ในมิติกฎหมาย ‘หนี้’ โดยทั่วไปถูกจัดในหมวดของกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีบ่อเกิดทั้งภายใต้หลักเสรีภาพในการทำนิติกรรมสัญญาและนิติเหตุ ทั้งกรณีการละเมิด การเกิดลาภมิควรได้ และการจัดการงานนอกสั่ง ส่วนกลไกการบังคับชำระหนี้ก็มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้มีการปฏิบัติตามสัญญา การทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้เต็มจำนวน หรือให้เจ้าหนี้ได้รับการชดเชยเยียวยา เพื่อฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนสภาพเดิมได้มากที่สุด
หากแต่กล่าวถึงเฉพาะหนี้เงินที่เกิดจากการทำสัญญากู้ยืม ย่อมมาจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของปัจเจกบุคคล แต่คำถามคือเพราะเหตุใด คนถึงเลือกตกเป็นลูกหนี้ยอมกู้ยืมเงินคนอื่น ซึ่งหากพิจารณาจากมิติทางกฎหมายที่เน้นไปที่ความเชื่อว่า มนุษย์มีเสรีภาพในการทำสัญญา มนุษย์สามารถเข้าทำสัญญากับใครก็ได้ ตราบเท่าที่ข้อตกลงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันของประชาชน แต่ในความเป็นจริง มนุษย์เข้าผูกพันสัญญาบนความมีเสรีภาพจริงหรือ และกลไกการบังคับชำระหนี้ เป็นไปเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนตามสัญญาเพียงเท่านั้นหรือไม่
เรากำลังอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนต้องตกเป็น ‘ลูกหนี้’
เบื้องต้นจะขอกล่าวถึงงานศึกษาชื่อว่า The Making of the Indebted man (2012) โดย เมาริซิโอ ลาซาราโต (Maurizio Lazzarato) ซึ่งมีการนำเสนอหลักคิดสำคัญว่า มนุษย์ไม่ได้ก่อหนี้ เพราะความโลภ การไม่รู้จักพอ หรือเป็นฉลาดเฉลียวในการลงทุน แต่มนุษย์ทุกคนล้วนอยู่ในระบบเศรษฐกิจแห่งหนี้ ที่บีบบังคับและผลักไสให้มนุษย์ต้องอยู่ในสถานะ ‘ลูกหนี้’ ในระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เรากำลังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ซึ่งดำเนินมาตลอดหลายสิบปี และสภาวะดังกล่าวได้ปล่อยให้ประชาชนทั่วไปดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง และวิธีการที่เป็นไปได้ไม่กี่อย่างก็คือ การต้องตกเป็นลูกหนี้ และอาจเรียกระบบเศรษฐกิจดังกล่าวได้อีกชื่อหนึ่งได้ว่า ‘ระบบเศรษฐกิจแห่งหนี้’ (Debt Economy)
ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่เน้นการโอนกิจการการให้บริการสาธารณะให้ตกอยู่ในมือของเอกชน ที่ส่งผลให้ระบบตลาดและการมุ่งแสวงหาผลกำไรเข้าครอบงำการให้บริการสาธารณะพร้อมกับลดทอนการสร้างสรรค์ระบบรัฐสวัสดิการ (Welfare State) หรือ โครงข่ายความปลอดภัยให้กับประชาชน (Safety Net) การบรรลุความต้องการพื้นฐาน การมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือการขยับสถานะทางสังคม ตลอดจนการสร้างตัวตนของมนุษย์ ล้วนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยศักยภาพของปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการมีที่อยู่อาศัย การเดินทางไปทำงาน การรักษาพยาบาล การเข้าระบบการศึกษาที่ดี ฯลฯ
