ในวันแรกเธอนั่งอยู่อย่างเดียวดายที่หน้าทำเนียบรัฐบาลสวีเดน เธอเป็นเด็กสาวร่างสูงไม่ถึง 150 เซนติเมตร ผูกเปียสองข้าง สะพายเป้สีม่วง และถือป้ายที่มีตัวอักษรเขียนว่า ‘Skolstrejk för klimatet’ – หยุดเรียนประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ

วันที่ 20 สิงหาคม เป็นวันเปิดเทอมวันแรกในสต็อกโฮล์ม หลังจากปิดภาคเรียนฤดูร้อน ที่หลายพื้นที่ในสวีเดนร้อนอบอ้าวกว่าที่เคยเป็น แต่ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาววัย 15 ปีไม่ยอมไปเรียน เธอกลับไปนั่งประท้วงอยู่ที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเร็ววัน เธอนั่งบนพื้นหินด้านหน้าอาคารทำเนียบ คอยแจกแผ่นกระดาษที่เขียนด้วยลายมือ…

“หลายครั้งพวกเรา-เด็กๆ ก็ไม่ชอบทำในสิ่งที่พวกคุณ-ผู้ใหญ่บอก แต่เราทำในสิ่งที่พวกคุณทำ ถ้าผู้ใหญ่ทำอะไรที่ไม่ดี เราก็จะทำสิ่งนั้นตามไปด้วย ฉันชื่อเกรตา เรียนอยู่เกรด 9 และหนูจะหยุดเรียนประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศไปจนถึงวันเลือกตั้ง”

เกรตาประท้วงด้วยความอดทน เธอโดดเรียนทุกวันศุกร์อยู่นานถึงสามสัปดาห์ ตอนเริ่มแรกบรรดาครูของเธอเคยคิดอยากเกลี้ยกล่อมให้เธอล้มเลิก แต่ไปๆ มาๆ พวกเขากลับเห็นคล้อยไปกับเธอ ทุกวันศุกร์เกรตายังขาดเรียนไปนั่งประท้วงอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นักการเมือง หรือคนทั่วไปได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่พูด แต่ลงมือปฏิบัติ ในการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานและวิถีชีวิต

“พวกผู้ใหญ่ทำอะไรไม่เคยสำเร็จ” เกรตาพูดกับนักข่าว “พวกเขาบอกว่าความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อเราทุกคน แต่พวกเขาก็ยังเฉย ไม่คิดจะทำอะไรมาจนถึงทุกวันนี้”

ตอนนี้เกรตา ธันเบิร์กไม่ประท้วงเพียงคนเดียวอีกแล้ว ทุกวันศุกร์จะมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตามเมืองต่างๆ ของสวีเดนราว 100 เมืองพากันไปประท้วงที่หน้าศาลาว่าการเมือง เพื่อรณรงค์เรื่องสภาพอากาศ ตามอย่างเกรตา แม้กระทั่งในเบลเยียม ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ และเดนมาร์กยามนี้ก็เริ่มวางแผนประท้วงลักษณะเดียวกัน

รวมถึงออสเตรเลีย ที่ปัจจุบันแนวปะการัง หรือ Great Barrier Reef ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกำลังเกิดภาวะฟอกขาวอย่างรุนแรง ในขณะที่รัฐบาลยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหิน กลุ่มนักเรียน-นักศึกษานับพันคนจึงพากันหยุดเรียนเพื่อประท้วง พวกเขาเคลื่อนตัวไปชุมนุมกันที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลในเมืองหลวงแคนเบอร์รา ตามแบบอย่างเกรตา

เมื่อเห็นเด็กๆ พากันเคลื่อนไหว สก็อตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison) นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียก็เริ่มออกมาปราม “ในโรงเรียนควรมีการเรียนการสอน มากกว่าการทำกิจกรรม เด็กทุกคนควรไปเรียน” เกรตา ธันเบิร์กทวีตตอบโต้คำกล่าวนั้นว่า “เสียใจด้วยมิสเตอร์มอร์ริสัน เราทำตามที่ท่านบอกไม่ได้”

ผู้ใหญ่มักคิดอะไรไปไม่เกินกว่าปี 2050 เกรตาออกความเห็น ตัวเธอเองซึ่งเกิดเมื่อปี 2003 ถึงตอนนั้นอาจยังใช้ชีวิตไปได้ไม่ถึงครึ่ง “สิ่งที่เราทำหรือไม่ทำตอนนี้ มันจะส่งผลถึงชีวิตของฉัน ของเพื่อนๆ ของลูก ของหลานเราในอนาคต”

