วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562 ของ 15 ปีที่แล้ว สมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนถูกพาตัวออกไปจากรถของเขาโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ นับแต่นั้น ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นเขาอีก เขาถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล
นอกจากสมชายแล้ว ยังมีอีกหลายกรณีที่นักเคลื่อนไหวถูกบังคับให้หายตัวไป จากปี 2523 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN WGEID) พบว่ามีกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายทั้งสิ้น 90 คดีในประเทศไทย โดยมี 82 คดีที่ยังคงค้าง ซึ่งเหตุเหล่านี้สะท้อนปัญหาที่ทั้งเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อต้องประสบปัญหาในการอำนวยความยุติธรรม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงร่วมกันจัดกิจกรรมครบรอบ 15 ปีของการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร และคดีการหายตัวไปอื่นๆ ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ กรุงเทพฯ
โดยงานในปีนี้ มีญาติของเหยื่อผู้สูญหายกรณีอื่นๆ มาเข้าร่วมด้วย ได้แก่ มึนอ ภรรยาของพอละจี บิลลี่ รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายกระเหรี่ยง ซึ่งถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายว่าอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายของทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งมีรายงานว่าถูกลักพาตัวไปในปี 2534, ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 75 ปีที่หลบหนีจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หลังจากการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 เขาและผู้ช่วยทั้งสองคนหายตัวไปจากที่อยู่ในเดือนธันวาคม 2561 ต่อมา ร่างของผู้ช่วยทั้งสองจะถูกค้นพบในแม่น้ำโขงเมื่อไม่นานนี้
The Momentum รวบรวมคำบอกเล่ารายละเอียด จากมุมมองของคนใกล้ชิด ว่าต้องเผชิญกับปัญหาใดบ้างในกระบวนการยุติธรรมของไทย
000
สมชาย นีละไพจิตร
ทนายสิทธิมนุษยชน
หายตัวไปเมื่อ 12 มีนาคม 2547
เหตุการณ์เกิดขึ้นใจกลางเมืองย่านรามคำแหง มีคนพบเห็นทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกดึงตัวออกจากรถยนต์ส่วนตัวแล้วพาขึ้นไปบนรถยนต์อีกคันหนึ่ง จากนั้นก็ไม่มีใครได้พบเขาอีกเลย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่เขาออกมาเปิดเผยข้อมูลการซ้อมทรมานลูกความคดีความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้ และเรียกร้องอย่างจริงจังให้ยกเลิกกฎอัยการศึก
คำบอกเล่าจาก อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร:-
“ในทุกๆ วันที่ 12 มีนาคมของทุกปี ดิฉันก็จะเป็นคนหนึ่งในบรรดาญาติของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย ที่ออกมาทวงถามความเป็นธรรมในกรณีถูกบังคับให้สูญหาย โดยเฉพาะคดีของสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นทนายสิทธิมนุษยชนที่ว่าความให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“นับจากวันที่ทนายสมชายหายตัวไป ดิฉันพยายามประสานและแสดงให้รัฐเห็นว่าดิฉันใส่ใจและติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดิฉันตามไปทุกที่ที่เชื่อว่ามีการฆ่าและทำลายศพ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่เป็นที่ทำลายวัตถุระเบิดในค่ายทหาร สถานที่ทิ้งขยะในแม่น้ำที่เชื่อว่ามีการเอาเถ้าและชิ้นส่วนกระดูกของสมชายไปทิ้ง ดิฉันไปศาลทุกวันที่มีการพิจารณาคดีนี้ นั่งเผชิญหน้ากับจำเลยที่เป็นตำรวจ 5 คน ในช่วง 5 เดือนระหว่างการพิจารณาคดีในศาล มีหลักฐานว่ามีการนำเศษชิ้นส่วนกระดูกของสมชายหลังจากที่ถูกเผาในถังน้ำมัน 200 ลิตรไปทิ้งที่แม่น้ำแม่กลอง แต่หลังจากที่มีการค้นหาและตรวจพิสูจน์ก็พบว่าไม่ใช่กระดูกของสมชาย แต่เป็นเศษกระดูกของใครก็ไม่ทราบ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลนิรนาม อาจจะเป็นคนที่ถูกทำให้หายไปโดยที่ไม่มีการพิสูจน์ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร
“วันนี้เป็นวันครบรอบ 15 ปีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรถูกบังคับให้สูญหาย ผ่านมา 15 ปี มีหลายสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง มีทั้งเรื่องดี และมีเรื่องที่น่าเศร้าใจ
“เมื่อเดือนมกราคม 2555 รัฐบาลไทยได้ลงนาม อนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหายของสหประชาชาติ และมีเจตจำนงในการที่จะให้สัตยาบันและให้มีกฎหมายภายในประเทศเพื่อป้องกันคนทุกคนจากการบังคับสูญหาย หลังจากนั้นต่อมา 3 ปี ไม่กี่วันก่อนจะฉลองปีใหม่ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายในคดีกักขัง หน่วงเหนี่ยว และลักทรัพย์ทนายสมชาย นีละไพจิตร
“คำพิพากษาของศาลสรุปข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ทนายสมชายถูกคนกลุ่มหนึ่งผลักขึ้นรถแล้วหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม แต่ศาลก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยการที่ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่นำขึ้นสู่ศาลไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงยืนยันความถูกต้องของเอกสาร
“นอกจากนั้นศาลก็ยังพิพากษาว่าครอบครัวผู้บังคับสูญหายไม่มีสิทธิ์ในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมแทนผู้สูญหายได้ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต คดีนี้ผู้เสียหายจึงมีเพียงคนเดียว คือทนายสมชาย ดังนั้นเมื่อไม่มีศพ จึงเชื่อว่าสมชายยังไม่ตาย และเมื่อไม่มีหลักฐานว่าเขาได้รับบาดเจ็บ เขาจึงต้องมาร้องต่อศาลด้วยตัวเอง ครอบครัวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย คดีนี้ผู้เสียหายเพียงคนเดียวคือสมชาย ญาติพี่น้องทำอะไรไมได้เลย ผลก็คือ คดีสมชายไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายไม่รู้อยู่ที่ไหน
“ดิฉันก็มีความหวังอีกครั้ง นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการสูญหายของสหประชาชาติ และให้กระทรวงยุติธรรมนำร่างพระราชบัญญัติทรมานสูญหายเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา
“หากแต่สิ่งที่กังวลก็คือ ในกระบวนการพิจารณากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือคนทำงานด้านการบังคับสูญหาย รวมถึงไม่รับฟังข้อเรียกร้องและความทุกข์ยากของเหยื่อและครอบครัว การเขียนกฎหมายจึงเป็นเหมือนการเขียนกฎหมายด้วยความกลัว ความหวาดระแวง ว่ากฎหมายนี้จะมุ่งเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เทน้ำหนักในการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าที่จะคุ้มครองและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน นั่นคือ ร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอาจไม่สามารถคุ้มครองและปกป้องการทรมานการบังคับให้สูญหายได้
“กฎหมายที่ประเทศไทยจะร่างขึ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบังคับสูญหายที่เป็นอาชญากรรมต่อเนื่องและไม่มีอายุความ รัฐมีหน้าทึ่ต้องสืบสวนสอบสวน จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย กฎหมายจึงต้องคุ้มครองเหยื่อทุกคน เนื่องจากความเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีอายุความ เหยื่อการบังคับสูญหายในอดีตที่ผ่านมา ในสถานะที่ยังคงเป็นผู้สูญหาย รัฐจึงไม่สามารถที่จะยุติการสืบสวนสอบสวน และเปิดเผยความจริงต่อชะตากรรมของผู้สูญหายได้
“การยืนยันหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย เป็นประการหนึ่งที่น่ากังวลที่อาจจะหายไปในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมถึงการสร้างหลักประกันว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ รวมถึงในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่เป็นเหตุให้บุคคลจะถูกทรมานหรือบังคับให้สูญหาย
“การนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม เป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจละเว้นได้ แม้ผู้กระทำผิดจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับใดก็ตาม กฎหมายจึงต้องระบุถึงผู้ที่บังคับให้สูญหายและผู้เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้บังคับบัญชาทุกระดับ รวมถึงสิทธิที่จะทราบความจริงซึ่งเป็นสิทธิของเหยื่อ และสิทธิที่จะทราบความจริงเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยา การเปิดเผยความจริงจะทำให้เหยื่อรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และมันจะสามารถทำให้ครอบครัวพ้นจากพันธนาการของความทุกข์ทรมานต่อความไม่รู้ต่อชะตากรรมที่กล่าวออกมา
“สิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วเป็นสาระสำคัญที่ ร่าง พ.ร.บ.การป้องกันการทรมานและการบังคับให้สูญหายจำเป็นต้องเน้นย้ำและไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้
“ดิฉันและครอบครัวของผู้สูญหายทุกคนยังรอคอยความยุติธรรม และเราก็คาดหวังว่า วันที่ 7 มีนา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กำหนดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การทรมานและการบังคับให้สูญหาย ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครทราบเหตุผลว่า เพราะเหตุใดในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงถูกถอดออกไป
“ดิฉันเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญ และต้องมีเจตจำนงทางการเมือง มีเจตนาแน่วแน่ ในการที่จะคุ้มครองประชาชน และไม่ปกป้องผู้กระทำผิด แม้ว่าผู้กระทำผิดเหล่านั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
“ผ่านมา 15 ปี ดิฉันได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลทหาร รัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ประชาธิปไตย การอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่เสียหายจากอาชญากรรมโดยรัฐไม่เคยเกิดขึ้นจริง และการงดเว้นโทษในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เคยเกิดขึ้น
“การเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายจึงเป็นแค่การสงเคราะห์มากกว่าการสำนึกผิดในสิ่งที่รัฐได้กระทำไป สำหรับดิฉันแล้ว สิ่งที่เหยื่อและครอบครัวต้องการ คือความรับผิดชอบจากรัฐ
“ความรับผิดชอบหมายถึงการเปิดเผยความจริงถึงที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย การนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย การฟื้นฟูเยียวยา และการสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีใครต้องถูกบังคับสูญหายโดยรัฐอีก
“ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ รัฐจะต้องร่วมทุกข์กับเหยื่อ มิใช่ปล่อยให้เหยื่อเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง เรียกร้องความเป็นธรรมโดยที่รัฐไม่ได้ห่วงใย และไม่ได้มืดบอดในการรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน การให้เงินชดใช้ความเสียหายจะต้องไม่ใช่การกระทำเพียงเพื่อการสงเคราะห์ และแม้ว่ารัฐจะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะหมดภาระหน้าที่ในการนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“หลังจากคดีสมชาย ดิฉันคิดว่าจะไม่มีใครต้องถูกบังคับสูญหายอีก แต่ก็น่าเสียใจว่า หลังจากที่สมชายถูกบังคับให้สูญหาย เรายังได้เห็นเหยื่อของการบังคับสูญหายอีกมากมายในสังคมไทย ดิฉันก็คงเหมือนญาติผู้สูญหายรายอื่นๆ ที่จนชั่วชีวิตอาจจะไม่ได้พบความยุติธรรม แต่ดิฉันก็เชื่อว่า ทุกสิ่งที่ดิฉันได้ทำลงไปใน 15 ปีที่ผ่านมา จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ ถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน ดิฉันจะได้เห็นคนรุ่นใหม่ทวงถามความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อที่จะบอกกับรัฐว่า เราจะไม่ยอมให้รัฐใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป”
บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายกระเหรี่ยง
หายตัวไป 17 เมษายน 2557
ปมของเรื่องเกี่ยวพันกับการฟ้องร้องคดีชาวบ้านที่บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านชุมชนกะเหรี่ยง รวมถึงบ้านของปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลอยบนที่แก่งกระจาน แต่แล้วหลังจากนั้น หลานชายของปู่คออี้ – บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งก็ร่วมเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนด้วยนั้น ก็หายตัวไป
