แม้จะพ้นจากรั้วโรงเรียนแล้วย่างเข้าสู่วัยทำงาน แต่ชีวิตของเราก็ยังถูก ‘ให้คะแนน’ อยู่สม่ำเสมอ ผ่านองค์กรทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน เพราะในสังคมขนาดใหญ่ที่สลับซับซ้อน คะแนนเหล่านั้นจะเป็นดัชนีชี้วัด ‘คร่าวๆ’ จัดจำแนกบุคคลออกเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อลดปัญหาข้อมูลอสมมาตร (Asymmetric Information) ประมาณว่าไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ จนทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะไม่มีความไว้วางใจต่อคู่ค้า
ระบบคะแนนที่ฮอตฮิตติดชาร์ตแทบทุกประเทศคงหนีไม่พ้น คะแนนเครดิต (Credit Score) ซึ่งในประเทศไทยจัดเก็บและจัดการโดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่มักคุ้นหูว่าเครดิตบูโร องค์กรนี้จะเป็นตัวกลางจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลเครดิตให้กับบริษัทที่เป็นสมาชิก เช่น สถาบันการเงิน รวมถึงประชาชนที่เป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านั้น คะแนนเครดิตจะบอกเราว่าแต่ละบุคคลมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหนในทางการเงิน เช่น มีบัตรเครดิตธนาคารสีฟ้า และไม่เคยขาดการชำระสักงวด ก็จะมีเครดิตดีหน่อย หรือกรณีที่เคยกู้ธนาคารสีเขียวไปแล้วถูกฟ้องร้องยึดทรัพย์สิน ก็อาจจะติดบัญชีดำไว้ในระยะเวลาหนึ่ง หากไปขอกู้กับธนาคารสีม่วงหรือสีชมพู พนักงานสินเชื่อก็อาจจะคิดหนักหน่อย เพราะมีประวัติไม่ดี ฯลฯ
ส่วนในภาคเอกชน ก็มีการให้คะแนนลูกค้าอย่างลับๆ เช่น มูลค่าตลอดชีวิตของลูกค้า (Customer Lifetime Value) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมสายการบิน โดยบริษัทจะคาดการณ์มูลค่าที่ลูกค้าจะมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการของบริษัท แล้วนำมาจัดเกรด หากใครมีศักยภาพที่จะใช้จ่ายกับบริษัทมากขึ้นในอนาคต ก็จะได้รับการดูแลรวมถึงข้อเสนอพิเศษต่างๆ เช่น อัปเกรดเป็นชั้นธุรกิจฟรี เป็นต้น
แต่ครั้งนี้ประเทศจีนกระโดดไปไกลกว่านั้น โดยทำการ ‘ยำ’ สารพัดปัจจัยเพื่อสร้างระบบคะแนนชุดใหม่ที่เรียกว่า ระบบเครดิตสังคม (Social Credit System) โดยคาดว่าจะเริ่มใช้จริงใน พ.ศ. 2563 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก ว่าระบบดังกล่าวจะเป็นก้าวแรกสู่โลกดิสโทเปียของเทคโนโลยี ในขณะที่บางกลุ่มมองว่า นี่คือนวัตกรรมทางสังคมที่จะช่วยให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น
แต่ก่อนจะกระโดดเข้าร่วมวงวิจารณ์ ผู้เขียนขอชวนมาทำความรู้จักระบบเครดิตสังคมกันก่อนนะครับ
ระบบเครดิตสังคมคืออะไร ทำงานอย่างไร
แนวคิดระบบเครดิตสังคมถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “จัดการปัญหาในอุตสาหกรรมการเงินและการพาณิชย์” ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจีนจะเริ่มออกแนวทางการนำระบบเครดิตสังคมไปปรับใช้เมื่อ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีรัฐบาลท้องถิ่น 18 แห่งเป็นชุมชนนำร่อง ระบบดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางอีกครั้ง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2557 ที่จะนำระบบดังกล่าวมาใช้ทั้งประเทศจีนภายใน พ.ศ. 2563
เครดิตสังคมมีองค์ประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความน่าเชื่อถือทางการเงิน การทำตามกฎหมาย และการปฏิบัติตนตามกรอบปรัชญาของรัฐบาลจีน ปัจจุบัน มีชุมชนและเมืองใหญ่กว่า 40 แห่งทั่วประเทศจีนที่ใช้ระบบเครดิตสังคม รวมถึงการจัดทำ ‘บัญชีแดง’ ซึ่งรวบรวมรายชื่อประชาชนตัวอย่าง และ ‘บัญชีดำ’ ซึ่งเป็นรายชื่อของบุคคลที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์
