เข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของเขาดิน “พังจิ๋ม” ช้างเพศเมียตัวไม่โตนัก กำลังยืนต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่อย่างเหงาๆ วันนี้มันออกงานเพียงเชือกเดียว จากแต่ก่อนที่เคยมีช้างมายืนในส่วนจัดแสดงรวมกันถึง 4-5 เชือก เด็กๆ ที่วันนี้ตั้งใจจะมาดูช้าง สัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อาจไม่ได้เห็นภาพตื่นตาตื่นใจของช้างที่มีงายาวเรียวสวยเหมือนเมื่อก่อน

สวนสัตว์ดุสิตติดป้ายบอกไว้ว่า ทางสวนสัตว์มีแผนปรับปรุงส่วนจัดแสดงช้างให้เหมาะสมและปลอดภัย จึงย้ายช้างไปสวนสัตว์อื่นชั่วคราว เมื่อปรับปรุงเสร็จ เหล่าช้างก็จะกลับมาตามเดิม แต่ป้ายนี่น่าจะทำไว้นานแล้ว เพราะโอกาสที่ช้างจะได้กลับมาจัดแสดงคงไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว

‘พังจิ๋ม’ ช้างเพศเมีย

31 สิงหาคม 2561 (เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ทางสวนสัตว์แจ้งเลื่อนเวลาปิดเป็นวันที่ 30 กันยายน 2561) สวนสัตว์ดุสิต – เขาดินวนา’ หรือ ‘เขาดิน’ สวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทยจะปิดตัวลงหลังดำเนินการมานาน 80 ปีในฐานะสวนสัตว์ และ 120 ปี นับตั้งแต่ก่อสร้างเป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ช่วงโค้งสุดท้ายนี้ จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนที่มีความทรงจำผูกพันกับสวนสัตว์กลางเมืองแห่งนี้จะได้แวะไปร่ำลาเป็นครั้งสุดท้าย และเก็บภาพบรรยากาศความทรงจำไว้เป็นที่ระลึก

จุดเด่นที่สุดของเขาดิน ไม่ใช่เพียงเพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่ จัดตกแต่งสวยงาม หรือเพราะมีสัตว์ใหญ่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้ดู แต่สถานที่แห่งนี้ยังตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ประตูด้านหนึ่งตรงข้ามกับพระที่นั่งอนันตสมาคมและอาคารรัฐสภา ประตูอีกด้านหนึ่งตรงข้ามกับพระราชวังสวนจิตรลดา

ด้วยราคาค่าเข้าที่ไม่แพงเกินไป และการเดินทางด้วยรถสาธารณะที่ไม่ยากจนเกินไป สวนสัตว์ในพื้นที่ร้อยไร่เศษแห่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกวัยทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ ทั้งมาศึกษาเยี่ยมชมดูสัตว์ หรือมาใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจ

หากไปเที่ยวสวนสัตว์เขาดินในช่วงสุดท้ายนี้ ราคาค่าเข้าอยู่ที่คนละ 100 บาท เด็ก 20 บาท นักศึกษา ปวส.-มหาวิทยาลัย 50 บาท ครู ทหาร ตำรวจในเครื่องแบบ 50 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คนพิการ พระภิกษุ เข้าชมฟรี ชาวต่างชาติ 150 บาท เด็กต่างชาติ 70 บาท ค่าจอดรถจักรยานยนต์คันละ 10 บาท รถยนต์ 50 บาท

ถัดมาจากส่วนแสดงช้าง ก็จะเห็นส่วนที่ล้อมรอบด้วยต้นยูคาลิปตัสและสวนสีเขียวสดใส ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงโคอาล่า ที่เขาดินมีโคอาล่าอยู่สองตัว ตัวแรกชื่อ ฟูลล่า เกิดปี 2545 ได้มาจากสวนสัตว์เวสเทิร์นเพลน ออสเตรเลีย อีกตัวชื่อ เวียงพิงค์ เกิดปี 2553 ได้มาจาก สวนสัตว์เชียงใหม่