คำบอกเล่าจาก มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ :-
“บิลลี่ พอละจี เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มียศไม่มีตำแหน่งอะไร เขาพยายามค้นคว้าหาความรู้เพื่อที่จะไปช่วยหมู่บ้านของตัวเอง หมู่บ้านเขาอยู่ในเขตอุทยานที่ถูกประกาศทับด้วย พ.ร.บ.อุทยานฯ จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2554 บ้านของปู่คออี้ก็ถูกเผา บิลลี่เขาก็อยากจะหาทางเข้าไปช่วยปู่ให้ได้รับความยุติธรรม เขาก็หาทุกวิถีทาง ไปสมัครเป็นสมาชิก อบต. พอสมัครได้เขาก็คิดว่าเขาจะสามารถติดต่อกับเครือข่ายภายนอกเพื่อปรึกษาได้โดยตรง เขาคิดว่ามันง่ายกว่าที่จะช่วยปู่ของเขา แต่เขาเป็นสมาชิก อบต.ได้แค่ปีกว่า เขาก็ถูกทำให้หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557
“ตอนที่เรื่องเกิดใหม่ๆ หนูก็ไม่รู้ว่าบิลลี่หายไปได้ยังไง ตั้งแต่เมื่อไร ก็ได้รู้จากพี่ชายเขา พี่ชายเขาโทรมาเมื่อวันที่ 18 ตอนช่วงบ่าย เขาถามว่าเห็นบิลลี่กลับถึงบ้านไหม กลับไปหาครอบครัวไหม ก็บอกว่า ยังไม่เห็น ก็ถามพี่ชายว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับบิลลี่ไหม พี่ชายเขาก็บอกว่าบิลลี่ลงมาตั้งแต่เที่ยงๆ บ่ายๆ ของวันที่ 17 แต่แล้วก็มีชาวบ้านไปบอกว่ามีเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัวไป เขาก็ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น คิดว่าจะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เหมือนคนทั่วๆ ไปมักจะถูกตรวจแล้วพาไปที่โรงพัก แต่คราวนี้มันไม่เป็นไปตามอย่างที่พี่ชายเขาคิด
“พอวันที่ 18 โทรหาก็ไม่ติด ก็โทรไปหาเพื่อนที่รู้จักทุกคนเลย ไม่มีใครเจอบิลลี่ ติดต่อไม่ได้อีกเลย วันที่ 19 เมษายนก็ชวนพี่ชายบิลลี่อีกคนหนึ่งและเพื่อนอีกสองคนมาแจ้งความที่ สภ.แก่งกระจาน พอมาช่วงเช้า จะมาเจอเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง มีหนวดมีเคราเยอะแยะ เขาบอกว่า — คนถูกจับตัวไปไม่ใช่คนหาย จะมาแจ้งความได้อย่างไร — ช่วงเช้าเขาไม่รับแจ้งความ พอตอนเที่ยง พอช่วงบ่ายก็มาอีกรอบหนึ่ง ก็มาเจอเจ้าหน้าที่คนนั้นเหมือนเดิม เขาก็บอกว่าเขาช่วยประสานงานให้กับหัวหน้าอุทยานในพื้นที่ให้แล้ว เขาบอกว่าเขาจับตัวไปจริง และเขาปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว เขาไม่ได้ทำอะไรบิลลี่เลย
“หนูก็เลยบอกว่า เขาปล่อยตัวยังไง หนูเป็นภรรยา เขาไม่เห็นกลับไปหาลูกหาเมีย เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า — นั่นละคือสิ่งสำคัญ ผู้เสียหายต้องไปเก็บข้อมูลมาแล้วก็เอามาส่ง แล้วเขาก็ค่อยออกสื่อไปตามหาให้ทีหลัง– หนูก็เลยบอกว่า หนูไม่กล้าไปหาข้อมูล ให้เจ้าหน้าที่ไปหาให้หน่อย เขาก็เลยบอกว่าถ้าหนูพูดมาก ให้หนูเข้าไปในห้องสอบสวน พอหนูเข้าไปในห้องสอบสวน เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้สอบสวนเขาก็ถามตั้งแต่วันแรกที่บิลลี่อยู่กับครอบครัวว่าวันที่เท่าไร แล้วออกจากบ้าน เอาอะไรไปบ้าง ไปยังไง ก็จะเล่าตั้งแต่ว่าช่วงสงกรานต์เดือนเมษายน บิลลี่ก็จะอยู่บ้านตลอด แต่พอวันที่ 15 เขาก็ออกจากบ้าน บอกว่าเขากลับไปที่หมู่บ้าน ไปทำหน้าที่ อบต. เอากระเป๋าเป้ไป ใส่เสื้อผ้า มีโทรศัพท์โนเกียเครื่องหนึ่งและกล้องอีกเครื่องหนึ่ง ไปด้วยรถเครื่องสีเหลืองดำ ป้ายทะเบียน ถ้าจำไม่ผิดคือ ขพ 988
“พอเล่าให้เจ้าหน้าที่สอบสวนฟัง เจ้าหน้าที่ก็พยายามถามแบบถามจบก็ไปเริ่มต้นใหม่ ถามวนไปวนมา พอถามตั้งแต่ต้นใหม่ หนูก็เล่าตั้งแต่ต้นใหม่จนจบ เขาก็จะบอกหนูว่า หนูใจเย็นๆ นะ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พูด หนูก็คิดในใจว่า หนูไม่ได้งงนะ ทำไมเจ้าหน้าที่คนนี้ต้องถามแบบนั้น หนูก็มองไปรอบๆ ห้อง ก็คิดในใจว่า มันสมชื่อนะที่เป็นห้องสืบสวนสอบสวน คือถามแบบวนไปวนมา หนูก็ไม่รู้จะตอบยังไง
“จากนั้น พอหนูพูดเสร็จเขาก็เรียกพี่สะใภ้พี่บิลลี่เข้าไปอีกคนหนึ่ง พี่สะใภ้เขาบอกหนูว่าเขาไม่กล้าเข้าไป เข้าไปเป็นเพื่อนหน่อย พี่สะใภ้เข้าไปนั่งแล้ว ขาเขาสั่นเลย ปากเขาสั่น ตำรวจสอบสวนถาม เขาก็เล่าไป อะไรที่เขาพูดไม่ได้เขาก็ให้หนูช่วยพูด ตำรวจก็หันมามองแล้วถามว่า เข้ามาทำไมรอบสอง หนูก็ถูกสอบสวนใหม่อีกรอบหนึ่ง แล้วหนูก็หันข้างให้ตำรวจสอบสวน แล้วพอพี่เขาถามหนู ตำรวจก็ว่า ไปถามเขาได้ยังไง อยู่คนละหมู่บ้าน หนูก็เลยต้องนั่งเงียบ ไมได้บอกอะไรพี่เขาอีก แต่จากนั้น พอตำรวจสอบสวนพี่สะใภ้จบเขาก็ให้ออกมา
