ตำรวจเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการผูกขาดอำนาจสอบสวน ตั้งแต่การตั้งข้อกล่าวหา การจับกุม-คุมขัง การสรุปสำนวนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่ก็เป็นไปเพื่อใช้กฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามอาชญากรรม
อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายในห้วงความขัดแย้งทางการเมืองของสังคม เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน การทับซ้อนทางโครงสร้างอำนาจและนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะห้วงที่ความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นวิธีการของตำรวจในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดการกับความขัดแย้งทางการเมือง จากปรากฏการณ์ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งน่าสนใจว่าตำรวจใช้กฎหมายในฐานะเครื่องมือทางการเมืองอย่างไร
บทความนี้มุ่งพิจารณาบทบาทของตำรวจในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ท่ามกลางบริบทการเมืองไทย โดยเน้นพิจารณาจากกรณีการเคลื่อนไหว การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งสะท้อนถึงการบังคับใช้กฎหมาย ที่อาจถูกแทรกแซงโดยอิทธิพลทางการเมือง และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม
1. ตำรวจในประวัติศาสตร์: จาก ‘วัฒนธรรมทหาร’ สู่ ‘รัฐตำรวจ’
การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจเกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคงของรัฐ มีมาตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน โดยวัฒนธรรมของ ‘ตำรวจการเมือง’ ถูกหล่อหลอมตามแต่ละยุคสมัย ส่งผลให้มีการใช้กฎหมายหลายฉบับเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทย
• ยุคตำรวจกับทหาร พ.ศ. 2475-2500
การเปลี่ยนแปลงการปกครองส่งผลให้องค์กรตำรวจ ที่ก่อนหน้านี้ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ที่เป็นส่วนหนึ่งในราชสำนัก ได้ถูกย้ายมาสู่ฝ่ายทหาร เป็นกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย มีการเปลี่ยนตัวอธิบดีและคนสำคัญในกรมตำรวจหลายครั้งเปลี่ยนไปตามขั้นอำนาจทางการเมือง โดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นทหาร โดยเฉพาะหลังปี 2490 ที่กองทัพเข้าครอบงำองค์กรตำรวจอย่างสมบูรณ์ และสร้างวัฒนธรรม แนวคิด โครงสร้างระบบบังคับบัญชาอย่างทหาร นำมาสู่ ‘วัฒนธรรมแบบทหาร’[1] มีการสร้างหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้ฝึกอบรมคล้ายกับทหาร การฟังคำสั่ง และระบบบังคับบัญชาแบบทหาร
องค์กรตำรวจได้แผ่ขยายขนาดทั้งแนวดิ่งและแนวราบ รวมทั้งอำนาจในช่วงปี 2477-2488 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวของ ‘รัฐตำรวจ’[2] (Police State) อันนำมาสู่วัฒนธรรมแบบทหาร ด้วยการรวมอำนาจบัญชาการเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างตำรวจให้ง่ายต่อการควบคุม เอื้อต่อการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง การขยายอำนาจตำรวจให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตำรวจสันติบาลในการตรวจสอบประวัติ สัญชาติ สื่อสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันของประชาชน การขยายอำนาจเหล่านี้สามารถใช้เพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง สร้างกลให้ตำรวจสามารถกำจัดฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลได้จำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลยังมีการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการปราบปรามที่เข้มงวด[3]
• ตำรวจในยุคทมิฬ พ.ศ. 2502-2540
ภายหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ยุคทุนนิยม ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจกระจุกตัวที่เมืองหลวง เพิ่มชนชั้นนายทุนและแรงงาน สำหรับตำรวจในยุคแล้ว แม้การครอบงำจากกองทัพจะเบาบางลง แต่วัฒนธรรมแบบทหารยังคงฝังลึกอยู่ในองค์กรตำรวจตลอดมา ในขณะเดียวกันองค์กรตำรวจก็ไม่ได้เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง เพียงแต่เปลี่ยนจากการถูกแทรกแซงโดยทหาร มาเป็นการถูกแทรกแซงในรูปแบบนายทุนและนักการเมืองแทน โดยตำรวจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำให้หนีไม่พ้นจากแทรกแซงจากการเมืองตลอดมา[4] ในที่นี้สร้าง ‘วัฒนธรรมตำรวจแบบอุปถัมภ์’[5] ในการพึ่งพาความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเครือข่ายทางสังคม
บทบาทสำคัญของตำรวจในช่วงต้นของยุคนี้คือ การเป็นเครื่องมือปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญของกลุ่มชนชั้นนำ ทหาร และฝ่ายขวา เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ซึ่งตำรวจมักถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจของชนชั้นนำ ใช้อำนาจเกินกว่าที่จำเป็น โดยใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง[6]
• ยุคความขัดแย้งทางการเมืองสมัยใหม่ พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน
ภายหลังปี 2535 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรตำรวจส่วนบนหลายครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตำรวจครั้งสำคัญ โดยโอนกรมตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทยไปตั้งเป็น ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีในปี 2547[7] โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ตำรวจมีอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติกลับส่งผลให้องค์กรตำรวจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในรูปแบบใหม่แทน
ปัจจัยที่ตำรวจมีรูปแบบระบบบังคับบัญชาศูนย์คล้ายทหาร โดยที่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แต่กลับอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีโดยตรง ส่งผลโดยตรงถึงการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจถูกแทรกแซงโดยการเมือง และยังต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลหรือนายกฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามโครงสร้างนี้จวบจนปัจจุบัน
ตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าองค์กรตำรวจมีลักษณะเป็น ‘รัฐตำรวจ’ ที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มนายทุน นักการเมือง เอื้อผลประโยชน์ต่อกันเรื่อยมา แม้ที่ผ่านมามีความพยายามในการปฏิรูปองค์กรตำรวจอย่างยาวนานก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
2. กลยุทธ์กดปราบโดยกระบวนการยุติธรรมจวบจนปัจจุบัน
ยุทธวิธีของตำรวจในการปราบปรามผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล หรือขั้วอำนาจยังคงคล้ายเดิม ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในฐานะ ‘รัฐตำรวจ’ ตลอดมา แต่มีการพัฒนารูปแบบตามยุคสมัย จนถึงปัจจุบันที่ยังอยู่ในวัฏจักรของการรัฐประหารและเปลี่ยนขั้วอำนาจ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความมั่นคงของรัฐบาลจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรตำรวจ เพราะตำรวจเท่านั้นที่จะมีกลไกกดปราบผู้เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างแยบยล
การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจในช่วงการชุมนุมปี 2563-2565 มีการใช้กลยุทธ์และเป้าหมาย เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยอาศัยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำไปสู่การกดปราบ สร้างความหวาดกลัว (Terror) เพื่อรักษาอำนาจฝ่ายรัฐบาลและชนชั้นนำ โดยการสร้างความไม่มั่นคงแก่จิตใจแก่บุคคลและครอบครัว ด้วยการควบคุม การหาข่าวสาร การข่มขู่[8] เช่น การคุกคามคนในครอบครัวของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง การสร้างภาระโดยการขึ้น Watch List จนนำไปถึงข้อเรียกร้องหยุดคุกคามประชาชน[9] การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง[10] รวมถึงการจับกุมดำเนินคดีโดยกระบวนการทางกฎหมาย[11]
กลยุทธ์ปราบปรามของตำรวจในปัจจุบัน ยังมีรูปแบบปฏิบัติการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายรัฐบาล จับกุม คุมขัง โดยรัฐบาลออกกฎหมายเพื่อสอดคล้องกับปฏิบัติการของตำรวจ เช่น การออกประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินเรื่องการห้ามชุมนุม โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของโรคโควิด-19 โดยใช้ปราบปรามผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง รวมถึงนำข้อหาอื่นทางการเมือง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 มาใช้ปราบปรามด้วย จนมีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองมากกว่า 1,310 คดี[12]
3. จากกฎหมายสู่เครื่องมือของตำรวจในการปราบปรามทางการเมือง
การใช้กฎหมายดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้ามของรัฐ มีความแตกต่างอย่างมากต่อการบังคับใช้กฎหมาย ในกรณีจัดการความเดือดร้อนของประชาชนโดยทั่วไป โดยในคดีการเมืองจะมีการตั้ง ‘คณะกรรมการพิจารณาคดีความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร’ สำหรับคดีความมั่นคงทุกคดี[13] ซึ่งมีขั้นตอนการรายงานและเร่งรัดกว่าคดีทั่วไป แม้วิธีพิจารณาคดีอาญากำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจพิจารณาสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หากแต่ตำรวจอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและมี ‘นโยบาย’ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการแทรกแซงดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนโดยโครงสร้างขององค์กรตำรวจ และวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์เชิงแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนยังมีอำนาจในการดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีต่อใครบ้าง มีอำนาจในการพิจารณาจะตั้งข้อหาหนักหรือข้อหาเบา ซึ่งการดำเนินการตาม ‘คดีนโยบาย’ มีความไม่แน่นอน ซึ่งขัดกับหลักการทั่วไปของกฎหมายอาญา ที่จะต้องมีความชัดเจน แน่นอน ใช้บังคับโดยทั่วไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการบังคับใช้กฎหมายตาม ‘นโยบาย’ ไม่ให้บังคับใช้ มาตรา 112 ในช่วงปี 2562-2563 ตำรวจก็ไม่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 แต่หลังจากนั้นนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า จะใช้กฎหมายทุกฉบับต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง[14] จากนั้นก็มีผู้ชุมนุมทางการเมืองถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวนมากที่สุดในประวัติการณ์
