การแย่งชิงความสนใจจากผู้บริโภค เป็นเกมธุรกิจที่องค์กรใหญ่เล็กต่างหาช่องทางเพื่อแทรกสินค้าหรือบริการของบริษัทตัวเองเข้าไปในชีวิตประจำวันของแต่ละคน การเคลื่อนตัวของบริษัท GAFA (Google, Apple, Facebook, Amazon) จึงเป็นการขบเขี้ยวกันในเชิงธุรกิจที่น่าจับตายิ่งนัก
และศึกครั้งล่าสุดที่น่าจับตามอง หนีไม่พ้นอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ภายในบ้าน
หากย้อนกลับไปสมัยคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (personal computer – PC) ในยุคที่ธุรกิจต่างๆ กำลังงุนงงกับความหมายของซอฟต์แวร์ และโอกาสในการทำเงินจากการขายซอฟต์แวร์ยังไม่ชัดเจน ไมโครซอฟท์ผู้ซึ่งไหวตัวทัน กลับกลายเป็นเจ้าตลาดของ OS (Operating System) ในขณะนั้น
และหากใครทันเหตุการณ์ในยุคนั้นต้องบอกเลยว่า หนึ่งในบริษัทที่น่าเห็นใจเจ้าหนึ่งคือ IBM บริษัทที่มีผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดแบรนด์หนึ่ง แต่ IBM กลับต้องแข่งขันกับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เจ้าอื่น สุดท้าย กลายเป็นไมโครซอฟท์ที่มีรายได้เติบโตขึ้น การแข่งขันในเกมนี้ ทำให้ IBM ผู้ซึ่งเคยเป็นเจ้าตลาดคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่สมัยเมนเฟรม ก็ต้องออกจากตลาด PC ไปในที่สุด
การแข่งขันในธุรกิจเทคโนโลยีที่สำคัญต่อมาคงหนีไม่พ้นสมาร์ตโฟน ต้องยอมรับว่าแอปเปิลเป็นผู้นำเทรนด์นี้ และสามารถกินส่วนแบ่งตลาด (โดยเฉพาะกำไรต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องที่ผลิต) ได้สูงที่สุด ส่วนกูเกิล ตามมาด้วยส่วนแบ่งตลาดที่มากที่สุด มองในแง่จำนวนเครื่องสมาร์ตโฟนที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
ทั้งแอปเปิลและกูเกิลต่างมีวิธีทำเงินที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งสองบริษัทเห็นและหวังว่าเป็นการเรียนรู้จากบทเรียนของ IBM คือ ซอฟต์แวร์มีความสำคัญมากในเชิงธุรกิจ และยิ่งไปกว่านั้นการเชื่อมต่อโลกซอฟท์แวร์ให้เข้ากับฮาร์ดแวร์เป็นความลับของการทำธุรกิจด้านไอทีให้ประสบความสำเร็จในปัจจุบันและอนาคต
Facebook ปั้น Portal ผู้ช่วยในบ้าน สั่งงานด้วยเสียง
จากคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมาถึงสมาร์ตโฟน สมรภูมิรบต่อไปจะเป็นที่ไหน? ความเป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นอุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน ใกล้ตัวสุดน่าจะเป็นลำโพงอัจฉริยะที่สามารถคุยโต้ตอบได้ และในบางกรณีก็มีหน้าจอที่สามารถแสดงผลต่างๆ รวมไปถึงเห็นใบหน้าคู่สนทนาฝั่งตรงข้าม