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ไร้ซึ่งบริการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์คนทำงานที่ต้องอาศัยรถประจำทางที่คาดคะเนเวลาได้ (แน่นอนว่า การใช้บริการรถสองแถวหรือรถแดง ไม่ได้ตอบโจทย์ดังกล่าว) หนทางการเอาตัวรอดจากการอดอยากและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็คงหนีไม่พ้นการซื้อดาวน์รถส่วนตัว ที่มาพร้อมกับหนี้ไฟแนนซ์ซึ่งต้องผ่อนจ่ายรายเดือนเป็นงวด ๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้น เป็นต้น
ในระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนตกเป็นลูกหนี้นั้นมีมากกว่าการฉายให้เห็นภาพที่ลูกหนี้ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญา แต่ยังได้สร้างระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ภายใต้ระบบศีลธรรมขึ้นอีกด้วย
หนี้กับภาระผูกพันทางศีลธรรม
ลาซาราโตต่อยอดมโนทัศน์ของ ฟรีดริช นีตเช (Friedrich Nietzsche) จากหนังสือ On the Genealogy of Morality รวมถึง Anti-Oedipus ของ Giles Deleuze และ Felix Guattari เพื่ออธิบายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดระบบสังคม ตลอดจนการสร้างตัวตน (Subjectivation) และสำนึกผิด (Guilty) ในตัวลูกหนี้ ตัวตนนี้ถูกหล่อหลอมขึ้นเพื่อให้ลูกหนี้สามารถ ‘สัญญา’ หรือยืนยันได้ว่าจะชำระคืนในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางเหนือมโนสำนึกทางศีลธรรมที่ฝังลึกในระบบหนี้
การกู้ยืมเงินและผลที่ตามมาจึงไม่ชื่อเรื่องของกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติตามสัญญา หรือความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย การทำข้อเสนอสนองถูกต้องตรงกัน แต่เป็นประเด็นเกี่ยวกับความดีความชั่ว โดยการไม่ชำระหนี้ก็ไม่ต่างจากการทำเลวคดโกงต่อเจ้าหนี้ผู้มีพระคุณ ซึ่งได้เข้ามาหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือยามเดือดร้อน หลังจากเกิดหนี้ขึ้น ลูกหนี้ต้องรู้สึกผิดและขูดรีดทั้งแรงและเวลาในชีวิต เพื่อจะได้นำผลลัพธ์ไปดำเนินการชำระหนี้ ขณะเดียวกันการเป็นหนี้นั้นได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อตัวตนของมนุษย์ ให้มีการสร้าง ปรับเปลี่ยน และก่อรูปไปในรูปแบบต่างๆ
กล่าวคือ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนมักจะพูดกับเพื่อนฝูงเชิงแดกดันปนล้อเล่นว่า “วันไหนถ้าขี้เกียจ ลองเป็นหนี้ดูจะได้ขยัน” การหางานทำว่าจะประกอบอาชีพอะไร ตื่นเช้าไปทำงาน การเดินทางไปทำงาน การเผชิญสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน การใช้ประโยชน์จากวันหยุดว่าจะนอนเฉยๆ ซักผ้า หรือไปเที่ยว เรื่องเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับการก่อหนี้ เป็นหนี้ และชำระหนี้
หากคิดต่อยอดจากลาซาราโตอีกขยักหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ หาได้มีค่าเท่ากับการเป็นคู่สัญญาในทางกฎหมาย แต่กลับมีสถานะเป็นผู้อุปถัมภ์และผู้ได้รับการอุปถัมภ์ ซึ่งดำรงอยู่โดยไร้ข้อจำกัดด้านเวลา แม้ภายหลังจะมีการชำระหนี้เสร็จสิ้นก็ตาม แต่ระบบศีลธรรมแห่งหนี้จะย้ำเตือนว่า ครั้งหนึ่งเจ้าหนี้ผู้นั้นได้เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนลูกหนี้ กลายเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่เข้ามาส่งผลระหว่างกันต่อๆ ไป