ส่วนจัดแสดงนี้ทำไว้อย่างสวยงาม แต่พื้นที่ที่โคอาล่าอยู่อาศัยจริงเป็นห้องกระจกเล็กๆ หากใครมาเที่ยวโดยหวังว่าจะได้สัมผัสหรืออุ้มโคอาล่าผู้น่ารักก็อาจจะต้องผิดหวัง เพราะมีกระจกกั้นเอาไว้แน่นหนา พร้อมป้ายบอกไว้ว่า โคอาล่านอนวันละ 20 ชั่วโมง และตื่น 4 ชั่วโมง จึงต้องอาศัยจังหวะโชคดีมากๆ ถึงจะได้เห็นโคอาล่าตื่นมาเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา

ไม่เพียงแต่โคอาล่าที่ถูกนำเข้ามาจากต่างถิ่น ที่เขาดินก็ยังมีเพนกวินน่ารักๆ อยู่หลายตัวทีเดียว ต่างกับนิสัยขี้เซาของโคอาล่า เพราะส่วนใหญ่เพนกวินจะค่อนข้างร่าเริง เดินไปเดินมาและว่ายน้ำเล่นอยู่ในห้องกระจก

นอกจากเพนกวินแล้ว เขาดินก็มีแมวน้ำด้วย แต่ไม่ได้อยู่ในตู้ให้ไปเกาะกระจกยืนดูได้ เพราะแมวน้ำที่นี่จะออกมาปรากฏตัวก็เฉพาะในกิจกรรมการแสดงโชว์ ซึ่งต้องจ่ายค่าบัตรเข้าชมแยกต่างหาก โดยโชว์นี้จะมีวันละ 2-3 รอบ

ถัดมาจากเพนกวิน ก็จะเป็นโซนนก บริเวณนี้จะมีเสียง “แกว๊กๆๆ” ดังลอยล่องอยู่ตลอด ต้นเสียงมาจากโซนนกเงือก นกแก๊ก นกกาฮัง ซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่ กระโดดไปมาอยู่ในกรงและส่งเสียงร้องดัง มีนกฟลามิงโกชมพูสดใสยืนรวมกันเป็นฝูงก้มหน้ามุดน้ำชอนไชหาอาหาร ที่กรงนกน้ำขนาดใหญ่ ด้านในมีนกกระทุงยืนนิ่งกันเป็นทิวแถว รวมถึงนกกาบบัว นกยูง และนกอื่นๆ อีกมาก

พระเอกตัวหนึ่งที่ยืนทักทายผู้คนอยู่ริมกรงนกน้ำ คือเจ้า “ปากบิด” เป็นนกกระทุงตัวใหญ่ อายุประมาณ 11 ปี สวนสัตว์ติดป้ายอธิบายไว้ว่า ตั้งแต่เกิดมา เจ้าปากบิดตัวนี้มีลักษณะปากไขว้กันผิดธรรมชาติ พนักงานเลี้ยงสัตว์จึงจับแยกออกมา คอยป้อนอาหาร และฝึกให้กินเอง และต่อมาก็เอามาเลี้ยงรวมกับเพื่อนๆ นกกระทุงและนกน้ำชนิดอื่นๆ ในส่วนแสดงนี้

แม้จะอยู่ในกรงใหญ่กับเพื่อนร่วมสายพันธุ์จำนวนมาก แต่หน้าตาของเจ้าปากบิดอาจจะดูไม่มีความสุขเสียเท่าไร และก็ดูไม่ค่อยอยากจะเดินไปสุงสิงกับนกอื่นๆ แต่แยกตัวออกมาอยู่อย่างสันโดษข้างลูกกรงจุดที่คนเดินผ่าน อาจจะเพราะเติบโตมากับการอยู่ร่วมกับมนุษย์จนชิน

