กลไกการทวงหนี้ตามสัญญา ณ ห้วงเวลาปัจจุบันมีอยู่ว่า หากปัจเจกบุคคลทำสัญญากู้เงินกัน ฝ่ายเจ้าหนี้ก็สามารถเรียกให้ฝ่ายลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ ลูกหนี้ก็มีหน้าที่ชำระหนี้เต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนด แต่ถ้าไม่สามารถทวงได้ เจ้าหนี้จะต้องอาศัยการบังคับผ่านกลไกสถาบันศาลหรือให้รัฐบังคับให้เท่านั้น หาได้มีอำนาจเข้าไปข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ประจานหรือกระทำการต่างๆ อันกระทบกระเทือนต่อสิทธิของลูกหนี้ และการบังคับก็ต้องบังคับเอาจากทรัพย์สิน โดยไม่อาจบังคับจากตัวร่างกายของลูกหนี้ได้

หลักการพื้นฐานดังกล่าว เกิดจากวิวัฒนาการทางสังคมและการเมืองภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การบังคับหนี้เอาจากเนื้อตัวร่างกายของบุคคล ได้ถูกถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้โดยเด็ดขาดในมิติของสิทธิมนุษยชน ทว่าความคิดดังกล่าวเพิ่งจะมีอายุประมาณ 100 กว่าปีเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ติดกับเวลาทั้งหมดของมวลมนุษยชาติที่ดำรงอยู่บนโลก ขณะที่สำหรับสังคมไทย หลักคิดดังกล่าวก็เพิ่งเข้ามาอยู่ในระบบกฎหมายหลังการชำระสะสางกฎหมาย และปฏิรูประบบกฎหมายทั้งระบบเสร็จสิ้นช่วงปี 2466-2478 เท่านั้น 

เนื้อหาบทความนี้ จะเป็นการย้อนสำรวจถึงระบบหนี้และกลไกการบังคับหนี้ในอดีตของสังคมไทยว่ามีลักษณะอย่างไร ก่อนจะกลายมาเป็นระบบหนี้ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อศึกษาถึงวัฒนธรรมแบบไทยๆ ตลอดจนโครงสร้างระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจสะท้อนผ่านบทบัญญัติกฎหมาย 

หนี้ภายใต้ความเป็นไทย

หนี้เงินอันเกิดจากการเข้าทำสัญญาระหว่างปัจเจกบุคคล 2 ฝ่าย หากยึดตามความคิดที่อยู่ในตำรากฎหมาย มักจะโยงไปถึงหลักเสรีภาพในการทำสัญญาที่เชื่อว่า มนุษย์มีเสรีภาพในการทำข้อตกลง และสัญญาก็จะเกิดทันทีเมื่อข้อเสนอถูกต้องตรงตามคำสนอง เป็นนิติสัมพันธ์หรือความผูกพันทางกฎหมายที่ยืนอยู่บนหลักความเสมอภาค นอกจากนี้การที่มนุษย์ต้องทำตามสัญญาก็เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาที่ทำให้ ‘สัญญาต้องเป็นสัญญา’ ซึ่งหลักการเหล่านี้ได้รับการพัฒนาจากพื้นฐานอุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่ถือว่า มนุษย์มีอิสระในทางความคิดที่มีอยู่ในตัวเป็นธรรมชาติ รวมถึงมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย 

อย่างไรก็ดี เมื่อหันมาพิจารณารากฐานระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของไทย ย่อมมีที่มาจากระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนภายใต้อำนาจรัฐจารีต โดยมีลักษณะอันเด่นชัดคือ เป็นระบบความสัมพันธ์ในระบอบศักดินาที่สร้างระเบียบแบบแนวดิ่ง ในความหมายที่ว่า มนุษย์จะมีหลักการปฏิบัติหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไม่เสมอภาคกัน คุณค่าของสถานะบุคคลไม่ได้เท่าเทียมกัน แต่จะขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคม ซึ่งผูกโยงไปกับความคิดแบบพุทธกับฮินดูที่กำหนดสถานภาพบุคคลจากบุญญาบารมี และพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นผู้สั่งสมบุญญาบารมีสูงสุดและมีอำนาจสูงสุด 

วัฒนธรรมข้างต้น ดำรงอยู่เป็นเสมือนกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานที่เข้าจัดสรรระเบียบความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ของสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในมิติทางเศรษฐกิจ ที่ผู้มีสถานภาพสูงกว่าในสังคม ก็มักจะเป็นที่สามารถแสวงหาความมั่งคั่งและกำหนดควบคุมระบบการผลิตและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตทั้งหลายได้อย่างอิสระ

