ใครจะเชื่อว่าคนคนหนึ่งสามารถลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้ถึงสองครั้งภายในเวลาปีครึ่ง แต่ชายหนุ่มวัย 34 ปีผู้นี้ทำได้ เพราะเขาเปลี่ยนประเภทกีฬาที่จะลงแข่ง นักกีฬาจากประเทศตองกา ยามนี้แม้จะแทบสิ้นเนื้อประดาตัว แต่เขามีความสุข

เมื่อประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา ปิตา ทอฟาโตฟัว (Pita Taufatofua) เดินเปลือยอกฉาบน้ำมันถือธงชาติตองกาลงในสนามกีฬาโอลิมปิกใน ริโอ เดอ จาเนโร หลังจบเกมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาเทควันโดเมื่อปี 2016 เขาไม่อยากรอให้ถึงสี่ปีเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งใหม่ จึงเปลี่ยนประเภทกีฬา ฝึกฝนตนเองให้พร้อมสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชังของเกาหลีใต้ ในฐานะนักกีฬาวิ่งสเกตลู่ยาว

ขณะแข่งเทควันโด ที่ริโอเกมส์ ปี 2016 (โดย Issei Kato / Reuters)

ครั้งที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ ทอฟาโตฟัวยังลงแข่งขันในกีฬาเทควันโด และพ่ายแพ้ในรอบแรก เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อในครั้งนั้นว่า การเดินทางไป ริโอ เดอ จาเนโร ก็เพื่อพิสูจน์ตัวเองกับกีฬาประเภทหนัก เนื่องจากเขาต้องการฝึกซ้อมอะไรใหม่ๆ

หลังจากริโอ เดอ จาเนโร ทอฟาโตฟัวลดน้ำหนักตัวลงอีก 15 กิโลกรัม เพื่อให้คล่องและเร็วขึ้น คราวนี้ นักกีฬาจากตองกาต้องการลงแข่งวิ่งสเกตในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะตองกาไม่ใช่สวรรค์สำหรับกีฬาฤดูหนาว ทอฟาโตฟัวมีเวลาฝึกซ้อมท่ามกลางหิมะจริงๆ จังๆ เพียง 10 สัปดาห์เท่านั้น ในการแข่งขันวิ่งเจ็ดครั้งแรกเขามักวิ่งรั้งท้าย และไม่ผ่านรอบคัดเลือก

ก่อนกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวจะเริ่มต้นขึ้น ทอฟาโตฟัวต้องพบกับอุปสรรคหลายอย่าง เช่นพลาดการแข่งขันรอบคัดเลือกในสนามแข่งที่โครเอเชีย เนื่องจากเขาพลาดเที่ยวบิน และต้องเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านหลายประเทศ ใช้เวลานานเกินไป เขาเขียนเล่าในอินสตาแกรม

“ตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาผมต้องเดินทางผ่านห้าประเทศเพื่อที่จะเข้าร่วมแข่งขันในโครเอเชีย ผมนั่งรถแท็กซี่หกชั่วโมงผ่านอาร์เมเนีย มาถึงจอร์เจียตอนเที่ยงคืน ผมนั่งเก้าอี้แถวหน้าของสายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์ส เพื่อให้ง่ายในการลุกออกจากเครื่อง และวิ่งไปเปลี่ยนเครื่อง ซึ่งตามกำหนดแล้วผมมีเวลา 15 นาทีก่อนที่เที่ยวบินไปโครเอเชียจะออก แต่พอไปถึงจริงๆ ผมกลับพบว่า สายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์สน่าจะปิดประตูก่อนเวลา ทั้งๆ ที่รู้ว่ายังมีผู้โดยสารบนเครื่องบินดีเลย์จากจอร์เจียตกค้างอยู่ เครื่องบินออกไปโดยไม่ได้รอผม…”

แต่โอกาสของเขายังเปิดรออยู่ เพราะที่ไอซ์แลนด์ยังมีการแข่งขันรอบคัดเลือกครั้งสุดท้าย และนั่นก็เป็นโอกาสสุดท้ายของเขาด้วย

