หากพูดถึงแฟชั่นผู้หญิงแห่งโลกตะวันตก จะมีดีไซเนอร์สักกี่คนที่จะทำได้อย่างวิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) นักออกแบบชาวอังกฤษ ผู้ที่นำเสนอความพังก์ให้กับวงการแฟชั่นมาตั้งแต่ก่อนกาล ซึ่งก่อนที่พังก์จะกลายเป็นคำคุ้นหูเราอย่างทุกวันนี้ เสื้อผ้าของเวสต์วูดเคยถูกหัวเราะลั่นกลางรายการโทรทัศน์มาแล้วด้วยซ้ำ แต่อย่างที่เราเห็น มาถึงตอนนี้เธอกลายเป็นไอคอนที่โลกต้องจดจำ และส่วนหนึ่งของเธอก็ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในสารคดีเรื่อง Westwood: Punk, Icon, Activist
Westwood: Punk, Icon, Activist นำเสนอชีวิตของวิเวียน เวสต์วูด โดยตัดสลับไปมาระหว่างบทสัมภาษณ์ของเวสต์วูดเอง (ที่เธอเองมองว่าน่าเบื่อ) กับฟุตเตจแฟชั่นโชว์และเหตุการณ์อื่นๆ ที่สำคัญกับชีวิตเธอ บางครั้งก็แทรกด้วยบทสัมภาษณ์ของแอนเดรียส คอนทราเลอร์ (Andreas Kronthaler) สามีคนปัจจุบัน และโจ คอร์เร (Joe Corré) ลูกชายของเธอ แม้จะเป็นสารคดีที่เวสต์วูดออกมาประกาศในภายหลังว่ามีคุณภาพแย่ เพราะฟุตเตจทั้งหมดสามารถหาชมได้ฟรีๆ แต่สารคดีเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นตัวตนของเธอออกมาทั้งสามด้าน คือ พังก์ ไอค่อน และนักรณรงค์ อย่างที่ชื่อของมันว่าเอาไว้ได้มากทีเดียว
PUNK-ICON-ACTIVIST
รีวิวจาก theguardian.com กล่าวว่า “พังก์อาจจะหายไปจากกระแสดนตรี แต่ยังมีชีวิตอยู่ในเสื้อผ้าของเวสต์วูด”
แน่นอนว่าพังก์เป็นมากกว่าแฟชั่น และนับเป็นวัฒนธรรมรองที่มาแรงในโลกตะวันตก เป็นการประกาศตัวตนผ่านเสื้อผ้า ดนตรี และศิลปะแขนงอื่นๆ เพื่อท้าทายอำนาจของโครงสร้างส่วนบนเช่นรัฐบาล หรือกระแสที่เชี่ยวกรากของทุนนิยม ตั้งแต่ยุคแรกๆ เสื้อผ้าของเวสต์วูดก็ได้ถอดรหัสชุดความคิดขบถๆ ออกมาเป็นองค์ประกอบทางแฟชั่น เช่น ซิป หนัง โซ่ และเข็มกลัดซ่อนปลาย บางชุดมีรอยฉีกขาดที่จงใจประดิษฐ์ขึ้น ในขณะที่บางชุดสะท้อนรสนิยมทางเพศแบบ BDSM (บอนเดจ ซาดิสม์ มาโซคิสม์) รวมถึงการประนามความรุนแรงที่เป็นบาดแผลใหญ่ตั้งแต่ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างเสื้อยืดสกรีนคำว่า destroy และมีเครื่องหมายสวัสติกะปรากฏอยู่บนนั้น ฯลฯ
และอย่างที่หลายคนน่าจะทราบกันดี ด้วยวิธีการเหล่านี้ วิเวียน เวสต์วูด ร่วมกับมาลคอล์ม แม็คลาเร็น (Malcolm McLaren) จึงเป็นคู่รักแห่งยุคที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนวงการพังก์ในอังกฤษ ช่วงกลางของ 1970s พร้อมกับพาเอาวัฒนธรรมขบถๆ นี้เข้าสู่แฟชั่นกระแสหลักได้อย่างงดงาม
เวสต์วูดออกจากโรงเรียนในช่วงต้น 1960s เพื่อมาเป็นครูและเปิดร้านขายเครื่องประดับ ก่อนหน้านั้นเธอใช้นามสกุล Swire จนมาแต่งงานกับเดเรค เวสต์วูด (Derek Westwood) และเลิกรากันหลังจากที่เธอคลอดลูกคนแรก ก่อนจะพบมาลคอล์ม แม็คลาเร็น ผู้จัดการวงพังก์ร็อก เดอะเซ็กซ์ พิสตอลส์ (The Sex Pistol) ผู้จุดประกายให้เธอทำเสื้อผ้าแนวพังก์ เธอแต่งงานใหม่กับแม็คลาเร็น และช่วงต้นยุค 70s ทั้งสองก็ได้ก่อตั้งร้านเสื้อผ้าร่วมกันชื่อว่า SEX ในลอนดอน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแฟชั่นแบบพังก์ในยุคนั้น
