เวลาเราพูดเรื่องชาวนา และข้าว
คนไทยมักเปรียบเทียบข้าวไทย ชาวนาไทย กับข้าวญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นเสมอ
เรามักอ่านเรื่องราวของข้าวโคชิฮิการิอันแสนแพงของญี่ปุ่นด้วยความทึ่ง
“ดูสิ ทำไมชาวนาญี่ปุ่นถึงขายข้าวได้ราคาแพงจัง”
“ประเทศญี่ปุ่นดีจังเลย ชาวนาเขาร่ำรวยมาก ไม่ยากจนเหมือนชาวนาไทย”
“ข้าวเขาคุณภาพดีจัง ชาวนาเขามีความรู้ แพ็กเกจจิ้งข้าวก็สวย เกษตรกรบ้านเราน่าเอาเยี่ยงอย่าง”
ฯลฯ
อะไรทำให้ข้าวญี่ปุ่นเป็นเช่นนั้น?
กลุ่มสหกรณ์ชาวนา ฐานเสียง และอำนาจการต่อรอง
นับตั้งแต่ญี่ปุ่นปลดแอกตัวเองออกมาจากระบบศักดินา ด้วยกฎหมายการปฏิรูปที่ดินในปี 1946 ที่ทำให้ที่ดินหลุดออกมาจากมือตระกูลเจ้าที่ดิน ขุนนาง สู่มือของชาวนาสามัญชน พร้อมๆ กับการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กำเนิดของพรรคการเมือง การรวมกลุ่มของชาวนาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สองได้พัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มสหกรณ์ชาวนาที่รู้จักกันในนามของ JA หรือ Japanese Agricultural Coopertives
กลุ่ม JA ปัจจุบัน บริหารสหกรณ์ 694 แห่งทั่วประเทศ มีสมาชิกอย่างเป็นทางการ 4.6 ล้านคน และสมาชิกเครือข่ายรวมแล้ว 5.4 ล้านคน บริหารสหกรณ์ระดับ เทศบาล และจังหวัดทั่วประเทศ มีธนาคารเครดิตยูเนียน และธุรกิจประกันเป็นของตนเอง และจำนวนสมาชิกของ JA คือฐานเสียงสำคัญของพรรค LDP มาตั้งแต่ปี 1955
JA คือกลุ่มสหกรณ์การเกษตรระดับชาติที่มีอำนาจในการต่อรอง ล็อบบี้ นโยบายของรัฐได้ทุกยุค เนื่องจากกุมเสียงที่เป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตายของอนาคตพรรคการเมืองได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีการอุดหนุนเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ทั้งการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวสูงถึง 777% การควบคุมผลผลิตข้าว เพื่อรักษาระดับราคาข้าวให้แพงไว้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการจ่ายเงินชดเชยสำหรับเกษตรกรที่งดปลูกข้าว เพื่อป้องกันข้าวล้นตลาด
เพราะฉะนั้นราคาข้าวอันสูงลิ่วในญี่ปุ่นจึงมาจากพลังการล็อบบี้ทางการเมืองของกลุ่มสหกรณ์ชาวนาในฐานะหัวคะแนนของ ส.ส. และความพยายามยึดกุมอำนาจในการบริหารกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ผ่านการกุมคะแนนเสียงเลือกตั้งของกลุ่มสหกรณ์นั่นเอง หาใช่เกิดจากความดีความอันเหลือเชื่อใดๆ ไม่
‘ข้าว’ พลังวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และชาตินิยม
ไม่เพียงแต่พลังทางการเมือง ยังมีพลังทางวัฒนธรรมด้วย
ขอยกตัวอย่าง บทสัมภาษณ์ Tetsuhiro Yamaguchi เจ้าของร้านอาหารชื่อ Kokoromai (Heart of Rice) จากบทความ ‘You are what you eat: Can a country as modern as Japan cling onto a culture as ancient as rice’ ของ The Economist (http://www.economist.com/node/15108648)
บทความนี้พูดถึงประวัติศาสตร์ ‘ข้าว’ ในสังคมญี่ปุ่น และพูดถึงภาวะ ‘ขาลง’ ของชาวนา และข้าวในญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนแบบ Tetsuhiro Yamaguchi ที่พยายามอย่างสุดความสามารถในการยื้อ ‘ชีวิต’ ของข้าวญี่ปุ่นเอาไว้
