ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ถูกเลือกนำมาร้อยเรียงต่อกัน ภาพของคนสองคนตัดสลับไปมา เสียงเพลง บทสนทนาระหว่างตัวละคร อยู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นพร้อมกับก้อนความรู้สึกอึดอัด เศร้าลึก ตื่นเต้น ดีใจ มีความสุข มวลอารมณ์เหล่านี้ก่อตัวขึ้นอย่างไร้เหตุผล

จังหวะแห่งการตัดต่อ คือศิลปะในการสร้างภาพยนตร์ที่ทำให้ฉากทุกฉากสมบูรณ์ ทรงพลัง โดยไม่ต้องเรียกร้องความสนใจ เราจดจ่อกับภาพตรงหน้า ไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกหลอกล่อให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของคนตัดต่อและผู้กำกับ ถ้าใครเคยดู ‘36’ ‘Mary is Happy, Mary is Happy’ ‘ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ‘แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว’ ‘พรจากฟ้า’ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ และเรื่องล่าสุด ‘Homestay’ เขาคนนี้คือเจ้าของเวทมนตร์เหล่านั้น

ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต เป็นนักตัดต่อมือรางวัล ที่ตอนนี้มีโอกาสได้แปลงร่างมาเป็นผู้กำกับแบบจริงจังครั้งแรกในซีรีส์ ‘โลกโซเชี่ย(ล) Social Syndrome’ ตอน Hamsters ทางช่อง LINE TV ผลงานการตัดต่อภาพยนตร์ไทยที่ผ่านมา สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้กำกับฝีมือดีมากมาย เขาถูกดึงตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในหนังคุณภาพหลายเรื่อง และทุกครั้งเปรียบเสมือนการทำหนังเรื่องแรกสำหรับเขา

ในฐานะคนที่ทั้งตัดต่องานมาอย่างหลากหลาย ทั้งหนังยาว หนังสั้น มิวสิควิดีโอจนถึงงานโฆษณา คลุกคลีกับแวดวงหนังไทยมาไม่น้อย อีกทั้งงานกำกับเรื่องแรกของเขาก็เฉียบขาดจนได้รับคำชมมากมาย มุมมองของเขาต่องานเบื้องหลังและอุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นน่าสนใจทีเดียว

อยากให้เล่าถึงซีรีส์ตอน Hamsters หน่อย เพราะอะไรถึงเลือกเล่าเรื่องโซเชียลมีเดียผ่านความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูก

Hamsters เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เก็บความลับของตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งมันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง เราเล่าด้วยไอเดียของการบังเอิญได้เข้าไปพบเห็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของคนที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งมันสร้างความเคลือบแคลงใจ ความไม่ไว้ใจ ยิ่งทำให้อยากรู้ อยากเข้าไปยุ่งในพื้นที่ส่วนตัวนั้นมากขึ้น แม้ว่ามันจะทำให้เกิดปัญหาก็ตาม

ตอนแรกเราแค่อยากทำหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว อยากลองทำงานกับนักแสดงผู้ใหญ่ เพื่อดูว่าจะสื่อสารกับเขาได้ไหม แต่เรายังคิดพล็อตไม่ออก ก็เลยลองปรึกษากับคนเขียนบท (รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) แล้วก็ได้ไอเดียเรื่องแอคเคาท์หลุมมาเพิ่ม

พอเลือกนักแสดงได้ ก็ตัดสินใจว่าจะเอาแค่บริบทแม่-ลูก เพราะเราว่ามันคงเล่าได้ชัดกว่า ด้วยมุมของแม่ที่เข้าไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของลูก ซึ่งเป็นเด็กดีในสายตาผู้ใหญ่มาตลอด มันน่าสนใจตรงที่ตัวละครจะมีปฎิกิริยาต่อกันอย่างไร แล้วนำไปสู่ปมปัญหาอะไรบ้าง ถือว่าเรื่องนี้เราได้ลองทำในสิ่งที่เราอยากทำหลายอย่าง มันเกิดจากการรวบรวมความคิดและสื่อสารออกมาในจังหวะของเรา เพื่อสะท้อนให้เห็นพิษของการใช้โซเชียลมีเดียที่คนทั่วไปก็รู้ แต่อาจมองข้าม เพราะคิดว่ามันไม่สำคัญ

