วันที่ 24 มีนาคม 2568 เวลา 22.00 น. ที่อาคารรัฐสภา ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเปิดข้อมูลเรื่องโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ที่นายกฯ เป็นเจ้าของและกรรมการบริษัทตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั่งต้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการเพื่อมาเป็นนายกฯ โดยที่ดินตั้งอยู่ที่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และมีโฉนดที่ดินแบ่งออกเป็น 4 แปลง
อย่างไรก็ตามที่ดินมีโฉนดก็ไม่ได้แปลว่าถูกกฎหมาย ยกตัวอย่างที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งแม้มีโฉนด แต่กระบวนการออกโฉนดก็ถูกตั้งคำถาม ทั้งนี้ถ้าออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นไปออกโฉนดในพื้นที่ห้ามออกโฉนด สุดท้ายอาจโดนเพิกถอนการออกโฉนดในภายหลังได้
สำหรับที่ดินโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่นั้น ธีรัจชัยระบุว่า เคยเป็นที่ดินของ ‘นิคมสร้างตนเองลำตะคอง’ โดยนิคมสร้างตนเองเป็นโครงการที่รัฐบาลจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนลำตะคอง ไปทำกินตั้งแต่ปี 2513 จึงอพยพชาวบ้านมายังที่นี่ โดยให้ที่ดินชาวบ้านทำกินคนละไม่เกิน 50 ไร่
ทั้งนี้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 บัญญัติว่า ถ้าสมาชิกนิคมที่ได้สิทธิถือครองที่ดิน ถือครองทำกินในที่ดินอยู่ครบ 5 ปี จะสามารถออกเอกสารสิทธิที่เรียกว่า ‘หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง’ หรือ น.ค.3 แล้วถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่กฎหมายกำหนดครบถ้วน ก็สามารถเอา น.ค.3 ไปเปลี่ยนเป็น น.ส.3 หรือโฉนดที่ดินได้ต่อไป แต่หลักการนี้มีข้อยกเว้นตามกฎหมาย แต่ถ้าในพื้นที่นั้นมีพื้นที่สีขาวอยู่ด้วย คือพื้นที่ที่กันไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า Watershed Area มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 25 พฤษภาคม 2514 ให้สงวนห้ามไว้ไม่ให้เข้าไปทำประโยชน์และไม่ให้ออกเอกสารสิทธิ
“ผมนำเลขที่โฉนดแปลงนี้ คือหมายเลข 22054 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง ใส่ลงไปในระบบแลนด์แมปของกรมที่ดิน ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ประชาชนคนไหนๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ เมื่อได้พิกัดมาแล้ว เราก็เอาพิกัดนั้นไปเทียบกับแผนที่อิเล็กโทรนิกส์ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่น่าเชื่อถือ โดยใช้ระบบ GIS ระบบคอมพิวเตอร์มีความแม่นยำสูง ก็จะเห็นว่าที่ดินแปลงนี้ที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ ของท่านนายกแพทองธาร ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งตามกฎหมายแล้วเข้าใช้ประโยชน์ไม่ได้ และออกโฉนดไม่ได้ครับ”
ทั้งนี้ธีรัจชัยระบุว่า ที่ดินทั้ง 4 แปลงของโรงแรมถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ไม่ควรจะมีใครเข้าไปทำประโยชน์และไม่ควรจะมีใครสามารถนำที่ดินตรงนั้นไปออก น.ส.3 หรือโฉนดได้ จึงต้องตั้งคำถามว่าออกมาได้อย่างไร
ทว่าที่ดินดังกล่าวกลับออกโฉนดได้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปขอออกโฉนดแบบซื่อๆ ในที่แบบนี้ ก็มั่นใจได้ว่า เจ้าหน้าที่กรมที่ดินจะไม่ออกโฉนดให้แน่นอน และเมื่อเจ้าหน้าที่ทราบว่าเป็นที่ดินต้นน้ำลำธาร อาจส่งเรื่องไปเพิกถอน น.ส.3 หรือโฉนดที่ได้มาอีกด้วย อย่างไรก็ตามมีความบังเอิญว่า ในช่วงที่ออกโฉนดที่ดินโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่นั้น มีรองนายกฯ คนหนึ่งนามสกุลชินวัตร ต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา จนถึงรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
ถึงตรงนี้ ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยกมือประท้วงธีรัจชัยในข้อบังคับว่าด้วยการอภิปรายวกวน ซ้ำซาก พร้อมกับบอกว่า ธีรัจชัยกับตนเองเคยอยู่พรรคเดียวกันมา แปลกใจที่มาอภิปรายถึงผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย
“ที่จริงท่านธีรัจชัยกับผม เคยอยู่พรรคไทยรักไทยด้วยกันมาก่อน แปลกใจที่ท่านมาอภิปรายโรงแรมของครอบครัวชินวัตร เจ้าของพรรคไทยรักไทย ขอให้ท่านธีรัจชัยเจริญในหน้าที่การงานนะครับ” ก่อแก้วระบุ