การจัดระเบียบและลำดับทางสังคม ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บ้านเมืองมีการแบ่งคนตามฐานะหรือสถานภาพ นับตั้งแต่กษัตริย์หรือเจ้าเมือง ขุนนางหรือกรมการเมือง และลดหลั่นลงมาจนถึงไพร่กับทาส โดยที่คนแต่ละสถานภาพมีโอกาสที่เข้าถึง หรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากน้อยแตกต่างกันตามความสูงต่ำ จนทำให้เกิดความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างผู้คน จนนำไปสู่ความสามารถในการบริโภคสินค้าที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังกำหนดให้คนทุกชนชั้นต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่ยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ใฝ่สูงเกินศักดิ์ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมจึงแตกต่างกัน

นอกจากนี้ระบบสังคมโดยรวมที่โยงอยู่กับ ‘ระบบไพร่’ เป็นวิธีการของส่วนกลางที่จะเข้ามาควบคุมและจัดสรรแรงงานของคน เพื่อพยุงโครงสร้างการปกครองเอาไว้ โดยระบบไพร่อาจพัฒนามาจากการจัดตั้งชุมชน อาศัยระบบเครือญาติที่มีลักษณะยึดถือในวัยวุฒิและความสัมพันธ์กับตระกูลที่บุกเบิกเริ่มต้นลงหลักปักฐานในชุมชน ดังนั้นแม้ว่าในระบบไพร่ มูลนายมีสิทธิในตัวไพร่อย่างมาก แต่มูลนายก็ไม่สามารถที่จะขูดรีดไพร่ได้มากนัก ไพร่ส่วนใหญ่จึงอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ที่มีลักษณะสำคัญคือ ความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนระหว่างผู้อุปถัมภ์ที่เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า กับผู้ใต้อุปถัมภ์ที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่า โดยมีอุดมการณ์หรือความคิดที่จรรโลงระบบอุปถัมภ์ไว้ ซึ่งได้แก่มโนทัศน์ที่ว่า ผู้ใหญ่หรือผู้อุปถัมภ์ต้องมีความเมตตากรุณาต่อผู้น้อยหรือผู้ได้รับการอุปถัมภ์ ในขณะที่ผู้น้อยจะต้องซื่อสัตย์ และกตัญญูกตเวทีต่อผู้ใหญ่

สภาวะการพึ่งพาอาศัยกัน อาจเป็นภาพของการตกอยู่ในภาระผูกพันแห่งหนี้ โดยไม่อาจอิดเอื้อนได้ของผู้ด้อยสถานภาพทางสังคม เพราะการที่อ้างเรื่องการต้องตอบแทนของฝ่ายผู้อยู่ใต้การปกครองแก่ฝ่ายผู้ปกครอง เนื่องจากได้รับการปกป้องคุ้มครองจากภยันตรายที่อาจเกิดขึ้น มักจะเป็นฝ่ายผู้ปกครองกล่าวอ้างขึ้นมาเองก่อน และการตอบแทนไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ แต่เป็นการกระทำที่ตกอยู่ในสภาวะการบีบบังคับจากปัจจัยภายนอก ซึ่งหากไม่ต้องการที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ปกครอง ก็ต้องใช้วิธีการอพยพ หลบหนีไปจากถิ่นฐานเดิม 

จากระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชื่อมโยงกันทั้งแง่เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เป็นเหตุให้ผู้มีอำนาจหรือฝ่ายผู้ปกครองต้องออกแบบกลไกทางกฎหมายให้สอดรับกับระบบความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์อันมีความเมตตากรุณากับผู้ได้รับการอุปถัมภ์ ที่หมายความถึงได้รับการช่วยเหลือ ที่มีหน้าต้องซื่อสัตย์และกตัญญูต่อผู้อุปถัมภ์ บทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับหนี้สินในอดีตจึงเป็นผลผลิตส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจและความคิดดังกล่าว ที่การบังคับหนี้กรณีที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติชำระหนี้ตามสัญญา เป็นไปลักษณะของการบังคับเอาจากเนื้อตัวร่างกายของบุคคลได้ เนื่องจากได้กระทำฝ่าฝืนคุณค่าและระบบศีลธรรมอันเกิดขึ้นจากการก่อหนี้ระหว่าง ‘ผู้มีความเมตตากรุณา/ เจ้าหนี้’ กับ ‘ผู้ขอความช่วยเหลือ/ ลูกหนี้’ รวมถึงการไม่รู้จักที่ต่ำที่สุดของลูกหนี้

