It’s complicated – the social lives of networked teens หรือ เข้าใจโลกยุคใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต เป็นหนังสือที่กล่าวถึงปรากฏการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทำให้วัยรุ่นติดงอมแงม สิ่งที่ตามมาคือสายตาที่ห่วงใยของผู้ใหญ่ที่คอยเข้ามาสังเกตการณ์หรืออาจถึงขั้นแทรกแซงการใช้อินเทอร์เน็ต บางครั้งรุนแรงจนทำให้วัยรุ่นสูญเสียโอกาสที่จะเชื่อมต่อเข้ากับโลกสาธารณะ ที่ซึ่งเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประกอบสร้างตัวตนได้ และบางคนถูกปิดโอกาสในการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย

หนังสือแบ่งออกเป็นแปดบท ได้แก่ ตัวตน ความเป็นส่วนตัว การเสพติด อันตราย การรังแก ความเหลื่อมล้ำ ทักษะและความรู้ และการเสาะหาพื้นที่สาธารณะของตนเอง ในแต่ละบท ดานาห์ บอยด์ (danah boyd)-ผู้เขียน พยายามทำความเข้าใจกับอินเทอร์เน็ตว่าเปรียบเสมือน “กระจกสะท้อนสังคม” มากกว่าจะตัดสินว่ามัน ‘ทำให้เกิด’ ปรากฏการณ์ใดๆ ในโลกของวัยรุ่นขึ้นเดี่ยวๆ และผู้ใหญ่มีหน้าที่มองให้เห็นปัญหาหรือค่านิยมในสังคมของชีวิตวัยรุ่นซึ่งอินเทอร์เน็ตได้สะท้อนออกมา เพื่อหาทางช่วยแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ

โซเชียลมีเดีย เครื่องมือ ‘ยืดระยะเวลา’ ในการเข้าสังคม

บอยด์เปิดบทนำด้วยข้อสังเกตการใช้โทรศัพท์มือถือบนอัฒจันทร์ของโรงเรียนมัธยมปลายเมืองแนชวิลล์ เธอสังเกตว่า ผู้ใหญ่และเด็กใช้โทรศัพท์มือถือไม่เหมือนกัน เด็กจะแชร์สิ่งต่างๆในมือถือให้เพื่อนข้างๆ ดู ส่วนผู้ใหญ่จะจดจ่ออยู่กับมือถือของตัวเองอยู่คนเดียว สิ่งนี้สะท้อนว่าวัยรุ่นเห็นโทรศัพท์มือถือหรือโซเชียลมีเดียเป็นจุดเชื่อมต่อกับเพื่อนของตนเอง มากกว่าเป็นแค่อุปกรณ์โทรเข้า-ออก พวกเขาเห็นมันเป็น “กล้องถ่ายรูปผนวกอุปกรณ์ติดต่อประสานงานชั้นเลิศ” วัยรุ่นส่วนมากอัปโหลดรูปถ่ายบนเฟซบุ๊ก แท็กเพื่อนๆ และคอมเมนต์ภาพของกันและกันหลังกลับจากกิจกรรม จะเห็นได้ว่าเฟซบุ๊กช่วย “ยืดระยะเวลา” ในการเข้าสังคมระหว่างวัยรุ่นกับเพื่อนๆ แม้กิจกรรมจะจบไปแล้ว

“การยอมรับทางสังคมขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะพบปะสังสรรค์กับคนรุ่นราวคราวเดียวกันในสถานที่ “เก๋ๆ”” และโซเชียลมีเดียได้กลายมาเป็นพื้นที่ “เก๋ๆ” นั้น บอยด์เรียกมันว่าเป็น “เครือข่ายพื้นที่สาธารณะ (networked public)”  ซึ่งวัยรุ่นเป็นส่วนหนึ่งในนั้น และร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา พวกเขาได้พบปะเพื่อนในวงกว้างแบบไม่เป็นทางการ และเรียนรู้โลกภายนอก

โซเชียลมีเดียเป็นจุดเชื่อมต่อกับเพื่อนของตนเอง มากกว่าเป็นแค่อุปกรณ์โทรเข้า-ออก พวกเขาเห็นมันเป็น “กล้องถ่ายรูปผนวกอุปกรณ์ติดต่อประสานงานชั้นเลิศ”

