โจนาธอน คีตส์ (Jonathon Keats) ศิลปินที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักปรัชญาเชิงทดลอง’ ได้ออกแบบกล้องรูเข็มที่จะบันทึกภาพทะเลสาบทาโฮ (Lake Tahoe) ซึ่งอยู่ระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียและเนวาดาให้บันทึกภาพเป็นเวลา 1,000 ปี โดยคีตส์หวังว่ากล้อง 4 ตัวนี้จะทำให้คนรุ่นต่อไปเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในระยะยาว และช่วยให้ผู้คนที่มีชีวิตอยู่ตอนนี้นึกถึงผลกระทบระยะยาวของตนเองต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

คีตส์ให้สัมภาษณ์ว่า “เรากำลังเปลี่ยนโลกในช่วงเวลา 1,000 ปี 10,000 ปี หรือ 100,000 ปี  แต่เราไม่ตระหนักถึงอำนาจที่เรามีต่อโลกใบนี้เลย” เขาบอกว่า กล้อง 4 ตัวนี้จะเป็นเหมือนอวัยวะเทียมด้านการรับรู้ของมนุษย์ มีกลไกที่ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวเองด้วยมุมมองจากอนาคตที่ไกลออกไป

เขาคิดและทดลองทำกล้องบันทึกภาพ 1,000 ปีมาหลายปีแล้ว เมื่อปี 2010 เขาทำงานร่วมกับนิตยสาร Good สร้างกล้องรูเข็มขึ้นมาเพื่อพยายามบันทึกภาพให้ได้ 100 ปี โดยจะตีพิมพ์ภาพในปี 2110 เมื่อปี 2014  เขาขายกล้องรูเข็มเหล่านั้นในราคาถูกให้ผู้ซื้อนำไปติดตั้งในเมืองเบอร์ลิน แล้วทิ้งไว้ 100 ปีเพื่อใช้บันทึกการเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งในท้ายที่สุดภาพเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิทยาการของภาพถ่าย เพิ่งมีขึ้นเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 จึงยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าภาพถ่ายจะสามารถอยู่ได้นานถึง 1,000 ปี และการอัพโหลดข้อมูลไว้ทางออนไลน์ ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าจะสามารถส่งต่อไปให้คนในอีก 1,000 ปีข้างหน้าได้ 100% เช่นกัน และแน่นอนว่าเขาไม่สามารถสร้างโปรเจกต์ที่จะดำเนินการได้ยืนยาวถึงเพียงนั้นด้วย ดังนั้นกล้องสำหรับทะเลสาบทาโฮนี้ จึงต้องออกแบบพิเศษเพื่อให้สามารถบันทึกภาพได้ยืนยาว และอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องอาศัยพลังงานเพิ่มเติมหรือการบำรุงรักษาโดยมนุษย์

กล้องแต่ละตัวทำด้วยทองแดง ยาว 2.75 นิ้ว ภายในเป็นแผ่นทองคำ 24K ที่เจาะรูเล็กๆ ไว้ เมื่อแสงส่องผ่านรูเล็กๆ นี้ มันจะให้ภาพกลับหัวตามหลักการของกล้องรูเข็ม แสงที่ผ่านเข้าไปจะก่อให้เกิดปฏิกิริยากับเม็ดสีกุหลาบในกล้อง ยิ่งแสงสว่างมากสีตรงจุดนั้นก็จะยิ่งจางลง และมันจะค่อยๆ ประทับภาพบนเม็ดสีเหล่านั้น

จากการค้นคว้าของคีตส์ เขาพบว่าการเก็บรักษาภาพระยะยาวในยุคเรอเนสซองต์จำนวนมากยังอยู่ในสภาพดีแม้จะผ่านมาแล้ว 500 ปีก็ตาม หากภาพวาดหรือภาพถ่ายถูกทิ้งให้โดนแสงนานเกินไปก็จะเริ่มจาง ความเร็วจะขึ้นอยู่กับปริมาณแสงที่โดนภาพเช่นเดียวกับวัสดุที่ใช้วาดภาพ คีตส์นำหลักการนี้มาใช้กับกล้องมิลเลนเนียม ความแตกต่างอยู่ตรงที่รูเข็มจะฉายภาพตามสิ่งที่กล้องถ่าย เมื่อสารสีในกล้องจางลง มันก็จะสร้างภาพนั้นซ้ำอย่างช้าๆ ในอีก 1,000 ข้างหน้า

เพื่อให้แน่ใจว่าภาพจะอยู่ทนได้ถึง 1,000 ปี คีตส์ใช้เทคนิคจากนักวาดในยุคเรอเนสซองต์ที่ใช้ทองแดง โดยขัดทองแดงกับหินภูเขาไฟ จากนั้นขัดกับกระเทียมแล้วผสมทองแดงกับสี หลังจากศึกษาเม็ดสีหลายๆ แบบ คีสต์เลือกเม็ดสีแดงที่ทำมาจากรากของพืชจำพวกกุหลาบ

และเนื่องจากเป็นการถ่ายภาพโดยเปิดความเร็วชัตเตอร์ค้างไว้เป็นเวลานาน (Long Exposure) กล้องรูเข็มของคีตส์จะจับภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์แบบยาวนานข้ามปี ความคมของภาพจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ที่มันสังเกต และกล้องจะอยู่รอดโดยไม่มีอะไรผิดพลาด

ก่อนที่จะติดกล้องมิลเลนเนียมรอบทะเลสาบทาโฮ คีตส์ลองติดกล้องสองตัวในมหาวิทยาลัยแอริโซนาและวิทยาลัยแอมเฮิร์สท์ก่อน เมื่อปี 2015 ทั้งคู่มีอายุ 1,000 ปีเช่นกัน เขาเห็นว่ากล้องมิลเลนเนียมเป็นเหมือนการสอดส่องเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในระดับสังคม ไม่ใช่ปัจเจก

“เราไม่มีจินตภาพในการตั้งคำถามต่อสำนึกทางพลเมืองของเรา หรือระบบการเมืองที่คิดถึงอนาคตที่ไกลกว่าระยะเวลา 2 หรือ 4 ปี ทะเลสาบทาโฮเป็นพื้นที่ในอุดมคติที่เพิ่มระบบซับซ้อนให้มากขึ้นเพื่อที่ว่าวิจัยอื่นๆ สามารถใช้และกระตุ้นให้เกิดคำถามมากมายกว่านี้ได้” คีตส์กล่าว

ดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาอยากมอบให้คนในยุคคือคอนเซปต์ของการรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อโลกเสียมากกว่า ส่วนภาพที่ได้คงเป็นเรื่องที่เกินจินตนาการ ผู้คนในอีก 1,000 ปีให้หลังเท่านั้นที่จะได้เห็น ล่าสุดนี้ คีตส์เพิ่งเซ็นสัญญากับมหาวิทยาลัยเซียร์รา เนวาดา แล้ว เพื่อให้จัดแสดงภาพถ่ายเหล่านี้ในปี 3018

ที่มา:

https://motherboard.vice.com/en_us/article/43ee9m/this-camera-will-take-a-1000-year-photo-to-document-climate-change

https://thetahoeweekly.com/2018/10/from-the-oregon-woods-to-tahoe/

เครดิตภาพ: https://pixabay.com/en/lake-tahoe-landscape-nature-2183724/