“ต่อมา ประมาณวันที่ 23 หนูก็ทำเรื่องไปที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ไปกับเครือข่ายและชาวบ้านหลายคน ไปยื่นหนังสือให้หัวหน้าอุทยานออกนอกพื้นที่ แต่ผู้ว่าฯ เขาบอกว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ เขาก็เลยไม่มีคำสั่ง วันต่อมาก็ไปกับทนาย ไปที่กองพิสูจน์หลักฐาน ก็มีนักข่าวตามเข้าไปในห้องด้วย เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ไม่ให้ทำข่าว ถ้าทำแล้วมีอะไรเกิดขึ้นเขาก็จะโดนไปด้วย พอหนูกับลูกชายไปตรวจดีเอ็นเอเก็บไว้เสร็จ ทนายก็พาไปที่ศาลเพชรบุรี ไปยื่นมาตรา 90 ศาลก็ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์และฎีกาก็ยกคำร้องว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ
“ปัจจุบันนี้ คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้าไปถึงไหน เมื่อวานดีเอสไอก็โทรมาถามหนูว่า คอมพิวเตอร์ของบิลลี่มีอะไรไหมที่มาเป็นหลักฐาน เขาถามเกี่ยวกับวิดีโอที่เผาบ้านปู่คออี้และวิดีโอที่เจ้าหน้าที่กำลังเลื่อยตัดไม้อยู่ เขาถามว่ามีอยู่ในคอมพิวเตอร์ของบิลลี่ไหม หนูบอกว่าไม่อยู่แล้ว หนูลบทิ้งหมดแล้ว เขาบอกว่าวันศุกร์นี้เขาจะไปหาหนูที่บ้าน เขาจะไปเอาคอมฯ นั้นมาตรวจ เขาบอกว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ต้องทำตามขั้นตอน ก็บอกว่าถ้าจะไปก็ไปเอาได้ แต่หนูไม่เอาคอมฯ ให้เขาไปนะ ใช้เสร็จแล้วหนูจะขอคืน”
สุรชัย แซ่ด่าน
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
หายตัวไปเมื่อธันวาคม 2561
คนที่เป็นคอการเมืองอาจคุ้นกับชื่อของ ‘สุรชัย แซ่ด่าน หรือด่านวัฒนานุสรณ์’ จากบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองนับแต่ยุค พคท. เป็นต้นมา ขณะที่บางคนก็คุ้นชื่อเขาจากข่าวคราวเรื่องผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หายตัวไปขณะลี้ภัยใน สปป.ลาว ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมีการพบศพของชายสองคนซึ่งถูกฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดโดยผ่าท้องยัดท่อนปูนซีเมนต์ ใส่กุญแจมือ และมีถุงกระสอบคลุมร่าง ที่ต่อมา ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเพื่อนทั้งสองคนที่ร่วมลี้ภัยกับสุรชัย
คำบอกเล่าจาก ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ (ป้าน้อย) ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน:-
“ดิฉัน นางปราณี วัฒนานุสรณ์ หรือป้าน้อย เป็นภรรยาของนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือด่านวัฒนานุสรณ์
วันนี้ (12 มี.ค.) คุณสุรชัยหายตัวไปครบสามเดือนพอดี เขาหายไปช่วงคืนวันที่ 12 ต่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ สปป.ลาว
“คุณสุรชัยเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2485 เป็นชาวอำเภอปากพนัง เริ่มแรกเป็นคนธรรมดา มีอาชีพเป็นช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์ ต่อมา เมื่อมีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชน คุณสุรชัยก็ยังอยู่ที่นครศรีธรรมราช แต่ก็ได้รับทราบข่าวคราวและจุดประกายไฟ เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในฐานะคนยากจนคนด้อยโอกาส เขาได้ร่วมทำกิจกรรมที่ภาคใต้ของประเทศไทย ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมที่กรุงเทพฯ เหมือนกับคนอื่น หลังจากนั้น คุณสุรชัยมีบทบาทช่วยเหลือญาติพี่น้องชาวบ้านภายในพื้นที่ภาคใต้
“จนกระทั่งปี 2518 มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้เข้าร่วมกับนักศึกษาประชาชนในการรับแจกสิ่งของแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยอย่างไม่เป็นธรรม เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนเกิดเหตุการณ์เผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นถูกจับกุมตัวร่วมกับนักศึกษาและครูที่วิทยาลัยครูราชภัฏของนครศรีธรรมราช ต่อมา มีการประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัว เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณสุรชัยไม่ได้เป็นคนก่อ แต่เป็นการที่มวลชนมาชุมนุมกันมากแล้วควบคุมฝูงชนไม่ได้