เวสต์วูดเป็นคนที่มีเซนส์ด้านสไตล์ เธอไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง และพยายามแหกกรอบอยู่เสมอ แฟชั่นโชว์ของเธอนั้นมีโทนที่สนุกสนานและบ้าคลั่งมากกว่าจะเคร่งขรึมอย่างที่ไฮแฟชั่นมักจะเป็น เธอยังยึดมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเอง ‘ชอบ’ เท่านั้น แม้ว่านั่นจะทำให้เธอเป็นคนที่ทำงานด้วยยาก แต่ก็ทำให้เธอเป็นดีไซเนอร์คนหนึ่งในยุคปัจจุบันที่ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ของตัวเอง และแบรนด์ Vivienne Westwood ก็ไม่ได้มีคาแรกเตอร์ที่หลุดออกไปจากจุดยืนในยุคแรกเริ่มมากนัก
ในปี 1984 เธอแยกทางกับแม็คลาเร็น (และเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงแม็คลาเร็นมากนักในสารคดี) โดยที่อดีตสามีหันไปให้ความสนใจกับดนตรี ส่วนเธอผันตัวเองจากดีไซเนอร์สตรีทแฟชั่นมาเป็นไฮแฟชั่น ซึ่งทำให้เธอประสบความสำเร็จอย่างสูงในระดับนานาชาติ คอลเล็คชั่นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในยุคนี้คือ ไพเรท (Pirate-1981) ความสำเร็จของเธอยังไม่จบแค่นั้น เพราะเธอมีจุดยืนที่แน่ชัดในแฟชั่นของตนเอง แม้จะถูกทำให้ดูเป็นตัวตลกในช่วงแรกๆ แต่เธอกลับได้รับรางวัลดีไซเนอร์แห่งปีของอังกฤษถึง 2 ครั้ง โดยก่อนหน้านั้นยังไม่เคยมีใครได้รับรางวัลสองปีติดต่อกันมาก่อน
หนังยังเล่าถึงชีวิตคู่ระหว่างเธอกับแอนเดรียส คอนทราเลอร์ อดีตนักเรียนที่ผันตัวมาเป็นคู่รักและหุ้นส่วนธุรกิจของเธอ คอนทราเลอร์บอกว่าเขา “โชคดี” ที่ได้พบเธอ และบ่อยครั้งเขาก็ได้รับโอกาสในการบริหารคอลเล็คชั่นทั้งหมดแทนเวสต์วูด ดูเหมือนทั้งคู่จะเข้ากันได้ดีทั้งเรื่องงานและความรัก และเวสต์วูดก็ให้ความไว้วางใจในตัวคอนทราเลอร์อย่างมาก บทสัมภาษณ์ลูกชายกับอดีตสามีเก่าคนหนึ่งของเวสต์วูดเปิดเผยว่า ในตอนแรกเขาไม่เชื่อใจคนรักใหม่ของแม่ตัวเองนัก แต่เมื่อได้เห็นความสามารถก็ต้องยอมรับในตัวคอนทราเลอร์อย่างเลี่ยงไม่ได้
วิวัฒนาการของแฟชั่นแบบพังก์ของเวสต์วูดตั้งแต่ยุค 70 เป็นต้นมายังคงความเป็นวัฒนธรรมรองอย่างชัดเจน สไตล์ที่โดดเด่นก็อย่างเช่นแฟชั่นแบบโลกที่สาม แฟชั่นฮิปฮอปแบบแอฟริกัน แฟชั่นแบบชนพื้นเมืองอเมริกัน ไปจนถึงความแปลกแบบเอ็กโซติก (exotic) เช่นการใช้ป้ายนีออนแบบโตเกียว ในขณะที่ยังแสดงการต่อต้านขัดขืนโครงสร้างส่วนบนอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้โลโก้ของบริษัทยักษ์ใหญ่บนเสื้อผ้า หรือการเลียนแบบเสื้อผ้าในราชสำนักแต่ใช้ขนเฟอร์ปลอม ช่วงปี 1990-1991 จะแปลกแตกต่างออกไปเล็กน้อย เพราะเวสต์วูดได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดยุคเก่า แต่สิ่งที่คงอยู่เรื่อยมาคือการใช้ผ้าหลากหลายตั้งแต่ขนแกะ เฟอร์ปลอม (เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสัตว์) ซาติน คอตตอน และเดนิม
