ดูท่าว่าจะจบยากเสียแล้ว สำหรับมหากาพย์ ‘กาแฟซอง’ ซึ่งปมขัดแย้งระหว่าง 2 ผู้ร่วมหุ้นในบริษัทผู้ผลิตเนสกาแฟ (NESCAFÉ) อย่าง บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ที่มีเนสท์เล่ (Nestlé) และตระกูลมหากิจศิริ เป็นผู้ถือหุ้น 50:50

ปมความขัดแย้งครั้งนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2564 ที่เนสท์เล่ บริษัทแม่ของแบรนด์ NESCAFÉ แจ้งยุติสัญญาที่ให้บริษัท QCP ผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นมา โดยมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายตามคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากล

ทำให้ เฉลิมชัย มหากิจศิริ ผู้ถือหุ้นร้อยละ 41.8 ในบริษัท QCP ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งในเวลาต่อมาศาลฯ ได้สั่งห้ามไม่ให้ ‘เนสท์เล่’ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปโดยใช้เครื่องหมายการค้าเนสกาแฟ

ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน 2568 ฝั่งของเนสท์เล่ก็ได้รวบรวมข้อมูลจากร้านค้าต่างๆ และยื่นคัดค้านคำสั่งของศาลแพ่งมีนบุรี และอ้างศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่ออกมาในวันที่ 11 เมษายน 2568 โดยระบุว่า เครื่องหมายการค้า NESCAFÉ นั้นเป็นของเนสท์เล่แต่เพียงผู้เดียว ทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาผลิตและจำหน่ายเนสกาแฟได้ตามปกติ

ล่าสุดวันนี้ (17 เมษายน 2568) ฝั่งของ ‘เนสท์เล่’ ก็ได้ออกมาทำการสื่อสารต่อสาธารณะอีกครั้ง โดยยก 7 เหตุผลมาประกอบการอธิบาย ซึ่ง The Momentum ได้สรุปสาระสำคัญออกมา ดังนี้

1. เนสท์เล่เป็นเจ้าของแบรนด์ NESCAFÉ โดยเนสท์เล่ได้ร่วมลงทุนกับประยุทธ มหากิจศิริ ทำโรงงานบริษัท QCP เพื่อผลิต NESCAFÉ ในประเทศไทย โดยประยุทธและครอบครัวได้ถือหุ้นครึ่งหนึ่งและเนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่งของบริษัทฯ และเป็นผู้บริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดเองในประเทศไทย ซึ่งทั้งสูตรกาแฟและเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นของเนสท์เล่ทั้งหมด

เมื่อบริษัท QCP หมดอายุสัญญากับเนสท์เล่ เนสท์เล่ก็ไม่ได้ต่อสัญญา เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ศาลอนุญาโตตุลาการสากลตัดสินว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุนถูกต้องแล้ว แต่ฝั่งของเฉลิมชัยและครอบครัวกลับฟ้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี โดยที่เนสท์เล่ยังไม่ได้นำเสนอพยานหลักฐาน รวมถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง จนกระทั่งมีคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

2. หลังจากนี้เนสท์เล่จะทำทุกวิถีทางทางกฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้บริโภค และเกษตรกรมั่นใจว่า จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ถือหุ้นบริษัท QCP

3. ในกรณีของคำสั่งของศาลแพ่งมีนบุรีที่สั่งสั่งห้ามเนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป เนสท์เล่ยึดตามคำตัดสินล่าสุดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ยืนยันว่า “เครื่องหมายการค้า NESCAFÉ นั้นเป็นของเนสท์เล่แต่เพียงผู้เดียว” ทำให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

4. ในประเด็นคำถามของสังคมที่มองว่า เนสท์เล่จะลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในประเทศไทย เนทส์เล่แถลงการณ์ว่า มีความมุ่งมั่นที่จะผลิต NESCAFÉ ในประเทศไทยต่อไป แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ณ ขณะนี้

5. สำหรับเหตุผลที่บริษัท QCP ไม่สามารถผลิต NESCAFÉ ได้อีก เนสท์เล่ระบุว่า เป็นเพราะสัญญาระหว่างเนสท์เล่และบริษัท QCP สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิผลิตผลิตภัณฑ์ของ NESCAFÉ ได้อีกต่อไป และหลังจากนั้นเนสท์เล่ได้จัดหาผลิตภัณฑ์ NESCAFÉ เพื่อทดแทนต่อความต้องการ โดยว่าจ้างผู้ผลิตในประเทศไทย พร้อมทั้งนำเข้าชั่วคราว จนกว่าเนสท์เล่จะผลิตได้เองอีกครั้ง