การเป็นคนตัดต่อที่มากำกับหนังเอง มันทำให้ควบคุมทิศทางของหนังง่ายขึ้นไหม

มีทั้งส่วนที่ง่ายและยาก ความรู้สึกมันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราเคยทำหนังตัวจบสมัยเรียน เราว่าเรากล้าตัดสินใจมากขึ้นด้วย ประสบการณ์ทำให้เรารู้ว่าถ้าเราใช้อันนี้มันจะได้ผลลัพธ์แบบนี้ ความท้าทายของมันคือพอมากำกับเอง ตัดต่อเอง บางครั้งความคิดก็ตีกันในหัวจนทำให้เราตัดสินใจช้าลงเวลากำกับ เพราะต้องคิดอย่างรอบคอบว่าจะให้ภาพออกมาเป็นแบบไหน ตอนที่เราตัดงานให้คนอื่น เราแค่คิดต่อจากฟุตเทจที่เราเห็น เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังของซีนนี้ ตัวละครเล่นแบบนี้ เพราะได้รับการบรีฟจากผู้กำกับแบบนี้ แต่ข้อดีของการกำกับเองตัดเองคือมันง่ายและเร็วในตอนตัดต่อ เนื่องจากเรามีภาพในหัวอยู่แล้วประมาณหนึ่ง

การกำกับซีรีส์ที่ต้องคุมมู้ดของหนังให้อยู่ในทิศทางเดียวกับเรื่องอื่น คุณใส่ตัวเองลงไปได้เต็มที่ไหม

ค่อนข้างอิสระนะ ทางโปรดิวเซอร์ของภาพดีทวีสุขไม่ได้ Strict อะไรเรามาก เขาแค่บอกว่าต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาจากการใช้โซเชียลมีเดีย มีความลึกลับ สืบสวนประมาณนี้ ที่เหลือเขาให้อิสระเต็มที่ แต่เราก็ Strict ตัวเองระดับหนึ่งในเรื่องของการคุมมู้ด เหมือนเราก็มีภาพในหัวที่คิดเอาไว้คร่าวๆ ไม่ว่าจะเป็นการลองมู้ดแบบนี้ ลองมุมกล้อง ลองเสื้อผ้า แรกๆ ก็ได้แบบนั้น แต่หลังๆ เริ่มปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์หน้าเซ็ท เพราะตอนไปถ่ายจริง บางซีนก็ไม่ได้ตามที่คิดไว้ทั้งหมดด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น เวลา สภาพอากาศ นักแสดง

การทำซีรีส์เวลามันค่อนข้างน้อย เคยนอยด์อยู่เป็นเดือนเลย พอตัดเสร็จถึงรู้สึกว่ามันก็โอเค การทำหนังมันมีเหตุที่ต้องให้สถานการณ์พาไปบ่อยมาก บางครั้งในช่วงเวลานั้น เราลืมที่เราคิดมาว่าจะถ่ายแบบนี้ ซึ่งก็เข้าใจได้ทีหลังว่าหนังมันพาไป นักแสดงพาไป เราก็ปรับการทำงานไปตามนั้นถ้ามันเวิร์คกว่า เป็นการลองผิดลองถูกจนได้ผลลัพธ์ที่ลงตัว มันคงเป็นเสน่ห์ของการทำหนัง เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรในระหว่างกระบวนการถ่ายทำ

