หมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดสุพรรณบุรี หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีชุมชนชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ หากอิงตามประวัติศาสตร์ ชาวกะเหรี่ยง ‘ลุ่มแม่น้ำลำตะเพิน’ อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มานานกว่า 300 ปี ตามรายงานประวัติและความเป็นมาชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน ‘กะเหรี่ยงโผล่ว’ บน ‘แผ่นดินแห่งสัญญา’ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ นพแก้ว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า พวกเขามักใช้ชีวิตแอบอิงไปกับธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากิน ตลอดจนเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อชีวิต เช่น เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค
นี่จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “กะเหรี่ยงอยู่ที่ไหน ป่าก็อยู่ที่นั่น ป่าอยู่ที่ไหน กะเหรี่ยงก็อยู่ที่นั่น”
หนึ่งในวิธีการอยู่กับป่าของชาวกะเหรี่ยง คือในแต่ละปีพวกเขาจะทำเกษตรกรรมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หลังจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว หากชาวกะเหรี่ยงจะเริ่มทำเกษตรกรรมครั้งใหม่ ก็จะย้ายไปทำในที่ดินอีกแปลงใกล้เคียง เพื่อให้ที่ดินก่อนหน้าได้พักฟื้น หรือที่เรียกว่า ‘การทำไร่หมุนเวียน’ แม้ว่าหลายครั้งคำนี้จะถูกเข้าใจผิดหรือถูกทำให้เข้าใจไปว่า เป็นการ ‘ทำไร่เลื่อนลอย’ ก็ตามที
จนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาจากภาครัฐคืบคลานเข้ามา กระทรวงเกษตร (สมัยนั้นยังไม่มีคำว่าสหกรณ์ต่อท้าย) ได้ประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมถึง 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกเมื่อปี 2505 ได้ประกาศพื้นที่ป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน และป่าหนองหญ้าไทร รวมกว่า 330,625 ไร่ และในปี 2506 ได้ออกกฎกระทรวงให้ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู รวมพื้นที่กว่า 447,000 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
ต่อมาในปี 2541 ‘ระเบิดอีกลูก’ ก็ถล่มลงมา เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศให้พื้นที่หมู่บ้านป่าผากเป็นหนึ่งในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติพุเตย ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 317 ตารางกิโลเมตร ทับซ้อนกับพื้นที่หากินของชาวกะเหรี่ยงอีกครั้ง ทำให้ชาวบ้านไร้ที่ดินทำกินในที่สุด
เมื่อที่ดินทำกินไม่มีอีกต่อไปแล้ว ทำให้ แม่ยุพิน เสอะเยียเบ่อ งามยิ่ง และชาวบ้าน ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินกลับมา ผ่านการเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำให้หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2548 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติให้ชาวบ้านจำนวน 15 ครอบครัว ในหมู่บ้านป่าผาก อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี สามารถใช้ประโยชน์บนที่ดิน 106 ไร่ แต่ถึงอย่างนั้นตัวเลข 106 ไร่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตเยี่ยงอดีต จึงทำให้ขบวนการต่อสู้ต้องดำเนินการต่อไป
(1)