นอกจากระบบเครดิตสังคมจะถูกทดสอบโดยภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็ได้รับอนุญาตให้พัฒนาระบบเครดิตสังคมนำร่องเช่นเดียวกัน โดยบริษัทเหล่านั้นคือเจ้าตลาดยักษ์ใหญ่ 8 แห่งที่คนไทยอาจคุ้นเคยกันดี เช่น ระบบ Sesame Credit ที่พัฒนาโดย Ant Financial Services Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alibaba และ Tencent Credit ของเครือ Tencent โดยประชาชนชาวจีนสามารถสมัครเข้าโครงการดังกล่าวได้โดยสมัครใจ และจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น สินเชื่อด่วน ช่องทางพิเศษเวลาสมัครวีซ่า รวมถึงการตรวจร่างกายฟรี อย่างไรก็ดี ไม่มีใครทราบว่าอัลกอริธึมในการประเมินคะแนนเหล่านี้ทำงานอย่างไร
หลายคนวิพากษ์ว่าระบบดังกล่าวคือโลกดิสโทเปียดังเช่นที่นำเสนอในซีรีย์ชื่อดัง Black Mirror ตอน ‘Nosedive’ ซึ่งเราทุกคนต่างมีคะแนนของตัวเอง และสามารถให้คะแนนคนอื่นได้ โดยคะแนนดังกล่าวจะเป็นให้ทั้งคุณและโทษต่อบุคคลนั้น เช่น หากคะแนนต่ำเฉลี่ยต่ำกว่า 4 ก็จะไม่สามารถใช้บริการร้านอาหารหรูหราได้ เป็นต้น
ผู้เขียนมองว่าการเปรียบเทียบดังกล่าวอาจดู “เกินเลย” ไปสักหน่อย เพราะในปัจจุบัน ระบบเครดิตสังคมในจีนยังไม่ได้พัฒนาไปถึงขั้นนั้น (ส่วนในอนาคตก็ไม่แน่นะครับ) โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างระบบเครดิตสังคมในเมืองหยงเฉิง เมืองชายทะเลในมณฑลชานตง ที่ประชาชน 740,000 คน ได้รับคะแนนเริ่มต้น 1,000 คะแนน โดยคะแนนจะสามารถแบ่งเป็นเกรดได้ดังนี้
คะแนน | เกรด |
---|---|
มากกว่า 960 | A |
850 – 959 | B |
600 – 849 | C |
น้อยกว่า 600 | D |
ข้อมูลจาก China’s Brave New World
ส่วนการขยับของคะแนนก็จะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนเหล่านั้น เช่น ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน หัก 10 คะแนน บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศล เพิ่ม 5 คะแนน ปล่อยข่าวลือในโลกออนไลน์ หัก 50 คะแนน ลืมเก็บอึน้องหมาน้องแมว หัก 10 คะแนน เมาแล้วขับ จะถูกลดเกรดลงขั้น B ทันที ฯลฯ ผู้ที่ทำการจัดเก็บคะแนนคือทีมผู้บริหาร หนึ่งทีมจะดูแลพื้นที่ทั้งหมดราว 300 ครอบครัว ซึ่งการเพิ่มหรือลดคะแนนนั้นจะต้องมีเอกสารที่รับรองโดยองค์กรภาครัฐเป็นองค์ประกอบ
สำหรับเหล่าพลเมืองดีเด่น พวกเขาและเธอจะได้รับสิทธิพิเศษตั้งแต่ได้ซื้อของราคาถูก เข้าถึงสาธารณูปโภคราคาพิเศษ เพิ่มช่องทีวีฟรี รวมทั้งได้รับเชิญไปร่วมงานสังคมแบบเอ็กคลูซีฟ ส่วนเหล่าผู้มีคะแนนต่ำ นอกจากจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ แล้ว ยังอาจถูกจำกัดสิทธิ เช่น ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน หรือไม่ได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากคุณติดอยู่ในบัญชีดำ หรือถูกจัดอยู่ในเกรด D ซึ่งนับว่าเป็นคนไร้ความน่าเชื่อถือ คุณจะถูกประจานผ่านมาตรการทางสังคม เช่น การเผยแพร่ชื่อและรูปบนป้ายประกาศในพื้นที่สาธารณะ หรือหากมีคนโทรหา ก็จะได้รับคำเตือนว่าคนที่กำลังโทรหานั้นเป็นบุคคลไร้ความน่าเชื่อถือ เรียกว่าไม่ได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียว
แม้ว่าปัจจุบัน แต่ละพื้นที่และแต่ละองค์กรจะมีระบบเครดิตสังคมที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน หากรัฐบาลจีนเดินหน้าตามแผนได้จริง เราคงจะได้เห็นการจับมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการออกแบบระบบเครดิตสังคมระดับชาติ โดยมีรูปแบบ กฎเกณฑ์ และฐานข้อมูลลักษณะเดียวกันทั้งประเทศ