เคยมีที่ถ่ายไปแล้วหรือตัดต่อเสร็จแล้วรู้สึกอยากกลับมาแก้ไขหรือเปล่า

ก็มี แต่เราจะคิดแบบพุทธศาสนาว่ามันผ่านไปแล้ว เราต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามนั้น แค่ไหนแค่นั้น เพราะการทำหนังไทยมันไม่ได้มีทุนเยอะขนาดที่จะใช้เงินใช้เวลาถ่ายแก้ตามใจได้ เราเรียนรู้จากสิ่งนี้ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เพราะมันมีข้อจำกัด เราถึงต้องมีสติให้มาก ต้องทำความเข้าใจกับมู้ดในกองมากกว่านี้ เพราะถึงเวลาถ่ายจริงการควบคุมทุกอย่างมันไม่ง่าย  เราจะคิดไปถึงตอนตัดเสมอว่าอันนี้จะทำให้ภาพออกมาเป็นอย่างไร แต่เราก็พยายามไม่ Strict มาก ช่วงถ่ายแรกๆ ก็มีความอยากลองทำแบบนั้นแบบนี้ แต่พอถ่ายไปก็เริ่มเข้าใจ เริ่มรู้ว่าตรงไหนสำคัญจริงๆ แล้วก็ปรับไปตามสถานการณ์

ย้อนไปก่อนหน้านั้น คุณเข้ามาร่วมงานกับ GDH (GTH) ในฐานะคนตัดต่อได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้เราเรียนเอกภาพยนตร์ที่คณะไอซีที มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์วิชาตัดต่อเราคือพี่เดียว (วิชชพัชร์ โกจิ๋ว) ผู้กำกับหนังเรื่อง ‘แฟนฉัน’ แล้วเขาก็เป็นคนตัดต่อหนังให้กับ GTH ด้วย จนเราไปฝึกงานกับเขา ถึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้มาทำงานในฐานะคนตัดต่อกับ GTH แรกๆ เป็นหนังสั้นบ้าง โฆษณาบ้าง มาตัดหนังยาวจริงๆ ตอนเรื่อง ‘ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ของพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ซึ่งกับพี่เต๋อเรารู้จักกัน เคยทำงานร่วมกันมาก่อนแล้ว พอเขามีโอกาสได้มากำกับหนังให้ GTH เขาก็เลยชวนเรามาทำต่อ สำหรับเราจึงเป็นครั้งแรกที่ได้ตัดหนังยาวกับ GTH  

คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นในงานของตัวเอง

เรื่องความเป็นตัวตนหรือจุดเด่นมันก็พูดยากเหมือนกัน เพราะว่าหนังแต่ละเรื่องที่เราทำออกมา เรารู้สึกว่ามันจะมีบางอย่างที่เราชอบปะปนอยู่ในนั้น แต่ซิกเนเจอร์ของเรามันจำกัดความไม่ได้ คงเป็นมวลอารมณ์ที่อยู่ในนั้นโดยรวมมากกว่า

สำหรับเรา การทำหนังทุกเรื่องมันคือการเรียนรู้ใหม่เสมอ เพราะหนังแต่ละเรื่องมันต้องการความเข้าใจบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน ต้องการสกิลแตกต่างกัน เราจะไปรีเสิร์ช ไปดูหนัง พยายามสังเกตแล้วเอามาประยุกต์ใช้ คล้ายกับเป็นกรอบในการทำงาน เราต้องทำการบ้านอย่างหนักว่าหนังต้องการอะไร ตัดออกมาแบบไหนมันถึงจะลุ้น จะระทึก เข้ากับหนังอย่างลงตัวพอดี คำว่าระทึก ไม่ได้หมายความว่าตัดเร็วหรือจังหวะดีอย่างเดียว แต่หมายถึงเล่าอย่างไรให้คนดูลุ้น เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร แล้วนำไปคิดต่อ

มีใครเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจไหม

ถ้าคนไทยเราชอบงานพี่ลี (ลี ชาตะเมธีกุล) ที่สุด เราเคยทำงานร่วมกับเขาเรื่อง ‘มะลิลา’ ผู้กำกับคือพี่นุชี่ (อนุชา บุญวรรธนะ) หนังเรื่องนี้เขาให้เราตัดก่อน แล้วพี่ลีค่อยเข้ามาช่วยเพิ่มเติมในส่วนของโครงสร้าง ซึ่งหลังจากที่พี่ลีทำออกมา เราก็พบว่ามันสามารถตัดแบบนี้ได้อีกนะ มันสลับซีนได้ เล่าแบบนี้ได้ หลายอย่างมากที่เราคิดไม่ถึง นอกจากจังหวะการเล่าเรื่องแล้ว การตัดต่อมันยังมีศาสตร์ที่เรียกว่าโครงสร้าง แล้วพี่ลีค่อนข้างแม่นยำในเรื่องโครงสร้างมาก

