ว่ากันว่าอายุ 30 ปีคือจุดตัดของอาชีพทำงาน เมื่อเกินวัยนี้คนจำนวนหนึ่งอาจเกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะไปต่ออย่างไร จะเลือกอยู่กับตำแหน่งหน้าที่การงานแบบนี้ หรือจะเปลี่ยนสายอาชีพดี เพราะหากเกินกว่านี้จะเปลี่ยนสายอาชีพก็เป็นเรื่องยาก หลายองค์กรมองถึงคนที่สมัครงานว่า อายุ 30 ปีเริ่มแก่เกินไป เงินเดือนเริ่มสูงเกินไป บางองค์กร คนวัยเด็กกว่าอาจแซงหน้า อาจมีปัญหาเรื่องการสั่งงาน เรื่องการบังคับบัญชา และหลายองค์กรก็มองว่า จุดตัดที่ 30 ปีคือจุดที่คนเริ่มรับรู้อะไรใหม่ๆ ยาก เริ่มตามโลกไม่ทัน
แล้วจริงๆ 30 ปีเป็นจุดตัดจริงหรือไม่ แล้วจริงๆ ในวัย 30 ปี เราควร ‘จริงจัง’ กับชีวิตแค่ไหน หรือถึงที่สุด ถ้าปล่อยเวลาให้นานไปกว่านี้ จะส่งผลเสียกับตัวเองจริงหรือไม่
1. เป็นความจริงที่ว่า 30 ปีต้องค้นหาตัวเองให้เจอ และเกิน 30 ปีจะเริ่มเปลี่ยนสายอาชีพได้ยาก
ในโลกของความเป็นจริง เมื่ออายุ 30 ปีเท่ากับคุณอยู่ในโลกของการทำงานมาเกิน 8 ปี หากเป็นพนักงานยุคใหม่ ก็เริ่มเข้าสู่วัย ‘อาวุโส’ และควรจะเชี่ยวชาญกับงานที่คุณทำได้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มสอนคนใหม่ ให้ทำงานได้ เป็นความคาดหวังเบื้องต้นของฝั่ง ‘นายจ้าง’
ฉะนั้นจึงมีคำกล่าวที่ว่า หากต้องการ ‘ลองผิดลองถูก’ หากอยากลองใช้ชีวิตในต่างประเทศ อยากเรียนต่อ ก็ควรทำก่อน 30 ปี เพราะหากล้ำเกินไป อาจสายเกินไปเสียแล้ว
นอกจากนี้เมื่อใกล้ถึงวัย 30 ปี หากอยู่ในองค์กรที่มี Career Path ชัดเจน ย่อมหมายความว่า คุณไม่ได้รับผิดชอบเรื่องของตัวเองอย่างเดียว หากแต่รับผิดชอบเรื่องที่ใหญ่กว่าตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคนอื่นก็ดี ทิศทางขององค์กรก็ดี ซึ่งทำให้แรงกดดันเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ หากเริ่มต้นลองเปลี่ยนสายงานในอายุ 30 ปี ต้องทำความเข้าใจว่าคุณจะมีเวลาลองผิดลองถูก ทดลองงาน น้อยมาก เพราะองค์กรย่อมคาดหวังให้คนอายุระดับนี้มีความเชี่ยวชาญประมาณหนึ่ง บริหารคน บริหารโปรเจกต์ได้ในระดับหนึ่ง มากกว่าจะเป็นพนักงานทั่วไปเพียงเท่านั้น ทั้งด้วยเงินเดือนและวัยวุฒิ
นั่นนำมาซึ่งความท้าทายและความยากลำบาก เพราะแปลว่าหากคุณย้ายสายงาน คุณต้องเริ่ม ‘เก่ง’ และ ‘เชี่ยวชาญ’ รวมถึงมีประสบการณ์บางอย่างในสายงานที่คุณอยากย้ายแล้ว ไม่มีเวลาลองผิดลองถูกอีกต่อไป
2. อายุ 30 แบบ ‘ไทยๆ’
ความท้าทายไปกว่านั้นก็คือ นอกจากตัวเอง 30 แล้ว สังคมแบบไทยๆ มักจะบีบบังคับให้คุณต้องเริ่มมีชีวิตส่วนตัวที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ดูแลพ่อแม่ ต้องถึงเวลาลงหลักปักฐาน แต่งงาน มีลูก
เมื่ออายุคุณเดินทางมาถึงหลัก 3 ย่อมหมายความว่า พ่อแม่เริ่มเข้าสู่ปัจฉิมวัยมากขึ้น อายุอาจเริ่มเกิน 65-70 ปี ซึ่งหมายความว่า จะต้องซ่อมแซมสุขภาพของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ หากสวัสดิการการรักษาพยาบาลเป็นไปด้วยดี ระบบบำนาญมากพอเหมือนประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พวกเขาก็อาจใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ แต่ในสังคมไทย ในสังคมขยาย ยังต้องการให้ลูกวัย 30 ปีคอยดูแลพ่อแม่ ไม่เพียงด้วยกำลังทรัพย์เท่านั้น แต่ด้วยกำลัง ‘เวลา’ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเวลาเดียวกับที่คุณกำลังเติบโตก้าวหน้า ชุลมุนกับอาชีพการงานที่กำลังรุ่งโรจน์พอดี
นอกจากนี้ 30 ปียังเป็นเวลาเดียวกับที่ครอบครัวอาจกดดันให้คุณต้องเร่งแต่งงาน สร้างครอบครัว คู่ชีวิตคุณเริ่มรบเร้าให้จริงจังกับอนาคตมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การที่คุณต้องจัดลำดับความสำคัญของชีวิตในช่วงเวลายากลำบากนี้ ย่อมทำให้บางครั้งชีวิตอาจเป๋ไปเป๋มา ทำให้ทุกคนพอใจไม่ได้