ขณะแข่งสเกต ที่พย็องชังเกมส์ เกาหลีใต้ ปี 2018 (Carlos Barria / Reuters)

เส้นทางสู่โอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ของปิตา ทอฟาโตฟัว

  • มกราคม 2017 ทอฟาโตฟัวสมัครเข้าเป็นนักกีฬาวิ่งสเกตลู่ยาว โดยมีเทรนเนอร์ชาวเยอรมัน 2 คนดูแล โทมาส ยาค็อบ (Thomas Jacob) คอยฝึกการวิ่งสเกตลู่ยาว และสตีฟ กรุนด์มันน์ (Steve Grundmann) เป็นหัวหน้าโค้ชทีมสกีของตองกา แต่เนื่องจากการเตรียมพร้อมสำหรับกีฬาโอลิมปิกมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง พวกเขาจึงรวบรวมเงินผ่านทางคราวด์ฟันดิง
  • จุดหมายปลายทางที่โอลิมปิก ใครจะไปถึงได้ต้องผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก ทอฟาโตฟัวต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากการแข่งขันห้าครั้ง เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2017 เส้นทางสู่โอลิมปิกของเขายังดูสวยหรู เขาผ่านรอบคัดเลือกไปแล้วสี่ครั้ง เพียงแต่ทั้งหมดนั้นเขาผ่านเกณฑ์มาได้จากการแข่งขันโรลเลอร์สกี
  • คณะกรรมการโอลิมปิกสากลเพิ่งประกาศเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว อนุโลมให้ผู้แข่งขันโรลเลอร์สกีสามารถสะสมคะแนนเพื่อคัดเลือกเข้ากีฬาโอลิมปิกได้
  • ปิตา ทอฟาโตฟัว พลาดการแข่งขันรอบคัดเลือกที่โครเอเชีย ทว่าโชคยังดีที่มีการแข่งขันรอบสุดท้ายจัดขึ้นที่ไอซ์แลนด์ ในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ถึงกระนั้น อุปสรรคเรื่องการเดินทางเกิดขึ้นกับเขาอีกจนได้ เนื่องจากมีพายุหิมะกระหน่ำ เครื่องบินโดยสารพากันหยุดบิน ทอฟาโตฟัวและทีมของเขาจำต้องเดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งใช้เวลาหลายวันในการบุกฝ่าพายุหิมะและเส้นทางที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถหยุดความพยายามของเขาได้
  • ในการแข่งขันวิ่งสเกตลู่ยาวระยะทาง 10 กิโลเมตรที่ไอซ์แลนด์ ปิตา ทอฟาโตฟัวเข้าเส้นชัยเป็นคนที่ 6

เขาบอกกับนักข่าวหลังการแข่งขันว่า “เราทุ่มเทกันมากเพื่อมาถึงตรงนี้ ผมหมดเงินไปเยอะมาก แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ผมก็มีความสุขมาก แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเหมือนกัน”

 

อ้างอิง:

www.sueddeutsche.de

www.bento.de

 

รูปหน้าแรก: พิธีเปิดพย็องชังเกมส์ เกาหลีใต้ ปี 2018 (Kai Pfaffenbach / Reuters)

Fact Box

ปิตา ทอฟาโตฟัว เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวพี่น้อง 8 คน เคยทำงานในถิ่นกำเนิดประเทศออสเตรเลียเป็นพี่เลี้ยงในสถานสงเคราะห์เด็กไร้บ้าน เขาเคยพลาดรอบคัดเลือกกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนมาแล้วถึงสามครั้ง ครั้งหนึ่งเคยได้รับบาดเจ็บถึงขั้นต้องนั่งรถเข็นนานสามเดือน และต้องใช้ไม้เท้าเดินนานเกือบปี การได้เป็นนักกีฬาโอลิมปิกตัวแทนประเทศตองกาที่ริโอ เดอ จาเนโรเมื่อปี 2016 นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของเขา ที่จุดประกายความทะเยอทะยาน ทำให้เขาเกิดความคิดที่จะเป็นนักกีฬาโอลิมปิกคนแรกที่เข้าร่วมแข่งขันโดยไม่ต้องรอถึงสี่ปี

Tags: , , , , ,