เมล็ดกาแฟอาราบิกาจากละตินอเมริกาซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟอารบิกา 7 ใน 8 ของโลก กำลังประสบปัญหาติดโรคใบไหม้ โรคจากเชื้อราที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้ศรีลังกาต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลกเป็นปลูกชาแทนมาแล้ว
การระบาดของโรคใบไหม้ในกาแฟมาจากเชื้อราที่ชื่อ Hemileia Vastatrix เคยส่งผลกระทบต่อผลผลิตกาแฟของภูมิภาคนี้ในปี 2012 และ ในปี 2014 โดยต้นกาแฟจากสวนที่ชื่อ Finca El Valle พื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิกาคุณภาพสูงของกัวเตมาลาเริ่มติดเชื้อ จนทำให้ผลผลิตลดลง 80% และปีต่อมาปริมาณผลผลิตยิ่งน้อยลง ราคากาแฟที่ตกต่ำในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็ทำให้การทำธุรกิจยากขึ้นไปอีก
ขณะที่อเมริกากลางซึ่งมีผู้ปลูกกาแฟรายย่อยกว่า 80% ของภูมิภาค ก็มีไร่กาแฟกว่า 70% ที่ได้รับผลกระทบ แรงงานในไร่กาแฟ 1.7 ล้านคนตกงาน ต้องออกจากไร่กาแฟเพื่อไปหางานที่อื่น ปัญหาไม่ใช่แค่โรคใบไหม้อย่างเดียว แต่รวมถึงราคาผลผลิตที่ตกต่ำฮวบฮาบด้วย
โจซัว โมราเลส (Josué Morales) ผู้ผลิตและส่งออกกาแฟรายหนึ่งในกัวเตมาลาที่ทำงานกับผู้ปลูกกาแฟ 1,300 รายบอกว่า “เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของยุคนี้” ส่วนเกร็ก มีนาฮาน (Greg Meenahan) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกาแฟโลก (World Coffee Research) บอกว่าปัญหาหนึ่งมาจากสายพันธุ์ที่ไม่หลากหลายของกาแฟ กาแฟมี 52 สายพันธุ์ทั่วโลก เปรียบเทียบกับแตงโมที่มี 600 สายพันธุ์
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกับการระบาดในอดีตที่ศรีลังกา สจ๊วร์ต แมคคุก (Stuart McCook) ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์โรคใบไหม้ในกาแฟ Coffee is Not Forever: A Global History of the Coffee Rust อธิบายว่า เมื่อปี 1869 ศรีลังกาเคยเป็นประเทศที่ผลิตกาแฟมากที่สุดในโลก ส่งออกกาแฟ 100 ล้านปอนด์ต่อปี มีแรงงานราคาถูกเข้ามาทำงาน การคมนาคมขนส่งสะดวกขึ้น ราคาในตลาดสูง จนกระทั่งทางใต้ของเกาะ ใบของต้นกาแฟเริ่มมีจุดสีเหลือง จากนั้นก็ดวงโตมากขึ้น ใต้ใบมีสปอร์สีเหลืองส้มกำลังก่อตัว เชื้อราไม่ได้ฆ่าต้นไม้ทันที แต่มันค่อยๆ ทำให้พืชอ่อนกำลังลง ใบไม้ค่อยๆ ร่วง เมล็ดกาแฟก็ไม่ได้รับสารอาหาร
เกษตรกรปลูกกาแฟที่อื่นบนเกาะก็ได้รับเชื้อรานี้ด้วย เพราะอากาศเปียกชื้นเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยในตอนแรกยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จนกระทั่งในปี 1879 ผลผลิตเริ่มลดลงเรื่อยๆ ราคากาแฟในตลาดโลกก็ตกต่ำลง ในปีนั้นสวนพฤกษศาสตร์แห่งลอนดอน (London’s Royal Botanic Gardens) ส่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดและรามาตรวจสอบจนพิสูจน์ได้ว่าเป็นปรสิตเชื้อราที่ชื่อ H. vastatrix ทำให้เกิดโรคใบไหม้ ซึ่งวิธีเดียวที่จะหยุดการระบาดได้คือ การทำลายต้นกาแฟทั้งหมด อุตสาหกรรมกาแฟในศรีลังกาจึงดำเนินอยู่ได้แค่ 50 ปีเท่านั้น