ช่วงสัปดาห์กลางเดือนพฤศจิกายนเธอส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ เรียกร้องให้คว่ำบาตร Black Friday “ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมคนชอบซื้อข้าวของที่ไม่จำเป็นกับชีวิต”

คำพูดของเกรตารุนแรงพอๆ กับความคิด และเธอไม่เคยปกปิดเป็นความลับว่าเธอแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ โปรไฟล์ในบัญชีทวิตเตอร์ของเธอบอกกล่าวชัดเจนว่าเธอเป็น ‘นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นแอสเพอร์เกอร์’

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติทางการทำงานของระบบประสาท จัดอยู่ในกลุ่มของออทิสติก ที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรม และพัฒนาการทางด้านการพูด ขณะเดียวกันก็มีพรสวรรค์ด้านใดด้านหนึ่ง กรณีของเกรตา เธอสามารถจำสูตรเคมี อ่านข้อความกลับหลัง และพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เธอก็มีปัญหาบ่อยครั้งกับการผูกสัมพันธ์กับผู้คน มีความหมกมุ่นกับสิ่งที่ตนสนใจค่อนข้างสูง

“สำหรับฉันแล้ว ทุกอย่างถ้าไม่ขาวก็ดำไปเลย” ล่าสุดเกรตาเขียนบทความ ในฐานะแขกรับเชิญให้กับหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ “เวลาฉันเห็นคนที่มีอำนาจ ฉันมักถามตัวเองว่า ทำไมพวกเขาชอบทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องยุ่งยาก ถ้าจะต้องหยุดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เราก็ต้องหยุดมันสิ ต้องเลือกขาวหรือดำ ถ้ามันเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของชีวิต ต้องไม่มีสีเทาให้เลือก”

เกรตา ธันเบิร์ก ภาพโดย Anders Hellberg

ด้วยประโยคแบบนั้นเองทำให้เกรตากลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศที่มีคนรู้จักทั่วโลก เธอพูดจาคล้ายผู้ใหญ่ แต่หน้าตาเหมือนเด็ก เป็นวัยรุ่นที่แทบไม่มีเพื่อน และชอบเล่นกับสุนัขของเธอ

ทุกวันเธอมักได้รับคำถามจากสื่อ และแทบทุกวันทั้งเธอและครอบครัวของเธอต้องถูกโจมตีจากผู้คนในโซเซียลมีเดีย มีคนเรียกเธอว่า ‘ทหารเด็ก’ หรือไม่ก็ ‘ผู้ก่อการร้ายหญิง’ บางคนยังกล่าวหาด้วยว่า ความจริงแล้ว มาเลนา แอร์นมัน (Malena Ernman) นักร้องโอเปราซึ่งเป็นแม่ของเธออยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ เพื่อสร้างกระแสให้กับตนเอง

ไร้สาระ เกรตาบอก พ่อแม่ของเธอเคยเกลี้ยกล่อมให้เธอเลิกหยุดเรียนประท้วงด้วยซ้ำ “แต่เธอไม่ยอม” สวันเตอ ธันเบิร์ก (Svante Thunberg) พ่อของเธอซึ่งเป็นนักสเก็ตน้ำแข็งเล่า “เราก็เลยบอกเธอว่า เราไม่สนับสนุนให้ลูกทำอย่างนั้น ฉะนั้นลูกต้องเดินหน้าทำคนเดียว”

พ่อแม่ของเกรตาเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับชนเผ่าเลวีให้เธอฟังเมื่อไม่กี่ปีก่อน และเธอก็เปลี่ยนใจ เหมือนพ่อของเธอที่เปลี่ยนใจงดกินเนื้อสัตว์ ส่วนแม่ของเธอหันมากินมังสวิรัติ จากคำบอกเล่า เกรตาไม่เคยเดินทางโดยเครื่องบิน มาเลนา แอร์นมัน-แม่ของเธอก็ไม่ได้เดินทางไปไหนมาสามปีแล้ว ครั้งที่ลูกสาวต้องเดินทางไปปราศรัยหัวข้อสภาพภูมิอากาศระหว่างการชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอนเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ่อของเธอจำต้องขับรถไฟฟ้าพาเธอไปส่ง ใช้เวลาถึง 28 ชั่วโมงผ่านประเทศต่างๆ ในยุโรป และต้องแวะชาร์จแบตเตอรีทุกๆ สองชั่วโมง