ธีมที่เห็นปรากฏชัดเป็นระยะๆ คือการมิกซ์ระหว่างความเป็นหญิงและเป็นชาย เช่น ให้ผู้หญิงใส่รองเท้าขี่ม้าคู่ใหญ่ๆ แต่ชิ้นส่วนอื่นๆของเสื้อผ้ายังคงความเป็นหญิง สำหรับคอลเล็กชันตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาจนถึงในปัจจุบัน คือ เอ็กซ์พลอเรชัน (Exploration) นั้น เวสต์วูดใช้การออกแบบให้มีความเป็นอเซ็กชวล (asexual) นั่นคือตัวตนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพศ และค้นหาการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติของผ้าโดยทำเหมือนมันเป็นสิ่งมีชีวิต บล็อกอย่างเป็นทางการของแบรนด์เวสต์วูด เปิดเผยว่า เอ็กซ์พลอเรชันในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนปี 2018 จะมีการทำงานกับนายแบบ/นางแบบกับกลุ่ม LGBT เช่นเกย์และทรานส์เจนเดอร์ด้วย
“พวกเขาดูเจ๋งมาก! ดังนั้น พวกเราเลยตัดสินใจที่จะถ่ายภาพพวกเขาสำหรับแคมเปญนี้ เราอยากจะถ่ายในพื้นที่จัดนิทรรศการชั้นบนของร้าน – มันดูเป็นธรรมชาติดี และแน่นอนว่าเราจะไปตามถ่ายพวกเขาในเมือง ที่เป็นสภาพแวดล้อมธรรมชาติของพวกเขา ในนิวยอร์ก” – แอนเดรียส คอนทราลเลอร์ ให้สัมภาษณ์
นอกจากบทบาทในฐานะดีไซเนอร์แล้ว เวสต์วูดยังเป็นนักรณรงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนให้กับกรีนพีซ เธอเดินทางไปที่ขั้วโลกเหนือ และนำขบวนรณรงค์หลายครั้ง อย่างไรก็ตามอาชีพหลักของเธอก็ดูจะมีความขัดแย้งในแง่ที่ เธอเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า และเสื้อผ้าเหล่านี้ก็มีส่วนผสมของสารเคมีและกระบวนการผลิตที่อาจเป็นพิษภัยต่อโลก แต่ดูเหมือนเวสต์วูดจะไม่เดือดร้อนกับประเด็นนี้เท่าใดนัก เธอพยายามประนีประนอมกับเรื่องนี้ด้วยการทำเสื้อผ้าจากวัสดุเหลือใช้ เช่น รองเท้าแตะที่ทำจากเศษขวดพลาสติก เธอยังเชื่อในการ “ซื้อน้อยลง เลือกสิ่งที่ดี และใส่ไปได้นานๆ” เธอให้สัมภาษณ์ ไว้ว่า
“ฉันตระหนักดีว่าบริษัทของฉันขยายตัวเร็วเกินไป” เธอบอก “ฉันทำเสื้อผ้าที่ฉันชอบ และถ้าคนอื่นๆ ชอบด้วย ฉันก็จะทำต่อไป และนั่นคือเหตุผลที่ฉันได้ทำต่อมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้…ฉันไม่ได้แค่พยายามทำเสื้อผ้า ฉันคิดว่าฉันกำลังพยายามให้ทางเลือกที่วิเศษแก่ผู้คนในการนำเสนอตัวตนของตนเอง และนี่เกี่ยวข้องกับการเป็นขบถ มันเป็นเรื่องของคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ และนั่นแหละคือการเป็นขบถในนิยามของฉัน”