การแข่งขันเริ่มชัดเจนมากขึ้นเมื่อเฟซบุ๊กเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Portal เมื่อต้นตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความสับสนในแง่ภาพลักษณ์ขององค์กร เพราะก่อนหน้านี้ที่มีกรณีบริษัท Cambridge Analytica ได้ใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไปใช้ในการทำแคมเปญเลือกตั้งประธานธิบดีของสหรัฐอเมริกา และล่าสุดก็ยังมีการหลุดรั่วของข้อมูลส่วนตัวอีกกว่า 15 ล้านราย ข่าวเชิงลบเหล่านี้ เมื่อผสมกับฟีเจอร์ของตัว Portal เองที่มีกล้องติดอยู่ด้านหน้าและสามารถติดตามตำแหน่งคนในห้องได้ ไม่ว่าจะเดินสนทนาจากที่ไหนในห้อง ทำให้หลายคนกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่อยู่บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม หากเฟซบุ๊กก้าวข้ามผ่านฝันร้ายเกี่ยวกับข้อมูลรั่วไหลไปได้ ตัวอุปกรณ์ Portal เองก็มีข้อดีและจุดเด่นที่ไม่เหมือนอุปกรณ์อัจฉริยะจากแพลตฟอร์มอื่น ข้อได้เปรียบมากที่สุดคือการเชื่อมต่อ Portal เข้ากับเน็ตเวิร์คหรือกิจกรรมต่างๆ ในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊คสามารถสร้างฟีเจอร์ที่เฉพาะเจาะจงกับ Portal เพิ่อเสริมธุรกิจของกันและกัน ซึ่งเป็นจุดที่น่าจับตามองที่สุดของ Portal
Google Home Hub ภาคต่อของลำโพงอัจฉริยะ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน กูเกิลก็เปิดตัว Google Home Hub เป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากลำโพงอัจฉริยะ Google Home แต่ส่วนที่เพิ่มมาคือหน้าจอที่สามารถแสดงผลได้
จุดที่แตกต่างกับ Portal คือ Google Home Hub ไม่มีกล้องอยู่ด้านหน้า เรียกได้ว่า ไม่ได้บันทึกภาพวิดีโอหรือความเป็นส่วนตัวใดๆ จุดนี้อาจเป็นแผนการในองค์รวมขององค์กรเพื่อที่ตอบโจทย์เกี่ยวกับข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค เพราะจะสังเกตเห็นได้ว่า หลังจากมีกรณีของ Cambridge Analytica กูเกิลได้ระมัดระวังการวางตัวของบริษัทมากขึ้น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าการถกเถียงเกี่ยวกับการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนตัวจากผู้บริโภค ดังกรณีที่กูเกิลไม่ได้ส่งตัวแทนไปรายงานตัวต่อสภาคอนเกรสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี หากกูเกิลพลิกวิกฤติเรื่องข้อมูลเป็นโอกาสได้แล้ว ลูกค้าบางคนคงสบายใจที่จะใช้อุปกรณ์จากกูเกิลมากกว่าเฟซบุ๊ก เพราะว่าไม่มีกล้องคอยสอดส่องดูอยู่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว การเก็บข้อมูลที่จำเป็นยังช่วยพัฒนา Google Assistant ผู้ช่วยอัจฉริยะให้ทำงานได้ฉลาดยิ่งขึ้นอีกด้วย
Alexa ของแอมะซอน พี่ใหญ่ผู้มาก่อน พร้อมสกิล 30,000 ท่า
มาทางด้านแอมะซอนที่เป็นเจ้าตลาดอูปกรณ์อัจฉริยะด้วยการเปิดตัว Alexa ก่อนใครเพื่อนตั้งแต่ปี 2014 ด้วยแผนการณ์ที่จะครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้เยอะที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุด ทำให้แอมะซอนพยายามแทบจะทุกวิธี เช่น ตั้งราคาลำโพงอัจฉริยะเหล่านี้ให้มีราคาถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แถมยังโน้มน้าวให้ฝั่งผู้ผลิตโปรแกรมใช้แพลตฟอร์ม Alexa เพื่อสร้าง ‘skill’ หรือความสามารถในการตอบโต้สื่อสารกับผู้ใช้ได้ในหลายๆ บทสนทนา ปัจจุบัน Alexa มีสกิลแล้วเกินกว่า 30,000 แบบ นำห่างที่สองอย่าง Google Assistant ซึ่งมีเพียงประมาณ 2,000 แอคชันเท่านั้น