เมื่อโรคใบไหม้ในกาแฟระบาดในศรีลังกา ภูมิภาคอื่นก็ต้องเผชิญกับการระบาดนี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปี 1920 โรคนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตกาแฟในเอเชีย แอฟริกากลางและตะวันออก และในปี 1950 โรคนี้ก็ระบาดไปถึงละตินอเมริกา เนื่องจากโรคพืชสามารถแพร่กระจายข้ามมหาสมุทรได้ทางลมทะเลด้วย
ในปี 1970 เกิดโรคใบไหม้ในบราซิล ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกเพราะกาแฟเป็นรายได้หลักของประเทศ ไม่กี่ปีต่อมา โรคใบไหม้กระจายไปยังทุกประเทศผู้ผลิตกาแฟในทวีปอเมริกา
ภายในระยะเวลาไม่กี่ทศวรรษ มีการจัดการกับโรคเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายด้วยวิธีการใหม่ๆ รวมทั้งการปลูกกาแฟบนที่ดินเดิมด้วยสายพันธุ์ใหม่ เพื่อทำให้พันธุกรรมต้านทานต่อโรค หากแต่เป็นสายพันธุ์ที่ให้รสชาติไม่ดีเท่าอารบิกาแบบดั้งเดิม ด้วยความต้องการกาแฟที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกาแฟคุณภาพดี ละตินอเมริกาไม่สามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นได้ แบบที่ศรีลังกาซึ่งประสบความสำเร็จจนกลายเป็นผู้ปลูกชารายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก
10 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคทำลายละตินอเมริกา ตั้งแต่ปี 2012 บางไร่มีผลผลิตลดลง 50-80% แม้ว่าหลายประเทศจะฟื้นฟูขึ้นมาได้จากการปลูกกาแฟสายพันธุ์อื่นที่ต้านทานโรคได้ และด้วยความต้องการกาแฟที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกาแฟคุณภาพดี ละตินอเมริกาไม่สามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นได้ แบบที่ศรีลังกาซึ่งประสบความสำเร็จจนกลายเป็นผู้ปลูกชารายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก
จนถึงปัจจุบันโรคใบไหม้ในกาแฟรักษาไม่ได้ อาจจะทำให้มันน้อยลงได้ แต่กำจัดมันไปสิ้นเชิงไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคได้ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว “เชื้อรากำล้งวิวัฒนาการและดูเหมือนจะเอาชนะยีนต้านทานได้ในที่สุด ในเวลา 5 ปี 10 ปี หรือ 1 ปี คำถามคือตอนไหนเท่านั้นเอง” เบอโนต์ เบอร์ทรันด์ (Benoît Bertrand) นักพันธุกรรมกาแฟของ CIRAD องค์กรวิจัยเกษตรของฝรั่งเศสกล่าว
องค์กรวิจัยกาแฟโลก (World Coffee Research) หรือ WCR บอกว่าการต่อสู้กับโรคใบไหม้ในกาแฟด้วยพันธุกรรมต้านทานโรคไม่พอที่จะปกป้องผู้ปลูกกาแฟจากความเสียหาย แต่ต้องแก้ปัญหา 3 เรื่อง เรื่องแรกเกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของพืชซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการป้องกันโรคใบไหม้ เรื่องที่สอง การเดินทางต้องมีการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยพืชที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราระหว่างภูมิภาค สาม อุตสาหกรรมกาแฟต้องจัดลำดับความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา การคิดค้นยีนที่ต้านทานโรคใบไหม้ต้องเป็นไปเพื่อการผลิตกาแฟอย่างยั่งยืน
ที่มา:
http://gcrmag.com/news/article/wcr-urges-instant-action-to-fight-coffee-leaf-rust
https://www.timeout.com/sydney/news/the-world-is-running-out-of-coffee-101218
เครดิตภาพ: EZEQUIEL BECERRA / AFP
Tags: กาแฟ, ศรีลังกา, พืช