เครือข่ายพื้นที่สาธารณะสำคัญกับวัยรุ่นอย่างไร? มันเป็นตัวตอบสนองความปรารถนาที่จะครอบครองสายสัมพันธ์ทางสังคมและมีอำนาจในการปกครองตนเองของวัยรุ่น แต่ก่อนพื้นที่สาธารณะอาจอยู่ในรูปห้างสรรพสินค้าหรือสวนสาธารณะ ซึ่งสมาชิกเข้าไปอยู่ในฐานะ ‘ผู้ชม’ ด้วย

นักปรัชญาอย่างเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) กล่าวไว้ว่า บทบาทหน้าที่ของพื้นที่สาธารณะก็คือ ทำให้มีพื้นที่และชุมชนซึ่งผู้คนจะมาชุมนุม สานสัมพันธ์ และช่วยกันสร้างสังคมตามแบบที่เราเข้าใจ เมื่อมันถูกจำลองเข้ามาอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันก็เปิดโอกาสให้ผู้คนเห็นตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนที่กว้างใหญ่กว่า แต่โครงสร้างที่ซับซ้อนมากกว่าเดิมของมันทำให้มีคุณสมบัติการใช้งานเพิ่มขึ้นมา 4 ประการ นั่นคือ 1. เนื้อหาและการกระทำบนโลกออนไลน์คงอยู่เป็นเวลานาน 2. มีผู้ชมจำนวนมากมองเห็นเนื้อหาเหล่านั้น ซึ่งบ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าผู้ชมเหล่านั้นเป็นใคร 3. มีความสะดวกในการแพร่กระจายเนื้อหา และสุดท้าย 4. การสืบค้นได้ สามารถตามดูเนื้อหาที่เคยโพสต์ลงไปแล้ว แต่บางครั้งทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะผู้ค้นหาขาดบริบท

คุณสมบัติทั้ง 4 ข้อนี้เป็นสิ่งที่บอยด์กล่าวย้ำถึงบ่อยๆ ตลอดทั้งเล่ม เพราะเป็นคุณสมบัติที่ทำให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่สาธารณะที่ ‘พิเศษ’ กว่าพื้นที่อื่นๆ ในขณะที่เด็กเข้าพื้นที่โซเชียลมีเดียเพื่อประกอบสร้างตัวตนของตนเอง ผู้ใหญ่และสื่อก็จับตามองด้วยความวิตกกังวล

เพื่อนเป็นส่วนสำคัญในการทำให้วัยรุ่นสร้างสายสัมพันธ์ที่มีความหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่วัยรุ่นอเมริกันมีเวลาพบปะเพื่อนแบบไม่เป็นทางการน้อยมากและยังถูกบังคับด้วยกฎระเบียบ ไม่ได้ไปไหนมาไหนในพื้นที่สาธารณะตามอำเภอใจ พวกเขาจึงหันหน้าเข้าหาโซเชียลมีเดีย

ตัวตนที่หลากหลาย และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ที่วัยรุ่นไม่ปกปิด

ในบท ‘ตัวตน – ทำไมวัยรุ่นดูแปลกพิกลบนโลกออนไลน์’ บอยด์ได้ให้เคสที่น่าสนใจ คือ มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งได้พิจารณาใบสมัครของหนุ่มผิวดำซึ่งเขียนเรียงความไว้อย่างน่าประทับใจว่าอยากหลีกหนีจากแก๊งในชุมชนและเข้าสู่สังคมใหม่ของมหาวิทยาลัยชั้นสูง แต่เมื่อพวกเขาเข้าไปดูโปรไฟล์ ‘มายสเปซ’ ของเด็กคนนั้น พวกเขาถึงกับช็อกเมื่อเห็นข้อความที่สื่อถึงแก๊งและภาษาหยาบคาย

บอยด์ให้ความเห็นว่า วัยรุ่นคนนี้อาจต้องการแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ให้เป็นที่ยอมรับในสังคมของตนเอง และหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดหากเขาทำตัว “ไม่เข้ากัน” กับสังคมนั้น

กรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างของการ “ขาดบริบท” ในโลกออนไลน์ ซึ่งผู้โพสต์ข้อมูลจินตนาการไว้อยู่แล้วว่าผู้ชมของพวกเขาเป็นใคร แต่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีผู้ชมกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาอ่านเนื้อหาของพวกเขาด้วย ผู้ใหญ่มักตีความการแสดงออกของวัยรุ่นในโลกออนไลน์แบบผิดๆ เพราะขาดความเข้าใจบริบทที่วัยรุ่นคนนั้นอาศัยอยู่

วัยรุ่นมักนึกภาพว่าผู้ชมที่พวกเขาเลือกเป็น ‘เพื่อน’ โดยไม่ได้คำนึงว่าใครบ้างที่มองเห็นโปรไฟล์นั้น และแม้ในเฟซบุ๊กจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้ แต่ก็เป็นเรื่องซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นปัญหาจากการที่ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียมีลักษณะยืนยงและสืบค้นได้ ต่างจากพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งวัยรุ่นสามารถเปลี่ยนเรื่องคุยได้ทันทีหากมีใครมายืนอยู่ใกล้ๆ

ผู้โพสต์ข้อมูลจินตนาการไว้อยู่แล้วว่าผู้ชมของพวกเขาเป็นใคร แต่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีผู้ชมกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาอ่านเนื้อหานั้นด้วย

หรือบางครั้ง แม้จะรู้ตัวว่าถูกสอดส่องอยู่ แต่วัยรุ่นหลายคนคาดหวังว่าเพื่อนและครอบครัวจะเข้าใจและเคารพบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน และแยกแยะได้ว่าเนื้อหาส่วนใดตั้งใจเขียนให้ใครอ่าน แต่นั่นก็ไม่เป็นผลเสมอไป

เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียอี่นๆ เฟซบุ๊กเป็นบริการที่น่าสนใจ เพราะมันทำให้การพบปะในสภาพแวดล้อมจริงและสภาพแวดล้อมจำลองมาบรรจบกัน วัยรุ่นเรียนรู้ที่จะเคลื่อนไหวผ่านสื่อกลางเหล่านี้อย่างไม่ติดขัด ทำให้เยาวชนข้ามไปมาระหว่างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างกันได้อย่างง่ายดาย ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าพวกเขาปรากฏอยู่ในสถานที่หลายๆ แห่งพร้อมๆ กัน แต่บางครั้ง ภาพลักษณ์ของวัยรุ่นที่เสนอผ่านโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้เกิดจากการที่พวกเขากำหนดเอง ดังกรณีถูกเพื่อนแท็กภาพตนเองถือแก้วเบียร์ แล้วทำให้ผู้ใหญ่ที่ได้เห็นรู้สึกไม่ดีกับพฤติกรรมนั้น

ที่น่าแปลกก็คือ วัยรุ่นมักถูกมองว่าหมกมุ่นกับความเป็นส่วนตัว แต่เมื่อมีกรอบตั้งค่าเริ่มต้นเป็นสาธารณะในโซเชียลมีเดีย คนส่วนใหญ่กลับละเลยข้อจำกัดว่าผู้ชมคนใดบ้างที่จะมองเห็นสิ่งที่เขาถือว่าเป็นบทสนทนาดาดๆ บนเฟซบุ๊ก เพราะพวกเขาคิดว่าผู้ชมส่วนใหญ่กลั่นกรองเนื้อหาได้อยู่แล้วว่าควรจะอ่านอะไร

เยาวชนข้ามไปมาระหว่างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างกันได้อย่างง่ายดาย ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าพวกเขาปรากฏอยู่ในสถานที่หลายๆ แห่งพร้อมๆ กัน

แต่วัยรุ่นบางคนก็ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “หน้าวอลล์สีขาว (whitewalling)” เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวของตัวเอง วิธีการคืออ่านคอมเมนต์ของเพื่อนบนโพสต์ของพวกเขาแล้วลบทิ้ง และลบคอมเมนต์ของตัวเองในโพสต์ของเพื่อนทุกๆ วัน

