เคียวโกะ ฮะมะโนะ มีงานเขียนและวรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ Fusion ซึ่งได้รับรางวัล JBBY ของสมาคมหนังสือเพื่อเด็กจากประเทศญี่ปุ่นปี 2009 หรือ Tokyo Cross Road กับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมทซุบะตะ โจจิ
มิโตะ มะฮะระ มีชื่อเสียงจากรางวัลงานวรรณกรรมเยาวชนหน้าใหม่เมื่อปี 2005 และ Tetsu no Shibuki ga Haneru (Iron Splashes) ก็ได้รับสองรางวัลซ้อน ทั้ง JBBY ของสมาคมหนังสือเพื่อเด็กจากประเทศญี่ปุ่น และรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมทซุบะตะ โจจิ รวมถึงผลงาน Otousan no Te (มือของพ่อ) ยังได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของญี่ปุ่น
ส่วนโซะโกะ จินซะกิ นักวาดภาพประกอบ นักเขียน นักกวี คือเจ้าของรางวัลนักเขียนยอดเยี่ยมจากสำนักพิมพ์โคะดันซะ สำหรับงานวรรณกรรมเยาวชนหน้าใหม่ครั้งที่ 50 จาก Kusa no Ue de Ai wo (ความรักบนยอดหญ้า) ที่มีผลงานวรรณกรรมและหนังสือภาพออกมาอย่างต่อเนื่องอีกมากมาย
นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนมือรางวัลจากญี่ปุ่นทั้งสามท่านเดินทางมาร่วมการประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ครั้งที่ 3 ที่เมืองไทย และเมื่อมาแล้วก็ชวนนักอ่านนักเขียนชาวไทยมาพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองของวรรณกรรมเยาวชนที่มูลนิธิญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
The Momentum อาสาทำหน้าที่ย่อยเรื่องราว และหยิบเอาเบื้องหลังการเป็นคนเล่าเรื่องของพวกเธอมาเล่าต่อว่าทำอย่างไรถึงได้กวาดรางวัลไปมากมายอย่างนี้
เริ่มต้นที่กำหนดแก่นเรื่อง
การวางแก่นเรื่องไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวว่าควรจะเริ่มต้นจากตรงไหน บางคนอาจเลือกจากเเรื่องที่ตัวเองสนใจในขณะนั้น อาจได้จากไอเดียแวบแรกที่เกิดขึ้นระหว่างอาบน้ำ หรือบางครั้งอาจเกิดจากการนำเสนอของกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ก็ได้ แม้วรรณกรรมเยาวชนจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ก็ต้องมีการค้นคว้าหาข้อมูลมาประกอบอย่างจริงจัง และสามารถหยิบเอาสภาพปัญหาของสังคมมาผนวกเข้ากับเรื่องเล่าได้
นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนเป็นคนจริงจังมาก
เคียวโกะ ฮะมะโนะ เป็นนักเขียนเชิงสังคมที่มักหยิบเอาแง่มุมที่มีอยู่จริงมาเป็นแก่นเรื่อง เช่น ผลงานหนึ่งที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวปี 2011 เป็นแก่นเรื่อง หรือเธอยกตัวอย่างว่าญี่ปุ่นชอบใช้คำว่าเป็นประเทศที่ไม่มีทหาร แต่จริงๆ แล้วญี่ปุ่นมีกองกำลังป้องกันตนเองที่สามารถออกมาปกป้องประเทศตัวเองได้ และจะมีนักเรียนชายกลุ่มหนึ่งที่ต้องไปเรียนโรงเรียนมัธยมพิเศษเพื่อเตรียมตัวเข้ากองกำลังป้องกันตนเอง การทำงานของนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนเช่นเธอคือเข้าไปเก็บข้อมูลจากเด็กเหล่านี้ ได้รู้ว่าเด็กนักเรียนกลุ่มนี้มีแนวคิดเรื่องสงครามหรือสันติภาพอย่างไร ไปจนถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การลงไปคลุกคลีกับแหล่งข้อมูลโดยตรงจะทำให้ได้แก่นเรื่องที่ชัดเจนขึ้น และชัดเจนด้วยว่านักเขียนวรรณกรรมเยาวชนเป็นคนจริงจังมาก