ด้วยเหตุนี้ในมิติของเวลา หนี้ไม่ได้เป็นเพียงการกล่าวถึงการปฏิบัติชำระคืนในห้วงเวลาปัจจุบัน แต่เป็นคำสัญญาที่เชื่อมโยงกับอนาคต ทำให้เจ้าหนี้สามารถควบคุมลูกหนี้ได้ในระยะยาว ลาซาราโตใช้แนวคิดนี้เพื่ออธิบายว่า ในเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ หนี้ถือเป็นกระบวนการที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ต่างจากองค์ความรู้ทางกฎหมายที่หนี้จะสิ้นสุดลงทันที เมื่อมีการชำระหนี้ถูกต้องทำให้ภาระผูกพันทั้งหมดยุติลง ไม่มีใครสามารถเรียกร้องอะไรต่อกันได้อีก
ความพิเศษของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ลาซาราโตชี้ว่า มันถือเป็นระบบความสัมพันธ์ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่ของโรงงาน เหมือนในความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน แต่ว่าแผ่ขยายครอบคลุมทั่วทั้งสังคม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในปัจจุบันจากปัญหาหนี้สาธารณะ (การที่รัฐมีหนี้สินตัวอย่างเช่น หลังจากวิกฤตหนี้ภาคเอกชน) หมายความว่าสังคมในภาพรวมกลายเป็นลูกหนี้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ว่างงาน ผู้ทำงานนอกเวลา หรือผู้เกษียณอายุ แต่ละคนต่างตกอยู่ในพลวัตดังกล่าว ซึ่งสร้างระบบการครอบงำทางสังคมอย่างเป็นระบบ
โดยสรุป หนี้ไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นกลไกของอำนาจที่ซับซ้อน ซึ่งสร้างและควบคุมตัวตนของผู้คนทั้งในระดับปัจเจกและสังคมในภาพรวม การก่อหนี้ตามสัญญาหาได้มาจากพื้นฐานบนหลักเสรีภาพในการทำสัญญาอย่างที่ตำรากฎหมายพร่ำสอน แต่มาจากปัจจัยภายนอกมหาศาลที่คอยกดทับ จัดระเบียบชักใยให้มนุษย์ต้องเผชิญกับหนี้โดยไม่อาจเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาตัวรอดในระบบเศรษฐกิจที่บริการสาธารณะและระบบรัฐสวัสดิการถดถอย จนทำให้ประชาชนต้องแสวงหาความมั่นคงในชีวิตด้วยตนเอง
กลไกการบังคับหนี้และการสร้างระเบียบวินัยในระบบเศรษฐกิจ
แนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นการจัดระเบียบระบบทุนนิยมใหม่ โดยที่อำนาจครอบงำของทุนทางการเงิน ได้แทนที่นโยบายการให้บริการสาธารณะโดยภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงนี้นำไปสู่การลดบทบาทของรัฐสวัสดิการ การลดอำนาจขององค์การแรงงานทั้งหลาย การเพิ่มความไม่มั่นคงในตลาดแรงงานที่เน้นการแข่งขัน การทำให้เศรษฐกิจเป็นระบบการเงิน รวมถึงการขยายตัวของหนี้อย่างทวีคูณ ในโครงสร้างนี้หนี้ทำหน้าที่สนับสนุนอุปสงค์รวม เพิ่มสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นการทำให้เศรษฐกิจเป็นการเงิน และส่งเสริมการสร้างตัวตนแบบผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดชอบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเอง ระบบสวัสดิการสาธารณะถูกแทนที่ด้วยการดูแลตัวเอง และชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องใช้หนี้ส่วนตัว เพื่อจัดการสวัสดิการของตนเอง
ในขณะเดียวกันต้องปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่ไม่มั่นคง แสดงถึงความสัมพันธ์ร่วมระหว่างหนี้และวินัยที่เกิดจากนโยบายสาธารณะของเสรีนิยมใหม่ และกลไกตลาดที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
