ผมกับภรรยาพาลูกชายวัย 5 ขวบ เลาะเลียบไปตามถนนธนะรัชต์ ก่อนที่เจ้า Google Maps จะพาเราออกจากถนนสายหลักแล้วเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ เพื่อไปยัง Khao Yai Art Forest พื้นที่แสดงศิลปะจัดวางท่ามกลางธรรมชาติ ระหว่างทางไม่มีป้ายบอกข้อมูลใดๆ ฟ้าเริ่มขมุกขมัวครึ้มฝนตอนที่เราเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ ที่เปลี่ยนจากถนนลาดยางเป็นดินแดง สองข้างทางมีเพียงไร้มันสำปะหลังที่ชูไสวรอให้เก็บเกี่ยว ไม่มีรถคนไหนสวนออกมาจนเราอดคิดไม่ได้ว่า ถูกเจ้า Google หลอกหรือเปล่า

และแล้วเราก็เจอป้ายใหม่เอี่ยมสลักว่า Khao Yai Art Forest พร้อมกับพี่พนักงานที่มาทักทายเราอย่างเป็นมิตร แต่การเดินทางของเรายังไม่สิ้นสุด เพราะต้องเลาะเลียบเนินเขาไปบนถนนดินแดงอีกประมาณ 10 นาที ก่อนจะพบกับลานจอดรถที่ยังสร้างไม่เสร็จดี แม้จะเตรียมใจมาบ้างว่าหลายอย่างอาจไม่เรียบร้อยเพราะที่นี่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าสถานที่ยังไม่พร้อมนัก เมื่อเทียบกับการเก็บค่าบัตรเข้าชมในราคาหัวละ 500 บาท

หากตัดความขลุกขลักเรื่องการเดินทางและที่จอดรถออกไป ทางเข้าสู่ Khao Yai Art Forest นับว่าน่าประทับใจไม่น้อย เพราะเป็นอุโมงค์ผ่านเนินเขาเตี้ยๆ ที่ราวกับจะนำพาเราเข้าไปยังโลกอีกใบหนึ่ง

ออกสำรวจ ‘ศิลป่า’

เมื่อพ้นอุโมงค์ออกมาเราก็เจอศาลาขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ประจำ Khao Yai Art Forest เดินมาต้อนรับเราอย่างเป็นมิตรพร้อมกับโบรชัวร์และแผนที่ อากาศร้อนอบอ้าวในช่วงปลายฤดูหนาวทำให้เราอยากจิบน้ำเย็นๆ ผมฟังคำอธิบายแบบผ่านๆ ขณะเฝ้าลูกชายที่เริ่มเดินซุกซน เป้าหมายแรกของเราคือ Khao Yai Fog Forest ประติมากรรมหมอกโดย ฟูจิโกะ นากายะ (Fujiko Nakaya) ที่จะเปิดแสดงเพียงรอบเดียวตอน 16.00 น. ในวันธรรมดา โดยเจ้าหน้าที่แนะนำว่า ให้เดินผ่าน ‘จอ’ เลาะเลียบไปตามทางดิน

เมื่อพลิกไปดูนาฬิกา เรามีเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก่อนที่การแสดงหมอกกลางป่าจะเริ่มขึ้น สามพ่อแม่ลูกจึงคว้าแผนที่แล้วออกเดินทางด้วยความเร็วระดับเต่าคลาน ระยะทางประมาณ 700 เมตรผ่านไปอย่างเชื่องช้าจากอากาศที่เหนียวเหนอะ และพื้นที่ฉ่ำแฉะจากฝนที่เพิ่งตกลงไม่นาน เราเลาะเลียบผ่าน ‘จอ’ ผลงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า The Two Planets Series โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ผลงานวิดีโอกึ่งตลกร้ายที่ถ่ายทอดความพยายามของชาวบ้าน ชาวนา ช่าง และพระ ที่จะผลิตซ้ำผลงานระดับปรมาจารย์ของศิลปินชิ้นเอก น่าเสียดายที่มันถูกทิ้งไว้กลางป่าอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีผู้ชม