‘ปากบิด’ นกกระทุง

ในช่วงเตรียมการปิดสวนสัตว์ โซนที่เป็น “เกาะนก” ไม่ได้เปิดให้เข้าชมแล้ว ถูกปล่อยไว้ในสภาพไม้เลื้อยรกรุงรัง ขาดการดูแลทำความสะอาด รวมถึงในกรงต่างๆ ก็ไม่ได้มีนกอยู่อาศัยแล้ว

ภาพจำที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งของสวนสัตว์เขาดิน คือ ‘โซนซาฟารี’ ส่วนจัดแสดงที่มีม้าลาย และยีราฟ อยู่รวมกันในพื้นที่ทำเหมือนเป็นทุ่งกว้างขนาดใหญ่

ยีราฟของเขาดิน เป็นสีสันขวัญใจเด็กๆ มาตลอดหลายปี ด้วยลำคอยาวเด่น ขนาดตัวสูงใหญ่ นิสัยเป็นมิตรและชอบเข้าหาคน นักท่องเที่ยวสามารถป้อนอาหารใส่ปากยีราฟได้ คนชอบมาถ่ายรูปร่วมกับยีราฟที่จุดนี้ แต่ในวันนี้ เขาดินเหลือยีราฟอยู่เพียงสองตัว ตัวผู้ชื่อว่า ‘บิน ลาเดน’ มีนิสัยขี้โมโห ส่วนตัวเมียมีสีอ่อนกว่าและนิสัยขี้อาย ถูกตั้งชื่อว่า ‘ตาหวาน’ แม้จะเหลือเวลาในเขาดินวนาอีกไม่มากนัก แต่ยีราฟทั้งสองยังคงมีหน้าที่เดินนวยนาดอวดโฉม สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวเหมือนที่ผ่านๆ มา

ยีราฟ

ม้าลายก็ไม่น้อยหน้า เพราะเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 สวนสัตว์ดุสิตได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ เป็นลูกม้าลายที่ชื่อว่า ‘ซันไรส์’ เกิดในสวนสัตว์ดุสิตจากพ่อชื่อ ‘หนึ่ง’ และแม่ชื่อ ‘สอง’

ลูกม้าลาย

 

นอกจากส่วนจัดแสดงสัตว์กลางแจ้งแล้ว สวนสัตว์เขาดินยังมีส่วนที่จัดแสดงในร่มอีกอย่างน้อยสามโซน คือ โซนสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ที่นี่ เราจะได้เห็นงูสายพันธุ์ต่างๆ อยู่ในตู้กระจก รวมทั้งงูขนาดใหญ่อย่างอนาคอนดา ได้เห็นจระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม รวมทั้งเต่าสารพัดชนิดจากทั่วโลก ที่จะช่วยให้จินตนาการที่มีต่อคำว่า ‘เต่า’ ของเรากว้างขวางขึ้นอีกมาก

โซนสัตว์หากินกลางคืน เช่น ชะมด อีเห็น เม่นแคระ จิ้งจอกทะเลทราย ซึ่งจัดห้องแสดงไว้แบบมีแสงน้อย พอมีแสงไฟอ่อนๆ ให้มองเห็นตัวสัตว์อยู่ในเงามืดๆ

และยังมีส่วนพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีสัตว์สตัฟฟ์ที่ให้เราเข้าไปเพ่งดูได้อย่างใกล้ชิด และนิทรรศการให้ความรู้ แสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบเมื่อถูกความเจริญของมนุษย์เข้ามาทำลาย

เมื่อรวมโซนจัดแสดงสัตว์ต่างๆ และห้องแสดงในร่มทั้งหลายเข้าด้วยกัน นักท่องเที่ยวที่มีเวลาก็สามารถค่อยๆ เดินศึกษาเรียนรู้สัตว์ต่างๆ อยู่ภายในพื้นที่เขาดินได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็นไม่มีเบื่อ หากต้องการแวะทานอาหาร ก็มีทั้งเต้นท์ร้านค้าของสวนสัตว์ ลูกชิ้นไม้ละ 15 บาท น้ำเปล่าขวดละ 10 บาท มีเซเว่นอีเลฟเว่น และมีศูนย์อาหารติดแอร์ราคาไม่แพง ที่นั่งกว้างขวางพร้อมห้องกระจกให้นั่งทานข้าวไปชมนกในกรงนกน้ำไปด้วยได้