ฉะนั้นการเปลี่ยนสายงานใหม่ ท่ามกลางเรื่องอันยุ่งเหยิงและความคาดหวังของใครหลายคน รวมถึงตัวคุณเอง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
3. แต่สภาพเศรษฐกิจไทยไม่ได้เอื้อให้คนสามารถ ‘เติบโต’ ได้ขนาดนั้น
อันที่จริงถ้าเศรษฐกิจดี ถ้าการเมืองดี เราจะมีสิทธิ ‘เลือก’ ชีวิตของเราได้มากกว่านี้ เป็นต้นว่า หากอุตสาหกรรมเติบโต มีเขตเศรษฐกิจใหม่ๆ มีเมืองใหม่ๆ มีระบบขนส่งสาธารณะที่เพียบพร้อม ประชากรอาจไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานเป็น ‘แรงงานในระบบ’ เป็นพนักงานออฟฟิศมากขนาดนี้ อาจมีโอกาสใหม่ๆ เงินใหม่ๆ ให้สามารถเดินทางไปไขว่คว้า สร้างความฝันใหม่ๆ ได้
แต่ข้อเท็จจริงคือ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ในหลุมดำ เป็นผลพวงจากการห้ำหั่นทางการเมืองที่ถึงวันนี้ก็ไม่มีใครได้ประโยชน์ โอกาสทางเศรษฐกิจที่เสียไป ย่อมบีบให้ความก้าวหน้าทางอาชีพตีบตัน คนทั่วไปต้องวิ่งเข้าหาอาชีพในระบบ แย่ไปกว่านั้น หลายคนต้องยอมทิ้งความฝัน วิ่งบรรจุสอบเป็นข้าราชการ เป็นพนักงานองค์กรของรัฐ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพราะอย่างน้อยก็มั่นคงดี เพื่อแบกชีวิตของทั้งตัวเองและอีกหลายๆ คนในครอบครัว
เป็นความจริงที่ว่า เราเสียคนที่มีความฝันและอุดมการณ์ไปกับระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ขณะที่คนเก่งระดับหัวกะทิจริงๆ ประสบปัญหา Brain Drain (สมองไหล) ไหลไปทำงานยังประเทศที่พวกเขามีอนาคตมากกว่า เอื้อต่อการเติบโตได้ดีกว่า โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลคนข้างหลัง
ฉะนั้นด้วยความจริงที่น่าเศร้าเช่นนี้ ทำให้โอกาส ‘เลือก’ ในการเปลี่ยนสายงานน้อยลง
4. ข้อแนะนำสำหรับคนเกิน 30 ปี
หากถามว่าอายุ 30 ปี ควรต้องมีอะไรบ้าง ข้อสำคัญคือควรต้องมี ‘วุฒิภาวะ’ มีความรับผิดชอบหลายๆ อย่างที่เกินตัว และที่สำคัญต้องทำหน้าที่จัดการตัวเองให้ได้ ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้ได้ เพราะวัยนี้คุณจะมีหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าชีวิตตัวเอง (เยอะ)
นั่นทำให้คุณต้อง ‘นิ่ง’ ขึ้น ในการตัดสินใจและการจัดการอารมณ์ คนรอบข้างคาดหวังให้คุณแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงาน จัดลำดับความสำคัญดีๆ เพราะหากไม่สามารถจัดการตัวเองได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อเป็นทอดๆ เพราะด้วยวัยเช่นนี้ คุณไม่สามารถยึดตัวเองเป็นที่ตั้งได้ต่อไปแล้ว
คำแนะนำอีกข้อก็คือ ตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นคือสิ่งที่ ‘ใช่’ ใช่หรือไม่ อย่าลืมว่าหากอายุเกิน 30 ปีเป็นต้นไป โอกาสในการเปลี่ยนสายงานจะเป็นเรื่องยากขึ้น มีปัจจัยแทรกซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะด้วยเรื่องความคาดหวังของคนอื่น
หากอยากเปลี่ยนสายงาน ก็ลองค้นคว้า ลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง มากขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อวันหนึ่งพร้อม สบตากับตัวเองได้ แล้วมีโอกาส ‘ลุย’ ไปกับมัน เพื่อวันหนึ่งอาจตอบคำถามกับตัวเองจนเจอ แล้วสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองรักได้สำเร็จ
อ้างอิง:
– https://medium.com/swlh/why-a-career-change-at-30-and-beyond-is-so-hard-120e7c72d697
– https://www.linkedin.com/pulse/why-your-30s-perfect-time-career-change-nikki-vivian/
Tags: Work Tips, เปลี่ยนสายงาน, อายุ 30, การทำงาน