“จากนั้น มีการเริ่มดำเนินคดีใหม่ในปี 2519 คุณสุรชัยหลบหนีการจับกุมเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่กรุงชิง จ.นครศรีธรรมราช เป็นเวลาห้าปี ต่อมาก็ย้ายค่ายไปอยู่บ้านพรุพี บ้านช่องช้าง จ.สุราษฎร์ธานี ภายในห้าปีนั้น ก็มีเหตุการณ์การเจรจาขอหยุดการรบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีส่งคนไปเชิญคุณสุรชัย ทางพรรคก็ส่งคุณสุรชัยออกมาเป็นผู้เจรจาที่จวนผู้ว่าฯ แต่ยังไม่ทันได้เจรจากัน คุณสุรชัยก็ถูกทหารจับกุมตัวไปโดยมีข้อเสนอว่า ถ้าคุณสุรชัยยอมรับว่ามามอบตัวเองก็จะไม่เอาผิดทางอาญา เช่น กรณีเผาจวน หรือการปล้นรถไฟ หรือฆ่าเจ้าหน้าที่ ที่ถูกกล่าวหา
“แต่คุณสุรชัยถูกตัดสินเพราะไม่ยอมรับว่าได้มามอบตัว ก็โดนรื้อคดีเก่า คือ เผาจวนผู้ว่าฯ ปี 2518 ศาลตัดสินให้จำคุก 23 ปี และคดีฆ่าเจ้าหน้าที่นั้น โทษประหารชีวิต คุณสุรชัยอยู่ในคุกตั้งแต่ปี 2524 ทำตัวเป็นนักโทษที่ดี และขอพระราชทานอภัยโทษพิเศษส่วนบุคคล ก็ได้ลดโทษมาเรื่อยๆ ห้าครั้งด้วยกัน จากประหารชีวิตเป็นตลอดชีวิต ได้รับอภัยโทษครั้งแรกในปี 2531 ต่อมาก็ได้รับอภัยโทษตามวาระพิเศษ รวมแล้วห้าครั้ง ก็ได้อิสรภาพ ในปี 2539 รวมติดคุกครั้งนั้น 16 ปี
“คุณสุรชัยเขียนหนังสือเกี่ยวกับนักโทษประหารคนที่ 310 เนื่องจากช่วงที่เขาติดคุก เขาได้เป็นนักโทษประหารคนที่ 310 พอดี…ตอนอยู่ในคุก 16 ปี คุณสุรชัยได้เขียนเรื่องของตัวเอง เรื่องของนักโทษคนสำคัญ และเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่มีการทุจริตคอร์รัปชันในคุก รวมแล้ว 17 เรื่องด้วยกัน คุณสุรชัยมิใช่นักเขียนโดยอาชีพ แต่เขียนด้วยความจำกัดและความกดดันที่ตัวเองถูกกระทำและถูกกล่าวหาหลายคดี เมื่อออกจากคุกมาเมื่อ 2539 ก็มาแต่งงานกับป้าน้อย ปี 2540
“คุณสุรชัยคิดไว้ว่า ออกจากเรือนจำมาจะทำงานการเมือง เพราะปกติทำงานภาคประชาชนไม่มีตำแหน่งอะไร จึงคิดสมัครผู้แทนฯ อย่างน้อยก็เป็นผู้แทนในท้องถิ่น เช่น ส.จ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ก็สมัครไม่ได้เพราะเป็นคนต่างด้าว เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนจีนมาจากเมืองจีน จึงต้องเรียนต่อ มสธ. จนจบ แล้วก็สมัคร ส.จ. ในปี 2543 ได้เป็น สจ.อำเภอปากพนัง เวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อนแล้วมาหาหรือร้องเรียนต่อ ส.ส. องค์กรในพื้นที่แล้วไม่สามารถแก้ไขได้ คุณสุรชัยก็ช่วยแก้ไขมาหลายเรื่อง
“จนกระทั่งเกิดการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 คุณสุรชัยก็ได้เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการอีกรอบ ต่อมาร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ลาออก มีการปราศรัยหลายจังหวัด ช่วงนั้น ตำรวจไปบันทึกเสียงปราศรัยเวทีต่างๆ แล้วก็แจ้งความว่าคุณสุรชัยพูดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
“คุณสุรชัยก็ยอมรับ บอกว่าให้ไปรวบรวมมาทุกเวที เพราะคุณสุรชัยจะไม่สู้คดี ปรากฏว่าเขาได้มาห้าคดี คุณสุรชัยก็ยอมรับ คุณสุรชัยได้รับการตัดสินจำคุก 12 ปีครึ่ง
“ต่อมา ได้ขอพระราชทานอภัยโทษพิเศษ ได้ออกมาในเดือนตุลาคม 2556 พอออกมาแล้ว ตำรวจยังแอบเอาอีกคดีหนึ่งที่ปราศรัยไว้เมื่อปี 2552-2553 มาแกล้งอีก คุณสุรชัยรับไม่ได้ เมื่อมีการยึดอำนาจอีกในปี 2557 คุณสุรชัยจึงหลบออกไปอยู่ต่างประเทศ ทางการก็มีหมายจับว่าคุณสุรชัยอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่งหนังสือไปกดดันหลายครั้ง ประเทศเพื่อนบ้านบอกว่าหาไม่เจอ แต่ทางการยังกดดันไปเรื่อยๆ
“จนกระทั่งสุดท้าย มีการหายออกจากบ้าน ต่อมาก็มีศพที่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมลอยน้ำที่จังหวัดนครพนม 3 ศพ ศพแรกหาไม่เจอ และไม่มีการแจ้งความ ส่วน 2 ศพนั้นเป็นผู้ที่อยู่ด้วยกันและหายไปพร้อมกัน โดยตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอแล้วว่าเป็นคนที่อยู่ด้วยกัน ดิฉันจึงไปแจ้งความที่ท้องที่ว่า คุณสุรชัยถูกอุ้มฆ่า แต่ว่าศพถูกลักพาหายไป จึงไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อไป จะทำเรื่องร้องเรียนกับยูเอ็น และจะต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่กองปราบปรามและดีเอสไอต่อไปในโอกาสที่เหมาะสม”