ชิมแปนซีและอุรังอุตัง พระเอกที่อยู่กับเขาดินมาหลายสิบปี ทำตัวหงอยๆ อยู่ภายในถ้ำของมัน ไม่ค่อยโผล่ออกมาให้นักท่องเที่ยวเล่นด้วย ต่างกับสิ่งมีชีวิตที่ดูจะร่าเริงในโซนลิง ได้แก่ ลิงแสม และค่างห้าสี ที่คอยกระโดดไปมาอยู่ภายในกรงสูงใหญ่ จะทำหน้าตาหยอกล้อใส่ผู้คน หวังเผื่อว่า มนุษย์ใจดีคนไหนจะหยิบยื่นขนมผ่านรูลูกกรงไปให้บ้าง

ในช่วงนี้ กรงค่างห้าสีก็มีสมาชิกใหม่ ลูกค่างตัวน้อยตาแป๋ว ขนสีน้ำตาล กระโดดอย่างร่าเริงอยู่ไม่ห่างจากแม่ของมันที่คอยสอดส่ายสายตาระวังภัย แต่เนื่องจากไม่ใช่สัตว์ใหญ่ เหมือนว่าทางสวนสัตว์จะยังไม่ได้ตั้งชื่อให้

ค่างห้าสี

นานมาแล้วก่อนหน้านี้ สวนสัตว์เคยมีบริการขายขนมปัง ถั่วฝักยาว ข้าวโพด และผักต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวซื้อและให้อาหารสัตว์ได้ แต่นโยบายของสวนสัตว์เขาดินในปี 2561 ต่างไปจากหลายปีก่อน คือ มีกฎงดให้อาหารสัตว์ ซึ่งเคยเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานของเด็กๆ

การเอาขนมปังใส่ปากฮิปโป การยื่นถั่วฝักยาวใส่ปากยีราฟ การยื่นขนมต่างๆ เข้าไปในกรงลิงให้ลิงมารับไปกับมือ เคยเป็นกิจกรรมยอดฮิตของคนมาเที่ยวเขาดิน แต่ในวันนี้แทบทุกกรงสัตว์จะมีป้ายติดไว้เหมือนกันว่า ห้ามให้อาหารสัตว์ “พวกเราต้องการอาหารในปริมาณที่เหมาะสมครับ”

แต่ดูเหมือนสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่จะอ่านป้ายไม่ออก และยังติดนิสัยเดิม เมื่อนักท่องเที่ยวเดินไปใกล้กรง ทั้งไก่ฟ้า นกเงือก นกต่างๆ ก็จะเดินมารออยู่ข้างลูกกรงคอยส่งสายตาอ้อนวอน ส่วนเจ้าลิงก็จะโผมาเกาะหน้านักท่องเที่ยว ยีราฟ ‘บิน ลาเดน’ ก็ยังคงเดินเข้าหากลุ่มคน แต่ก็ต้องต้องหงุดหงิดเมื่อไม่มีสักคนหยิบยื่นสิ่งใดให้

เด็กๆ ที่มาเที่ยวสวนสัตว์คงต่างก็หวังจะได้เห็นเจ้าป่าอย่างสิงโตและเสือ แต่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี สัตว์ร้ายในลูกกรงสูงที่เขาดินแห่งนี้กลับค่อนข้างเหงาหงอย เรามักจะเห็นพวกมันนอนกลางวันอยู่นิ่งๆ หรือไม่ก็เดินไปมาอย่างเชื่องช้า น้อยนักที่นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้เห็นเสือจากัวร์และเสือโคร่งขาวแสดงท่าทางที่ดูสง่า มีชีวิตชีวา