ไม่มีกฎตายตัวว่าจะเขียนแบบไหน
มิโตะ มะฮะระ เป็นนักเขียนประเภทที่มีวินัยสูง จะเขียนเรื่องทีละเรื่องให้เสร็จไปทีละเล่ม และเมื่อกำหนดให้ตัวเองเขียนเรื่องนี้ทุกวันให้ได้ 10 แผ่น แผ่นละ 400 กว่าตัวอักษร ต่อให้รู้สึกว่าไม่ไหว เธอก็จะทนเขียนให้ได้จนถึง 10 แผ่น แต่ถ้ารู้สึกว่ายังเขียนต่อได้อีกในวันนั้น จำนวนตัวหนังสือที่ได้ก็เพิ่มขึ้นไปได้อีก และจะไม่มีวันหยุดให้ตัวเองเลย แม้จะเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ตาม
เคียวโกะ ฮะมะโนะ เป็นนักเขียนในประเภทที่ต่างออกไป เธอสามารถเขียนหลายเรื่องได้ในเวลาเดียวกัน ในขณะที่โซะโกะ จินซะกิ ที่ต้องวาดภาพประกอบเรื่องไปด้วย ยอมรับว่าตัวเองไม่มีระเบียบนัก เพราะการวาดภาพกับการเขียนเรื่องเป็นการใช้สมองตรงข้ามกัน การสลับกันของสองขั้วในสมองจึงมักเกิดขึ้นเสมอในการทำงาน กองบรรณาธิการที่ทำงานร่วมกับเธอจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของเธอด้วย
แต่ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนที่คร่ำเคร่งกับเดดไลน์หรือปล่อยความคิดให้ทำงานไปตามธรรมชาติ หากผลลัพธ์ที่ปลายทางคือผลงานที่ดี วิธีการแบบไหนก็ไม่ผิด
หนังสือเด็ก-หนังสือผู้ใหญ่ ต่างกันตรงไหน
ปัจจุบัน หนังสือเด็กและหนังสือผู้ใหญ่มีความใกล้กันมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน อย่างไรก็ตาม เด็กจะมีสายตาที่เตี้ยกว่าผู้ใหญ่เสมอ เช่น เมื่อมองภาพทะเล ผู้ใหญ่อาจเห็นทะเล เห็นเส้นขอบฟ้า แต่เด็กจะเห็นทราย เห็นขา ได้กลิ่น ได้ใช้ประสาทสัมผัสมากกว่า นักเขียนจึงต้องสื่อภาพในระดับที่สายตาเด็กมองเห็น
ในมุมมองของตัวละครที่เป็นเด็กมากๆ การใช้บุรุษที่หนึ่งในการเล่าเรื่องจะเล่าเก็บความได้จำก้ด การใช้วิธีการเล่าในมุมมองของบุรุษที่สามจะถูกนำมาใช้แทน แต่ในทางกลับกัน หากนักเขียนมองด้วยสายตาที่เป็นเด็กมากเกินไป หรือพยายามที่จะเป็นเด็กมากจนผิดธรรมชาติ คนอ่านจะดูออกว่าแท้ที่จริงแล้วนั่นคือสายตาของคนเป็นพ่อแม่
จริงๆ แล้วในแวดวงวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นจะค่อนข้างต่อต้านหนังสือที่เป็นเชิงบทเรียนหรือเชิงสั่งสอนมากเกินไป ซึ่งนั่นคือผลที่มาจากการเขียนด้วยสายตาของผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กอ่านหนังสือแบบนี้ และพวกเขามองว่าวรรณกรรมเยาวชนเป็นพื้นที่นำเสนอในมุมกลับที่เด็กสามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ และพวกเขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องตลกได้
ในความผิดหวังที่พังทลายจะต้องเหลือความหวัง
หนังสือสำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องสดใสหรือลงเอยแบบ ‘Happy Ending’ เสมอไป ปัจจุบัน เทรนด์วรรณกรรมญี่ปุ่นมีเนื้อเรื่องส่วนใหญ่พูดถึงครอบครัวที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และปัญหาเรื่องความยากจนหรือปัญหาสังคมก็เป็นเรื่องที่พูดถึงกันเป็นปกติในวรรณกรรมเยาวชน แต่ไม่ว่าฉากของเรื่องจะมีความหม่นหมองหรือเศร้ารันทดแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วจะต้องหลงเหลือความหวังบางอย่างเอาไว้ให้ชีวิตเดินต่อเสมอ
ถ้ามีลูกจะเขียนเรื่องเด็กได้ดีกว่า?
