หลังการจากไปด้วยอาการตับล้มเหลวในปี 2003 ชื่อเสียงของโรแบร์โต โบลัญโญ่ (Roberto Bolaño) ก็เริ่มได้รับการพูดถึงในโลกภาษาอังกฤษจากนวนิยายขนาดสั้นชื่อ By Night in Chile ที่แปลจากภาษาสเปนในปีเดียวกัน เอกลักษณ์ในงานเขียนของเขามีเสน่ห์ที่น่าหลงใหลจนทำให้มีการเผยแพร่ผลงานชิ้นอื่นตามออกมาอย่างไม่ขาดสาย ก่อนจะเว้นระยะไปในปี 2014 ด้วย A Little Lumpen Novelita
The Spirit of Science Fiction (2019) เป็นการกลับมาในโลกภาษาอังกฤษอีกครั้งของโบลัญโญ่หลังจากเว้นวรรคไปเกือบห้าปี การกลับมาครั้งนี้เป็นการนำผลงานที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1984 ออกมาตีพิมพ์ ซึ่งแม้แต่ในโลกภาษาสเปนเองก็เพิ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 2016
นอกจากเรื่องรายได้แล้ว น่าสนใจว่าทำไมต้นฉบับที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ตั้งแต่ตอนที่โบลัญโญ่ยังมีชีวิตอยู่จึงได้รับคัดเลือกออกมาตีพิมพ์และยังมีการแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษก่อนเล่มอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้า
The Spirit of Science Fiction เปิดเรื่องด้วยการขอสัมภาษณ์นักเขียนหนุ่มไร้ชื่อคนหนึ่งที่เพิ่งได้รับรางวัลในงานเลี้ยงฉลอง ก่อนจะเข้าสู่การแนะนำกวีหนุ่มชาวชิลีสองคน คือ ยาน ชเรลล่า (Jan Schrella) และเรโม่ โมรัน (Remo Morán) ที่มาใช้ชีวิตวัยหนุ่มเพื่อตามหาความสำเร็จจากความฝันในเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ทั้งสองเป็นเพื่อนรักที่เช่าห้องอยู่ด้วยกัน แต่กลับมีนิสัยที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ยานเป็นกวีหนุ่มที่ไม่ชอบออกจากห้อง เขาใช้ชีวิตอยู่กับการอ่านและเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ความหมกมุ่นนี้ทำให้เขาเขียนจดหมายไปคุยกับนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคน เช่น เออร์ซูลา เค. เลอ กวิน (Ursula K. Le Guin) อลิซ เชลดอน (Alice Sheldon) และฟอร์เรสท์ เจ. แอคเคอร์แมน (Forrest J. Ackerman) เพื่อบอกเล่าความรู้สึกในจิตใจที่ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของเขาเหล่านั้น และแสดงความเห็นเรื่องความสัมพันธ์ด้านการเมืองที่ไม่เป็นธรรมระหว่างละตินอเมริกากับสหรัฐอเมริกา (แน่นอนว่าเราจะได้อ่านจดหมายหลายฉบับนั้นด้วย) ในขณะที่เรโม่เพื่อนของเขาเป็นคนที่ออกไปพบปะผู้คนภายนอกและยังชีพด้วยการเขียนบทความศิลปะให้กับหนังสือพิมพ์ การเขียนและการทำงานของเรโม่ได้เปิดทางให้เขาเข้าสู่แวดวงของนักเขียนรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งยังนำพาให้เขากับยานเข้าสู่ประสบการณ์โลดโผนของวัยหนุ่ม
โบลัญโญ่วางโครงสร้างของ The Spirit of Science Fiction ไว้สามทิศทาง ผ่านการเล่าเรื่องของนักเขียนไร้ชื่อ ยาน และเรโม่ โดยให้นักเขียนทั้งสามเล่าเรื่องของตัวเองผ่านวิธีเล่าเรื่องจากมุมมองของแต่ละคน ในส่วนของยานกับเรโม่นั้นเป็นเสียงของอดีต และให้เสียงของนักเขียนไร้ชื่อเป็นเสียงของอนาคต (ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราพอจะเดาออกว่าเป็นเสียงของใคร)
ปริศนาแห่งตัวตนของนักเขียนไร้ชื่อจะถูกบอกเล่าผ่านเรื่องที่เขาให้สัมภาษณ์ ซึ่งจะถูกย้อนรอยเฉลยผ่านประสบการณ์ที่ต่างกันของยานและเรโม่
วิธีการที่น่าสนใจที่โบลัญโญ่ใช้สร้างปริศนา คือการสร้างบุคลิกคู่ตรงข้ามระหว่างยานกับเรโม่ผ่านการสร้างตัวตนเชิงวรรณกรรมของทั้งสองคน คนหนึ่งใช้เวลาอยู่กับตัวเองในการอ่านและการเขียนต้นฉบับ อีกคนหนึ่งใช้เวลาไปกับการพบปะนักเขียนคนอื่นและเขียนบทความหารายได้ ทั้งสองมีวิธีการตามหาความฝันคนละแบบ ทั้งด้วยอุปนิสัยใจคอและความจำเป็นในการดำรงชีวิต