ทนง โพธิ์อ่าน
อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย
หายตัวไปเมื่อปี 2534
ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนเพื่อประท้วงรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร และการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) อย่างพฤษภาทมิฬในปี 2535 ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ ผู้นำแรงงานที่มีบทบาทสนับสนุนการรวมตัวต่อรองของคนงานและต่อต้าน รสช.อย่างแข็งขัน จนได้รับการขนามนามจากสื่อมวลชนว่า ‘หมูไม่กลัวปังตอ’ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เมื่อ 19 มิ.ย. 2534
คำบอกเล่าโดย อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายของทนง โพธิ์อ่าน:-
“ผม อดิศร โพธิ์อ่าน ขอขอบพระคุณครอบครัวนีละไพจิตรและทุกๆ ท่าน ที่ให้โอกาสครอบครัวโพธิ์อ่านได้มาพูดที่นี่ ทุกท่านรู้ไหมครับว่า ประเทศไทยมีกระทรวงแรงงาน มีกฎหมายประกันสังคมเพราะใคร ถ้าไม่มีทนง โพธิ์อ่าน ผมบอกได้เลยว่าเมืองไทยไม่มีกฎหมายสองฉบับนี้แน่นอน เนื่องจากว่าคุณทนงเป็นผู้นำแรงงานที่มีบทบาทสูงมากในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
“คุณทนง โพธิ์อ่าน เป็นผู้นำการเมืองที่เข้มแข็งมาก เป็นยุคเดียวเท่านั้นที่ขบวนการแรงงานเข้มแข็งที่สุดในประเทศไทย คือปี 2531-2534 คุณทนง โพธิ์อ่าน คืออดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งผลักดันกฎหมายหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนมีเรื่องค่าจ้างลอยตัว คุณทนงก็เคลื่อนไหวให้เป็นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงกฎหมายประกันสังคม ที่เมืองไทยได้เรียกร้องมายาวนาน แต่ไม่ได้ผลตอบรับ จนมาเซ็นอนุมัติในยุค พล.อ.ชาติชาย ในปี 2533
“คงจำกันได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคนิกส์ หรืออุตสาหกรรมใหม่ แล้วคุณทนงก็ผลักดันให้กระทรวงแรงงานแยกจากมหาดไทย เนื่องจากคุณทนงได้เล็งเห็นแล้วว่า กระทรวงแรงงานดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คืออายุ 20-60 ปี ถ้าเทียบก็ต้องเป็นลำดับสอง รองจากกระทรวงมหาดไทย
“หลังจากที่คุณทนงมีบทบาทแข็งแกร่งมาก มีอำนาจในการต่อรองสูง พอมีการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรัฐประหารก็เห็นแล้วว่าคุณทนงมีบทบาทมาก จึงยกเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ออกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 ที่ลิดรอนสิทธิของสหภาพแรงงานเพื่อไม่ให้มีอำนาจการต่อรองกับรัฐบาล ทำไมคุณทนงต้องคัดค้านเต็มที่ เพราะขณะนั้นรัฐบาลต้องเกรงใจผู้นำแรงงาน เนื่องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นฐานที่เข้มแข็งมากที่สุด คุณทนงก็เลยต้องสู้สุดตัว มีแม้กระทั่งส่งคนมาเจรจาเสนอเงินให้หลายล้านบาท
“เราไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย จริงๆ แล้วคุณทนงเป็นลูกเลี้ยงของทูตที่อยู่แถวสาทร แต่คุณพ่อผมเป็นนักขาย มีอะไรก็ขายหมดแล้วเอาไปเคลื่อนไหว เราไม่ใช่ครอบครัวที่มีฐานะมาก ถามว่าเงินอยากได้ไหม ก็อยากได้ แต่ว่าเงินแบบนี้ไม่เอา คุณทนงก็ต้องสู้สุดตัว แม้เขาจะเตือนแล้วเตือนอีก ส่งคนไปตามประกบทุกวัน มาทั้งที่บ้าน ขณะนั้นผมอายุประมาณ 17 ปี มีการสั่งคนไปดักเฝ้าหน้าบ้านตั้งแต่เช้ายันทนงออกจากบ้าน ดูว่าคุณทนงจะขับรถคันไหนออกไปในแต่ละวัน จนบางทีผมต้องลงไปถามเขาว่า พี่จะมาเฝ้าทำอะไร ซึ่งคุณพ่อก็รู้อยู่แล้วว่า เขาตามเพื่อจะมาอุ้มนั่นล่ะ
“มีวันหนึ่งที่ผมเห็นเหตุการณ์ชัดเจน เนื่องจากวันนั้นคุณพ่อให้ผมขับรถไปให้ ขับออกจากบ้านมาแป๊บเดียว กำลังจะไปเยี่ยมคนงานแถวบางปะแก้ว ผมก็บอกพ่อว่ามีรถตามมาสองคัน คันหนึ่งรถโตโยต้า โคโลน่า ปี 1987 อีกคันหนึ่ง เป็นรถไม่มีป้ายทะเบียน เปอร์โย 305 ผมบอกรายละเอียดเลขทะเบียนทุกสิ่งทุกอย่างแจ้งตำรวจและรัฐบาลขณะนั้นแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า เพราะเรารู้อย่างไรครับ ว่าทหารทำอะไร