ในชีวิตปกติธรรมดา สวันเตอ ธันเบิร์ก มีอาชีพเป็นผู้อำนวยการเพลง แต่ตอนนี้เขาต้องมาคอยดูแลคิว ตอบรับหรือปฏิเสธคำถามต่างๆ ให้กับเกรตา รวมทั้งคอยปกป้องเธอในยามจำเป็น ค่อนข้างกดดันและมีค่าใช้จ่ายเยอะ เขาบอก “แต่สิ่งที่เกรตาทำนั้นสำคัญและมีประโยชน์ต่อเราทุกคน และตราบใดที่เธอมีความสุขกับสิ่งที่ทำ เราก็มีความสุขเหมือนกัน”

เกรตา ธันเบิร์กรู้สึกเป็นทุกข์กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมานาน เกือบถึงขั้นเครียดสะสม แต่ตอนนี้เธอเริ่มรู้สึกดีขึ้น เมื่อได้ลงมือทำอะไรบางอย่าง พ่อของเธอบอก อีกทั้งการเรียนของเธอก็ไม่ตกต่ำเพราะการประท้วง เธอมีหนังสือเรียนติดตัวไปทุกที่เสมอ

ช่วงสัปดาห์นี้ เกรตายังต้องหยุดเรียนต่อเนื่อง เพราะเธอได้รับเชิญไปร่วมการประชุมความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก 2018 (COP24) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคาโตวีตเช ในโปแลนด์ ที่นั่นเธอจะได้พบกับบุคคลระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ ปราศรัยและแถลงการณ์กับสื่อมวลชน แต่ถ้าทุกอย่างทำให้เธอรู้สึกเครียดเกินไป พ่อของเธอยืนยันว่าจะพาเธอกลับบ้านในทันที

“การเรียกร้องความสนใจสำหรับฉัน หมายถึงการเรียกร้องความสนใจสำหรับสภาพภูมิอากาศ” เกรตา ธันเบิร์ก ยืนกรานความคิด “ถ้าจำเป็นต้องมีใครสักคนทำเพื่อเรียกร้องให้คนหันมาสนใจกับปัญหาเรื่องนี้ ฉันนี่ละจะทำ” และเธอจะเคลื่อนไหวในคาโตวีตเช ให้เหมือนกับที่เคลื่อนไหวด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลสวีเดน

และไม่มีอะไรสามารถหยุดยั้งเธอได้

 

อ้างอิง:

Fact Box

การประชุมความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 จัดโดยองค์การสหประชาติที่เมืองคาโตวิตเช มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 200 ประเทศ เพื่อหารือและติดตามผลจากการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 ในการดำเนินงานที่ชัดเจน การประชุมที่กรุงปารีสครั้งนั้น ได้ข้อตกลงว่า ประเทศต่างๆ ตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือให้น้อยลงจนถึงต่ำกว่า 1.5 หากเป็นไปได้ รวมถึงความตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการในประเด็นต่างๆ เช่น การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความโปร่งใสของการดำเนินการ และการให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ครอบคลุมถึงทางการเงิน โดยรัฐภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า Nationally Detemined Contribution (NDC) ของประเทศทุกๆ 5 ปี

ทว่าตลอดระยะเวลาร่วม 3 ปีที่ผ่านมา กว่า 55 ประเทศที่ร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสแล้วนั้น ยังไม่มีประเทศไหนลงมือปฏิบัติเพื่อยับยั้งการทำลายภาวะเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

“บรรดาผู้บริหารประเทศไม่เคยใยดีกับเราในอดีต พวกเขาก็จะยังเมินเฉยต่อไป” เกรตา ธันเบิร์กกล่าวชัดถ้อย “พวกเขาล้มเหลวในการทำงาน” อีกทั้งเธอยังรู้สึกโกรธแค้น ที่นักการเมืองพากันหนีการประชุม เธอพาดพิงถึงโดนัลด์ ทรัมป์-ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และอังเกลา แมร์เคิล-นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี

การที่ผู้บริหารประเทศทั้งสองไม่ยอมเข้าร่วมประชุมที่กรุงปารีสครั้งนั้น บ่งชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองอย่างทรัมป์และแมร์เคิลมีทัศนคติต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างไร

Tags: , , , , ,