วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2568) เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในที่ประชุมมีมติ ‘เห็นชอบ’ หลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub: Fin Hub) นับเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มีกว่า 96 มาตรา ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

เผ่าภูมิกล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจทางการเงินของประเทศไทยดูแลโดย 3 หน่วยงานหลัก คือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานทำงานร่วมกัน แต่แยกกันกำกับดูแล 

อย่างไรก็ตามธุรกิจทางการเงินมีความเปลี่ยนแปลงสูงทำให้เกิดการทับซ้อนกันของธุรกิจ เช่นธุรกิจประกันภัยใช้สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในอนาคต ย่อมส่งผลให้การกำกับดูแลมีความซับซ้อนมากขึ้น

เผ่าภูมิกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธุรกิจการเงินมีการเคลื่อนตัวสูง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงินต่างชาติและธนาคาร ต่างมุ่งเข้าหาประเทศที่มีผลตอบแทนสูง ลงทุนง่าย และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อม สิ่งที่ขาดคือ ‘ความง่าย’ ในการทำธุรกิจและการส่งเสริม รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินอย่างครบวงจรและทันท่วงที จึงออกเป็น พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้น

เผ่าภูมิเปิดเผยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า การตั้งหน่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางทางการเงิน เป็นหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Authority: OSA) ควบคู่กับคณะกรรมการ 8 ตำแหน่ง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อทำงานเบ็ดเสร็จครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดเงื่อนไขการประกอบธุรกิจ และการกำหนดรูปแบบธุรกิจจะได้รับอนุญาตเข้ามาอยู่ใน Financial Hub 8 ประเภท ดังนี้

– ธุรกิจธนาคารพาณิชย์

– ธุรกิจบริการชำระเงิน (Payment)

– ธุรกิจหลักทรัพย์

– ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

– ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

– ธุรกิจประกันภัย

– ธุรกิจนายหน้าประกันภัย

– ธุรกิจอื่นๆ ที่คณะกรรมการฯ เป็นผู้กำหนด

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ธุรกิจทางการเงินเป็นธุรกิจที่มีความทันสมัยและมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าเข้ามาอยู่ในไทยจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศมีศักยภาพและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นโจทย์ที่สำคัญคือการ ‘ดึงดูด’ เม็ดเงินเหล่านี้เข้าประเทศให้ได้ ดังนั้น พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นกลไกที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ อิงจากรายงานของ Global Financial Centres Index 36 (GFCI) ประเมินว่า ศูนย์กลางทางการเงินของกรุงเทพมหานครนั้นอยู่ที่ลำดับ 95 ของโลกเมื่อปี 2567 ห่างจากศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคอื่นเป็นอย่างมาก เช่น นิวยอร์ก (New York) ประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่อันดับที่ 1, กรุงลอนดอน (London) สหราชอาณาจักร อยู่อันดับที่ 2 และฮ่องกง (Hong Kong) อยู่อันดับที่ 3

เนื่องจากเมืองเหล่านั้นได้รับการออกแบบกฎกติกา เกณฑ์ด้านภาษี และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการระดมทุนอย่างมาก อีกทั้งศูนย์กลางทางการเงินที่ยกตัวอย่างมานั้น ยังมีจุดเด่นที่สอดคล้องกับจุดแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เช่น ฮ่องกงเป็นประตูทางการเงินสู่ประเทศจีนและประเทศอื่นของโลก ทำให้เชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินสำหรับกิจการข้ามชาติ เช่น Investment Bank และ Trade Finance เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ไทยมีจุดแข็งหลายด้าน ในมิติของการค้าภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งสกุลเงิน ‘บาท’ ได้รับความนิยมมากที่สุดรองจากดอลลาร์สหรัฐฯ ในการชำระสินค้าส่งออกและจ่ายเป็นค่าสินค้านำเข้ากับคู่ค้าในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะการค้ากับประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา

นอกจากนี้พัฒนาการของตลาดการเงินไทยยังมีความเป็นสากล มีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและโลจิสติกส์ที่ดี มีค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก ถือเป็นปัจจัยตั้งต้นสำหรับการขยายบทบาทศูนย์กลางการทางเงินในอนาคต

Tags: , , ,