ประเด็นขัดแย้งอีกเรื่องที่หนังไม่ได้เล่าออกมาตรงๆ แต่ก็น่าจะโยงได้กับประโยคด้านบนที่เธอให้สัมภาษณ์ในหนัง ก็คือแนวคิดต่อต้านลัทธิทุนนิยมของกระแสพังก์ที่ดูจะไปกันไม่ได้กับแบรนด์แฟชั่นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ของเวสต์วูด ประเด็นหลังสุดนี้มีความซับซ้อนอยู่มาก เพราะปัจจุบัน แฟชั่นพังก์ตามท้องถนน (หรือสตรีทพังก์) ได้แยกขาดจากแฟชั่นพังก์ที่อยู่ในไฮ-แฟชั่น อย่างเช่นที่ในบทความ THE PUNK WAY VS. THE RUNWAY ได้กล่าวไว้อย่างดุเดือดว่า “การที่พังก์ไปอยู่ในไฮ-แฟชั่นนั้นเป็นเพียงการที่คนรวยๆ จะได้มีโอกาสแต่งตัวจนๆ” และ “มันเป็นแค่แฟนตาซีการสำเร็จความใคร่ของแอนนา วินทัวร์ และโว้ก (Vogue)” เพราะในขณะที่พังก์ในไฮแฟชั่นมีเม็ดเงินอัดฉีดในอุตสาหกรรม คนทำแฟชั่นพังก์ที่แท้จริงตามท้องถนนกลับต้องวิ่งหาคนสนับสนุนให้มีที่ยืนของตัวเอง
พังก์กับเรือนร่างของผู้หญิง
ไหนๆ ก็ได้พูดถึงวิเวียน เวสต์วูดแล้ว จะไม่พูดถึงเรื่องความเป็นหญิงก็กระไรอยู่ เพราะเสื้อผ้าของเธอก็มีส่วนพาผู้หญิงออกมาจากพื้นที่ในกรอบเดิมๆ อยู่ไม่น้อย
ในทฤษฎีสตรีนิยมกระแสหลัก มักจะเสนอปัญหาว่าเรือนร่างของผู้หญิงถูกเก็บไว้ในพื้นที่ส่วนตัว (private sphere) เช่นบ้าน หรือครัว ตลอดมา หลายครั้ง การเป็นผู้หญิงหมายถึง “ความกลัวที่จะออกไปข้างนอก” ซึ่งถูกผลิตซ้ำโดยการสั่งสอนในครอบครัว หนำซ้ำเรือนร่างของผู้หญิงยังถูกกีดกันออกจากความปรารถนาทางเพศหรือเรื่องเซ็กซ์ ด้วยคำขู่ทางจารีตว่า หากผู้หญิงเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ เธอมีสิทธิ์ที่จะตั้งท้องกับใครก็ได้ และนั่นไม่ใช่เรื่องที่สังคมพึงจะยอมรับ
แฟชั่นแบบพังก์ได้เข้ามาลบคำสบประมาทนี้ เพราะในแง่หนึ่ง เราจะเห็นการแสดงออกถึงรสนิยมทางเพศ (เช่น BDSM หรือเสื้อผ้าที่ขายให้เหล่าโสเภณี) หรือการท้าทายอัตลักษณ์ทางเพศใหม่ๆ อย่างชัดเจนผ่านเช่นการนำส่วนประกอบของชุดที่ดูเป็นผู้หญิงมามิกซ์เข้ากับของที่ไม่เข้ากัน อย่างเช่นถุงขยะ และความแหกกรอบก็ทำให้ผู้หญิงมีเสรีในการนิยามร่างกายของตนเองใหม่ (เราจะเห็นว่าเสื้อรุ่นหนึ่งที่เป็นที่นิยมในหนังคือเสื้อที่โชว์รูปหน้าอกผู้หญิง) และด้วยความที่มันเป็นแฟชั่น มันจึงทำให้เซ็กส์ของผู้หญิงออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ เพราะเธอจะใส่มันไปที่ไหนก็ได้
ส่วนในยุคที่พังก์เลยมาจากยุค 70s-80s แล้วนั้น เราก็ยังเห็นแฟชั่นของเวสต์วูดเล่นกับความลื่นไหลทางเพศ ซึ่งเป็นการแหกกรอบอีกประเภทหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่ามีการสลับเปลี่ยนเสื้อผ้า (cross-dressing) ระหว่างหญิงชายในแฟชั่นของเวสต์วูด และการที่เธอเล่นกับประเด็นอเซ็กชวลก็ทำให้แฟชั่นผู้หญิงมีมิติที่โดดเด่นขึ้นมาอีก นั่นคือ ผู้หญิงอาจไม่ต้องถูกนิยามว่าเป็นวัตถุทางเพศอีกต่อไป เป็นการแยกขาดผู้หญิงจากบทบาททางเพศโดยสิ้นเชิง ชุดที่เธอออกแบบในคอลเล็กชัน เอ็กซ์พลอเรชันหลายชุดนั้นเป็นเสื้อกับกางเกงเย็บติดกัน มีการปกปิดเรือนร่างของผู้หญิง และชูจุดเด่นที่รูปลักษณ์ สี และรูปทรงของเนื้อผ้า ซึ่งวิธีคิดนี้ดูแตกต่างจากการเผยแสดงเรื่องเพศของผู้หญิงในช่วงยุค 70s-80s ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม เวสต์วูดเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตนเองไม่ใช่เฟมินิสต์ แต่ก็รู้สึกว่าอยากมีส่วนช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อเพราะมีร่างกายอ่อนแอกว่าผู้ชาย และยังสนับสนุนสิทธิในการคุมกำเนิดของผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงมีอำนาจในการควบคุมเพศสภาวะของตัวเอง และเปลี่ยนขั้วอำนาจของผู้ชายเกี่ยวกับเรื่องเพศด้วย
หากจะว่ากันตาที่ซีโมน เดอโบวัวร์ นักปรัชญาและนักสตรีนิยมกล่าวเอาไว้ว่า “ร่างกายเราเป็นเครื่องมือในการทำความรู้จักโลกใบนี้” เราอาจตีความได้ว่า เมื่อผู้หญิงเข้าใจร่างกายของตนเองเปลี่ยนไป ผู้หญิงก็เข้าใจตนเองและโลกเปลี่ยนไปเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแฟชั่นแบบพังค์เท่านั้นที่สะท้อนการต่อต้านขัดขืนขนบเดิมๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่ไลฟ์สไตล์และชีวิตการทำงานทั้งหมดของผู้หญิงที่โลกต้องจดจำ นามว่า วิเวียน เวสต์วูด ก็เป็นภาพแทนของการปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระด้วยเช่นกัน แม้ระหว่างทางจะมีอะไรที่ย้อนแย้งหรือขลุกขลักไปบ้าง แต่ความเป็นไอคอนของเธอก็น่าจะมีความหมายเช่นนั้นเอง
อ้างอิง
https://plato.stanford.edu/entries/feminist-body/
https://www.rogerebert.com/reviews/westwood-punk-icon-activist-2018
https://www.grailed.com/drycleanonly/vivienne-westwood-sex-punk-fashion
https://www.nytimes.com/2017/01/23/fashion/vivienne-westwood-punk-political-manhattan-store-shopping.html?action=click&module=RelatedCoverage&pgtype=Article®ion=Footer
https://www.viviennewestwoodfilm.com/synopsis/
https://www.nytimes.com/2018/06/07/movies/westwood-punk-icon-activist-review-documentary.html
https://www.theguardian.com/film/2018/mar/21/westwood-punk-icon-activist-vivienne-kate-moss-review
https://www.marieclaire.co.uk/fashion/a-brief-history-of-punk-fashion-79145
https://www.vam.ac.uk/articles/vivienne-westwood-punk-new-romantic-and-beyond
https://www.scmp.com/magazines/style/fashion-beauty/article/2098050/punk-icon-vivienne-westwood-hails-wonderful-corbyn
https://fashionista.com/2013/05/real-punk-vs-fashion-punk
https://blog.viviennewestwood.com/history/exploration/
http://www.bombedoutpunk.com/bombed-out/articles/punks-influence-on-fashion-the-mets-punk-from-chaos-to-couture-exhibition/
https://i-d.vice.com/en_uk/article/evn5qk/vivienne-westwood-is-fashions-last-true-rebel