การสร้างตัวละครสองบุคลิกนี้อาจเป็นการจำลองเพื่อตั้งคำถามเชิงวิพากษ์วิจารณ์ผู้คนในแวดวงวรรณกรรมผ่านสายตาของโบลัญโญ่ ผู้คนที่ทุ่มเทชีวิตให้กับการอ่านการเขียน และผู้คนที่ใช้เวลามากกว่ากับแวดวงสังคม (เราคงไม่อาจปฏิเสธว่าบ่อยครั้งเหลือเกินที่ชื่อเสียงและความสำเร็จมาจากการผลักดันของความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าฝีมือ)
หรืออีกแง่หนึ่ง เราก็อาจมองได้ว่าทั้งยานและเรโม่เป็นจิตวิญญาณบ้าคลั่งแห่งความดิบเถื่อนและเลื่อนลอยของความเป็นศิลปินในวัยหนุ่มของโบลัญโญ่เอง ทั้งสองบุคลิกคือตัวตนในช่วงวัยที่เขาหล่อหลอมขึ้นมาจากการอ่านอย่างหมกมุ่น และการใช้ชีวิตบนเส้นทางของความเป็นหนุ่ม ท่ามกลางผู้ที่หลงใหลโลกแห่งการเขียนเหมือนกับตนเอง
และสิ่งหนึ่งที่มาคู่กันเสมอกับมุมมองสดใหม่ของวัยระห่ำ คือความขบถที่ตั้งข้อสงสัยกับอำนาจที่ครอบงำสังคม นับตั้งแต่แวดวงวรรณกรรมในเมืองเล็กๆ ไปจนถึงโครงสร้างการปกครองในโลก ซึ่งจะเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยในงานยุคหลังๆ ของโบลัญโญ่ที่ตีพิมพ์ไปก่อนหน้าเล่มนี้
ความน่าสนใจอีกประการซึ่งกลับไปตอบคำถามที่ตั้งไว้ข้างต้นว่า เหตุใดต้นฉบับที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในตอนที่ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่จึงถูกคัดเลือกมาตีพิมพ์และเผยแพร่ในโลกภาษาอังกฤษอย่างรวดเร็ว ก็คือ The Spirit of Science Fiction ได้เปิดเผยให้เห็นต้นเค้าสำคัญของผลงานชิ้นเอกอย่าง The Savage Detectives ของโบลัญโญ่ ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่วโลก ทั้งยังเป็นการเปิดตัวและให้ความหมายกับ The Unknown University ชื่อหนังสือรวมบทกวีและข้อเขียนที่ตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตอีกเช่นกัน
สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับจักรวาลของโบลัญโญ่ (Bolañoverse) มาก่อน The Spirit of Science Fiction อาจไม่สร้างความตื่นเต้นมากนัก เพราะหากนำไปเทียบกับผลงานชิ้นเอกหลายชิ้นที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้า สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำได้ดีที่สุด คือการพาย้อนกลับไปดูว่ามหาสมุทรกำเนิดมาจากต้นน้ำแบบไหน
แต่สำหรับผู้ซึ่งไม่คุ้นเคยกับผลงานของโบลัญโญ่มาก่อน The Spirit of Science Fiction จะเป็นมัคคุเทศก์นำทางให้อย่างดีกับการผจญภัยสุดหฤหรรษ์ที่รอคอยคุณอยู่ข้างหน้า
ขอขอบคุณ***
คุณก้อง ฤทธิ์ดี ที่ชี้ให้เห็นทางเข้าสู่ Bolañoverse ในช่วงคริสต์มาสที่ลอนดอนในปี 2011
คุณนันท์นรี พานิชกุล สำหรับความช่วยเหลือในการออกเสียงภาษาสเปน
Fact Box
- ในการสัมภาษณ์โรแบร์โต โบลัญโญ่ ครั้งสุดท้ายผ่านทางอีเมลให้กับนิตยสารเพลย์บอยเม็กซิโกฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 2003 ซึ่งเป็นเดือนที่เขาเสียชีวิต (และเขาก็รู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต) มีคำถามหนึ่งน่าสนใจจากโมนิก้า มาริสเตน (Mónica Maristan) ผู้สัมภาษณ์
MM: คุณมีความเห็นอย่างไรกับคนที่เชื่อว่าคุณจะได้รางวัลโนเบล
RB: ผมมั่นใจ มาริสเตนที่รัก ว่าผมไม่มีทางได้มัน เช่นเดียวกับที่ผมมั่นใจว่าจะมีไอ้สันหลังยาวรุ่นเดียวกับผมสักคนนี่แหละจะได้รางวัล และจะไม่แม้กระทั่งเอ่ยถึงผมในสุนทรพจน์ของเขาหรือหล่อนที่สตอกโฮล์ม
- The Savage Detectives ได้รับรางวัลโรมูโน่ กาเยโกส (Rómulo Gallegos Prize) ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญของงานเขียนในโลกภาษาสเปนในปี 1999 นักเขียนคนสำคัญของละตินอเมริกาที่มีชื่อเสียงในโลกภาษาไทยแล้วที่ได้รับรางวัลนี้ก่อนหน้าคือ มาริโอ บาร์กัส โยซ่า จากเรื่อง The Green House (ยังไม่มีแปลเป็นภาษาไทย) ในปี 1967 และกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ จากเรื่อง One Hundred Years of Solitude หรือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในปี 1972