“จุดสูงสุดของเรา ขอแค่ความเป็นธรรมให้เราทำมาหากินได้ตามปกติ อย่างที่บรรพบุรุษเคยสอนไว้ถ้าเราไม่เรียกร้อง จารีตประเพณี คำพูดภาษาของเราก็จะหายไป” แม่ยุพินบอกกับเรา
แม่ยุพินอธิบายความสำคัญของการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงให้ฟังต่อว่า เป็นการสืบทอดสิ่งที่บรรพบุรุษทำมา อีกทั้งยังเป็นการรักษาพืชและสมุนไพรไม่ให้หายสาบสูญไป เพราะพืชไร่บางอย่างที่เป็นยาสมุนไพรจะได้มาตามฤดูกาล ไม่ใช้สารเคมี ปล่อยให้โตตามธรรมชาติ รอน้ำฝนฟ้าอากาศตามฤดูกาล และพืชที่ปลูกในไร่หมุนเวียนจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับคนในชุมชน เช่น บวบงูหรือฟักทอง
“การทำพืชไร่หมุนเวียนจะช่วยลดต้นทุน เราขาดข้าวไม่ได้ คำว่าไร่หมุนเวียนมันคือปัจจัยสี่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์”
เมื่อถามว่า แล้วที่ดินที่ชาวบ้านได้รับจัดสรรจากรัฐมากว่า 106 ไร่นั้นเพียงพอต่อการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตเดิมหรือไม่ แม่ยุพินให้คำตอบว่า จำนวนพื้นที่เท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้ จึงเรียกร้องเพื่อขอจัดสรรที่ดินเพิ่มเป็น 558 ไร่ ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะรอแต่การจัดสรรที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในชุมชนก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน
“เมื่อก่อนนี้พื้นที่ไม่มีเจ้าของ แปลว่าเราจะปลูกพืชตรงไหนก็ได้ แต่ตอนนี้มีการประกาศใช้กฎหมายอุทยานฯ เราก็เลยไม่มีทางออก ทำให้เราต้องปรับตัว ตอนนี้เราก็เลยตั้งเป้าว่า 15 ครอบครัวก็ทำกันไปก่อน ทำเท่าที่มี เพราะมันไม่อิสระเหมือนแต่ก่อนแล้ว เรามีที่น้อยก็ทำน้อย
“ตอนนี้เราสร้างธนาคารข้าว เป็นออมทรัพย์ข้าวในกลุ่มของเรา ทุกเดือนเรามารวมกัน ทำแนวกันไฟร่วมกัน เดือนๆ หนึ่งเราก็ต้องประชุมเพื่อไปดูแนวเขตอะไรอย่างนี้” แกนนำชาวกะเหรี่ยงเล่า
แม่ยุพินยังบอกกับเราต่ออีกว่า การทำไร่หมุนเวียนเป็นชีวิตของชาวกะเหรี่ยง มีความสำคัญถึงขนาดที่ว่า หากต้องเลือกการต่อสู้เพื่อที่ดินกับต้องเลือกแฟน แม่ยุพินของเลือกต่อสู้เพื่อที่ดินเสียดีกว่า เพราะชีวิตจะต้องมีความมั่นคงทางอาหารและที่อยู่อาศัย
“สักวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากกัน แต่ลูกหลานต้องมีอนาคต ต้องสืบทอดจากภูมิปัญญาที่เรามีอยู่ เพราะฉะนั้นที่ดินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่มีที่ดิน เราจะอยู่ที่ไหนไม่ได้ เราก็เลยลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้”
จากการลงพื้นที่ของ The Momentum ครั้งนี้พบว่า ขบวนการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงในลุ่มแม่น้ำตะเพิน ขับเคลื่อน ลุกฮือ และเรียกร้อง ผ่านแกนนำที่เป็นสตรีเพศเสียส่วนใหญ่ เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น-เราถามแม่ยุพิน
แกนนำคนนี้อธิบายว่า ในสมัยก่อนที่มีการเรียกร้อง มีกลุ่มอิทธิพลมืดเข้ามากดกัน ดังนั้นเวลาที่ผู้ชายพูดอะไรที่ไม่เข้าหู บ้างก็จะโดนกระทำ ถูกจับกุมดำเนินคดี หรือบางคนร้ายแรงถึงขนาดโดนลอบยิงเสียชีวิต ครั้งหนึ่งเคยมีหัวหน้าศูนย์พัฒนาชาวเขาต้องระเห็จออกจากพื้นที่ด้วยน้ำตา เพราะสู้ไม่ไหว หลังโดนข่มขู่ว่า “จะออกไปดีๆ จะเอาเงิน หรือจะเอาลูกปืน”
