วันนี้ (4 ธันวาคม 2567) กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Fellowship of Energy Reform for Sustainability: ERS) นำโดย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และพรายพล คุ้มทรัพย์ แกนนำกลุ่ม ERS แถลงถึงแนวทางการปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบที่มากเกินความจำเป็น

ERS มองว่า การประเมินตัวเลขความต้องการไฟฟ้าในอีก 14 ปีข้างหน้าในแผน PDP2024 นั้นสูงเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการประเมินการผลิตไฟฟ้าจากนอกระบบ (Independent Power Supplies: IPS) ที่หมายถึงการผลิตไฟฟ้าของเอกชนเพื่อใช้เองต่ำเกินไป ประกอบกับการใช้ช้อมูลที่ไม่ทันสมัย ทั้งที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงภาคครัวเรือน

อีกทั้งในอนาคตมีการประเมินว่า จะมีการทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ของเอกชนจะมีมากขึ้น จึงทำให้ตัวเลขการประเมินความต้องการไฟฟ้าในระบบน้อยลงจากค่าพยากรณ์ ดังนั้นจึงทำให้การผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สูงเกินความเป็นจริง (ปัจจุบันระบุว่า ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2580 อยู่ที่ 5.45 หมื่นเมกะวัตต์) ซึ่งจะส่งผลต่อการวางแผนลงทุนสร้างกำลังผลิตใหม่ เกิดเป็นต้นทุนซึ่งเป็นภาระต่อผู้บริโภค

ERS ยังระบุเพิ่มเติมว่า แผน PDP2024 ควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเสถียรอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อช่วยทดแทนพลังงานฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน โดยราคาขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต้องมีความเหมาะสม ซึ่งสามารถดำเนินมาตรการได้ทันที เช่น

  1. แผน PDP2024 ต้องกำหนดโครงสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่ต้องพ่วงการติดตั้งแบตเตอรีหรือระบบจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อให้สามารถผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมถึงแบตเตอรีจัดเก็บไฟฟ้าลดลงมาก
  2. ควรใช้ระบบการประมูลแข่งขันด้านราคาไฟฟ้าในการคัดเลือกโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยประกาศหลักเกณฑ์และกติกาล่วงหน้าเพื่อความโปร่งใส รวมทั้งให้มีการประมูลเสนอราคาโครงสร้างการซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากต่างประเทศ และส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการค้าขายไฟฟ้า ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์การจากเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาค
  3. ควรผลักดันให้นำระบบจัดเก็บภาษีคาร์บอนและระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าโดยเร็ว
  4. แผน PDP2024 ควรส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวล พลังงานจากขยะและก๊าซชีวภาพให้เต็มประสิทธิภาพ โดยกำหนดมาตรการจัดการอุปสรรคที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนกลุ่มนี้เข้ามาในระบบน้อยกว่าที่ควรเป็น
  5. เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนตามกรอบที่ประเทศเคยเสนอในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กำหนดว่า ภายในปี 2583 ไทยจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ 68% แต่ในแผน PDP2024 กลับมีการวางกรอบการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในปี 2580 ไว้ที่ 51% เท่านั้น หมายความว่า ไทยจะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากถึง 17% ภายใน 3 ปี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
  6. ส่งเสริมมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาของภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ SMEs

นอกจากนั้น ERS เห็นควรให้เร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันเสรีด้านราคาและคุณภาพการให้บริการ โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าโดยตรงแก่ผู้ใช้ได้ ผ่านบริการสายส่งและสายจำหน่ายของการไฟฟ้า (Third Party Access: TPA) โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านแผน PDP2024 ต้องมีมาตรการและแผนงานที่ชัดเจน เช่น การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต้องมีการประมูลราคา ในสัญญาต้องมีการระบุเงื่อนไขที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้เพื่อให้สอดคล้องกับระบบเสรีที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในปลายแผน PDP2024 มีการกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Nuclear Reactor: SMR) ERS เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางออกที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งเทคโนโลยี ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยมีการพัฒนาไปมาก

ดังนั้นในแผน PDP2024 ควรกำหนดแผนงานที่ชัดเจนด้านการเข้าเป็นภาคีในพิธีสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งการออกกฎหมายด้านการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และสร้างความเข้าใจต่อประชาชน

Tags: , , , , ,