การเดินคงจะรื่นรมย์มากกว่านี้หากเราเตรียมตัวกันมาล่วงหน้า แต่น่าเสียดายที่เว็บไซต์ Khao Yai Art Forest ให้ข้อมูลกับเราอย่างจำกัดจำเขี่ย เรารู้ว่างานแสดงศิลปะจัดวางมักจะต้องเดินพอประมาณ แต่ไม่คิดว่าแต่ละชิ้นงานจะไกลกันขนาดนี้ ยิ่งพอเห็นว่าเป็นทางที่ต้องเดินขึ้นเขา ลูกชายก็เริ่มงอแง แต่โชคดีที่มี ‘พระเอก’ ขับรถกอล์ฟสีขาวมาใกล้ๆ เราจึงขอติดรถขึ้นไปยังจุดหมายปลายทาง

บริเวณผลงาน Khao Yai Fog Forest เป็นเพียงเนินทุ่งหญ้าแสนธรรมดาที่โอบล้อมด้วยผืนป่าเขียวของเขาใหญ่ ผมมองเห็นนักท่องเที่ยวอยู่บ้างประปราย แต่ที่สะดุดตาคือรถกอล์ฟที่จอดอยู่เรียงราย ดังนั้นครอบครัวเราจึงไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ ‘เดินไม่ไหว’ เพราะไม่ได้เตรียมตัวและเตรียมใจมาล่วงหน้า

เรากล่าวขอบคุณพี่คนขับรถก่อนจะก้าวลงไปวิ่งเล่นบนทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ ไม่นานเสียงเครื่องจักรก็ดังก้องผืนป่า ประดับทุ่งหญ้าโล่งกว้างด้วยหมอกสีขาวสะอาด

ผลงานศิลปะภูมิทัศน์หมอกถือเป็นชิ้นงานลายเซ็นของนากายะ เธออธิบายว่า หมอกสีขาวเปลี่ยนภูมิทัศน์ที่นิ่งงันให้มีชีวิตชีวา และหมอกสีขาวคือสื่อกลางที่ทำให้เราสัมผัสสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นลม อุณหภูมิ ความชื้น และแรงกดอากาศ ผลงานศิลปะชิ้นนี้จึงวูบไหวและไม่ซ้ำเดิมในแต่ละวัน

การได้อยู่ในม่านหมอก ได้วิ่งเล่นไปตามเนินคลื่นที่กลายสภาพเป็นม่านสีขาวสะอาด การได้มองแสงอาทิตย์เล่นล้อกับภูมิทัศน์ที่ลื่นไหลนี้เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย แม้เป็นศิลปะที่จำลองขึ้นมา แต่ประสบการณ์นี้ก็ชวนให้ผมคิดถึงวันวานที่เคยไปลุยขึ้นไปบนภูกระดึงและต้องเดินฝ่าก้อนเมฆ

เมื่อการแสดงจบลง เนินหญ้าก็กลับมานิ่งงันอีกครั้ง เรากางแผนที่ Khao Yai Art Forest แล้วอดท้อใจไม่ได้ เพราะที่เราเดินมานั้นยังไม่ถึง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด หากต้องการรับประสบการณ์แบบเต็มๆ เราอาจต้องเดินขึ้นเขาแล้วกลับลงมาซึ่งกะระยะทางคร่าวๆ ก็ราว 2-3 กิโลเมตร ระหว่างที่กำลังลังเลว่าจะเอาอย่างไรต่อ เราก็ได้รับคำเชิญให้ไปนั่งที่บาร์ไม้ไผ่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่ที่เรายืนอยู่

มุ่งหน้าสู่ยอดเขา

พอได้รับเครื่องดื่มเย็นๆ ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวก็พอจะช่วยให้เราสดชื่นขึ้นบ้าง โดยเฉพาะเด็กชายที่เหงื่อแตกพลั่กจากการวิ่งเล่นในหมอก แต่ได้โค้กแกล้มด้วยเลมอนฝานก็ดูจะอารมณ์ดีแบบเต็มพิกัด แม้จะบ่นไม่หยุดว่าอยากกลับไปเล่นที่โรงแรมแล้วก็ตาม

ผมกับภรรยากางแผนที่ดูอีกครั้ง เราทำใจว่าไม่มีทางที่จะเดินขึ้นไปถึงยอดเขาแน่นอน แต่ตัวผมเองก็ยังอยากเห็นผลงานที่อยู่บนยอดเขาที่โอบล้อมด้วยอ้อมกอดของเขาใหญ่ โชคดีที่ยังมีรถกอล์ฟรอรับเราอยู่ 1 คัน เราจึงขอโดยสารขึ้นไปยังจุดสูงสุดของ Khao Yai Art Forest