“สุดท้ายเราก็ต้องพยายาม เข้ากับทุกองค์กร ทุกขบวนการ ขอแลกชีวิตด้วยชีวิตให้ลูกหลานได้อยู่อย่างร่มเย็นต่อไป”
หลายครั้งเมื่อมีการพูดถึงการเรียกร้องสิทธิในการใช้ที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ หลายฝ่ายเห็นว่าควรแก้ไขด้วยการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะเปิดทางให้ชุมชนเหล่านี้สามารถกลับมาเข้าถึงที่ดินดั้งเดิมที่เคยอยู่อาศัยมาก่อน ก่อนที่รัฐจะประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนในภายหลัง
จากแนวทางที่ดูจะเป็น ‘ทางออก’ ของปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แม่ยุพินให้ความเห็นไว้ว่า หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวสำเร็จ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การสร้างกฎเกณฑ์ระหว่างอำนาจรัฐ เอกชนและท้องถิ่น ดังนั้นแล้วแกนนำที่เข้าร่วมผลักดัน พ.ร.บ.จะต้องวางกรอบกติกาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งต่อไป
“คนยุคแม่อยากให้จบที่ยุคแม่ ให้ปัญหามันถูกแก้ไขได้สำเร็จ ทำตามกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้อง” แม่ยุพินบอกกับเราเป็นประโยคสุดท้าย
(2)
เมื่อพูดถึง ‘ชาวกะเหรี่ยง’ สิ่งที่ต้องมาคู่กันคือ ‘เสื้อผ้าทอ’ อันเป็นเอกลักษณ์ เพราะการใช้สีที่ได้มาจากธรรมชาติ รวมถึงความหมายโดยนัยที่อยู่ในสิ่งทอนั้น หน่อย-อำพร ปัญญา ชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่วัย 34 ปี เจ้าของฉายาหัวหน้าแก๊งวัยรุ่นในชุมชนที่หลงใหลไปกับการทอผ้า เธอเล่าให้เราฟังว่า ชาวกะเหรี่ยงผู้หญิงจะใส่เสื้อสีตามอายุ โดยเด็กสาวที่มีประจำเดือนจะต้องเปลี่ยนสีเสื้อจาก ‘สีขาว’ เป็น ‘สีแดง’ เพราะเข้าสู่วัยสาว
“การทอผ้าเป็นวัฒนธรรมแม่สอนลูก ถ้าบ้านไหนมีลูกสาว ลูกสาวต้องทอผ้าเป็นทุกคน ซึ่งหน่อยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ถูกสอนมา”
การทอผ้าหรือการย้อมสี อำพรมองว่า เป็นภูมิปัญญาที่มีคุณค่า ส่งต่อจากบรรพบุรุษมาถึงรุ่นปัจจุบัน ทำให้ตนรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ต้องพิทักษ์ ต้องหวงแหน เพราะกว่าจะทอออกมาเป็นเสื้อ 1 ตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“เราอยากแสดงจุดยืนให้ชัดเจนผ่านวิถีชีวิต วิถีการแต่งกาย หรือภาษาของเรา งัดออกมาให้รัฐเห็นว่า สิ่งที่เราพยายาม พวกเราต่อสู้ เพื่อให้คนข้างนอกรับรู้ เขาจะได้รู้ว่าวิถีชีวิตของเราเป็นอย่างไร และอยู่ในกรอบในขนบดั้งเดิมอยู่แล้ว วิถีชีวิตที่เราดำรงอยู่ตรงนี้มันสำคัญ” อำพรกล่าว
หัวหน้าวัยรุ่นประจำชุมชนคนนี้ยังบอกเล่ากับเราอีกว่า การทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงสมัยนี้เริ่มขยับจากการทอใช้เอง เป็นการทอเพื่อการค้าเรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มจากการเป็นวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาปั้นแบรนด์ และเพิ่มมูลค่าให้กับภูมิปัญญาชิ้นนี้
“แล้วการทอผ้ามีความยากง่ายอย่างไร” เราถาม
อำพรให้ความเห็นว่า การทอผ้ามีพื้นฐานลายทั้งหมดอยู่ 3 ลาย ได้แก่ ลายธรรมดา ลายยก และลายจก ซึ่งความยากคือจะผลิตสินค้าออกมาได้ตรงกับความต้องการของตลาดหรือไม่ แต่เชื่อว่าลายพื้นฐานต่างๆ สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเข้ากับแฟชั่นในยุคนี้ได้
