วันนี้ (24 เมษายน 2025) แหล่งข่าวภายในรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้นำสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า บุคลากรในคณะรัฐมนตรีเตรียม ‘จำกัด’ อิทธิพล DOGE (Department of Government Efficiency) พร้อมควบคุมงบประมาณและนโยบายด้านบุคลากร หลัง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีและคนใกล้ตัวทรัมป์ ประกาศกลับไปทำงานที่ Tesla เต็มตัว
DOGE ก่อตั้งตามคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) ของทรัมป์และนำโดยมัสก์ โดยมีอำนาจตัดสินใจในหลายเรื่อง เช่น การเลิกจ้างพนักงานของรัฐ ระงับความช่วยเหลือระหว่างประเทศภายใต้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (U.S. Agency for International Development: USAID) จนถึงการวางแผนปฏิรูประบบราชการของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ จนทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่กับคณะรัฐมนตรี ที่แสดงให้เห็นความไม่ลงรอยภายในกลุ่มก้อนของทรัมป์
เหล่านี้สะท้อนจากการรายงานของสำนักข่าว New York Times ในหลายเดือนที่ผ่านมาว่า มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีปากเสียงกับมัสก์กลางทำเนียบขาว โดยกล่าวหาว่ามหาเศรษฐีบ่อนทำลาย USAID ขณะที่ ฌอน ดัฟฟี (Sean Duffy) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ มีปากเสียงกับมัสก์ จากข้อเสนอให้เลิกจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางด้านการบิน
อย่างไรก็ตามในช่วงต้นสัปดาห์นี้ เศรษฐีเจ้าของ Tesla ประกาศว่า ตนจะค่อยๆ ลดบทบาทใน DOGE และกลับไปดูแลบริษัทของตนเองในเดือนหน้า หลังกำไรไตรมาสแรกของ Tesla ดิ่งลงมากกว่า 2 ใน 3 ของกำไรทั้งหมด ขณะที่มีกระแสต่อต้านพร่ำบ่นจากนักธุรกิจว่า มัสก์สนใจงานบริหารราชการแผ่นดินเกินไป จนส่งผลกระทบต่อยอดขายและราคาหุ้น พร้อมมีผู้ให้คำแนะนำว่า เขาควรจะเลือก ‘ลาออก’ จากตำแหน่ง CEO หรือ ‘หันหลัง’ ให้กับบทบาทของตนเองในรัฐบาลทรัมป์
“ผมคิดว่า ผมจะใช้เวลาดูแลงานของรัฐบาลสัก 1 หรือ 2 วันต่อสัปดาห์ แต่จะเริ่มภายในเดือนหน้า ผมจะให้เวลากับเทสลามากขึ้น” มัสก์เผย
จากการรายงานของ Reuters แหล่งข่าว 2 รายที่ไม่เปิดเผยตัวตนระบุว่า การที่มัสก์เริ่มถอยห่างจากทรัมป์ จะเป็นประโยชน์กับคณะรัฐมนตรีในการรื้อฟื้นอำนาจควบคุมงบประมาณและการตัดสินใจอย่างปราศจากอิทธิพลของมหาเศรษฐี โดยบุคลากรภายในจะรื้อแผนใหม่ทั้งหมด เพื่อ ‘ลด’ งบประมาณ แทนที่จะเป็นการ ‘ตัด’ ทุกอย่างดังที่มัสก์เคยทำ ขณะที่หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งในการพิจารณาประเด็นเพื่อประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย
ส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การลดอิทธิพลของ DOGE เพราะที่ผ่านมา การตัดสินใจใดๆ ต้องผ่านพนักงานในหน่วยงานที่จ้างโดยมัสก์ ซึ่งเป็นกลุ่มวิศวกรน้องใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มากพอ และไม่เกี่ยวข้องในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจยิ่งขึ้นในหมู่ข้ารัฐการมืออาชีพ
อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสัน ฟิลด์ (Harrison Fields) โฆษกทำเนียบขาวออกมาคัดค้านแนวคิดที่ว่า อิทธิพลของ DOGE จะลดลงหากไร้มัสก์ โดยอ้างว่า หน่วยงานดังกล่าวถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นเอกเทศจากคณะรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล อีกทั้งยังจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ และ DOGE จะทำงานเหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้กำลังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้วิสัยทัศน์ของทรัมป์
อ้างอิง
Tags: อีลอน มัสก์, Donald Trump, สหรัฐอเมริกา, เทสลา, โดนัลด์ ทรัมป์, สหรัฐฯ, ทรัมป์ 2.0