ในวันนี้การเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิง ภรรยา หรือผู้เป็นแม่เพียงคนเดียวตามความเชื่อคร่ำครึในอดีตอีกต่อไป เพราะผู้ชาย สามี หรือพ่อสามารถดูแลลูกอยู่กับเหย้าเรือนได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงบทบาททางเพศ (Gender Role) และเมื่อมนุษย์อยู่ในสถานภาพของความเป็นพ่อแม่ ทุกเพศต่างก็มีสัญชาตญาณในการปกป้องดูแลหล่อเนื้อเชื้อไขของตน แต่สัญชาตญาณกับทักษะนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะทักษะหรือความสามารถในการเลี้ยงดูลูกอาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด ในฐานะพ่อแม่จำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปตามลำดับ

สมาชิกในแต่ละครอบครัวต่างมีส่วนร่วมในการดูแลลูกมากน้อยต่างกันไป บางครอบครัวพ่อต้องออกไปทำงานหาเงิน ทำให้ไม่รู้วิธีดูแลเด็กเล็ก เช่น ชงนมให้ลูก อาบน้ำ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม แต่พ่อจากหลายครอบครัวกลับเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนเข้าโรงเรียน เพราะคลุกคลีอยู่กับลูกตลอดเวลา 

แต่จะเป็นอย่างไร เมื่อผลการวิจัยพิสูจน์ว่า เครื่องแสดงความเป็นชายอย่าง ‘อัณฑะ’ ต่อให้มีขนาดใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ชายจะเลี้ยงลูกเก่งเสียอย่างนั้น เพราะผลการทดลองพบว่ายิ่งขนาดอัณฑะเล็ก ยิ่งมีแนวโน้มว่าจะสามารถมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกได้มากกว่า หรืออาจเลี้ยงลูกได้ดีกว่า

ก่อนจะเข้าสู่การวิจัยที่แปลกและสุดแสนเนิร์ด จำเป็นต้องกล่าวถึง ‘ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ฮอร์โมนเพศชาย’ กันก่อน เพราะฮอร์โมนตัวนี้ผลิตมาจากอัณฑะ 2 ข้าง ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อ นอกจากจะผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเพศชายแล้ว อัณฑะนี้ยังทำหน้าที่ผลิตสเปิร์ม (Sperm) หรือตัวอสุจิอีกด้วย โดยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นมีข้อสรุปแล้วว่า ระดับเทสโทสเตอโรนในผู้ชายมีความสัมพันธ์ต่อชีวิตคู่และการหย่าร้าง เนื่องจากเทสโทสเตอโรนคือฮอร์โมนที่เกี่ยวกับแรงขับทางเพศ

จากการทบทวนวรรณกรรมด้านชีววิทยาและการสืบพันธุ์ ก่อให้เกิดการทดลองในงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรี Emory University ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ในปี 2013 หัวข้อ Testicular volume is inversely correlated with nurturing-related brain activity in human fathers โดย เจนนิเฟอร์ เอส. มาสคาโร (Jennifer S. Mascaro) แพตทริก ดี. แฮคเกตต์ (Patrick D. Hackett) และเจมส์ เค. ริลลิง (James K. Rilling) เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสมอง พฤติกรรมของพ่อ และชีววิทยาการสืบพันธุ์ ผลการทดลองพบว่า ขนาดของอัณฑะแปรผกผันกับการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรของผู้เป็นพ่อ หรือว่ากันง่ายๆ คือ ยิ่งขนาดอัณฑะเล็ก พ่อจะยิ่งให้ความร่วมมือในการเลี้ยงลูกมากกว่า

โดยความสำคัญของงานศึกษาเรื่องอัณฑะของพ่อนี้ ริลลิงระบุว่า 

“งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่บทบาทของแม่ ซึ่งแม่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของลูกมากกว่าพ่ออย่างแน่นอน แต่พ่อเองก็มีความสำคัญเช่นกัน และบทบาทของพ่อยังไม่ค่อยได้รับการศึกษาวิจัย”

การทดลองนี้จะพาพ่อที่อายุระหว่าง 21-55 ปีที่มีลูกทางสายเลือดอายุระหว่าง 1-2 ขวบ และอาศัยอยู่กับลูกและแม่ของลูกทางสายเลือด จำนวน 70 คน มาเข้าทดสอบด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (functional Magnetic Resonance Imaging: fMRI) ตรวจดูการทำงานของสมอง ในขณะที่พวกเขาดูรูปถ่ายของลูกของตัวเองในอารมณ์ต่างๆ รวมถึงรูปถ่ายที่คล้ายกันของเด็กที่ไม่รู้จักและผู้ใหญ่แปลกหน้า แล้วจากนั้นจึงใช้ตรวจร่างกายโดยเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เพื่อสแกนวัดขนาดของอัณฑะ และวัดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของผู้ชาย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ และขนาดของอัณฑะที่เล็กกว่า คือคนที่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกมากกว่า

อีกนัยหนึ่ง การดูแลเอาใจใส่ลูกที่มากขึ้นอาจทำให้อัณฑะของผู้ชายมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ

“เราตั้งข้อสมมติฐานว่า ขนาดอัณฑะสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก แต่ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันว่า เมื่อผู้ชายมีส่วนร่วมมากขึ้นในฐานะผู้ดูแล ขนาดอัณฑะของพวกเขาก็จะเล็กลง เนื่องจากอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะชีววิทยาได้ ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่า ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะลดลงเมื่อผู้ชายมีส่วนร่วมในฐานะพ่อ” ริลลิงกล่าว

ทั้งนี้ การลดลงของปริมาณเทสโทสเตอโรส อาจเกิดจากปัจจัยภายนอกได้ เช่น ความเครียด สถานะเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งระดับเทสโทสเตอโรนที่ลดลง หรือขนาดอัณฑะที่เล็กลง อาจถูกมองในแง่มุมที่งดงามเพราะมันถูกแทนที่ด้วยความเป็นพ่อที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เน้นไปเฉพาะการดูแลลูกโดยตรงของพ่อเท่านั้น ไม่ใช่การดูแลทางอ้อม อย่างการปกป้องลูก หรือการทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูลูก ดังนั้นสุดท้ายแล้วงานทดลองไม่ได้ตัดสินว่า ใครเป็นพ่อที่ดีหรือไม่ดี เพราะแต่ละคนย่อมมีวิถีทางในการเลี้ยงลูกแตกต่างกัน

ที่มา:

– J.S. Mascaro, P.D. Hackett, J.K. Rilling, Testicular volume is inversely correlated with nurturing-related brain activity in human fathers, Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A. 110 (39) 15746-15751, https://www.pnas.org/doi/full/10.1073/pnas.1305579110. (2013). 

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2013/sep/09/testicle-size-men-childcare-aptitude-parenting-us

https://www.medicalnewstoday.com/articles/265855 

https://esciencecommons.blogspot.com/2013/09/testes-size-correlates-with-mens.html 

Tags: , , , , , , , , ,