หลากหลายความเห็นต่อระบบเครดิตสังคม
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่จากการสัมภาษณ์ของสำนักข่าว FP และรายการ The Indicators ที่สัมภาษณ์ประชาชนในเมืองหยงเฉิง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าระบบเครดิตสังคมทำให้เมือง “ดีขึ้นทันตา” เช่น เขาและเธอรู้สึกว่าพฤติกรรมบนท้องถนนของคนในเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยคนขับรถยอมหยุดให้คนเดินข้ามถนนมากขึ้น เป็นต้น
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนจีนจากหลายภูมิภาค พบว่าอัตราการยอมรับระบบเครดิตสังคมนั้นค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้และการศึกษาสูง รวมถึงกลุ่มที่อยู่อาศัยในพื้นที่เมือง โดยพวกเขาและเธอมองว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางธนาคารได้ดีขึ้น โดยมีความกังวลต่อการที่ภาครัฐจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวค่อนข้างน้อย เพราะ “รัฐบาลก็มีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลพวกนี้อยู่แล้ว” และ “เรารับได้หากข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปใช้กับเรื่องที่ดี” ซึ่งสะท้อนภาพระบอบเผด็จการในประเทศจีนได้เป็นอย่างดี
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากแบบสอบถาม คือชาวจีนยังคงเจ็บปวดกับกรณีการปนเปื้อนของสารเมลามีนในนมผงสำหรับทารก ที่ส่งผลกระทบต่อทารกกว่า 300,000 ชีวิตเมื่อราว 10 ปีก่อน ซึ่งพวกเขามองว่าระบบดังกล่าวจะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง
ส่วนในโลกตะวันตก ระบบเครดิตสังคมถูกขนานนามว่า “ระบบออร์เวล” ซึ่งหมายถึงระบบที่รัฐสอดส่องพฤติกรรมของประชาชนโดยไม่สนใจความเป็นส่วนตัว ตามนิยายคลาสสิก 1984 โดยจอร์จ ออร์เวล ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าระบบดังกล่าวจะเป็นการ ‘เถลิงอำนาจ’ ของพรรคเผด็จการในประเทศจีน เนื่องจากมีความคลุมเครือในกฎเกณฑ์การหักคะแนน เช่นข้อที่ว่า “การปล่อยข่าวลือออนไลน์” ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้หนักหนาสาหัสกว่าเดิม
แน่นอนว่าระบบดังกล่าวอาจกำกับพฤติกรรมและสร้าง ‘สมาชิกชุมชนต้นแบบ’ ที่มีไลฟ์สไตล์ที่พึงประสงค์ตามกรอบคิดที่รัฐบาลกำหนดเพื่อสังคมที่ดีกว่าตามภาพฝันของผู้นำประเทศ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ความดีไม่ได้มีแค่นิยามเดียว และสิ่งที่ดีขึ้นในมุมมองของแค่ละคนก็อาจแตกต่างกันอย่างสุดขั้วก็ได้ นอกจากนี้ ระบบเครดิตสังคม อาจนำไปสู่การทำลายความเป็นมนุษย์ เพราะปฏิสัมพันธ์ในสังคมจะเป็นเพียงฉากหน้าที่ต้องทำตามกรอบที่วางไว้ ส่วนอารมณ์ด้านลบ เช่น ความโกรธ หรือเกลียดชัง จะถูกกดทับเอาไว้ เพราะไม่มีใครต้องการถูกหักคะแนน
สุดท้าย ผู้เขียนอยากชวนมาคิดร่วมกันว่าสังคมในฝันนั้นของเราเป็นแบบไหน และคุ้มค่ากันไหมกับราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้สังคมนั้นเป็นจริง เพราะวันหนึ่ง ผู้นำบ้านเราอาจเกิดบ้าจี้เอาแนวคิดระบบเครดิตสังคมเข้ามาใช้ในไทยก็ได้นะครับ ใครจะไปรู้!
เอกสารประกอบการเขียน
- Life Inside China’s Social Credit Laboratory
- Planet Money – Life On China’s Blacklist
- China’s social credit system ‘could interfere in other nations’ sovereignty
- China has started ranking citizens with a creepy ‘social credit’ system — here’s what you can do wrong, and the embarrassing, demeaning ways they can punish you
- China’s Social Credit Systems and Public Opinion: Explaining High Levels of Approval