หากมองแง่ผู้บริโภค การใช้งาน Alexa ย่อมหลากหลายมากกว่า และล่าสุด แอมะซอนเปิดตัวอุปกรณ์ที่มีฟีเจอร์พิเศษ ที่สามารถพูดคุยกับ Alexa ได้ ไม่ได้จำกัดแค่ลำโพงอีกต่อไป อุปกรณ์เหล่านี้มีตั้งแต่ไมโครเวฟ นาฬิกาแขวน ลำโพง ปลั๊ก ไปจนถึงอุปกรณ์ติดตั้งในรถยนต์ รวมแล้วมีเครื่องใช้ในบ้านกว่า 70 ชนิดที่สามารถใช้ถามตอบกับ Alexa ได้ เรียกได้ว่าแอมะซอนเดินหน้าเสริมจุดแข็งของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีจุดอ่อนสำหรับแอมะซอนอาจเป็นเรื่องการเชื่อมต่อกับซอฟท์แวร์แพลตฟอร์มอื่น เช่นกูเกิลหรือเฟซบุ๊กที่อาจไม่ได้ส่งผ่านข้อมูลกันอย่างรอบด้าน เพราะบริษัทเหล่านี้ต่างเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน
Homepod ของแอปเปิล มาพร้อมราคาไฮเอนด์
บริษัทสุดท้ายใน GAFA ก็คือแอปเปิล ถึงแม้แอปเปิลจะเป็นบริษัทเจ้าฮาร์ดแวร์ดั้งเดิมเมื่อเทียบกับสามบริษัทก่อนหน้านี้ แต่แอปเปิลกลับไม่ได้มีส่วนร่วมมากนักในสมรภูมิใหม่ครั้งนี้ การเปิดตัวด้วย Homepod ที่มีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับลำโพงอัจฉริยะเจ้าอื่นอย่างกูเกิลหรือแอมะซอน กลายเป็นลำโพงแบบ Hi-end ทำให้แอปเปิลกินส่วนแบ่งตลาดได้น้อยมาก
แต่หากใครรู้จักแอปเปิล คงเดาได้ไม่ยากว่า นี่เป็นแผนดั้งเดิมของแอปเปิลในการแนะนำสินค้าใหม่สู่ตลาด ด้วยความเชื่อมั่นในแบรนด์ของตัวเอง และการพัฒนาปรับผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ความเคลื่อนไหวของ Homepod เองอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี กว่าจะเห็นผล ข้อดีที่ชัดเจนที่สุดของ Homepod คือการอยู่ใน ecosystem เดียวกับผลิตภัณฑ์แอปเปิลอื่นๆ เช่น ไอโฟน ไอแพ็ด เป็นต้น ทำให้บริการหรือการใช้งานของผู้บริโภคเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัท GAFA อื่น
ทั้งหมดนี้เป็นการต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างเข้มข้นของบริษัทกลุ่ม GAFA อย่างไรก็ดี การทำธุรกิจให้สำเร็จเกิดขึ้นจากการตั้งสมมติฐานที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการเห็นเทรนด์บางอย่างก่อนคนอื่น แต่เรื่องนี้ต้องยอมรับเลยว่า ปัจจัยสำคัญมากที่สุดด้านหนึ่งคือ ความต้องการของผู้ใช้ ความสำเร็จในอดีต โดยเฉพาะในยุคของสมาร์ตโฟน เป็นเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเท่าฝ่ามือที่สามารถใช้ติดต่อสื่อสารและเล่นอินเตอร์เน็ตได้ เป็นสิ่งที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่ผู้ใช้ทั้งเอาไว้ฆ่าเวลาหรือจะทำงานอย่างจริงจังได้อย่างดี
โจทย์ต่อไปคือ ลำโพงหรืออุปกรณ์อัจฉริยะที่ประจำอยู่ตามบ้าน จะตอบโจทย์อะไรของผู้ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่การประยุกต์เครื่องมือเหล่านี้ยังเป็นเรื่องการติดต่อสื่อสาร อำนวยความสะดวก หรือความบันเทิงเท่านั้น คงต้องรอดูกันต่อไปว่าคุณค่าของอุปกรณ์เหล่านี้จะมีมากพอที่จะทำให้เกิดตลาดใหม่ที่ใหญ่เทียบเคียงหรือใหญ่กว่าตลาดสมาร์ทโฟนได้หรือไม่
Tags: Home Devices, Amazon, Alexa, Homepod, Google Home Hub