ที่เขาดินมีเสือโคร่งอยู่สองตัว เพศผู้ถูกตั้งชื่อว่า ‘หมุ่ยมุ้ย’ อายุได้ 14 ปี เพศเมียถูกตั้งชื่อว่า “ฮันนี่” อายุมากกว่ากันปีเดียว และยังมีเสือโคร่งขาวที่งามสง่า กับเสือจากัวร์อีกอย่างละหนึ่งตัว มองหาถ้วนทั่วแล้วก็ไม่เห็นกรงเสือดำ

สิงโตขาวก็มีอยู่สองตัว ตัวผู้ชื่อว่า ‘โตโน่’ อายุ 4 ปี ตัวเมียอายุไล่เลี่ยกันชื่อ ‘กอบัว’ พวกมันไม่ได้อยู่ในสภาพ ‘นักสู้’ เหมือนภาพในหนังฝรั่งที่เต็มไปด้วยแผงคอใหญ่และคำรามอย่างน่าเกรงขาม แผงคอของเจ้าโตโน่ดูจะขึ้นไม่ค่อยเต็มแผ่นหลังนัก หรือไม่ก็ร่วงไปก่อนแล้ว และส่วนใหญ่ ทั้งสองจะหลบร้อนนอนกลางวันมากกว่าจะออกมาต้อนรับผู้คน

เราสามารถเดินชมโซนสัตว์ล่าเนื้อได้โดยใช้สกายวอล์กที่สวนสัตว์ทำขึ้นไว้อย่างสวยงาม เพื่อจะได้เห็นตัวเจ้าแห่งป่าชัดเจนขึ้น หรือจะเลือกเดินบนพื้นดินเพื่อไปเกาะกระจกแผ่นหนาดูจากมุมล่างก็ได้เหมือนกัน

ถ้าเราเดินตามทางสกายวอล์คไปเรื่อยๆ เลยจากสิงโตไปแล้วก็จะพบกับนักล่าอีกชนิดหนึ่ง คือ หมีควาย และหมีหมา โซนหมีไม่เอาแต่นอนเหมือนเสือและสิงโต แต่มักจะเดินออกมาอยู่ริมขอบบ่อเพื่อเล่นกับนักท่องเที่ยวหรือรอคอยว่า จะมีใครแบ่งปันอาหารให้ หมีที่เดินไปเดินมาท่าทางงุ่นง่าน แล้วสักพักก็จะลุกขึ้นยืนสองขา เป็นจุดสนใจที่เหมาะให้คนหยุดถ่ายรูปกัน

ถัดจากหมีไปก็จะเป็นส่วนสัตว์ป่าสงวน อันได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา ละมั่ง และเก้งเผือกที่ชื่อ ‘เพชร’ ซึ่งอาจมีอยู่ตัวเดียวในโลก

เลียงผา

 

ละมั่ง

 

เก้งเผือก

คนที่คิดจะมาเที่ยวเขาดินส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า ใกล้กันกับส่วนแสดงสัตว์สงวน มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ยังเก็บรักษาไว้ในสวนสัตว์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาร่วมเรียนรู้ด้วย นั่นคือ หลุมหลบภัยสาธารณะ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ตัวหลุมหลบภัยมีภูเขาจำลอง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สำหรับเลี้ยงเลียงผา ครอบทับไว้ หลุมหลบภัยแห่งนี้เป็นอาคารปูนเล็ก ๆ ลึกลงไปใต้ดิน จุคนได้ประมาณ 60 คน ทางเข้ามีทหารปูนปั้น เมื่อเดินเข้าไปจะมีบันไดแคบขนาดพอให้คนเดินแถวเรียงเดี่ยวก้มตัวเดินลงไปด้านล่าง พ้นจากบันไดไม่กี่ขั้นจะเข้าสู่ทางเดินขนาบด้วยกำแพงทึบแลเพดานเตี้ยที่นำไปสู่ห้องโถงสำหรับหลบภัย อีกฟากหนึ่งของโถงคือทางออกที่มีลักษณะเช่นเดียวกับทางเข้า