ในขณะที่วัยรุ่นบางคนเห็นว่าความเป็นส่วนตัวคือสิทธิอย่างหนึ่ง บางคนก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ผู้ใหญ่ก็ละเมิดความเป็นส่วนตัวของพวกเขาด้วยค่านิยม “การเลี้ยงดูแบบเข้มข้น” ซึ่งกดดันให้พ่อแม่ทำหน้าที่ “พ่อแม่ที่ดี” ด้วยการเฝ้าระวังลูกๆ ของพวกเขาทุกฝีก้าว และจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐหากพวกเขาเป็นพ่อแม่ที่ดีไม่ได้ โดยไม่ได้ตระหนักว่าการสอดส่องเป็นการ “กดขี่” ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้วัยรุ่นไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ

เสพติดเทคโนโลยีหรือเพียงโหยหาสังคม

ในขณะที่ผู้ใหญ่บ่นว่าวัยรุ่นเสพติดอินเทอร์เน็ต พวกเขากลับไม่ว่าอะไรเมื่อวัยรุ่นติดการอ่านหนังสือเป็นเวลานานๆ ปัจจุบันมีสถานบำบัดการเสพติดอินเทอร์เน็ตในจีนและเกาหลีใต้ โดยเทียบว่าอาการดังกล่าวเท่ากับการติดสุรา ติดยา หรือการพนัน

แต่เราจะเรียกการเล่นอินเทอร์เน็ตนานๆ ว่าการเสพติดได้หรือไม่? บอยด์ให้ความเห็นว่าวัยรุ่นไม่ได้เสพติดสมาร์ตโฟนเพราะคุณสมบัติของมัน แต่พวกเขาชอบที่จะติดต่อกับกลุ่มเพื่อน ดังนั้นหากจะเรียกว่ามันเป็นการเสพติด พวกเขาก็เสพติดกันและกันมากกว่า

ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับนิยามของคำว่าเสพติด เพราะพ่อแม่จะโทษว่าวัยรุ่นเสพติดอินเทอร์เน็ตเมื่อพวกเขาใช้มันในวัตถุประสงค์ทางสังคมหรือเพื่อความบันเทิงแทนการทำการบ้าน โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ได้มองเห็นความเป็นจริงว่า การที่วัยรุ่นจำนวนมากอยู่กับอินเทอร์เน็ตนานๆ นั้นเป็นเพียงเพราะต้องการเข้าสังคม แต่แทบไม่มีเสรีภาพในการสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างที่ผู้ใหญ่มี เพราะเมื่อวัยรุ่นขอพ่อแม่ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนนอกบ้าน สิ่งที่ได้รับมาคือการปฏิเสธ

ผู้ใหญ่ไม่ได้มองเห็นความเป็นจริงว่า การที่วัยรุ่นจำนวนมากอยู่กับอินเทอร์เน็ตนานๆ นั้นเป็นเพียงเพราะต้องการเข้าสังคม

และเมื่อถามเหล่าพ่อแม่เกี่ยวกับอันตรายของอินเทอร์เน็ต คำตอบยอดนิยมคือเรื่อง “อาชญากรรมทางเพศ” ในขณะที่ผลสำรวจบอกว่าการล่วงละเมิดทางเพศมักเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่ใกล้ชิดกับวัยรุ่น (เช่น บ้าน โรงเรียน สถาบันทางศาสนา) โดยคนในครอบครัวหรือคนที่ครอบครัวรู้จักคุ้นเคยนั่นเอง แต่อินเทอร์เน็ตกลับถูกประณามว่าเป็นที่ชุมนุมของเหล่าอาชญากรทางเพศ

การตอกย้ำค่านิยมว่า “มีผู้ชายเลวๆ อยู่หลังคีย์บอร์ด” อันที่จริงก็มีพื้นฐานมาจากความไม่เชื่อใจพื้นที่สาธารณะที่วัยรุ่นไปชุมนุมกันด้วย และเมื่อยิ่งเป็นอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีขอบเขตแน่นอน พวกเขาก็ยิ่งหวาดระแวงขึ้นไปอีก