ยามากุจิ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เชื่อว่า จิตวิญญาณของข้าวคือส่วนหนึ่งแห่งดีเอ็นเอของความเป็นญี่ปุ่น และปรารถนาให้การกินข้าวนั้นละเมียดละไมไม่ต่างจากการชิมไวน์
ยามากุจิทำให้ประสบการณ์การกิน ‘ข้าว’ ในร้านอาหารของเขาเป็นประหนึ่งสุนทรียะแห่งนาฏศิลป์ ด้วยการตกแต่งร้านด้วยโทนแสงค่อนข้างมืด มีข้าวหุงสุกในหม้อดินวางเรียง และรายล้อมด้วยจานซาชิมิที่ทำจากดินเผา เขาค่อยๆ เปิดฝาหม้อข้าวให้ไอร้อนพวยพุ่งออกมา ข้าวสวยในหม้อเรียงเมล็ดอวบสีขาวกระจ่างงามราวกับไข่มุกเนื้อดี
“ข้าวเหมือนแบ็กดรอปบนเวทีโรงละคร เวทีนี้ต้องการดาราและตัวละคร ตรงนั้นแหละที่ซาชิมิจะปรากฏตัว”
ยามากุจิไม่ใช่คนเดียวที่พรมบทกวีลงบนเมล็ดข้าว คนญี่ปุ่นจำนวนมากเปรียบเทียบสีขาวบริสุทธิ์ของเมล็ดข้าวกับจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นแท้ และความขาวบริสุทธิ์นี้ไม่พึงจะถูกแปดเปื้อนด้วยหยดของโชยุแม้แต่หยดเดียว
การกินข้าวกับปลาสะท้อนความสัมพันธ์ของข้าวกับน้ำในท้องทุ่ง คือแนวคิดว่าด้วยความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวแห่งธรรมชาติที่คนญี่ปุ่นเห็นว่าสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และมีสุภาษิตญี่ปุ่นที่บอกว่า
“รวงข้าวที่หนักเท่าไร ก็ยิ่งค้อมลงต่ำมากเท่านั้น”
ยามากุจิจะไม่มีวันเสิร์ฟข้าวของประเทศอื่นในร้านเขาเลย ทำไม?
“กายร่างแห่งความเป็นญี่ปุ่นถูกสร้างมาด้วยข้าวญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นควรกินแต่ข้าวญี่ปุ่นเท่านั้น”
สีขาวของข้าว – จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของญี่ปุ่น
ข้าว – เลือดเนื้อแห่งความเป็นญี่ปุ่น
น้ำ ปลา ข้าว ท้องนา ธรรมชาติที่สอดประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งเป็นหลักปรัชญาวิถีชีวิตญี่ปุ่น
รวงข้าวที่ค้อมหนักถ่อมตัว คือนิสัยใจคอของคนญี่ปุ่น
ข้าวต่างชาติ คือสิ่งแปลกปลอม
กลิ่นอายแห่งความเป็น ‘ชาตินิยม’ อย่างหนักหน่วง ผ่านวัฒนธรรมการบริโภคข้าวญี่ปุ่นเช่นนี้มีมาแต่โบราณกาลหรือไม่?
ในเทพปกรณัมแบบญี่ปุ่นเล่าว่า ข้าวนั้นถูกประทานมาจากสรวงสวรรค์ผ่านเทพีแห่งดวงอาทิตย์ ที่มอบให้กับลูกของเธอที่ลงมาปกครองญี่ปุ่น แต่ความจริงคือ ข้าวถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นผ่านจีนและเกาหลีเมื่อสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล – ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นยังไม่ค่อยอยากรับความจริงว่า ข้าวของญี่ปุ่นนั้นรับผ่านมาทางเกาหลี
แต่ข้าวไม่เคยเป็นอาหารหลักของคนญี่ปุ่นจนถึงสมัยเอโดะ เพราะด้วยข้อจำกัดของระบบชลประทานการทำนาข้าวนั้นเป็นไปได้อย่างจำกัด ข้าวคือความหรูหรา ถูกเสิร์ฟในชามสูงค่าสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนคนญี่ปุ่นทั่วๆ ไปกินธัญพืชหลายชนิด ปะปนกันไปตามประสาคนยาก
กล่าวให้ถึงที่สุด คนญี่ปุ่นกินข้าวเป็นอาหารหลักเมื่อล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 แล้วด้วยซ้ำ
ข้าวไปพัวพันกับลัทธิชาตินิยมได้อย่างไร?
