราะไม่มีรูปปู่หลงเหลืออยู่ เรื่องที่ย่าและคนอื่นๆ ต้องทำเป็นไม่รู้จักปู่เพื่อไม่ให้ต้องลำบากไปด้วย

จากนั้นเรื่องราวก็ล่องไหลไป จากเรื่องของปู่ไปสู่เรื่องของคนอื่นๆ ไปสู่เรื่องที่หนังสือเรียนไม่เคยสอน เรื่องที่ไม่เคยถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการของชาติ เรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มจากการรวมตัวกันของคนจีนโพ้นทะเลเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก ตามด้วยการต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษที่ปกครองมาเลเซียในตอนนั้น ผู้คนมากมายล้มตาย สูญหาย พลัดพรากจากครอบครัว ถูกเนรเทศกลับไปยังเมืองจีน ถูกขังลืม อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในป่า บางคนก็หนีข้ามมาตั้งรกรากในชายแดนสามจังหวัดของไทย

เริ่มต้นจากเรื่องส่วนตัวเล็กๆ ลงเอยด้วยการเป็นหนังสารคดีชิ้นสำคัญที่แตะประวัติศาสตร์บาดแผลของชาติ นี่คือสารคดีที่บันทึกเลือดเนื้อและชีวิตของผู้คนซึ่งพลัดพรากจากหายไปในกระแสธารของประวัติศาสตร์

สารคดีอันเรียบง่ายนี้พาผู้ชมเดินทางจากกัมปง (หมู่บ้าน) เล็กๆ ในมาเลเซียไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ข้ามไปยังฝั่งสามจังหวัดของไทย ข้ามไปยังฮ่องกงและจีน พูดคุยกับอดีตชาวพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ด้วยท่าทีของเด็กช่างคิดช่างรับฟัง ผู้คนที่กำลังเฒ่าชราพรั่งพรูประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลต่อหน้ากล้องอย่างไม่ปิดบัง ทั้งเรื่องที่คนจีนในมาลายาต้องเข้าร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากพ่ายสงครามให้กับพวกคอมมิวนิสต์ของเหมาในจีน ก็มาลงเอากับคอมมิวนิสต์จีนโพ้นทะเลไปจนถึงการต้องฝากลูกไว้กับคนอื่นจนพลัดพรากกันตลอดกาล

ความทรงจำเรียบง่ายอันรวดร้าวของผู้คนปรากฏขึ้นต่อหน้ากล้องด้วยท่าทีของคนที่เชื่อมั่นว่า นี่คือสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดต่อข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ในสมัยหนึ่งๆ แล้ว แม้ว่าเขาและเธอจะต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างในชีวิตไปก็ตาม

ด้วยความเรียบง่ายที่สัมผัสผู้คนนี้เอง ทำให้หนังเรื่องนี้โดนแบนในประเทศบ้านเกิด เพราะพูดถึงพรรคคอมิวนิสต์มาลายา ทำให้ผู้สร้างตัดสินใจปล่อยหนังให้ดูฟรีออนไลน์เฉพาะชาวมาเลเซีย ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

The Personal is Political (หรือThe Private is Political) เป็นคำขวัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ในยุคปลายทศวรรษ 1960s ที่มองว่าการต่อสู้ในเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต เพศวิถีของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องการเมือง เพราะมีการเมืองอยู่ในทุกพื้นที่ของผู้คน หากยึดความหมายดั้งเดิมมันอาจไม่ตรงกับประเด็น แต่เราก็พบว่ามันเหมาะเจาะในการเอามาใช้อธิบายโครงสร้างของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่คือหนังที่เริ่มต้นด้วยปริมณฑลของเรื่องส่วนตัว

