วันนี้ (21 เมษายน 2568) ที่ทำการพรรคประชาชน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน เปิดเผยถึงการดำเนินการภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 โดยทางพรรคประชาชนได้มีการหารือและตัดสินใจดำเนินการ 3 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการอภิปราย

วิโรจน์เปิดเผยถึงกรณีแรกคือ ‘การใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน’ (Promissory Note: P/N) ของนายกฯ จำนวน 9 ฉบับ สร้างกระบวนการให้ดูเสมือนว่า เป็นการซื้อหุ้นจากบุคคลในครอบครัวและเครือญาติ มูลค่ารวม 4,434.5 ล้านบาท ทำให้พฤติการณ์ดังกล่าวถูกตั้งข้อสงสัยว่า เจตนาที่แท้จริงเป็นการ ‘หลีกเลี่ยง’ ภาษีการรับให้หรือไม่

วิโรจน์ยังระบุต่อไปว่า หากพิจารณาพฤติการณ์ดังกล่าวอย่างสุจริต ตนมองว่า ประชาชนเข้าใจได้ว่าเป็นการกระทำนิติกรรมอำพราง เป็นเพียงการสร้างพฤติกรรมการขายแต่เพียงรูปแบบขึ้นมาเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีรับใช้มูลค่า 218.7 ล้านบาท ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐอีกด้วย

โดยในประเด็นนี้ รองหัวหน้าพรรคประชาชนได้ยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาเทียบเคียง นั่นคือกรณี ‘Estate of Maxwell v. Commissioner’ เมื่อปี 1993 ศาลภาษีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีวินิจฉัยให้กรมสรรพากรชนะคดี โดยวางหลักเกณฑ์สากลไว้ว่า “หากตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ชัดเจน ไม่มีหลักฐานว่าจะตั้งใจในการชำระหนี้ และมีอัตราดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขการซื้อขายหุ้นที่เบี่ยงเบนไปจากธุรกรรมการค้าโดยทั่วไป ศาลฯ จะถือว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นการสร้างหนี้ที่แท้จริง แต่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้”

จากกรณีที่เกิดขึ้น วิโรจน์กล่าวว่า พรรคประชาชนได้ยื่นหนังสือถึง ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เพื่อขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้วินิจฉัยกรณีของนายกฯ ว่า การซื้อหุ้นจากบุคคลในครอบครัวและเครือญาติผ่านตั๋ว P/N เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อเลี่ยงภาษีการรับให้หรือไม่

“พรรคประชาชนเชื่อว่า หากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความสุจริตและกล้าหาญที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยวินิจฉัยสอดคล้องกับหลักสากลตามที่หลายประเทศที่วางหลักเอาไว้ เราเชื่อว่า พฤติกรรมดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี คงจะต้องติดตามการชำระภาษีย้อนหลัง พร้อมดำเนินการแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป”

ขณะที่กรณีที่ 2 ‘โฉนดที่ดิน 4 แปลง ที่ตั้งโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่’ (Thames Valley Khao Yai) วิโรจน์ระบุว่า แม้ว่าที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ตามประกาศคณะปฏิวัติเมื่อปี 2515 จะประกาศให้มีการใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นนิคมสร้างตนเองลำตะคอง แต่ประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหายกเลิกหรือแก้ไข มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2514 แต่อย่างใด พรรคประชาชนจึงยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสถานะเป็นที่ดินที่ ครม.สงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งห้ามออกโฉนดโดยเด็ดขาด

อีกทั้งเมื่อพิจารณามติของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติปี 2527 ที่กรมที่ดินนำมาอ้างว่า เห็นชอบให้กรมประชาสงเคราะห์อนุญาตให้ราษฎรครอบครอง เพื่อทำประโยชน์ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 แต่มติของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติระบุไว้ชัดเจนว่า “อนุญาตให้ครอบครองเพื่อทำประโยชน์ แต่ไม่ใช่การให้กรรมสิทธิ์แต่อย่างใด”

รองหัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากเหตุผลทั้งหมดจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การออกโฉนดทั้ง 4 ฉบับซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรม Thames Valley Khao Yai เป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้พรรคประชาชนได้ยื่นหนังสือต่อ พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนโฉนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทางพรรคจะติดตามการดำเนินการต่อไป

สำหรับกรณีที่ 3 อย่างข้อสงสัยที่มีต่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บิดาของแพทองธาร ว่าได้รับอภิสิทธิ์เหนือผู้ต้องขังรายอื่นหรือไม่ วิโรจน์ระบุว่า เมื่อสังคมมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งข้อสงสัยถึงความไม่สมเหตุสมผล ความไม่สอดคล้องบริบทโดยรอบในการได้รับสิทธิการรักษาของทักษิณ แทนที่นายกฯ จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงต่อสาธารณะด้วยความโปร่งใส กลับบ่ายเบี่ยงซ่อนเร้นข้อเท็จจริง ปล่อยให้ความคลุมเครือยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อหลักนิติรัฐและความเสมอภาคของกฎหมาย

จากพฤติการณ์ดังกล่าว พรรคประชาชนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 172 ของพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งระบุถึงเจ้าพนักงานของรัฐที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และผิดตามมาตรา 11 (1) ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยไม่ได้สั่งการให้สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมราชทัณฑ์​ โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลของเรือนจำ

ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ได้มอบหมายให้ รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ ดำเนินการร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนต่อไป

ขณะเดียวกันวิโรจน์เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ถึงข้อเรียกร้องให้พรรคประชาชนดำเนินการเอาผิดด้านจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยระบุว่า พรรคไม่เห็นด้วยที่ต้องให้กลุ่มบุคคลใดจากมรดกบาปของการทำรัฐประหาร ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มาเป็นผู้ชี้นิ้วให้นายกฯ ออกจากตำแหน่ง เพราะจะเป็นการทำลายเกียรติภูมิของตำแหน่งนายกฯ

“พรรคประชาชนยืนยันว่า เราจะไม่ใช้กลไกที่เราไม่ยอมรับในความชอบธรรม จัดการกับสิ่งที่ไม่ชอบธรรมอย่างเด็ดขาด เพราะหากเราทำเช่นนั้น บ้านเมืองจะติดอยู่ในวังวนของนิติสงครามที่คณะรัฐประหารได้วางไว้ และประเทศชาติจะไม่สามารถกลับสู่ความเป็นนิติรัฐได้อีกเลย” วิโรจน์ระบุ

พรรคประชาชนจึงเรียกร้องให้ นายกฯ สำนึกในความดีความชั่วของตน และแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ในขณะที่ยังรักษาเกียรติภูมิของผู้นำประเทศเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องรอให้กลุ่มบุคคลใดมาชี้หน้ากล่าวหาว่า ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จนถูกไล่ออกจากตำแหน่ง เหมือนทรชนที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

Tags: , , , , , , ,