ยกตัวอย่างเช่นหนังของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) หนังของพี่เจ้ยไม่ใช่หนังที่มีจังหวะหวือหวา แต่ใช้โครงสร้างเล่าเรื่องว่าภาพนี้ต้องมาต่อกับภาพนี้ คัทที่บทสนทนาตรงนี้ เพื่อสื่อสารข้อความบางอย่าง เราว่าการที่พี่ลีเข้าใจสิ่งนี้ มันเกิดจากการที่เขามีภาพในหัวชัดเจน ซึ่งเราเรียนรู้แล้วก็อยากทำให้ได้บ้าง หนังของที่นี่ก็มีเรื่องที่เล่าด้วยโครงสร้างเหมือนกัน แต่คนที่ช่วยเราส่วนใหญ่จะเป็นโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ พอทำไปเรื่อยๆ เราก็เข้าใจว่าการตัดต่อมันไม่ใช่เรื่องจังหวะอย่างเดียวที่สำคัญ การเรียงลำดับความคิดก็เป็นสิ่งที่สร้างพลังให้กับหนังด้วย

คนตัดต่อต้องสร้างสรรค์งานออกมาให้ตรงกับความต้องการของผู้กำกับเป็นหลักหรือเปล่า

แน่นอนว่าการตัดสินใจของผู้กำกับสำคัญที่สุด เรามองว่าการทำงานตรงนี้ มันเหมือนกับการรวมไอเดีย เพื่อสร้างให้หนังออกมาดีมากกว่า เราทำให้ดีที่สุดในพาร์ทของเรา ส่วนผู้กำกับก็จะเป็นผู้ควบคุมทิศทางของหนังทั้งหมด ซึ่งวิธีการทำงานของผู้กำกับแต่ละคนที่ผ่านมาไม่เหมือนกันเลย

อย่างตอนทำกับพี่บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) เรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ช่วงที่ถ่ายทำอยู่ก็จะเริ่มคุยปรึกษากันก่อน พี่บาสจะใช้วิธีส่งเพลงให้ฟัง กำหนดกรอบมาให้ เราจะได้เข้าใจมู้ดของหนังในแบบที่เขาต้องการ มันก็ดีเพราะจะไม่เสียเวลาทั้งเขาและเรา การตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น อันไหนเกินกรอบเราไม่เอา หรือถ้าเกินแต่ดีก็จะเก็บไว้เสนอก่อน แรกๆ เราไม่ค่อยมั่นใจหรอก พยายามไม่คิดไปนอกกรอบ แต่หลังๆ นี่เราลองทำเลย เอาไปเสิร์ฟสิ่งที่เขาคิด ถ้าเขาไม่ชอบก็กลับไปทำแบบที่เขาบอก ไม่เสียหาย คือถ้าเราคิดภาพได้ เราก็อยากให้เขาดูอะไรที่เขาไม่เคยเห็น

ส่วนตอนทำงานกับพี่โอ๋ (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ) เรื่อง ‘Homestay’ ก็จะมีวิธีการทำงานอีกแบบ พี่โอ๋มาแนวข้อมูลเยอะมีเรฟเฟอร์เรนซ์ชัดเจน เพื่อให้เราเข้าใจว่าภาพนี้คลิปนี้เป็นของซีนนี้ แล้วเขาก็จะอธิบายลักษณะนิสัยของตัวละครให้เราฟัง พร้อมถามความคิดเห็นของเรา พี่โอ๋เน้นให้เราเข้าใจตัวละครกับเรื่องราวของหนังมากกว่า ซึ่งก็ดีเพราะทำให้เรากล้าลองทำอะไรใหม่ๆ เช่นมีบางซีนของหนังที่เราลองตัดสลับกัน พอเขาเห็นครั้งแรกเขาไม่เข้าใจ แต่พอรู้ว่าว่าทำไมเราทำแบบนั้น เขาก็ซื้อไอเดียเรา