ในช่วงสงคราม ความขาวของข้าวญี่ปุ่นถูกนำไปเชื่อมโยงกับความบริสุทธิ์ของชนชาติญี่ปุ่น และข้าวต่างชาติคือ ความด่างพร้อย นอกจากนี้ข้าวอันขาวสะอาดของญี่ปุ่นยังถูกจัดลงกล่องข้าว พร้อมวางลูกบ๊วยสีแดงไว้ตรงกลางเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ เพื่อส่งไปให้ทหาร โดยเชื่อว่าการกินข้าวญี่ปุ่นจะทำให้ทหารญี่ปุ่นนำชัยชนะกลับมา
ข้าวจึงเป็น ‘หัวใจ’ ของความเป็นญี่ปุ่นในแง่มุมทางวัฒนธรรม เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นจิตวิญญาณ และเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติ แม้ปัจจุบันการบริโภคข้าวของคนญี่ปุ่นจะเหลือเพียงปีละ 61 กก. ต่อคนต่อปี ในขณะที่ช่วง 1960s บริโภคคนละ 118 กก. ต่อคนต่อปี
ภาวะ ‘ขาลง’ ของชาวนาญี่ปุ่น
การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ TPP หรือการเจรจาการค้าเสรีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินนโยบายปกป้องสินค้าการเกษตรและการอุดหนุนเกษตรกรได้เช่นเดิม หากต้องเปิดสู่ตลาดเสรีและการแข่งขัน การตั้งกำแพงภาษีแบบเดิมทำไม่ได้ ต่อไปนี้ญี่ปุ่นต้องทำใจว่าจะมีข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นจากแคลิฟอร์เนีย และออสเตรเลียเข้ามาขายในญี่ปุ่นด้วย
ชินโซะ อาเบะ ประกาศจะยกเลิกการอุดหนุนและปกป้องภาคการเกษตรทั้งหมดภายในปี 2019
ชีวิตของคนญี่ปุ่นหลังการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ TPP นี่อาจเป็นครั้งแรกที่คนญี่ปุ่นต้องกินข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ
และน่าจะเป็นฝันร้ายของคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นแบบยามากุจิที่จินตนาการไม่ได้เลยว่า ข้าวต่างชาติที่แสนจะแปลกปลอมจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเลือดเนื้อ ลมหายใจ และจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นได้อย่างไร
การกินข้าว ‘ต่างชาติ’ ไม่ต่างอะไรจากการถูกทำให้กลายพันธุ์ ดีเอ็นเอถูกบิดเบือน และเสี่ยงต่อการสูญสลายหายไปในที่สุด
แง่มุมทางวัฒนธรรมและสำนึก ‘ชาตินิยม’ ต่อเรื่องข้าวนี้เองที่ทำให้การยกเลิกกำแพงภาษี และการยกเลิกนโยบายการอุดหนุนชาวนาอาจจะไม่ราบรื่นอย่างที่รัฐบาลของอาเบะต้องการ
ไม่แต่เพียงเกษตรกรเท่านั้นที่ปฏิเสธ Free Trade แต่ผลโพลส่วนใหญ่ออกมาว่า คนญี่ปุ่นแม้ต้องแบกรับภาระทางภาษีในการอุดหนุนชาวนา แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ
ข้าวจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่พืชเศรษฐกิจ การเมือง แต่ยังเป็นสนามประลองกำลังทางวัฒนธรรม
การปกป้องเกษตรกรญี่ปุ่นและนโยบายอุดหนุนการเกษตรทั้งหมด แม้จะเป็นเรื่องการล็อบบี้กันทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ กับนักการเมือง แต่พลังที่อยู่เหนือ ‘การเมือง’ กลับเป็นพลังทาง ‘วัฒนธรรม’ และจินตนาการเกี่ยวกับข้าว รวมถึงอัตลักษณ์แห่งความเป็นชาติญี่ปุ่น ที่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศเต็มใจที่จะจ่ายแพงกว่า
และหลับหูหลับตาสะกดจิตตัวเองว่า ข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในญี่ปุ่นคือข้าวที่ดีที่สุดในโลก
อ้างอิง:
– http://www.japantimes.co.jp/life/2016/01/29/food/the-future-of-rice-farming-in-japan/#.WBhCMy2LTIU
– https://en.wikipedia.org/wiki/Japan_Agricultural_Cooperatives
– http://www.economist.com/node/15108648
– https://asiapacificpolicy.wordpress.com/2015/02/05/the-problem-with-japanese-rice-policy/