ในวันที่ลูกกำลังเติบโต การสอนลูกขับรถคงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่พ่อแม่ต้องถ่ายทอดเพื่อให้เขาสามารถดูแลตนเองได้ เป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว
ทว่าเรื่องนี้สำหรับลูกๆ แล้ว กลับเป็นเหมือนฝันร้ายที่กำลังมาเยือน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินเสียงเตือนจากผู้คนอยู่เสมอว่า “อย่าเรียนขับรถกับคนในครอบครัว” เพราะเมื่อไรพ่อแม่หรือคนในครอบครัว เริ่มคาดเข็มขัดนิรภัยที่นั่งข้างคนขับในฐานะครูสอนขับรถเมื่อใด ลูกที่ในตอนนั้นมีสถานะคือนักเรียนหัดขับ จะต้องถูกบ่น ถูกตำหนิไปเสียทุกการกระทำ ทั้งการสตาร์ทรถ เข้าเกียร์ เหยียบคันเร่ง ที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ถูกใจผู้สอนสักที
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาระดับนานาชาติที่เกิดขึ้นกันทั่วโลก โดย เจเนลล์ เออร์ลิชแมน ไดมอนด์ (Janelle Erlichman Diamond) บรรณาธิการบริหารของนิตยสารบัลติมอร์ (Baltimore) รัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยในบทความเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ว่า เธอเองก็เป็นคุณแม่ที่เพิ่งสอนลูกชายวัยรุ่นหัดขับรถ เธอเคยคิดว่า การสอนลูกขับรถจะเป็นบรรยากาศสบายๆ อบอุ่นหัวใจ เต็มไปด้วยคำว่า ‘ทำดีมากลูก’ แต่เมื่อได้อยู่บนรถที่ลูกขับจริงๆ เธอกลับเอาแต่เรียกชื่อลูกด้วยความโกรธตลอดเวลา และคงเป็นช่วงเวลาที่เธอเรียกชื่อลูกบ่อยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ความหงุดหงิดของพ่อแม่ดูเหมือนจะมาจากความวิตกกังวล เพราะการขับรถคือสิ่งที่อันตรายที่สุดในชีวิตเท่าที่ลูกเคยทำมา และในขณะเดียวกันการสอนลูกขับรถอาจเป็นบทบาทที่ยากที่สุดในชีวิตพ่อแม่
แต่ปัญหาใหญ่คืออาการโมโหหงุดหงิดของพ่อแม่ขณะสอนลูก อาจทำให้ลูกรู้สึกแย่จนล้มเลิกความตั้งใจในการเรียนขับรถ กระทั่งทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลงได้ เว็บไซต์แวนเดอร์บิลต์เฮลท์ (Vanderbilt Health) ของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐฯ เผยแพร่บทความ ‘5 เคล็ดลับ สอนวัยรุ่นขับรถอย่างไรไม่ให้ตัวเองเสียสติ’ โดยมีคำแนะนำดังนี้
1. เริ่มฝึกทักษะจากลานจอดรถกว้างๆ
วัยรุ่นหัดขับทั้งหลายต้องอาศัยพื้นที่ปลอดภัย ทั้งในเชิงกายภาพและพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ โดยเฉพาะครั้งแรกๆ ที่ต้องอยู่หลังพวงมาลัย การตัดสินใจยังไม่แน่วแน่ อาจกะจังหวะเหยียบเบรกไม่แม่น หรือยังไม่แน่ใจว่าต้องหักพวงมาลัยเลี้ยวตอนไหน และยิ่งลูกวัยรุ่นคนไหนมีความวิตกกังวลในการขับรถมากเท่าไร ยิ่งควรใช้เวลาในพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ก่อนจะเข้าสู่บทเรียนต่อไปในการขับออกสู่ถนนจริง
2. ฝึกฝนบ่อยๆ
แน่นอนว่าทุกการฝึกหัดสิ่งใหม่ต้องใช้เวลาในการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ การขับรถก็เช่นกัน การฝึกขับบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายจดจำได้อย่างรวดเร็ว
3. มีคนสอน 2 คนขึ้นไป ดีกว่าสอนคนเดียว
ในครอบครัว หากได้เรียนวิธีการขับรถจากทั้งพ่อและแม่จะเป็นผลดีต่อลูก นั่นเพราะว่า แต่ละคนจะมีกลยุทธ์ในการสอนต่างกัน ลูกจะสามารถนำวิธีการสอนที่เหมาะสมกับตนเองมาปรับใช้ได้
4. ควบคุมอารมณ์ให้ดี
การควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการขับรถ เมื่อสถานการณ์บนรถเริ่มแย่ เช่น เริ่มมีการร้องไห้คร่ำครวญ หรือตะโกนด่าทอ ไม่ว่าจะมาจากลูกหรือพ่อแม่ ให้หยุดการสอน แล้วกลับบ้านทันที เพราะลูกไม่สามารถตั้งสมาธิกับการขับรถได้ในขณะที่บรรยากาศในรถเริ่มระอุ และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทางที่ดีที่สุดพ่อแม่ควรควบคุมอารมณ์ของตนเอง เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกตื่นตระหนกหรือเครียดตาม แต่หากพ่อแม่มองว่า การสอนลูกขับรถอย่างใจเย็นเป็นเรื่องยากเกินไป ควรขอความช่วยเหลือจากญาติหรือคนในครอบครัวคนอื่นให้สอนแทนตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในครอบครัว
5. คาดการณ์สถานการณ์เสี่ยง
เป็นเรื่องธรรมดาที่วัยรุ่นหัดขับจะเข้าเกียร์ผิด หรือเบียดชนเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นบ้าง พ่อแม่ควรเตรียมใจกับสถานการณ์เหล่านี้ และยอมรับว่า การฝึกขับรถของลูกย่อมมีข้อผิดพลาด นอกจากนี้การพูดคุยกับลูกถึงความเสี่ยงของอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพียงแต่ควรพูดกันที่บ้าน ไม่ใช่บนรถ
ช่วงเวลาที่พ่อแม่สอนลูกขับรถ เป็นกิจกรรมที่บางครอบครัวอยากเลี่ยง แต่ในบางบ้านก็อยากเสี่ยงลองสอนกันเองสักตั้ง ทั้งนี้สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดนอกจากความปลอดภัยบนท้องถนน คือเรื่องสภาพจิตใจของลูกๆ เพราะหากการสอนเข้มงวดเกินไป หรือคนสอนมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวตลอดเวลา คนเรียนอาจละทิ้งความพยายาม และกลายเป็นปมในใจจนไม่อยากขับรถ
สิ่งที่ลูกต้องการมีแค่ความไว้ใจจากพ่อแม่ และเชื่อใจว่าลูกสามารถทำมันสำเร็จได้ในที่สุด ขอเพียงพ่อแม่อดทนสอนอย่างใจเย็น และค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้นเอง
ที่มา
https://my.vanderbilthealth.com/teaching-teens-to-drive/
Tags: ครอบครัว, ขับรถ, Family Tips, สอนลูกขับรถ, เรียนขับรถ