ชอบที่สุดคงเป็นความรู้สึกตอนทำเรื่อง ‘36’ กับพี่เต๋อ ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย ไปลุ้นเอาหน้างาน ซึ่งมันอาจจะได้จังหวะที่ใช่แค่ครั้งเดียว หนังมีแค่ 36 ซีน เราตัดต่อ ทำมิกซ์เสียงเอง ทำอะไรเองหมด ตอนวันฉายที่หอศิลป์ กทม. พี่เต๋อเอาไฟล์หนังใส่ iMac ไปฉายโปรเจคเตอร์เอง แบกลำโพงไปเอง เหมือนฉายหนังนักศึกษาเลย อารมณ์แบบนั้นมันหายากมาก แต่อาจจะเพราะทำกับพี่เต๋อ ทุกอย่างถึงดูเป็นกันเอง สำหรับเราแล้วมันสนุกและแปลกใหม่ เวลาได้ร่วมงานกับผู้กำกับที่แตกต่าง

การทำงานกับผู้กำกับแต่ละคนจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอด ไม่ค่อยมีลักษณะของการเอาอีโก้มาชนกัน เพราะเราต่างต้องการให้หนังมันออกมาดี แม้แต่โปรดิวเซอร์อย่างพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล)​ หรือพี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) เขาก็จะมาร่วมออกไอเดียหลังจากนั้น ช่วยตบให้เรื่องมันเข้าที่ขึ้น ด้วยความที่เขาเห็นภาพรวมของหนัง บางทีผู้กำกับทำไปนานๆ แล้วจมก็มี เรารู้สึกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นในกระบวนการทำงานร่วมกันแบบนี้มันสนุก ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่อาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน

ฟีดแบ็กของหนังในแง่การตัดต่อที่ถูกคนดูวิจารณ์ มีอิทธิพลอย่างไรต่อตัวคุณบ้า

เรารู้สึกว่าบางอย่างมันถูกเลือกมาอย่างถูกต้องในช่วงเวลานั้นแล้ว เรารู้ได้ด้วยตัวเองแหละถ้ามาดูทีหลังแล้วเจอข้อผิดพลาด ก็มีที่คิดเหมือนกันว่าน่าจะทำให้ดีกว่านี้ แต่พอตระหนักได้ว่าเราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้นไปแล้ว ก็จะพยายามปล่อย ไม่เสียใจ มองว่ามันเป็นแค่อีกตัวเลือกที่เราไม่ได้ใช้เท่านั้นเอง ค่อยเก็บไว้ไปทำเรื่องอื่นก็ได้  ฟีดแบ็กจากคนดูก็ถือเป็นบทเรียนสำหรับเรา บางทีเราต้องการสื่อสารแบบหนึ่ง แต่คนดูตีความไปอีกแบบหนึ่ง ไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำเลยก็มี

เมื่อก่อนตอนเราอ่านความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์เราก็นอยด์ แต่พออ่านไปเยอะๆ ก็เริ่มแยกแยะได้ว่าจะเก็บหรือไม่เก็บ ไม่ใช่ว่าไม่สนใจเลย เพราะความคิดเห็นจากคนนอกวงการหนัง มันช่วยให้เราเข้าใจความแตกต่างของคนมากขึ้น เราได้รู้ว่าเขาคิดไม่เหมือนเรา เขาสนใจเฉพาะสิ่งที่เขาเห็น เขาเข้าใจเท่าที่เขามีประสบการณ์ต่อสิ่งนั้น มันเป็นสิทธิของคนดูที่จะคิดต่าง หน้าที่ของเราคือนำไปปรับปรุงและพัฒนาตัวเองในเรื่องต่อไป โดยเอาบทเรียนจากหนังเรื่องเก่ามาใช้

เคยคิดจะให้คนอื่นมาตัดต่อหนังของตัวเองบ้างไหม

ถ้ามีโอกาสก็อยากลองให้คนอื่นมาทำดู เราคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องลงมือเองทั้งหมด ถึงแม้ว่าเราจะทำอาชีพตัดต่อก็ตาม