“การทอผ้าทำให้เราเห็นว่า อย่างน้อยๆ เรายังอนุรักษ์ความดั้งเดิมของวิถีชีวิตเราอยู่ คือการพึ่งพาป่า และเราอยากให้ทุกคนยอมรับการมีอยู่ของเรา อยากให้ทุกคนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ให้มากขึ้น เราพร้อมและยินดีที่จะให้ข้อมูล เรารับรองว่า คุณจะต้องหลงรักวิถีของเราแน่นอน” อำพรกล่าว
(3)
ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจุดที่พูดคุยกับอำพร เราพบเข้ากับคาเฟ่เล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘มาอยู่ดอย’ ภายในประดับประดาไปด้วยงานศิลปะภาพวาดของเด็กๆ ในชุมชน ด้วยกลิ่นกาแฟคั่วที่ลอยมาเตะจมูก ชวนปลุกร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า ก่อนที่เราจะได้ยินเสียงทักทายอันสดใสของ นกเอี้ยง-จารุวรรณ เมืองแก่น สาวชาวกะเหรี่ยงวัย 30 ปี ที่เบื่อหน่ายจากการทำงานในเมือง และตัดสินใจกลับบ้านมาพักฟื้นหัวใจ
“จริงๆ เราก็ไม่ได้เปิดธุรกิจจริงจังอะไร แต่ตอนที่เราทำงานอยู่ในเมือง เราคิดถึงบ้าน คิดถึงกลิ่นอาย เราเป็นคนชอบป่า เพราะเราผูกพันกับป่ามาตั้งแต่เด็ก เราเลยกลับมาอยู่บ้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตคนเราต้องใช้เงิน เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว แต่เราไม่ชอบทำไร่ โชคดีที่พ่อปลูกกาแฟไว้ตั้งนานแล้ว แต่ไม่มีคนแปรรูป เราก็เลยกลับมาทำลองดู” จารุวรรณอธิบาย
จารุวรรณเล่าให้เราฟังว่า ตนเป็นคนชอบภาษา วัฒนธรรม และการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงมาก จนเป็นเหตุผลให้เด็กๆ ในชุมชนเข้ามาทำงานศิลปะที่คาเฟ่ในช่วงปิดภาคเรียน
“ลึกๆ เรารู้ว่า เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านั้นหายไป แต่เราก็ต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เรายังอยากสืบทอดการพูดภาษากะเหรี่ยง วิธีการแต่งกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทำบ่อยๆ เราจะทำให้เด็กๆ ดูด้วยตัวเอง”
เจ้าของร้านมาอยู่ดอยยังบอกกับเราต่อว่า ประเพณีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงที่พึ่งพากับป่าเป็นสิ่งที่ ‘เจ๋ง’ มาก ตนจึงอยากให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ตลอดไป จารุวรรณเล่าต่อว่า ทุกครั้งที่เห็นการเรียกร้องของแกนนำในชุมชน ตนจะให้กำลังใจการต่อสู้อยู่เสมอ แม้ว่าตนเองไม่ได้เข้าร่วมอย่างจริงจังก็ตาม
“ส่วนตัวเป็นคนชอบงานศิลปะ บ้านของเรามีหลายเรื่องให้ชูจุดเด่นมาก มีเรื่องราวที่เมื่อเล่าให้คนอื่นฟังแล้วเขารู้สึกว่าน่าสนใจ เราอยากเป็นคนที่นำเรื่องราวต่างๆ ของบ้านไปเล่าให้คนอื่นฟังมากกว่า” จารุวรรณทิ้งท้าย
จากเรื่องราวชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่เราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุย ตอกย้ำถึงประโยคที่บอกว่า “กะเหรี่ยงอยู่ที่ไหน ป่าก็อยู่ที่นั่น ป่าอยู่ที่ไหน กะเหรี่ยงก็อยู่ที่นั่น” เพราะทุกองค์ประกอบชีวิตชาวกะเหรี่ยง ทั้งอาหาร เครื่องนุ่มห่ม หรือสิ่งจำเป็นต่อชีวิต ล้วนแล้วออกมาจากป่าทั้งสิ้น
เสียงเรียกร้องชาวกะเหรี่ยงในลุ่มน้ำลำตะเพิน จึงไม่ใช่เป็นเพียงการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินบนที่ดินบรรพบุรุษแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือการรักษาวัฒนธรรมอันสวยงามให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต
Tags: วัฒนธรรม, ชาติพันธุ์, กะเหรี่ยง, ลุ่มแม่น้ำลำตะเพิน, ไร่หมุนเวียน, ผ้าทอ