กล่าวอีกนัยจะเห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หาได้มีความสัมพันธ์แบบคู่สัญญาที่มีความเสมอภาคต่อกัน ไม่ได้เกิดจากการเจรจาต่อรองที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แต่เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้ได้รับการอุปถัมภ์ การไม่ปฏิบัติชำระหนี้ จึงไม่ใช่เพียงการทำผิดสัญญา แต่ถือเป็นการกระทำอันเนรคุณต่อผู้อุปถัมภ์ ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบหรือลักษณะของกลไกการบังคับให้ลูกหนี้ชำระ อันแฝงนัยเป็นการลงโทษกับการกระทำดังกล่าว

เมื่อไม่มีเงินหรือทรัพย์สิน ก็ต้องแลกด้วยอย่างอื่น

ในอดีต สมัยก่อนที่จะมีการปฏิรูปกฎหมายและร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมาย ได้ให้สิทธิอำนาจแก่เจ้าหนี้สามารถขอให้ศาลบังคับคดีเอากับทรัพย์สินและเนื้อตัวร่างกายของลูกหนี้ได้ โดยต้องเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินหรือเจ้าหนี้มีสารกรมธรรม์ ผู้ที่จะมาขอให้ใช้วิธีการบังคับเอากับเนื้อตัวร่างกายลูกหนี้ จะต้องเป็นผู้ให้กู้หรือนายเงินในการขายฝากทาส ซึ่งวิธีการบังคับหนี้ลักษณะนี้ มีความใกล้เคียงกับการลงโทษอาญาที่ก่อกวนความสงบเรียบร้อย ทำผิดศีลธรรม เป็นวิธีการเดียวกับชำระความโจรผู้ร้ายตามระบบจารีตนครบาล

กล่าวคือ ยุคดังกล่าว การจัดการผู้ที่บกพร่องทางศีลธรรมกับการบังคับหนี้ โดยพื้นฐานแล้ว ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก แม้กฎหมายจะไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหนี้ใช้กำลังเข้าบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยตนเอง โดยจะต้องอาศัยอำนาจของรัฐผ่านกลไกของตระลาการ (ศาล) เท่านั้น แต่ลักษณะที่ศาลบังคับหนี้กับลูกหนี้ที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอและไม่ยอมปฏิบัติชำระหนี้ กฎหมายก็จะเริ่มบีบบังคับไปที่เนื้อตัวร่างกายของลูกหนี้ เช่นพระไอยการลักษณะตระลาการบทที่ 45 และ 54 จากกฎหมายตราสามดวง ที่กำหนดว่า หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะนำมาชำระสินไหมและพินัยแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ กฎหมายบัญญัติให้นำลูกหนี้มาขังประจานกลางแดดเป็นเวลา 3 วัน และขังไว้ในน้ำอีก 3 วัน เพื่อเป็นการบีบบังคับให้ลูกหนี้บอกว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ใดบ้าง หรือให้หาบุคคลใดๆ มาชำระหนี้แทน หลังจากนั้นจะถูกเฆี่ยนด้วยหนังหรือหวายในอัตรา 3 หรือ 5 ทีต่อแสนเบี้ย และส่งตัวคืนการนายเงินหรือมูลนาย 

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ว่าด้วยหนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงระบบทาสตาม พระไอยการทาษ ประมวลกฎหมายตราสามดวงที่ให้สิทธิแก่พ่อแม่และผัว ในการขายลูกขายเมียไปเป็นทาส เพื่อแลกกับเงิน นอกเหนือไปจากการตกเป็นทาสในลักษณะอื่นๆ ซึ่งการตกเป็นหนี้ของลูกหนี้บางรายที่ไร้ซึ่งทรัพย์สินอาจบีบบังคับให้เขาต้องจำใจยอม ‘ขายลูกขายเมีย’ เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ หรือ มอบลูกเมียไปเป็นทาสเจ้าหนี้นายเงินแทนการชำระหนี้ อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของชายที่ถูกถือให้มีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัวในยุคสมัยนั้น โดยทาสประเภทนี้เรียกว่า ‘ทาสสินไถ่’ แล้วในกรณีที่ไม่มีลูกเมีย ตัวลูกหนี้ยังสามารถขายตัวเองเป็นทาสได้อีกด้วย