ในความสลัวและอับทึบของห้องใต้ดิน ผนวกกับรูปปั้นภายในโถงที่จำลองการใช้หลุมหลบภัย ทำให้การก้าวเข้ามาที่นี่เหมือนประตูมิติที่ตัดเราออกจากห้วงเวลาปัจจุบันย้อนเวลากลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกครั้ง

 

ที่แห่งนี้ ถูกสร้างราวปี 2484 หรือประมาณ 3 ปี หลังจากเขาดินวนายกระดับกลายเป็นสวนสัตว์ดุสิต ขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามจึงใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ทำให้ต้องมีการสร้างหลุมหลบภัยจากการทิ้งระเบิดในสภาวะสงคราม ปัจจุบันหลุมหลบภัยนี้มีสถานะเป็นโบราณสถาน และทางสวนสัตว์ยังจัดทำนิทรรศการเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ให้ได้ศึกษาอีกด้วย

โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งภายในสวนสัตว์เขาดิน ชื่อว่า อาคารเรือนกระจก อยู่บริเวณทางเข้าสวนสัตว์ดุสิตประตู 1 ฝั่งตรงข้ามสวนจิตรลดา อาคารนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นเรือนขนมปังขิง ทำจากไม้สูงชั้นเดียว ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายและกระจกสี ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ปัจจุบันใช้เป็นห้องจัดแสดงภาพ ถือเป็นหนึงในโบราณสถานที่ยังคงใช้ประโยชน์ได้จนถึงปัจจุบัน และเคยได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2545

สัตว์ที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของสวนสัตว์เขาดินในช่วง 20-30 ปีหลัง น่าจะเป็น ฮิปโปโปเตมัส สัตว์ขนาดใหญ่ ที่อ้าปากได้กว้าง พร้อมเขี้ยวยาวเด่นในปาก ภาพถ่ายมาตรฐานของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเขาดิน ก็คือ ภาพพวกฮิปโปยืนอ้าปากรอให้นักท่องเที่ยวหย่อนขนมปัง ข้าวโพด และผักต่างๆ ลงไปในปาก

แต่วันท้ายๆ ของสวนสัตว์ บ่อฮิปโปไม่คึกคักเหมือนเคย เพราะเหลือสมาชิกหลักนอนแช่น้ำอยู่ตัวเดียว ซึ่งก็คือ “แม่มะลิ”

แม่มะลิเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2510 สวนสัตว์ทีลเบิร์กประเทศเนเธอร์แลนด์มอบมาให้สวนสัตว์ดุสิต ตั้งแต่อยู่ที่สวนสัตว์ดุสิตมาแล้วกว่า 51 ปี มันให้กำเนิดลูกแก่คนไทยมาแล้ว 14 ตัว แต่ละตัวถูกย้ายไปอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น สวนสัตว์เขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ ลาว และมาเลเซีย เหลือเพียงฮิปโปบ่อข้างๆ ซึ่งก็มีลูกของเธออยู่อีกหนึ่งตัว

ในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตในเขาดิน แม่มะลิใช้เวลาแต่ละวันนอนแช่น้ำ แม้จะนอนหลับก็ยังรู้หน้าที่โดยเลือกมานอนหลับหน้ากระจกเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปอย่างใกล้ชิด และเมื่อกลุ่มเด็กๆ วิ่งผ่านมาแม่มะลิก็ยังลืมตาเงยหน้าโผล่พ้นน้ำขึ้นมาทักทายก่อนที่จะกลับลงไปนอนต่อท่าเดิม

สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความทรงจำกับเขาดิน และเคยมีภาพประทับใจกับบ่อฮิปโปที่นี่ก็คงต้องช่วยกันหวังว่า ไม่กี่เดือนข้างหน้าเมื่อแม่มะลิเดินทางไปถึงบ้านใหม่จะเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นบ้านที่แม่มะลิได้พักผ่อนบ้าง ไม่ต้องทำงานต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกวันอย่างหนักเหมือนที่บ้านใจกลางเมืองแห่งเดิมของเธอ

 