ขณะเดียวกันธีรัจชัยได้สวนกลับว่า ขอบคุณก่อแก้วที่อวยพรให้เจริญในหน้าที่การงาน และยืนยันว่า การทำหน้าที่แบบตรงไปตรงมา โดยไม่สนว่าใครเป็นอย่างไรมากกว่าที่จะทำให้เจริญ
ธีรัจชัยยังยกตัวอย่างที่ดินของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีประเด็นครอบครองที่ดินแรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ท แอนด์ คันทรี คลับ ก็พบว่า ยังเป็นเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. ไม่ใช่โฉนดที่ดิน เพราะรู้ว่าการออกโฉนดและรังวัดเป็นโฉนดอาจเกิดปัญหาว่า ไปทับที่ดินหวงห้ามต่างๆ หรือไม่
อย่างไรก็ตามแรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ท แอนด์ คันทรี คลับ อยู่ไม่ไกลกับโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ โดยจากหลักฐานพบว่า ปี 2537 บุคคลในครอบครัวของนายกฯ ไปซื้อที่ดินแปลงนี้มาในรูปแบบเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา
“แต่ที่เทมส์ วัลลีย์ของท่านแพทองธาร สุดยอดกว่าแรนโช ชาญวีร์ก็คือ หลังจากครอบครัวของท่านนายกไปซื้อ น.ส.3 ก. มาได้เพียง 2 ปี ในปี 2539 ก็เอาที่ดินในนิคมสร้างตนเองแปลงนี้ไปออกเป็นโฉนด ได้เป็นโฉนดเลขที่ 22054 แล้วต่อมาปี 2555 ก็เอาโฉนดแปลงนี้ไปแบ่งเป็น 4 แปลง ตามที่ผมได้อภิปรายไว้แต่แรกครับ
“อย่างที่พูดไปครับท่านประธาน ว่าที่ดินแปลงนี้มันไม่ควรออกโฉนดได้แน่นอน เพราะพอรังวัดปุ๊ป ต้องเจอปั๊บ ว่าไปอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารของนิคมสร้างตนเองลำตะคองเป็นเขตหวงห้าม ครอบครองเข้าทำประโยชน์ไม่ได้ และออกโฉนดไม่ได้”
นอกจากนั้นนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ที่โรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ตั้งอยู่ ยังไม่มีประกาศยกเลิกเขตนิคมสร้างตนเอง นั่นหมายความว่า ยังอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้ เฉพาะการอยู่อาศัยและการทำเกษตรกรรม เท่านั้น หมายความว่าต่อให้จะออก น.ส.3 หรือออกโฉนดไปแล้ว
ถ้าต้องการจะเอาที่ดินไปทำอย่างอื่นนอกจากการเกษตรหรืออยู่อาศัย เช่น จะไปทำสนามกอล์ฟหรือโรงแรม เจ้าของที่ดินต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมเสียก่อน ซึ่งนอกจากจะไปออกโฉนดทับพื้นที่ต้นน้ำลำธารแล้ว โรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ของนายกฯ ยังไม่เคยได้รับอนุญาตให้ทำกิจการโรงแรมจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมอีกด้วย
ธีรัจชัยสรุปการอภิปรายว่า แพทองธารไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์เอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและครอบครัวอยู่เหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม โดยสิ่งที่ยิ่งน่ารังเกียจ ไม่ใช่แค่เรื่องของการไม่เคารพกฎหมาย แต่ยังเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบ พร้อมกับยกตัวอย่างการตรวจสอบแรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ท แอนด์ คันทรี คลับ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อนุทินระบุว่า เป็นเรื่องการเมืองอย่างแน่นอน
“แล้วใครครับ ที่จะออกใบสั่งเพื่อเล่นงานคนระดับท่านอนุทินได้ เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี เป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็มีแต่ท่านนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็คนในครอบครัวของท่านเท่านั้นแหละ ที่มีอำนาจบารมีพอที่จะทำได้
“ในเมื่อท่านนายกฯ เห็นว่าที่ดินสนามกอล์ฟ แรนโช ชาญวีร์ อาจมีปัญหา ท่านนายกฯ ลืมไปแล้วเหรอครับว่า ที่ดินของตนเองและครอบครัวที่เขาใหญ่ มันน่าจะมีปัญหาหนักกว่าของครอบครัวท่านอนุทินเสียอีก เพราะแรนโช ชาญวีร์ เป็นแค่ น.ส.3 ก. อาจจะทับพื้นที่ ส.ป.ก. แต่กรณีโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่นั้น เป็นการโฉนดทับพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และยังทำธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตเสียด้วย”
เพราะฉะนั้น ธีรัจชัยระบุว่า คนที่มีพฤติกรรมและพฤติการณ์เช่นนี้ จะปล่อยให้เป็นนายกฯ ต่อไปอีกไม่ได้แม้แต่วันเดียว จึงได้ชวนให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจให้แพทองธารเป็นนายกฯ อีกต่อไป