ระหว่างทางเป็นดินแดงที่ผ่านทะลุผืนป่าโปร่ง ไม่มีคนเดินอยู่สองข้างทางและทางดินชุ่มน้ำก็มีแต่ร่องรอยของล้อรถยนต์ สองข้างทางซุกซ่อนผลงานศิลปะเอาไว้อย่างกลมกลืน ทั้ง GOD แท่นหินผู้พิทักษ์ขนาดใหญ่ที่ซุกซ่อนคำว่า GOD ไว้ข้างใน ผลงานโดย ฟรานเชสโก อารีนา (Francesco Arena) และ Pilgrimage to Eternity โดย อุบัติสัตย์ ศิลปินชาวไทยที่สืบทอดทักษะการทำเจดีย์จากรุ่นสู่รุ่น เขาใช้ดินจากเขาใหญ่สร้างขึ้นเป็นชิ้นส่วนเจดีย์ และวางกระจัดกระจายไว้ตามที่ต่างๆ ปล่อยให้ธรรมชาติค่อยๆ ชักชวนดินผืนนั้นกลับสู่ธรรมชาติอีกครั้ง

ไม่นาน รถกอล์ฟก็พาเราตะบึงจนถึงยอดเขาที่ถูกเปลี่ยนเป็นลานกว้าง โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งมีแผ่นหินแตกหัก ที่นำมาจัดเรียงอย่างสวยงามเป็นวงกลมสมบูรณ์แบบซึ่งสื่อถึงความไร้ที่สิ้นสุด นี่คือ Madrid Circle โดย ริชาร์ด ลอง (Richard Long) ศิลปินที่โด่งดังจากการสร้างศิลปะด้วยสองเท้า เขาเขย่าโลกศิลปะด้วยการบอกว่า การเดินบนเส้นทางเดิมซ้ำๆ นานนับเดือนจนกลายเป็นเส้นชัดเจนท่ามกลางธรรมชาติ เขาตั้งชื่อผลงานอย่างตรงไปตรงมาว่า A Line Made by Walking หลังจากนั้น เขาก็ตระเวนสร้างเส้นบนพื้นด้วยสองเท้าจากการเดินซ้ำๆ ในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่อิตาลี เนปาล เปรู รวมถึงทะเลทรายซาฮารา ผลงานของเขาจึงต้องสัมผัสด้วย 2 เท้ามากกว่า 2 ตา

ขณะนั้นพระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ผมใช้เวลาชั่วครู่เลาะเลียบไปตามขอบของวงกลม กวาดสายตามองไปรอบทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงาม แต่แทนที่จะได้ความสงบใจ ผมกลับรู้สึกอึดอัดจากสายตา 4 คู่ที่จับจ้องว่าผมกำลังทำอะไร สายตาคู่แรกเป็นของพี่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่คอยเฝ้าผลงานศิลปะอย่างโดดเดี่ยวบนยอดเขาแห่งนี้ สายตาอีกคู่หนึ่งคือพนักงานขับรถกอล์ฟที่ตอนนี้คงใกล้เวลาเลิกงานเต็มที คงจะดีกว่านี้ถ้าผมได้มีโอกาสซึมซับบรรยากาศด้านบนโดยไม่มีสายตาคู่ใดมากดดัน เมื่อไม่สามารถหาความสงบได้ เราก็ตัดสินใจโบกมือลายอดเขาแห่งนี้ ก่อนจะโดยสารรถกอล์ฟเพื่อกลับไปยังทางเข้า โดยไม่ลืมแวะหาเจ้า Maman ประติมากรรมขนาดยักษ์หน้าตาละม้ายคล้ายแมงมุมโดย หลุยส์ บูชัวส์ (Louise Bourgeois) ซึ่งเตะตาลูกชายของผมตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามายังที่แห่งนี้

ไม่เลวร้าย แต่ยังห่างไกลจากคำว่าระดับโลก

ผมตกผลึกมวลอารมณ์ระหว่างทางกลับออกมาจาก Khao Yai Art Forest หากจะสรุปอย่างรวบรัด คือที่แห่งนี้ไม่เลวร้าย แต่ก็ยังห่างไกลจากคำว่า ‘ระดับโลก’

ขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่นักวิจารณ์ศิลปะมืออาชีพ แต่ชื่นชอบงานศิลปะจัดวางที่ผสมผสานกับพื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นชีวิตจิตใจ ผมกับภรรยาเคยตะลอนไปดูงานศิลปะจัดวางทั่วยุโรป ตะลุยเกาะศิลปะนาโอชิมา แม้หลังจากมีลูกน้อยก็ยังกระเตงกันไปเบียนนาเล่เชียงราย ต้องยอมรับว่าทุกที่ที่เคยไปมานั้น ‘ถึงพร้อม’ กว่านี้มากๆ

ปัญหาสำคัญของ Khao Yai Art Forest คือข้อมูลที่แสนจำกัดจำเขี่ย เราทราบเพียงข้อความสั้นๆ ว่าต้องเตรียมชุดและรองเท้าที่เหมาะสำหรับเดินป่า แต่เราไม่รู้จริงๆ ว่าต้องเดินชมผลงานศิลปะมากน้อยแค่ไหน หากต้องเดินไกลและขึ้นเขาขนาดนี้ก็ควรมีการแจกแจงรายละเอียดล่วงหน้า ไม่อย่างนั้นพอนักท่องเที่ยวมาถึงหน้างานก็ต้องหวังพึ่งพารถกอล์ฟซึ่งนับว่า ผิดจุดประสงค์ของภัณฑารักษ์ที่คงอยากให้เราซึมซับป่าไปพร้อมกับศิลปะ

ประเด็นที่ 2 รองลงมาคือ Khao Yai Art Forest มีพื้นที่ใหญ่โตโอฬาร แต่กลับมีชิ้นงานให้ชมเพียง 7 ชิ้นงานเท่านั้น และแต่ละชิ้นก็ตั้งอยู่ห่างกันมากๆ จนเรียกได้ว่า ท้อก่อนที่จะเดินไปถึง ผมก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตจะมีการเชิญชวนศิลปินมาสร้างชิ้นงานในพื้นที่ให้มากกว่านี้

ประเด็นสุดท้ายคือภูมิทัศน์ที่ไม่สะท้อนความเป็นเขาใหญ่ของ Khao Yai Art Forest ศิลปะจัดวางที่ผมเคยไปชมมาคือ ผลงานที่กลมกลืนกับภูมิทัศน์ที่ตั้งอยู่หรือมีภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกันอย่างน่าสนใจ เช่น ผลงานแสงสีของ โอลาเฟอร์ เอเลียสสัน (Olafur Eliasson) ที่จัดแสดงในกรุงเวียนนาก็จะแต่งเติมพิพิธภัณฑ์และอาคารที่มีอยู่เดิม ผลงาน เจมส์ เทอร์เรลล์ (James Turrell) บนเกาะนาโอชิมาก็ดัดแปลงจากบ้านเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนเกาะ หรือผลงานเบียนนาเล่เชียงรายต่างก็กลมกลืนและบอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่น

สำหรับ Khao Yai Art Forest ที่เดินด้วยแนวคิด ศิลป์ + ป่า ผมกลับเห็นการดัดแปลงภูมิทัศน์หลายส่วนจนเกินเลย และไม่สะท้อนความเป็นเขาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Fog Forest ที่ดัดแปลงพื้นที่ป่าให้กลายเป็นทุ่งหญ้า ทั้งที่ผลงานหลายชิ้นที่ผ่านมาของนากายะก็เป็นสถาปัตยกรรมหมอกที่กลมกลืนกับผืนป่าโดยไม่ได้ดัดแปลงภูมิทัศน์มากนัก หรือแม้แต่ Maman เองก็ตั้งอยู่บนนาขั้นบันไดซึ่งภาพแบบนี้ไม่มีทางพบเจอได้เลยที่เขาใหญ่ การประดิษฐ์สร้างเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ศิลปะตรงหน้าสามารถพบเจอที่ไหนก็ได้ เพราะไม่ได้สะท้อนอัตลักษณ์หรือเรื่องราวของสถานที่ซึ่งมันจัดวางอยู่เลย

อย่างไรก็ตาม Khao Yai Art Forest ก็นับเป็นโครงการที่กล้าหาญและนำรูปแบบใหม่ๆ ของคำว่าศิลปะเข้ามาในประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบันอาจจะยังไม่ถึงพร้อม แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ในอนาคตก็อาจจะกลับไปเยือนที่แห่งนี้อีกครั้งหลังจากมีชิ้นงานเพิ่มขึ้น และออกแบบประสบการณ์ของผู้เยี่ยมเยือนให้รัดกุมกว่าเดิม



Tags: , , ,