นอกจากสัตว์ต่างๆ ที่พอจะเล่าไปแล้ว นกกระจอกเทศ กวางดาว นาก เมียร์แคท ชะนี กิ้งก่า ค้างคาว ฯลฯ และเพื่อนอีกหลายร้อยหลายพันธุ์ตัว ก็ยังคงทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนให้ได้ศึกษา เรียนรู้ลักษณะ สีสัน กลิ่น เสียง ของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์อยู่เช่นทุกวันที่ผ่านมา

นอกจากสัตว์ที่ตั้งใจจัดแสดงแล้ว ภาพที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคย ก็คือ ฝูงอีกาดำ ที่คอยโฉบกินอาหารที่นักท่องเที่ยววางไว้ และส่งเสียงร้อง “กาๆๆๆ” ดังระงม กับเพื่อนเลื้อยคลานขนาดตัวไม่ใหญ่ ที่สวนลุมพินีเคยต้องไล่กวาดจับ ก็ยังพบใช้ชีวิตอยู่ได้ทั่วไปในสวนสัตว์เขาดินเช่นกัน

ใบปลิวที่สวนสัตว์แจกให้แก่นักท่องเที่ยวเล่าประวัติศาสตร์ไว้ว่า

“สวนสัตว์ดุสิต เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอุทยานสวนดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นสถานที่พักผ่อนส่วนพระองค์ และทรงนำกวางดาวฝูงหนึ่งจากชวามาเลี้ยงรวมกับสัตว์อื่นๆ หลายชนิต ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 คณะรัฐบาลนำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิตให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ดำเนินการจัดสร้างเป็นสวนสัตว์ และเป็นที่พักผ่อนของประชาชน และให้ใช้ชื่อว่า “สวนสัตว์ดุสิต” ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “เขาดินวนา” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2481”

ตลอดเวลากว่าหนึ่งชั่วอายุคน นอกจากเขาดินจะทำหน้าที่เป็นสถานที่ให้คนมาดูสัตว์แล้ว องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ยังพัฒนาพื้นที่ภายในรั้วกว่าร้อยไร่นี้อยู่เป็นระยะๆ โดยพยายามสร้างให้เป็นสวนสำหรับพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนเมือง ในยุคหนึ่งก็มีเครื่องเล่นมาตั้งให้บริการคล้ายสวนสนุกขนาดเล็ก แต่ถึงวันนี้เหลือเพียงเครื่องเล่นหยอดเหรียญตั้งอยู่เป็นจุดๆ และยังมีสวนน้ำให้เด็กๆ เข้าไปเล่นน้ำกับเครื่องเล่นต่างๆ ได้อีกด้วย

จุดเด่นของการจัดการจราจรภายในเขาดินอีกอย่างก็คือ มีทางลาดเป็นระยะๆ ทำให้ครอบครัวที่มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็นสามารถพาทั้งครอบครัวมาเดินเที่ยวด้วยกัน และใช้ชีวิตด้วยกันภายในพื้นที่แห่งนี้ได้

กิจกรรมเด่นอีกอย่างคือ บริการเรือถีบ หรือที่ที่นี่เรียกว่า “เรือจักรยานนาวา” ให้บริการในราคาครึ่งชั่วโมง 80 บาท พร้อมมัดจำอีก 40 บาท สามารถปั่นวนรอบสระน้ำ และให้อาหารปลาในสระน้ำขนาดใหญ่ได้ ยิ่งถ้าปั่นในช่วงแดดร่มก็จะได้ชมวิวพระที่นั่งอนันตสมาคมบนฉากท้องฟ้ายามเย็นระหว่างถีบเรือด้วย

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่สวนสัตว์เขาดินเปิดทำการ ที่แห่งนี้พร้อมต้อนรับเด็กๆ ที่จะเข้ามาทำความรู้จักสัตว์ชนิดต่างๆ ด้วยตาตัวเอง โรงเรียนที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ก็มักจะใช้สวนสัตว์แห่งนี้เป็นสถานที่พาเด็กๆ ออกมาทัศนศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียน เด็กไทยที่โตขึ้นมาในเมืองหลวงซึ่งมีพื้นที่วิ่งเล่นจำกัด ไม่ว่าจะรวยหรือจนต่างก็มีความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับเขาดินด้วยกันทั้งนั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับพักผ่อนหย่อนใจนอกจากการเดินห้างสรรพสินค้า

