“สังคมไทยตอนนี้เป็นสังคมที่มี 3 คำสำคัญ คือแก่เยอะ แก่เร็ว แต่แก่ไม่ดี คำว่าแก่เป็นคำที่กระชับเข้าใจง่าย และความจริงเป็นคำที่มีคุณค่ามากที่สุด ความแก่เป็นเรื่องที่ดี และตอนนี้เราทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีจำนวนคนแก่เยอะและแก่เร็ว คือประเทศไทยคนเกิดน้อยมาก เพราะฉะนั้นการพุ่งทะยานของประชากรผู้สูงอายุจึงเร็วมาก แต่กลับแก่ไม่ดี” 

นี่คือคำกล่าวของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐพัชร สโรบล จากภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคมและการพัฒนาชุมชน สาขาเชี่ยวชาญสวัสดิการผู้สูงอายุ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุ ในงานแถลงข่าว KICK OFF โครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

โดยโครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เป็นโครงการที่ใช้องค์ความรู้จากงานศึกษาวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ มาสนับสนุนและแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงวัย เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เป็นที่เรียบร้อยโดยที่หลายคนยังไม่ทันตั้งตัวรับมือกับเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังจะตามมาในหลายประเด็น

อาจารย์ณัฏฐพัชรระบุถึงประเด็นแรกที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยเริ่มมีปรากฏการณ์ Kodokushi (โคโดคุชิ) แบบประเทศญี่ปุ่น คือการตายอย่างไม่ได้รับความสนใจจากใคร ที่มากกว่าการตายลำพัง เพราะเป็นการตายโดยปราศจากการดูแลจากครอบครัวในระยะสุดท้าย ซึ่งในไทยตอนนี้พบว่า มีผู้สูงอายุตายอย่างลำพังในชุมชนมากขึ้น นอกจากจะตายโดยธรรมชาติเพราะสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยแล้ว ยังพบผู้สูงอายุฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตามอง และท้องถิ่นอาจจะต้องเข้ามามีบทบาททำหน้าที่จัดการความตาย

ประเด็นถัดมาคือ ปรากฏการณ์วัย(ควร)เกษียณ ที่ไม่ได้เกษียณครั้งใหญ่ (Great Unretirement) เป็นสิ่งที่ดับฝันหลายคนที่อยากเกษียณ เพราะเกษียณไม่ได้ด้วยปัจจัยแรกคือ การขาดแคลนแรงงาน และสองคือ เรื่องการเงิน ที่บีบให้คนวัย(ควร)เกษียณกลับเข้าไปทำงาน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า Boomerang Generation

ก่อนหน้านี้ พ่อแม่ปู่ย่าตายายเจอกับ สภาวะรังว่างเปล่า (Empty Nest Syndrome) เมื่อลูกหลานเติบโตก็ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตนเอง ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ทันได้เตรียมใจ เมื่อลูกหลานออกไปก็เจอกับภาวะซึมเศร้า แต่ทุกวันนี้กลับกัน เพราะสังคมเจอสถานการณ์ที่บุตรหลานกลับมาอยู่กับครอบครัว เพราะไม่พอใจจะทำงานในระบบบริหารที่ตนไม่พึงพอใจ จึงมาทำธุรกิจกับพ่อแม่ หรือบางคนก็กลับมาอยู่กับพ่อแม่โดยที่ไม่ได้ทำงาน หมายความว่า ผู้สูงอายุจะต้องแบกรับทั้งค่าใช้จ่ายของตัวเอง และของลูกหลานที่เพิ่มขึ้นด้วย

“การที่ครอบครัวกลับมาอยู่พร้อมหน้าเป็นเรื่องดี ตราบใดที่ไม่มีการพึ่งพิงกันทางการเงิน เพราะเมื่อใดก็ตามที่ลูกหลานกลับมาแล้วใช้เงินของพ่อแม่ หมายความว่า พ่อแม่ต้องกลับไปทำงานเพื่อหาเงินดูแลลูกหลาน และเกิดปัญหาความขัดแย้งและอคติต่อวัย (Ageism) ในที่ทำงานตามมา เช่น มีมโอเคบูมเมอร์ (Ok Boomer) ที่คนรุ่นใหม่ล้อเลียนผู้สูงวัยว่าตามไม่ทันโลก รวมถึงคำพังเพย ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ของคนแก่ ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกัน

“ในสังคมที่มีอคติต่อวัยผู้สูงอายุ อาจารย์ต้องการสะท้อนว่า ความจริงแล้วไม่รุนแรงเท่าอคติที่มีต่อวัยตัวเอง (Self-directed Ageism) ทั้งในด้านกายภาพที่มองว่าตนเองถดถอย จนปฏิเสธสิ่งที่เราเคยทำได้ เพราะมองว่าตนแก่ สิ่งนี้คืออคติต่อวัยตัวเอง เมื่อไรก็ตามที่คุณรู้สึกว่า คำว่าแก่เป็นคำลบ นั่นหมายความว่า คุณกำลังมีอคติต่อตนเอง แล้วเราจะปรารถนาให้คนอื่นมองเราในแง่บวกได้อย่างไร ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องสร้างคำว่าแก่ให้มีคุณค่า” อาจารย์ณัฏฐพัชรกล่าว

และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สังคมไทยกำลังเผชิญคือ The Long Goodbye การจากลาที่ไม่ใช่เพราะการเสียชีวิตของผู้สูงวัย แต่คือภาวะสมองเสื่อมที่เหมือนจากกันตลอดกาล

.

ในทัศนะของอาจารย์ยังมองว่า เมื่อเราพูดถึงสังคมสูงวัย คนมักจะมองแค่กลุ่มผู้สูงอายุ แต่ความจริงแล้วสังคมสูงวัยก็มีคนวัยอื่นๆ รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะบุคลากรที่ปฏิบัติงานเพื่อผู้สูงอายุ จึงต้องการผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อกลุ่มคนที่ดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ หรือคนที่ทำอาชีพเป็นผู้ดูแล ในด้านสวัสดิการสังคม เช่น วันลาหยุดงาน หรือเบี้ยเลี้ยง เพื่อให้สะดวกเมื่อต้องพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล และส่งเสริมให้มีแรงใจในการใช้ชีวิตต่อไป

ในขณะเดียวกันทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คาดการณ์ว่า ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ประชากรไทยราว 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 20 ล้านคนจะเป็นผู้สูงอายุ เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อัตราการเกิดใหม่ลดต่ำลง ประเทศไทยก็จะมีประชากรวัยทำงานน้อยลงตาม หากวิเคราะห์กันตามสถิติ ในอนาคตอีก 10-15 ปีข้างหน้า นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่โลกของการทำงาน จะต้องเหนื่อยกว่าคนในปัจจุบันมาก เพราะจากสัดส่วนประชากรบ่งชี้ว่า นอกจากจะต้องดูแลชีวิตของตัวเองแล้ว ยังจะต้องหารายได้สำหรับดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงการทำหน้าที่พลเมืองอย่างการจ่ายภาษีให้กับภาครัฐ 

“ความตาย ทุกคนไปถึงแน่นอน แต่ความแก่ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสได้แก่ แต่ในเมื่อมีโอกาสแก่แล้ว ต้องแก่ให้ดี” จากคำกล่าวของอาจารย์ณัฏฐพัชร เชื่อมโยงสู่การทำงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ 

นอกจากการทำงานส่งเสริมสุขภาพกับชุมชนในหลายชุมชน ธรรมศาสตร์ยังมีสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ที่เปิดโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ หลักสูตร LIFETIME PROGRAM การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเป็นรุ่นที่ 14 แล้ว โดยอาจารย์ไพลวรรณกล่าวว่า เป็นโครงการหนึ่งที่ใช้ความร่วมมือในทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์

รวมไปถึงศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่แสดงถึงความพร้อมในการให้บริการสุขภาพกับประชาชน เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลก่อนจะกลับไปสู่ชุมชน โดยรูปแบบการให้บริการมี 3 แบบ ได้แก่ รูปแบบการดูแลระยะกลาง มีหน้าที่เพื่อดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ได้รับการรักษาผ่าตัดจนพ้นวิกฤตแล้ว แต่ยังต้องการการฟื้นฟูเพื่อให้มีความพร้อมก่อนจะกลับไปอยู่ที่บ้านได้อย่างปลอดภัย, การดูแลในระยะยาว สำหรับทั้งผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และอีกรูปแบบคือ การดูแลในระยะสุดท้าย ที่ประชาชนสามารถมาใช้บริการได้ 

เช่นเดียวกับที่ รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวเสริมถึงรายละเอียดของ TU Care & Ageing Society ว่า ในปี 2568 ซึ่งเป็นเฟสแรกของการดำเนินโครงการ ธรรมศาสตร์จะทำงานร่วมกับจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยจับมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กำหนดพื้นที่แซนด์บ็อก (Sandbox) แสวงหาความต้องการตลอดจนหา Pain Point การดูแลผู้สูงอายุระดับชุมชน จากทั้งผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าและชุมชน จากนั้นจะนำความต้องการดังกล่าวเข้าสู่เวทีสนทนานโยบาย หรือ Policy Dialogue เพื่อตกผลึกเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับ อบจ.ปทุมธานี และเป็นโจทย์ให้ธรรมศาสตร์นำทรัพยากรเข้าไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่อไป

รวมถึงการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ธรรมศาสตร์จะนำองค์ความรู้ คณาจารย์ และงานวิจัย เข้าไปสร้างคน กล่าวคือจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในจังหวัดปทุมธานี ในการดูแลผู้สูงอายุ เสริมทักษะให้กับผู้ที่มีบทบาทดูแลผู้สูงอายุในชุมชนโดยตรง เช่น Caregiver และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนการให้องค์ความรู้ การเตรียมความพร้อมสำหรับดูแลผู้สูงอายุพื้นฐานให้กับประชาชนในชุมชน ด้วยหลักสูตรที่กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ออกแบบ

การดูแลฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในด้านกายภาพ ธรรมศาสตร์พยายามที่จะนำนวัตกรรมฟื้นฟูร่างกายลงไปในพื้นที่ชุมชนให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ระบุว่า

“ผู้สูงวัยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองถึง 60-70% ที่พิการถาวร และต้องการความช่วยเหลือกว่าผู้สูงอายุทั่วไป ซึ่งเขาต้องการจำนวนครั้งที่สม่ำเสมอในการทำกายภาพบำบัด ถึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนปกติ ฉะนั้นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้สูงอายุชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งข้อได้เปรียบของการฟื้นฟูในชุมชน ได้แก่ สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีค่าเดินทางไปฟื้นฟูที่ต่ำ ไม่จำเป็นต้องปิดเปิดตามเวลาราชการ บรรยากาศการฟื้นฟูเป็นกันเอง เพราะคนรู้จักกันในชุมชน ทั้งยังสามารถติดตามผลการฟื้นฟูได้อย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลก็คือ ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และขาดนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับชุมชน

อาจารย์บรรยงค์กล่าวต่อไปว่า นวัตกรรมถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตามโจทย์ของแต่ละพื้นที่ อุปกรณ์ที่ผลิตจากลักษณะทางกายภาพของชาวตะวันตก ก็อาจใช้ไม่ได้ประสิทธิภาพเมื่อใช้กับกับรูปร่างคนเอเชีย นี่คือโจทย์หนึ่งของเรา และนวัตกรรมต้องมีระบบติดตามผลแบบ IoT (Internet of Things) เพราะนักกายภาพบำบัดไม่ได้เข้ามาในชุมชนทุกวัน และคนที่ทำหน้ากายภาพบางครั้งก็เป็น อสม.ที่ไม่ได้เทรนมาทางด้านฟื้นฟูกายภาพโดยตรง ดังนั้นจึงต้องการนวัตกรรมที่ใช้งานได้และดูแลรักษาง่าย อีกหนึ่งสิ่งคือราคาเป็นปัจจัยสำคัญ นี่คือเงื่อนไขของธรรมศาสตร์ 

อย่างไรก็ตาม ธรรมศาสตร์มีนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น ประเภทเครื่องฟื้นฟู่ร่างกายส่วนล่าง (Lower Limb Rehab Innovation) อย่างเครื่อง Standing Wheelchair, Sit2Stand Trainer, I-walk และ Space Walker ซึ่งผ่านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ และผ่านการใช้งานประโยชน์จริงเป็นวงกว้างแล้ว

ในส่วนสุดท้าย รองศาสตราจารย์ ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงงานวิจัยเพื่อสังคมสูงวัยของธรรมศาสตร์ว่า

สังคมของเรากำลังขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเราไม่ได้อยู่ในระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว หมายความว่า ทางภาครัฐจะมีมากขึ้นมากมายมหาศาล เราจึงมีอุปสรรคที่จะพึ่งพาภาครัฐเพียงอย่างเดียวเพื่อขับเคลื่อน บรรเทาและแก้ไขสังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นที่มาของทิศทางนโยบายของอธิการบดีที่ว่า ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมที่จะผลักดันเรื่องเหล่านี้ ต้องถ่ายทอดงานวิจัยไปสู่สังคม

เพื่อสนับสนุนนักวิจัยในการดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ยังคงออกแบบการสนับสนุนผ่านการจัดตั้งศูนย์วิจัย และศูนย์แห่งความเป็นเลิศต่างๆ ปัจจุบันนี้เรามีศูนย์ความเป็นเลิศทั้งหมด 20 ศูนย์ และศูนย์วิจัยทั้งหมดประมาณ 80 ศูนย์ ในจำนวนนี้มีหลายศูนย์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยด้านการออกกำลังกายและโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จากคณะแพทยศาสตร์ หรือหน่วยวิจัยด้านการดูแลประคับประคองสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุของคณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยไปพร้อมกับขับเคลื่อนทางด้านการบริการสังคม โดยมีเป้าหมายในการนำงานวิจัยออกไปสร้างประโยชน์ต่อชุมชนให้ได้มากที่สุด

 

ภาพ: Thammasat University

Tags: , , ,