ในขณะที่กลุ่มเด็กที่มีปัญหาการสานสัมพันธ์ที่เสี่ยงบนโลกออนไลน์จริงๆ คือเด็กที่มีปัญหาภาวะจิตสังคม ในกรณีนี้ โซเชียลมีเดียสร้างสถานที่แห่งใหม่ซึ่งทำให้พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่มีอยู่นั้นมองเห็นได้ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้ใหญ่คือเปิดใจสอดส่อง มองให้เห็นร่องรอยของความเสี่ยงที่แสดงออกมาทางโซเชียลมีเดีย และเลือกที่จะแทรกแซงอย่างถูกวิธี แทนที่จะโยนความผิดให้เทคโนโลยีซึ่งทำหน้าที่เพียงเผยความซับซ้อนนั้นออกมา ซึ่งนี่ยังรวมไปถึงการรังแกกัน (bully) ในโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดียเพียงทำให้เห็นร่องรอยของความโหดร้ายที่วัยรุ่นกระทำต่อกันในโลกความจริง

“อินเทอร์เน็ตคือภาพสะท้อนสังคมของเรา และกระจกเงาบานนี้จะสะท้อนสิ่งที่เราเห็น ถ้าเราไม่ชอบสิ่งที่เห็นในกระจก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การซ่อมแซมกระจก แต่เราต้องซ่อมแซมสังคมต่างหาก” – วินด์ เซิร์ฟ (Vint Cerf) ผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตในอเมริกา ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในบิดาแห่งอินเทอร์เน็ตกล่าวไว้

มองเด็กไทยรุ่นใหม่ในยุควุ่นเน็ต

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คำถามแรกในหัวก็คือ เมืองไทยมีพื้นที่สาธารณะหรือไม่ และวัยรุ่นไทยใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะมากน้อยแค่ไหน

มุมมองที่ทำให้ผู้เขียนประหลาดใจก็คือ วัยรุ่นอเมริกันในหนังฮอลลีวูดดูเหมือนจะพบปะกันในพื้นที่สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง ตรงข้ามกับที่ดานาฮ์ บอยด์ ให้ภาพไว้ว่ามีกฎหมายเคอร์ฟิวและกฎหมายอื่นๆ ที่กันวัยรุ่นออกไปจากพื้นที่สาธารณะ หากเป็นเช่นนั้นจริง วัยรุ่นไทยน่าอาจมีโอกาสในการพบปะพูดคุยในพื้นที่สาธารณะที่เป็นทางกายภาพมากกว่า เพราะถ้เราาคิดถึงพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ก็อาจนึกถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ซึ่งส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กิจกรรมที่เยาวชนเป็นศูนย์กลางมากเท่าใดนัก อีกแห่งหนึ่งคือ TK Park ที่จัดเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนโดยเฉพาะ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่เป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม จุดที่เหมือนกันก็คือเรื่องตารางเวลา-วัยรุ่นไทยดูเหมือนจะใช้เวลาจำนวนมากอยู่กับการเรียนในระบบโรงเรียนและการเรียนกวดวิชาเท่านั้น ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 8.00-19.00 น. หรือมากกว่านั้น เวลาที่วัยรุ่นจะได้พบปะเพื่อนแบบไม่เป็นทางการหรือได้พักผ่อนมีค่อนข้างน้อย นี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้วัยรุ่นไทยใช้งานโซเชียลมีเดียมากไม่ต่างกันเพื่อติดต่อกับกลุ่มเพื่อน ทั้งที่สนิทและไม่สนิท และเพื่อผ่อนคลาย

สิ่งที่ควรคำนึงถึงต่อไปคือ พื้นที่สาธารณะทั้งทางกายภาพและออนไลน์ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อเป็นพื้นที่ให้วัยรุ่นไทย (และอาจรวมถึงผู้ใหญ่) ได้ประกอบสร้างตัวตน ทำความเข้าใจตนเอง เชื่อมต่อกับวัฒนธรรม และร่วมขับเคลื่อนสังคมได้อย่างมีความหมายมากกว่าพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ทุกวันนี้ เป็นประเด็นที่คงต้องครุ่นคิดกันต่อไป

Tags: , , ,