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนชัดว่า ระบบการบังคับใช้กฎหมายเอื้อต่อตำรวจในการใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของชนชั้นนำ นักการเมือง โดยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลตลอดมา ตั้งแต่อดีตและดำเนินจวบจนปัจจุบัน สร้างความหวาดกลัวและทำให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมลดลง แม้ว่าการออกพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 จะมีเป้าหมายเพื่อลดการถูกแทรกแซง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
ดังนั้นบทบาทของตำรวจยังเป็นกลไกสำคัญที่ควรได้รับการปฏิรูป เพื่อสร้างความเป็นกลาง ลดการแทรกแซงจากการเมืองและกลุ่มชนชั้นนำ พร้อมทั้งฟื้นฟูความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นนิติธรรม โดยการปฏิรูปนี้ต้องไม่จำกัดแค่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร แต่ควรเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในสู่ความโปร่งใสและยุติธรรม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชน มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ เพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมโยงระหว่างตำรวจและสังคมอย่างแท้จริง
[1] วัฒนธรรมแบบทหาร หมายถึง แนวทางการดำเนินชีวิตและการทำงานที่ได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างและค่านิยมของกองทัพ ซึ่งมักเน้นความเป็นระเบียบวินัย การเคารพอาวุโส และการปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
[2] รัฐตำรวจ (Police State) หมายถึง รูปแบบของรัฐหรือการปกครองที่รัฐบาลมีการควบคุมประชาชน ผ่านการใช้อำนาจของตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยที่ตำรวจมักมีบทบาทเกินกว่าการรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วไป และถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชน รวมถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพ การเฝ้าระวัง และปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นหรือการกระทำที่ขัดต่อรัฐบาล
[3] ปรีดา สถาวร, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยเรื่อง ตำรวจกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย,” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, 2558.
[4] สิริวัฒน์ เมนะเศวต, การเมืองกับการปรับโครงสร้างกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543)
[5] วัฒนธรรมตำรวจแบบอุปถัมภ์ (Patronage Policing Culture) หมายถึง รูปแบบการทำงานของตำรวจ ที่มีการสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจและผลประโยชน์ ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือบุคคลที่มีอำนาจในสังคม การสนับสนุนในลักษณะนี้มักจะเป็นการให้ความคุ้มครอง หรือความช่วยเหลือแก่กลุ่มที่มีอิทธิพล โดยหวังผลตอบแทนหรือการแลกเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ เช่น การสนับสนุนทางการเมืองหรือผลประโยชน์อื่น ๆ
[6] สิริวุฒิ หงษ์พานิช, ตำรวจกับการเมืองไทย (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519)
[7] พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
[8] สิริวุฒิ หงษ์พานิช, ตำรวจกับการเมืองไทย (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519)
[9] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “4 ปี ของข้อเรียกร้อง #หยุดคุกคามประชาชน แม้เปลี่ยนรัฐบาล ก็ยังไม่สำเร็จ”, 18กรกฎาคม 2567ม https://tlhr2014.com/archives/68655.
[10] THE STANDARD TEAM, “16 ตุลาคม 2563 – ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรที่แยกปทุมวัน”, 16 ตุลาคม 2564, https://thestandard.co/onthisday-16102563/.
[11] สิริวุฒิ หงษ์พานิช, ตำรวจกับการเมืองไทย (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519)
[12] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “พฤศจิกายน 2567 :มีคดีเพิ่มขึ้น 3 คดี-อัยการเดินหน้าสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ผ่านมา 4 ปี ด้านอานนท์ถอดเสื้อประท้วงศาลไม่ออกพยานเอกสาร” 6 ธันวาคม 2567, https://tlhr2014.com/archives/71539
[13] คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 558/2563 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร, 30 ตุลาคม 2563.
[14] BBC News Thai, “มาตรา 112 : นายกฯ ยืนยัน “ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” เอาผิดผู้ชุมนุม”, 20 พฤศจิกายน2563, https://www.bbc.com/thai/thailand-55019486.
Tags: กระบวนการยุติธรรม, ตำรวจ, Rule of Law