อดีตทหารอังกฤษสร้างสถิติ ปีนเขาเอเวอเรสต์สำเร็จโดยใช้เวลาไม่ถึง 5 วัน แต่ได้รับเสียงวิจารณ์จากนักปีนเขามืออาชีพ หลังใช้ ‘แก๊สซีนอน’ (Xenon) ระงับความรู้สึก เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับระดับความสูงบนเขาโดยไม่ต้องปรับตัว ด้านผู้นำการเดินทางชี้เป็น ‘วิทยาศาสตร์การกีฬา’

กลุ่มอดีตทหารผ่านศึกษาชาวอังกฤษ ได้แก่ เควิน ก็อดดิงตัน (Kevin Godlington), แอนโทนี สตาซิกเกอร์ (Anthony Stazicker), การ์ท มิลเลอร์ (Garth Miller) และอลิสแตร์ คาร์นส์ (Alistair Carns) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารผ่านศึกสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยช่างภาพ และทีมเชอร์ปาอีก 5 คน ร่วมทำภารกิจออกเดินทางไปยังเขาเอเวอเรสต์ แต่เงื่อนไขในการผจญภัยครั้งนี้ไม่ได้เหมือนกับผู้เดินทางรายอื่น เพราะพวกเขาใช้แก๊สซีนอน เพื่อปรับร่างกายให้คุ้นชินกับระดับออกซิเจนต่ำ เมื่อต้องอยู่บนภูเขาสูง ซึ่งช่วยทำให้ปีนเขาได้ง่ายและเร็วขึ้น

ซีนอนเป็นแก๊สไร้สีและกลิ่น มีปริมาณเล็กน้อยในชั้นบรรยากาศโลก แต่สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้ แม้ผลลัพธ์ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการ แต่วิจัยบางส่วนเผยว่า แก๊สดังกล่าวผลิตตัวโปรตีนที่เรียกว่า อีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง ซึ่งลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงไปทั่วร่างกาย ทำให้ผู้ใช้มีอาการทนทานต่อภาวะขาดออกซิเจน หรือภาวะแพ้ที่สูง (High-Altitude Illness) ได้

ปกติแล้วการปีนเขาเอเวอเรสต์ต้องใช้ระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ แต่การใช้แก๊สซีนอนทำให้กลุ่มทหารอังกฤษถึงยอดเขาภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 วัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 4 วัน 18 ชั่วโมง

บริษัท Austria-based Furtenbach Adventures ที่ดูแลการเดินทาง เล่าขั้นตอนการเตรียมตัวว่า กลุ่มทหารเหล่านี้สูดแก๊สซีนอนในเยอรมนีเป็นเวลา 2 สัปดาห์เต็ม ก่อนเดินทางไปยังเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล และออกสำรวจทันที ซึ่งอุปกรณ์ฉุกเฉินที่ติดไปด้วยคือออกซิเจนสำรอง ขณะที่มิลเลอร์ ผู้นำการเดินทางให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การใช้แก๊สซีนอนเป็นวิทยาศาสตร์การกีฬารูปแบบหนึ่ง เพื่อต่อสู้กับการปีนเขาที่สูงราว 8 พันเมตร โดยเฉพาะส่วน ‘เขตมรณะ’ ที่มีออกซิเจนเพียง 3 ใน 10 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปยังเอเวอเรสต์ครั้งนี้ต้องผ่านการฝึกฝนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับระดับความสูงบนเขา โดยอดีตทหารทั้ง 4 คน ต้องซ้อมอยู่ในพื้นที่ที่มีออกซิเจนต่ำ หลังจากนั้นจึงเข้ารับการสูดแก๊สโดยได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ทว่าความสำเร็จดังกล่าวนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ในกลุ่มนักปีนเขามืออาชีพถึงการใช้แก๊สซีนอน โดยสหพันธ์ปีนเขาและปีนเขานานาชาติ (International Climbing and Mountaineering Federation) ออกแถลงการณ์คัดค้านว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า แก๊สดังกล่าวช่วยระงับความรู้สึก หรือเป็นเครื่องทุ่นแรงในการปีนเขาได้จริง จึงอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายผู้ใช้ได้

ขณะที่ อาเดรียน บอลลินเกอร์ (Adrian Ballinger) หัวหน้าทีมสำรวจเขาเอเวอเรสต์ แสดงความคิดเห็นว่า การใช้แก๊สดังกล่าวไม่ยุติธรรมและไม่ซื่อสัตย์ต่อการปีนเขา อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้คนเริ่มหันมาใช้วิธีลัด แทนที่จะฝึกอบรมตามขั้นตอนจริงๆ 

เลวร้ายไปกว่านั้น ดัมเบอร์ ปาราจูลี (Damber Parajuli) ประธานกลุ่ม Expedition Operators Association of Nepal เชื่อว่า หากคนอื่นเริ่มหันมาใช้วิธีการของอดีตทหารอังกฤษ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะนักปีนเขาจะใช้อยู่บนเขาเวลาน้อยลง อีกทั้งการใช้แก๊สซีนอนยังละเมิดต่อกฎพื้นฐานของการปีนเขา อย่างการใช้เวลาปรับตัวสภาพแวดล้อมความสูงบนภูเขา ซึ่งเขาเห็นว่า ทางการเนปาลไม่ควรออกใบรับรองให้ทหารอังกฤษกลุ่มนี้

ล่าสุด BBC รายงานว่า ทางการเนปาลไม่ทราบว่า กลุ่มทหารอังกฤษ 4 คน ได้ละเมิดข้อห้ามในการปีนเขาอย่างการใช้เวลาปรับตัวกับสภาพแวดล้อม โดยขณะนี้กำลังหารือวิธีจัดการปัญหาข้างต้น รวมถึงพิจารณาออกกฎเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าวในอนาคต

ปัจจุบันยังไม่มีใครทำลายสถิติการปีนเขาเอเวอเรสต์ของ ลักปา เกลู (Lhakpa Gelu) ชาวเชอร์ปาที่ใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง 56 นาทีในปี 2003 ซึ่งเขาทำสำเร็จ โดยใช้ระยะเวลาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมบนภูเขาด้วย

อ้างอิง

https://www.france24.com/en/live-news/20250521-british-climbers-summit-everest-in-record-bid-1

https://www.scmp.com/news/asia/south-asia/article/3311263/british-climbers-conquer-mount-everest-record-time-using-xenon-gas-innovation

https://www.bbc.com/news/articles/cqj77pgyq81o

https://www.reuters.com/science/britons-become-first-scale-mount-everest-with-help-xenon-gas-organiser-says-2025-05-21/

Tags: , , , , , ,