เช่น การไม่พอใจพ่อของตัวเอง แต่การสืบรากของเรื่องกลับชักพาไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่านั้น ราวกับว่าผู้คนไม่ว่าจะมากหรือน้อยล้วนมีเส้นด้ายที่มองไม่เห็นของการเมืองผูกโยงอยู่ จนเราสามารถกล่าวได้ว่า ตราบที่ทุกคนเป็นทั้งผลผลิตและผู้ผลิตของสังคม ไม่มีวันที่เราจะหลบหนีความเป็นการเมืองได้พ้น สุดท้ายเราเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง และการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเรา

เรื่องของผู้คนที่หายไป จึงไม่ใช่แค่เรื่องความน้อยเนื้อต่ำใจของพ่อที่โตมาในสวนยางอย่างไร้เพื่อน ย่าที่ต้องทำงานหนักตื่นตีสามตี่สีไปกรีดยาง และคอยดูแลลูกๆ ตัวเขาเองที่ขาดความเอาใจใส่จากพ่อ ที่ขาดพ่อไม่ใช่แค่เรื่องภายในครัวเรือนแต่มันสวมซ้อนเข้ากับการเมืองระดับประเทศ สิ่งซึ่งไม่ว่าเขา หรือพ่อ หรือย่า ก็เข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

ความไม่มีอยู่ของพ่อไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียวที่ยากลำบาก หนังพาเราไปพบกับหญิงชราที่ไม่อาจจะสนิทสนมกับลูกสาวของตัวเองได้อีกแล้ว เพราะเธอถูกเนรเทศไปในช่วงเวลาที่ลูกสาวยังแบเบาะ หรือคู่ผัวเมียที่คลอดลูกในป่า แล้วต้องยกลูกให้คนอื่นไปตลอดกาล หรือคู่ผัวเมียที่โดนเนรเทศกลับมายังกวางโจว หากทุกค่ำคืนยังคงฝันถึงต้นมะพร้าว อากาศร้อนชื้น และสายลมทะเลแห่งคาบสมุทรมลายู

หนังมีฉากที่งดงาม อย่างเช่นฉากหนึ่งที่เมืองจีน เขาตามคุณยายอดีตสมาชิกพรรคอมมิวนิสต์มาลายาไปกินดื่มสังสรรค์กับมิตรสหายสาวร่วมรบ บนโต๊ะจีนในห้องของร้านอาหาร พวกเธอในวัยเจ็ดสิบถึงเก้าสิบร่วมกันร้องเพลงปฏิวัติ แอบสงสัยว่าทำไมชาติมาเลเซียถึงเอาเพลงรักของอินโดนีเซียมาทำเป็นเพลงชาติ – นั่นเพลงชาติเธอเหรอ มันเพลงรักของพวกอินโดไม่ใช่หรือ คุณยายกล่าว  (Terang Bulan ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้เป็นเพลงประกอบหนังเรื่องนี้มีท่วงทำนองเดียวกับเพลง La Rosalie ซึ่งเป็นเพลงฝรั่งเศสที่ถูกใช้เป็นทำนองของเพลง Negaraku เพลงชาติมาเลเซียหลังประกาศอิสรภาพ)  หรือการแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าของเหล่าพี่ชายในเมืองจีน  และชีวิตในมาลายาของพวกเธอ

  โดยไม่ได้ตั้งใจ หนังค่อยๆ เผยรายละเอียดว่า ถึงพวกเธอจะเป็นคนจีน เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศจีนก็ไม่ได้เป็นบ้านของพวกเธอ พวกเธอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์ที่นี่ บ้านของพวกเธอคือมาลายา ที่ไม่ใช่ที่ของพวกเธออีกแล้ว กลายเป็นคนแปลกหน้าของทุกหนแห่ง