การเป็นทั้งผู้กำกับทั้งตัดต่อมันยากมากนะ คือมันทำได้แต่ค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร หากว่ามีคนตัดต่อมาช่วยผู้กำกับก็เหมือนกับมีคนมาช่วยคิดชั้นที่สอง (Second Thought) เพื่อให้ภาพของหนังโดยรวมออกมาสมบูรณ์มากขึ้น เพราะคนตัดต่อไม่ได้อยู่ในทุกๆ กระบวนการของหนังเหมือนผู้กำกับ เขาจะทำงานด้วยการดูฟุตเทจ แล้วคิดสร้างสรรค์ออกมาจากข้อมูลที่มีเท่านั้น ดังนั้นคนตัดต่ออาจจะเห็นอะไรที่ผู้กำกับมองไม่เห็นด้วย

นอกเหนือจากงานตัดต่อและซีรีส์เรื่องนี้แล้ว มีโปรเจคต์ที่กำลังทำหรือวางแผนอยู่บ้างไหม

มีบทหนังยาวที่ขอทุนกระทรวงวัฒนธรรมไป แล้วต้นปีหน้าก็จะมีโปรเจคต์ซีรีส์ของต่างประเทศ คือเรารู้สึกว่าถ้าจะทำหนังก็อยากทำหนังที่ใช้เวลาไม่มาก ใช้ทุนไม่เยอะ อาจจะเพราะเราไม่ได้ดิ้นรนอยากเป็นผู้กำกับขนาดนั้น แต่การกำกับหนังคือการเรียนรู้สำหรับเรา มันสร้างความกระตือรือร้นให้เราพัฒนาตัวเอง ทำให้รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง เข้าใจมนุษย์ และการทำหนังมากขึ้น พอเราได้ข้ามเส้นไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่การตัดต่อ มันก็ส่งผลดีต่อตัวเราไปจนถึงการร่วมงานกับคนอื่น

จริงๆ เรายังมีอีกหลายอย่างที่อยากทำ แต่ก็ไม่มีเวลามากพอให้ไปทำ จนไม่นานมานี้เราได้ไปเรียนภาษาเพิ่ม เจอคนหลากหลายแวดวงสาขาอาชีพ พอเราบอกว่าเราเป็นคนตัดต่อหนังให้ GDH เขาก็เล่าให้ฟังว่าเขาดูแล้วเป็นอย่างไรคิดอย่างไร มันคือการพูดคุยกันด้วยสายตาของคนดูหนังทั่วไป ไม่ใช่บริบทของคนทำหนัง ก็เหมือนได้รับรู้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ด้วย

คุณมีมุมมองอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยตอนนี้อย่างไร

เรารู้สึกว่าปีนี้ดี สนุกกว่าปีก่อนๆ เพราะมีหนังหลายแบบมากขึ้น ที่เราคิดว่าน่าสนใจเช่น ‘มะลิลา’ ‘App war’ ‘The pool นรก 6 เมตร’ มี ‘Homestay’ มี ‘นาคี’ และปลายปีมีหนังอินดี้ที่เราอยากดูอีกคือ ‘Ten Years Thailand’ กับ ‘เณรกระโดดกำแพง’ ของพี่สืบ (บุญส่ง นาคภู่) ซึ่งการที่มีหนังแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแบบนี้ออกมา มันเป็นบรรยากาศที่ดีมาก เรานับถือที่เขากล้าทำ ไม่ว่ามันจะมีคนดูหรือไม่มี ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็น่าจะสนุกกว่าการที่มีแต่หนังแนวเดียวกันผลิตเพื่อทำเงินอย่างเดียว มันต้องมีทั้งหนังแมส หนังอินดี้ คนชอบพูดว่าหนังไทยมีแต่หนังรัก หนังตลก แต่วันนี้เราได้เห็นว่าคนไทยทำได้หลายแบบ เราว่าไม่ใช่แค่คนทำหนังไทยที่เติบโต แต่คนดูเองก็เติบโตขึ้นด้วย ดังนั้นเราว่าการที่มีคนทำอะไรไม่เหมือนกันออกมา มันก็ดีมากแล้วสำหรับเรา