หรือในกฎหมายมังรายศาสตร์ที่บังคับใช้ในอาณาจักรล้านนา ส่วนที่ว่าด้วยกฎหมายลักษณะหนี้ ก็มีการกำหนดให้เจ้าหนี้สามารถบังคับเอากับเนื้อตัวร่างกายของลูกหนี้และคนในครอบครัวได้ กรณีที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนมาก แล้วไม่มีเงินชำระหนี้ กฎหมายดังกล่าวก็กำหนดให้ลูกหนี้ ‘ต้องขายลูกเมียแจกแก่เจ้าหนี้ ได้เท่าใดให้เอาเท่านั้นเถิด’ นอกจากนี้กฎหมายยังเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้สามารถใช้กำลังทวงหนี้ได้ ซึ่งเป็นการทำร้ายร่างกายแทนดอกเบี้ย ผลก็คือ เมื่อเจ้าหนี้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายลูกหนี้ ลูกหนี้ยังต้องชำระเงินต้นอยู่ แต่ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย ซึ่งคล้ายกับการทำร้ายเพื่อ ‘ขัดดอก’ นั่นเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายเหล่านี้ล้วนถูกออกแบบมาให้เข้ากับระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมตามยุคสมัย ที่การกู้หนี้ยืมสินตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบอบอุปถัมภ์และคุณค่าของความกตัญญูรู้คุณระหว่างผู้น้อยและผู้ใหญ่ แต่แน่นอนว่า เมื่อรัฐสยามเริ่มก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาติต่างๆ กฎหมายลักษณะนี้ย่อมถูกมองว่า ไม่ประกันความปลอดภัยให้กับบุคคล ป่าเถื่อน ไร้วิธีการขั้นตอนที่ควรเป็นอารยะ จนสยามต้องมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับชาติตะวันตก ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายของตนเอง ท้ายที่สุด บทบัญญัติกฎหมายแบบเดิม จึงถูกแทนที่ด้วยการประมวลกฎหมายภายใต้ระบบกฎหมายใหม่ที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น การบังคับหนี้จากที่สามารถบังคับเอาจากเนื้อตัวร่างกายของลูกหนี้ได้ ก็ไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป เนื่องจากถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ดังนั้น การบังคับหนี้จะต้องเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น 

ข้อสังเกตแห่งยุคสมัย

พัฒนาการทางสังคมที่เดินทางมาในถนนแห่งประวัติศาสตร์ดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาวการณ์ในสังคมปัจจุบัน แม้ระบบกฎหมายจะถูกปรับปรุงแก้ไขให้มีความก้าวหน้า มีเสรีภาพ เคารพความเป็นปัจเจกบุคคล และประกันความปลอดภัยยิ่งขึ้นเพียงใด ย่อมหลีกไม่พ้นจิตวิญญาณจากอดีตของสังคม เป็นความสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ขาดระหว่างกฎหมายกับพัฒนาการของสังคม ความเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้ในสังคมไทย ยังผูกพันกันในแง่ศีลธรรมนอกเหนือจากข้อตกลงทางกฎหมาย 

เพราะฉะนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่การบังคับหนี้ เจ้าหนี้จะใช้วิธีการลงโทษลูกหนี้โทษฐานไม่ชำระหนี้ โดยอาศัยช่องโหว่เชิงนิติวิธี ด้วยการดำเนินคดีอาญา ประกอบกับการพิสูจน์ถึงเจตนาชั่วร้ายของลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะชำระหนี้ตั้งแต่แรกเริ่มเข้าทำสัญญาเงินกู้ แต่เป็นการหลอกลวง แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอก เพื่อให้สอดรับเข้ากับองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งตามปกติ เมื่อเกิดเหตุไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้คุยกันไว้ ไม่ชำระเงิน ไม่ส่งมอบสินค้าหรือทรัพย์สิน โดยทั่วไปพฤติการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องการผิดสัญญาทางแพ่ง และต้องฟ้องร้องดำเนินคดีการทางแพ่ง แต่ฝ่ายเจ้าหนี้ผู้เสียหายอาจต้องการให้มีการฟ้องคดีอาญาฐานฉ้อโกง หวังพึ่งพากระบวนการยุติธรรมที่รัฐเป็นฝ่ายดำเนินการ และเป็นมาตรการการบังคับที่เข้มข้นรุนแรงกว่า

การใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าวจึงเป็นข้อสังเกตที่สะท้อนถึง กลไกทางกฎหมายที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการกดปราบ ‘พวกลูกหนี้’ ที่ถูกมองว่าบกพร่องหน้าที่ทางกฎหมายและศีลธรรม เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่ชำระหนี้ที่ตนเองก่อไว้ อันมาจากรากฐานทางวัฒนธรรมและระบบความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานระหว่างบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้

 

เอกสารอ้างอิง

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, 2561).

มังรายศาสตร์ หรือ กฎหมายพระเจ้ามังราย, Khajohn_A130432.pdf

แลงกาต์, ประวัติศาสตร์ฎหมายไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) 

อดิเทพ พันธ์ทอง, “การขายลูกเมียกิน” ของคนสยามในสายตาฝรั่ง เปิดบันทึกสัญญาค้าขายทาสในอดีต, 8 พฤศจิกายน 2566, ศิลปวัฒนธรรม, https://www.silpa-mag.com/history/article_2318

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเมืองไทย, (เชียงใหม่: สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553)

Tags: , , , ,