และหากเราบอกว่า Personal is Politicial เราก็พูดในด้านกลับว่า Political is Personal ได้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อหนังดำเนินไปเรื่อยๆ เรากลับค่อยๆ ค้นพบว่า สิ่งที่ยึดโยงคนพลัดถิ่นเหล่านี้เอาไว้ ไม่ใช่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์อีกแล้ว ในช่วงท้าย หนังพาเราลัดเลาะข้ามพรมแดนไปดูงานเลี้ยงฉลองประจำปีของเหล่าสหายที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เราได้พบว่า ไม่ใช่แค่คนจีน แต่คนมลายูเองก็เป็นสหายร่วมรบด้วย แต่ในที่สุด ไม่ใช่เชื้อชาติหรืออุดมการณ์ แต่เป็นความผูกพันของมนุษย์ที่ตัดข้ามทุกอุดมการณ์ และสิ่งที่พวกเขาทำเมื่อพบกันไม่ใช่การวางแผนต่อสู้แบบคอมมิวนิสต์ตัวร้ายในจินตนาการรัฐ พวกเขาพบปะมิตรสหาย ร่วมดื่มและร้องรำทำเพลงกัน เพลงปลุกใจอาจยังลุกไหม้ในปัจเจกบุคคล แต่ในที่สุด มันลดรูปเหลือเพียงกิจกรรมร่วมกันรำลึกความหลังของผู้คนล้มเหลว แก่เฒ่าและยังมีชีวิตอยู่

ไม่ใช่เชื้อชาติหรืออุดมการณ์ แต่เป็นความผูกพันของมนุษย์ที่ตัดข้ามทุกอุดมการณ์ และสิ่งที่พวกเขาทำเมื่อพบกันไม่ใช่การวางแผนต่อสู้แบบคอมมิวนิสต์

ฉากหนึ่งที่งดงามที่สุดในหนัง คือการไปพบกับครอบครัวคอมมิวนิสต์พลัดถิ่นครอบครัวหนึ่งที่นัดรวมตัวกันเพื่อทำแกงกะหรี่ ด้วยเครื่องแกงผงกะหรี่จากมาเลเซีย แกงกะหรี่แบบวัฒนธรรมบาบ๋าเนียงยา ซึ่งเป็นอาหารเฉพาะถิ่นแบบเปอรานากัน อันหมายถึงพวกลูกหลานจีนอพยพที่ผสมเข้ากับคนมลายูพื้นถิ่น วัฒนธรรมครึ่งจีนครึ่งมลายูที่พบเห็นไปตลอดคาบสมุทรจากภูเก็ตไปจรดอินโดนีเซีย  แกงกะหรี่กลายเป็นสิ่งยืนยงข้ามพรมแดน ข้ามอุดมการณ์ทางการเมือง และข้ามเชื้อชาติ ถึงที่สุด การที่ครอบครัวนั่งกินแกงกะหรี่และเฝ้าฝันถึงมาลายูที่ไม่ได้กลับไป แสดงให้เห็นว่าการเมืองที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นสิ่งที่เข้มแข็งแจ่มกระจ่างอยู่ในชีวิตผู้คน

นี่จึงไม่ใช่สารคดีชำระประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สารคดีการเมือง แต่เป็นสารคดีของผู้คน ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ใช่สารคดีส่วนตัวเรื่องปู่ฉันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่มันคือภาพร่างของชีวิต มันคือสารคดีที่เปิดเผยว่า ในหล่มหลุมประวัติศาสตร์ที่รัฐชาติกลบฝังไปนั้น มีร่างกายของผู้คนไร้ชื่อจำนวนมากถูกกลบฝังอยู่จริงๆ

 

 

FACT BOX:

Absent Without Leave ภาพยนตร์สารคดีสัญชาติมาเลเซีย ความยาว 85 นาที
ผลงานการกำกับของ เลา เก็ก ฮัว (Lau Kek Huat)
ได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ เมื่อปี 2016
และรางวัลสารคดียอดเยี่ยมอาเซียน จาก SalayaDoc เมื่อปี 2017

ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะฉายอย่างถูกต้องในประเทศไทยเพียงสามรอบ ดูกิจกรรมและจองตั๋วได้ที่นี่

Tags: , , , , ,