การมีลูกไม่ได้หมายความว่าจะเขียนหนังสือเด็กได้ดี หรือการไม่มีลูกก็ไม่ได้หมายความว่าจะเขียนหนังสือเด็กให้ดีไม่ได้ เคียวโตะ ฮามาโนะ ไม่มีลูก จึงไม่รู้ว่าความต้องการจริงๆ ของเด็กคืออะไร เธอจึงเพียงเขียนงานที่ตัวเองอยากอ่านสมัยเด็กออกมา และเมื่อเธอไม่ได้เปลี่ยนสถานะเป็นผู้ปกครองของใคร จิตใจของเธอจึงเป็นได้แค่เด็กเท่านั้น และการชอบอ่านหนังสือที่เป็น non-fiction ทำให้เธอได้ไอเดียบางอย่างมาใช้
ในขณะที่มิโตะ มะฮะระ มีลูกสองคน แต่ความเป็นแม่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการเขียนเรื่องเด็ก เธอยังมองเด็กด้วยสายตาตัวเองที่ย้อนกลับไปรำลึกว่าสมัยเด็กตัวเธอเองเป็นอย่างไร แล้วเขียนขึ้นมาด้วยสายตาและมุมมองในวัยเยาว์
อัตลักษณ์แบบญี่ปุ่นในวรรณกรรม
ต่อให้ไม่ได้มีความคิดว่าจะสร้างอัตลักษณ์หรือใส่ความเป็นชาตินิยมลงไปในวรรณกรรม แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาจากวรรณกรรมของญี่ปุ่นคือบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นนิทานสำหรับเด็กของโซะโกะ จินซะกิ ที่เนื้อเรื่องไม่ได้มาจากนิทานพื้นบ้าน แต่ก็มีการสร้างเรื่องหรือสร้างภาพที่สะท้อนความเชื่อในเรื่องการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับเทพเจ้าและภูติผีปีศาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว และความแฟนตาซีในวรรณกรรมของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในโลกแฟนตาซี เรื่องเหนือจริงในโลกปกติ หรือการสร้างฉากเป็นโลกสมมติ ก็คือความโดดเด่นที่มีอยู่ในวรรณกรรมญี่ปุ่น
หันมามองด้านหนังสือภาพ จุดเด่นหนึ่งของวงการหนังสือภาพญี่ปุ่นคือค่อนข้างให้ความชื่นชมผู้วาดภาพประกอบที่วาดภาพแนวที่เด็กวาดวาด ด้วยความรู้สึกของเด็กที่ยังวาดภาพไม่เก่ง ซึ่งความไม่สมบูรณ์แบบในภาพนั้นได้รับการตอบรับที่ดีในญี่ปุ่น ต่างจากงานทางฝั่งตะวันตกที่ให้การยอมรับงานที่มีความสมบูรณ์แบบมากกว่า
ความเป็นญี่ปุ่นในงานเขียนนี้ มิโตะ มะฮะระ มองจากตัวเองว่าไม่ได้คำนึงถึงการใส่ความเป็นญี่ปุ่นเข้าไป แต่เป็นเพราะตัวเธอเองสนใจความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิมอยู่แล้ว หรือเคียวโกะ ฮะมะโนะ ก็มองว่าตัวเองเป็นเพียงคนญี่ปุ่นที่เขียนเรื่องของญี่ปุ่น การมองว่าเรื่องมีความเป็นญี่ปุ่นก็เป็นเพียงการมองเข้ามาด้วยสายตาของคนต่างชาติเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากผลงานชิ้นนั้นมีพลังมากพอก็อาจมีจุดที่น่าสนใจ จนกระทั่งก้าวข้ามพรมแดนของประเทศได้
ภาพประกอบ: www.booksfromjapan.jp
Tags: วรรณกรรมเยาวชน, หนังสือเด็ก, วรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่น