จากคำแถลงการณ์ของเนสท์เล่ที่ออกมานั้น ทำให้ฝั่งของ ‘ตระกูลมหากิจศิริ’ ออกมาชี้แจงโต้เป็นรายข้อในวันเดียวกัน โดยชี้แจ้งสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ในประเด็นจากข้อที่ 1 ถึงแม้สูตรกาแฟและเทคโนโลยีการผลิตจะเป็นของเนสท์เล่เองทั้งหมด แต่ก็เป็นเงินที่บริษัท QCP จ่ายให้กับเนสท์เล่เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทตลอดเวลาที่ผ่านมา อีกทั้งการยกเลิกสัญญาร่วมทุน เป็นการยกเลิกสัญญากับประยุทธ ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 3 ของบริษัทฯ เพียงคนเดียว ไม่มีผลผูกพันกับบริษัท QCP

“สิ่งที่เนสท์เล่พาดพิงจากข้อพิพาทกับคุณประยุทธ์ในเรื่องเลิกสัญญานี้ จึงเป็นการบิดเบือนอย่างไม่น่าให้อภัย เพื่อปกป้องคุ้มครองความถูกต้อง เฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัว จึงฟ้องคดีต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อคุ้มครองและขอความเป็นธรรม

“ยิ่งกว่านั้น เนสท์เล่ไม่เคารพคำสั่งศาลไทย โดยมีการดิ้นรนด้วยความโลภ และไปฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 และมีการบิดเบือนเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดอีกว่า ให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟได้ตามปกติ (ซึ่งศาลท่านไม่ได้มีคำสั่งเช่นนั้น)”

ประเด็นจากข้อที่ 2 ตระกูลมหากิจศิริมองว่า เนสท์เล่มุ่งทำทุกวิถีทางในทางกฎหมาย เพื่อให้มากอบโกยผลประโยชน์จากประเทศไทย โดยการนำเข้ากาแฟจากต่างชาติมาขายในประเทศไทยก่อน เพื่อผลประโยชน์เข้าเนสท์เล่คนเดียว 100% ได้ทันที

ในประเด็นจากข้อที่ 3 ที่เนสท์เล่ยึดมั่นคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ยืนยันว่า “เครื่องหมายการค้า NESCAFÉ นั้นเป็นของเนสท์เล่แต่เพียงผู้เดียว” ผู้ถือหุ้นตระกูลมหากิจศิริกล่าวว่า คำชี้แจงดังกล่าวเป็นการบิดเบือนอย่างน่าละอายใจ ถือเป็นการบิดเบือนของเนสท์เล่และไม่เคารพคำสั่งศาลด้วย

ขณะที่ประเด็นจากข้อที่ 4 ที่มีคำถามจากสังคมว่า เนสท์เล่จะตั้งโรงงานผลิตเองนั้น ตระกูลมหากิจศิริโต้ว่า เป็นเพราะทางเนสท์เล่กำลังหาช่องทางเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งหมดเป็นเนสท์เล่

สำหรับประเด็นข้อสุดท้ายที่เนสท์เล่กล่าวถึงสาเหตุที่บริษัท QCP ไม่สามารถผลิต NESCAFÉ ได้อีก ตระกูลมหากิจศิริระบุว่า เป็นการบิดเบือนความจริงที่กล่าวมาแล้ว

“ที่เลวร้ายที่สุด เนสท์เล่ต้องการทำลายธุรกิจกาแฟที่ครอบครัวมหากิจศิริสร้างมากว่า 50 ปีให้กลายเป็น 0 ทั้งๆ ที่เนสท์เล่ก็ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย 50% เพื่อมุ่งผลประโยชน์โดยการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมาจำหน่ายแทน เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปเป็นของเนสท์เล่ฝ่ายเดียว 100% ถือเป็นการรังแกคนไทย เอาเปรียบคนไทย และไม่ชอบธรรม ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง

“ในกรณีนี้เนสท์เล่เลิกสัญญาแล้วต้องการฆ่าลูกทิ้ง โดยมีการไปฟ้องให้บริษัท QCP ล้มละลาย เป็นการทำลายทรัพย์สินของคนไทย ทั้งๆ ที่บริษัท QCP มีทรัพย์สินอยู่ร่วมหมื่นกว่าล้านบาท และมีเงินสดอยู่กว่า 5,000 ล้านบาท จะฟ้องให้บริษัท QCP ล้มละลายได้อย่างไร ถือเป็นการจงใจกลั่นแกล้งบริษัทในประเทศไทย” ฝั่งตระกูลมหากิจศิริชี้แจง

สำหรับกระบวนทางการกฎหมายระหว่าง 2 ฝ่ายหลังจากนี้ ศาลแพ่งมีนบุรีได้นัดฟังคำสั่งประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หรือนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ฉบับวันที่ 11 เมษายน 2568 โดยนัดพร้อมกัน วันที่ 20 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 น. ตามที่คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายมีวันว่างตรงกัน

Tags: , , , , ,