“ปรากฏว่าเรื่องก็เงียบ นี่อาจจะเป็นกับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเลยก็ได้ คุณพ่อก็เลยเปลี่ยนโปรแกรม ผมก็เลยบอกให้คุณพ่อเข้ารัฐสภาก่อนแล้วกัน เพราะว่ารถที่ไม่มีป้ายทะเบียนรัฐสภาจะเข้าไม่ได้ เสร็จแล้วเขาก็ดักไว้สองทาง คุณพ่อก็ตกใจ ผมเลยบอกว่าไม่เป็นไร อย่างนั้นไปสหภาพแรงงานขนส่งที่ฝั่งธนฯ ดีกว่า แล้วก็บอกให้คนงานออกมาปิดถนนซ้ายขวาเลย ตอนนั้นพ่อก็ใช้มือถือโทรบอกให้สหภาพฯ เอาคนงานมาปิดถนน พอรถเราเข้ามาถึงตรงกลาง คนงานก็มาปิดถนนแล้วก็บล็อคพวกนั้นไว้ ผมก็ลงไปคุย สมัยนั้นผมก็วัยรุ่น ก็ถามว่าตามมาทำไม ผมก็เลยชกหน้าเขา เขาบอกว่ามาหาเพื่อน ผมถามว่ามาหาเพื่อนอะไร เห็นจับตาตั้งแต่ห้วยขวางแล้วนะ ในรถก็เป็นทหารชัดเจน หัวเกรียนคันละ 4-5 คน สองคันมีเสา ว. แต่ว่าพ่อผมก็ไม่ว่าอะไรและปล่อยเขาไป จริงๆ ผมจะเอากระป๋องนมที่ไปเยี่ยมคนงานทุบใส่กระจกรถเขาเพื่อให้มีเรื่องเกิดขึ้น จะได้บันทึกประจำวันที่ สน. ว่ามีใครตามมา พ่อผมห้าม ผมยังรู้สึกเสียดาย เพราะค่ากระจกสมัยนั้นสามสี่พันบาท ถ้าผมโยนไปวันนั้นก็จะมีข้อมูลบันทึกไว้ที่ท้องที่
“จนมาถึง 19 มิ.ย. ก่อนวันประชุม ILO องค์กรแรงงานระดับโลก ซึ่งคุณทนงต้องไป แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่ให้คุณทนงไป แล้วก็ทาง ILO เขาก็ไม่ยอม ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้คุณทนงไป ถ้าจำไม่ผิด น่าจะประชุมประมาณวันที่ 20-21 มิ.ย. สุดท้าย พ่อผมก็ไม่ได้ไป เขาก็อุ้มพ่อผมตอนวันที่ 19 มิ.ย. อุ้มหายไป
“แล้วหลังจากนั้น ครอบครัวก็นรกครับ จากชีวิตที่เคยดีๆ ใช้ชีวิตสบายๆ ครอบครัวก็พังทุกอย่าง เพราะว่าหัวหลักไม่อยู่ ผมก็ไม่ได้เรียนหนังสือ น้องคนกลางก็เป็นเนื้องอกในสมอง คุณแม่ก็เป็นพยาบาลเหมือนกับคุณอังคณา สมัยก่อนแม่มีเงินเดือน 8,000 บาท ก็ต้องมาเลี้ยงลูก ซึ่งเลี้ยงไม่ได้อยู่แล้วสามคน ผมกับน้องคนกลางไม่ได้เรียนหนังสือ น้องคนเล็กก็ได้เรียนหนังสือ เราก็เป็นเด็กเกเร แล้วก็ตกนรกมาถึง 12 ปี ซึ่งข้อมูลหลักฐานทุกอย่างแล้ว ถามว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออะไรไหม จะเยียวยาอะไรไหม ล่าสุดมีกระทรวงยุติธรรมติดต่อผมมา บอกว่ามีมติ ครม.จะช่วยเหลือ เมื่อประมาณปีที่แล้ว ผมก็เลยโวยไป บอกว่าไม่ต้องมาช่วยผมหรอก วันที่ผมลำบาก คนเขาหิวข้าว คุณควรเอาข้าวมาให้เขากิน แต่วันนี้เขาอิ่มแล้ว เอามาให้เขาทำไม
“วันนี้สิ่งที่ผมต้องการคือ ต้องการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เอากระดูกพ่อผมมาทำบุญ ตังค์ผมไม่เอาแล้ว วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว คือเราก็เข้าใจ สุดท้ายเอกสารทุกอย่าง ผมเขียนไว้ทุกเรื่องรายละเอียดทุกอย่างที่พ่อผมทำไว้และหลักฐานทุกอย่าง ทั้งปืน มีหลักฐานหมดเลย แต่ไม่มีความคืบหน้า
“ผมเลยได้รู้ว่าเรื่องต่างๆ ต้องพึ่งตัวเองก่อน เรื่องต่างๆ รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจและไม่ได้เยียวยาหรอก นี่ล่ะครับเมืองไทย
“อีกเรื่องหนึ่งผมก็เข้าใจนะครับว่าทุกคนเดือดร้อน รัฐบาลพยายามทำนู่นทำนี่ อย่างที่ครอบครัวบิลลี่พูดนะครับ ผมรู้แล้ว นี่ล่ะครับความชั่วร้ายของรัฐบาลไทย พยายามถามนู่นถามนี่ เบี่ยงเบนประเด็นตลอดเวลา ซึ่งความเป็นจริง แย่มาก ไม่ถูกต้อง
“กรณีของผม ผมเขียนไว้ในหนังสือของผมด้วยว่า นี่หรือครับลูกผู้ชาย ฆ่าประชาชนด้วยภาษีประชาชน มันไม่ใช่หรอก ถ้าลูกผู้ชายแท้ๆ มันต้องตัวต่อตัว
“สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะฝากครอบครัวนีละไพจิตรเล็กน้อย กฎหมายผู้สูญหายกับผู้ถูกกระทำ ตอนนี้ผมลงสมัคร ส.ส. ดินแดงห้วยขวาง พรรคอนาคตใหม่ ถ้าผมปักธงพื้นที่ได้ ผมจะผลักดันกฎหมายเหล่านี้และผมเชื่อว่าผมจะช่วยได้ดีทีเดียว”
ภาพจาก BenarNews
Tags: ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์, ทนง โพธิ์อ่าน, พอละจี รักจงเจริญ, อังคณา นีละไพจิตร, มึนอ, บิลลี่, สิทธิมนุษยชน, สมชาย นีละไพจิตร, ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, สุรชัย แซ่ด่าน