ข้อถกเถียงเรื่องการจะย้ายสวนสัตว์เขาดินออกไปนอกเมืองมีมานานแล้ว และดังขึ้นใหม่เป็นระลอกๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ มักตั้งอยู่บนเหตุผลเรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์ เพราะการเอาสัตว์มาไว้กลางเมืองก็แปลว่าสัตว์จะต้องอยู่ในสถานที่คับแคบและสภาพอากาศที่เลวร้าย ส่วนข้อคัดค้านก็ตั้งอยู่บนเหตุผลเรื่องความสะดวกในการเข้าถึงการเรียนรู้หรือสถานที่พักผ่อนของคนเมือง

หากพิจารณากรงขังของสัตว์หลายชนิดก็จะเห็นความหดหู่ หรือความน่าสงสารของสัตว์หลายร้อยหลายพันตัวที่ต้องใช้เกือบทั้งชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ใหญ่กว่าขนาดตัวไม่มากนัก ถ้าอยากจะวิ่งหรือจะกระโจนให้เต็มกำลังก็ยังทำได้ลำบาก โดยเฉพาะสัตว์บางสายพันธุ์ที่ต้องอยู่ในที่คุมขังเพียงลำพังตัวเดียวไม่เคยได้เจอใครเลย เช่น เลียงผา เก้งเผือก อุรังอุตัง หรือสัตว์ในส่วนแสดงสัตว์กลางคืนหลายตัวที่บ้านทุกหลังมีสภาพเป็นตู้กระจก อากาศถ่ายเทได้แต่เพียงด้านบน ด้านข้างปิดทึบหมดทุกด้าน

ตำแหน่งที่ตั้งของสวนสัตว์แห่งนี้ยังล้อมรอบโดยถนนสายหลักที่มีรถราวิ่งขวักไขว่ตลอดทั้งวัน และส่วนแสดงสัตว์ก็ถูกจัดวางไว้อยู่ชิดขอบรั้วของสวนสัตว์ หันหน้าให้นักท่องเที่ยว แต่หันหลังติดถนน ยิ่งในช่วงที่ประเทศมีเหตุการณ์ทางการเมือง มีการชุมนุมบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล นอกจากเสียงรถหวอแล้วก็ยังมีเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ และมีแก๊สน้ำตาลอยเข้ามา สัตว์เหล่านี้ก็ต้องรับผลกระทบไปด้วยโดยไม่มีทางเลือกที่จะหลบหนี

สำหรับคนรักสัตว์ที่ไม่ได้เพียงแค่อยากดูหรืออยากเล่นกับสัตว์ เมื่อเห็นสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์บางสายพันธุ์แล้วก็อาจเกิดคำถามได้ว่า เหตุใดบางชีวิตจึงต้องถูกคุมขังเพียงเพื่อความบันเทิงหรือให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชีวิตสายพันธุ์อื่น โดยที่เจ้าของชีวิตนั้นไม่มีโอกาสได้เลือกเอง

หากว่า “สวนสัตว์” ยังจำเป็นสำหรับมนุษย์เพื่อการเรียนรู้เรื่องชีววิทยา และศึกษาให้เข้าใจธรรมชาติ ทางเลือกสำหรับการย้ายสวนสัตว์ออกไปไว้บนพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสัตว์ ไม่เบียดเบียนชีวิตเหล่านั้นจนเกินไป ก็อาจเป็นทางเลือกที่ ‘มีมนุษยธรรม’ มากกว่า และถ้าพื้นที่เดิมยังถูกใช้สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองทุกระดับชั้นในราคาที่ถูกลงได้ ก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นต่อสังคมมนุษย์อีกด้วย

Tags: , ,