เงินทำหนัง เป็นข้อจำกัดที่ทำให้หนังไทยเติบโตช้าหรือไม่

เราคิดว่าก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่สมัยนี้มันมีวิธีทำให้หนังสดใหม่โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะนะ ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมหนังไทยคงไม่มีทุนเยอะเท่าฮอลลีวูด แต่ตัวแปรมันอยู่ที่คนดู ถ้าคนดูเยอะ อุตสาหกรรมก็จะมีเงินหมุนเยอะ ซึ่งเราคิดว่าทุกคนพยายามอย่างมากกับการหาเทคนิควิธีการทำหนัง กลายเป็นว่ายิ่งหนังต้นทุนน้อย ความคิดสร้างสรรค์ก็ยิ่งเยอะ อย่างพี่บาสที่ทำซีนห้องสอบในฉลาดเกมส์โกงให้มันลุ้นและสนุกได้ หรือพี่โอ๋ที่คิดหาวิธีทำ CG ใน Homestay ให้ออกมาดูใหม่ตื่นตาตื่นใจในระดับหนึ่งได้ คือมันก็ต้องใช้เงินแหละ แต่ทุกคนมีความพยายามอยากที่จะทำ งานมันก็เลยออกมาดี มีพัฒนาการจากหนังไทยแบบเดิมๆ

ในฐานะคนทำหนัง คาดหวังว่าอุตสาหกรรมหนังไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ควรดำเนินไปในทิศทางไหนไหม

เราว่ามันต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เนื่องจากคนดูมีประสบการณ์ในการดูหนังหลายระดับ คนที่เป็นคอหนัง ดูหนังเยอะอยู่แล้ว เขาจะพร้อมรับความแปลกใหม่ ส่วนคนที่นานๆ จะดูหนังสักเรื่อง เขาจะมีกรอบความคิด มีความคาดหวังต่อหนังในอีกรูปแบบหนึ่ง

เราอาจจะต้องพยายามทำให้หนังเข้าถึงคนหลากหลายกลุ่มมากขึ้นด้วยเทคนิคต่างๆ อย่างน้อยคือให้คนดูเข้าใจว่าเราพยายามบอกอะไร ไม่ว่าหนังจะเล่ายากแค่ไหน เมื่อก่อนเราคิดว่าหนังไทยไม่มีตรงกลางเท่าไร หนังแมสก็คือแมสไปเลย หนังอินดี้ก็อินดี้จัด แต่ทุกวันนี้มีหนังที่ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องแบบท้าทายมากขึ้น เราคาดหวังว่าจะมีหนังแบบ Whiplash หรือ La La Land ที่คนดูสนุกและสามารถเข้าถึงได้อย่างลึกซึ้ง โดยไม่ต้องพยายามทำให้มันซับซ้อน เน้นความคิดสร้างสรรค์และใส่ใจรายละเอียดให้มาก ไม่ทำหนังดูถูกคนดู คนดูก็จะรับรู้ถึงคุณค่าของหนังได้เอง

สักวันหนึ่ง วงการหนังไทยอาจจะไปถึงจุดที่สามารถทำให้คนที่มีอคติต่อหนังไทย รู้สึกถึงคุณค่าของการได้มาดู เราเชื่อว่าคนทำหนังกำลังพยายามตรงนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่ายหนังต่างๆ หรือคนทำหนังอิสระก็ตาม

Fact Box

W หรือ ดับเบิ้ลยู (2557) คือภาพยนตร์จุลนิพนธ์ของชลสิทธิ์ อุปนิกขิต ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของนักศึกษาสาวสองคนที่มีบุคลิกลักษณะนิสัยต่างกันสุดขั้ว กับหนุ่มลึกลับที่เธอคนหนึ่งแอบชอบ ความสัมพันธ์ของพวกเขามีอดีตเกี่ยวข้องร่วมกัน ชลสิทธิ์ถ่ายทอดความรู้สึกเคว้งคว้างของตัวละครที่ไม่รู้ว่าตนเองกำลังล่องลอยไปในทิศทางใด กับการตัดสินใจเรื่องอนาคต ความคาดหวังจากครอบครัว และความรักที่เกิดขึ้น เหมาะกับคนที่กำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง เดิมหนังมีความยาวสามชั่วโมง ต่อมาลดลงเหลือเพียงสองชั่วโมงสิบนาที เริ่มฉายที่ House RCA เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 และได้ไปฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศอีกหลายแห่ง

Tags: , , , , ,