วันนี้ (30 ธันวาคม 2024) จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 39 จากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2002 เสียชีวิตในวัย 100 ปี ถือเป็นการปิดตำนานเจ้าของนโยบายสันติภาพในตะวันออกกลางในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานตรงกันว่า คาร์เตอร์เสียชีวิตที่บ้านของเขาในเมืองเพลนส์ (Plains) รัฐจอร์เจีย (Georgia) หลังต้องเผชิญกับอาการป่วยแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคมะเร็งผิวหนังที่ลุกลามไปถึงสมองและตับ ก่อนหน้านี้เขาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายครั้ง จนกระทั่งในปี 2023 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจเลือกใช้เวลาที่เหลือของเขาที่บ้านกับครอบครัว
“พ่อของผมคือฮีโร่ ไม่ใช่แค่สำหรับผม แต่ทุกคนในโลกนี้ที่เชื่อเรื่องสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว”
แถลงการณ์ส่วนหนึ่งจาก ชิป คาร์เตอร์ (Chip Carter) บุตรชายของอดีตผู้นำ ขณะที่ เจสัน คาร์เตอร์ (Jason Carter) หลานของคาร์เตอร์ให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปี 2024 ว่า ด้วยวัยที่ล่วงเลยมากกว่าอายุขัยของคนส่วนใหญ่ ปู่ของเขาจึงไม่ได้รู้สึกตัวในทุกวัน และพยายามสัมผัสประสบการณ์บนโลกนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยนับต่อจากนี้ ศูนย์คาร์เตอร์ (Carter Center) เผยว่า พิธีการรำลึกจะจัดขึ้นในเมืองแอตแลนตา (Atlanta) และกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. (Washington D.C.) หลังเสร็จสิ้นพิธีรำลึกส่วนตัวในบ้านของเขา
ทั้งนี้คาร์เตอร์ถือเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อายุยืนยาวที่สุดในวัย 100 ปี โดยย้อนกลับไป เขาเติบโตในครอบครัวเกษตรกรที่ยากจน และเรียนจบในโรงเรียนทหารเรือสหรัฐฯ (United States Naval Academy) ก่อนเข้าทำงานในกองทัพเรือสหรัฐ
แม้มีช่วงที่เขากลับมาสานต่อธุรกิจ ‘ถั่วลิสง’ ของครอบครัวจนประสบความสำเร็จ แต่คาร์เตอร์มีความสนใจประเด็นทางสังคมและการเมืองเป็นทุนเดิม จนก้าวสู่แวดวงทางการเมือง โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาพรรคเดโมแครต, ผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย จนถึงจุดสูงสุดในชีวิตอย่างการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 1977 ที่เอาชนะ เจอร์รัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 1976
ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง นโยบายที่สร้างชื่อเสียงให้กับคาร์เตอร์ คือการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง หลังสามารถผลักดันให้อียิปต์และอิสราเอลลงนามในสนธิสัญญาแคมป์เดวิด (Camp David) ในปี 1978 โดยใจความสำคัญคือ อิสราเอลตกลงถอนตัวจากคาบสมุทรไซนาย (Sinai Peninsula) ขณะที่อียิปต์พร้อมเปิดคลองสุเอซ (Suez Canal) ให้อิสราเอลเดินเรือผ่าน นับเป็นการยุติภาวะสงครามระหว่าง 2 ประเทศอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามคาร์เตอร์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เพียง 1 สมัย หลังเผชิญปัญหาการจัดการเศรษฐกิจ วิกฤตตัวประกันอิหร่าน และความนิยมที่ลดลง เป็นเหตุให้เขาพ่ายแพ้ โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งปี 1980
ทว่าอดีตประธานาธิบดีก็ยังเดินหน้าทำงานด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การช่วยเหลือบรรเทาโรคตาบอดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคตาแดง และโรคพยาธิไส้เดือนฝอยในแอฟริกาและเอชียปี 1986 จนได้รับรางวัลโนเบลปี 2002 ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ไม่ย่อท้อต่อการแสวงหาสันติภาพท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งยังสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคม
คาร์เตอร์ถูกมองว่า เป็นนักการเมืองที่มีเสน่ห์ในแบบจอมศีลธรรม (คาร์เตอร์เป็นคริสเตียนเคร่งศาสนา) ผสมผสาน ‘ความบ้านๆ’ เข้าถึงง่าย พูดตรงไปตรงมา โดยเขาเคยวิจารณ์การที่สหรัฐฯ บุกอิรักในปี 2003, การใช้โดรนในสงครามที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม รวมถึงการมีอยู่ของคุกอ่าวกวนตานาโม (Guantanamo Bay) ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงยังสนับสนุนแนวทาง 2 รัฐในปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์
อ้างอิง:
– https://history.state.gov/milestones/1977-1980/camp-david
– https://www.theguardian.com/us-news/2024/dec/29/jimmy-carter-dead-longest-lived-us-president
– https://www.bbc.com/news/articles/cpww85w5p30o
Tags: สหรัฐอเมริกา, ประธานาธิบดีสหรัฐฯ, อิสราเอล, ตะวันออกกลาง, เดโมแครต, จิมมี คาร์เตอร์, Jimmy Carter, อียิปต์