ความคิดดังกล่าวมาจากงานศึกษาของ เทยับ มาห์มุด (Tayyab Mahmud) ซึ่งได้ศึกษาด้วยการเชื่อมโยงระหว่าง ‘ระเบียบวินัย’ (Discipline) กับ ‘หนี้’ (Debt) ถูกอธิบายอย่างลึกซึ้งในบริบทของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ โดยอธิบายว่า หนี้เป็นทั้งเครื่องมือทางการเงินและเครื่องมือในการสร้าง ‘การมีวินัยในตัวเอง’ (Self-Discipline) ในหมู่ลูกหนี้ ซึ่งบีบบังคับให้บุคคลต้องปรับตัวเข้ากับความต้องการของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตาม ‘กฎเกณฑ์’ ที่กำหนดโดยตลาด เช่น การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ การจ่ายคืนหนี้ตรงเวลา พร้อมดอกเบี้ยเงินกู้ และการรักษาความน่าเชื่อถือทางการเงิน
งานของมาห์มุดต่อยอดความคิดต่างๆ จาก มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) เพื่ออธิบายว่า เศรษฐกิจและระบบตลาดไม่ได้เป็นเพียงที่แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่เป็น ‘สนามของการจัดระเบียบและควบคุม’ (Field of intervention for government) อีกทั้งหนี้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจชีวภาพ (Biopower) ที่เน้นการควบคุมและกำกับชีวิตผู้คนในระดับปัจเจก โดยเฉพาะในแง่ของการจัดการความเสี่ยงและการบริหารทรัพยากรส่วนตัว หนี้ถือเป็นตัวอย่างชัดเจนของ ‘การบรรจบกันของอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคม’ (Economic And Social Power) ในการสร้างระเบียบวินัย ลูกหนี้ถูกทำให้ยอมรับบทบาทของตนเองในฐานะ ‘มนุษย์เศรษฐกิจ’ (Homo Economicus) ที่ต้องบริหารทรัพยากรของตัวเองเพื่อความอยู่รอดในระบบตลาด โดยลดการพึ่งพารัฐหรือกลไกสวัสดิการสังคม
แม้จะนำแนวคิดของฟูโกต์มาใช้ แต่เขาก็ได้วิจารณ์ว่า ฟูโกต์ประเมินบทบาทและกลไกกฎหมายต่ำเกินไป โดยมาฮ์มุดเสนอว่า รัฐและกฎหมายยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบหนี้ เช่น การกำหนดนโยบายการเงินและการออกกฎหมายที่ส่งเสริมการทำให้เศรษฐกิจเป็นระบบการเงิน (Financialization) ทั้งนี้ เพื่อการควบคุมทางสังคมและการสร้างตัวตนในแบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายของระบบตลาด
สรุป
คำอธิบายข้างต้น ถือว่าได้ก้าวข้ามพรมแดนความรู้ทางด้านกฎหมายไปไกลอีกขั้น กล่าวคือ กลไกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับชำระหนี้ที่มีอยู่ ไม่ใช่เพียงการทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้เต็มจำนวนเท่านั้น แต่กลไกและสถาบันกฎหมายล้วนเชื่อมโยงกับเป้าหมาย ในการค้ำจุนหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจและตลาดแบบเสรีนิยมใหม่ ที่แน่นอนว่าต้องมีกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (บ้างอาจเรียกว่า กลุ่มนายทุน กลุ่มชนชั้นปกครอง กลุ่มเจ้าหนี้) ซึ่งสามารถผูกขาดการเข้าถึงและการจัดสรรทรัพยากรหรือผลประโยชน์ทั้งหลายอย่างเต็มที่
อีกทั้งในการตอบคำถามว่า การก่อหนี้เกิดจากการที่มนุษย์ตัดสินใจเข้าผูกพันสัญญาบนความมีเสรีภาพจริงหรือไม่ งานศึกษาของลาซาราโตที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า การก่อหนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจที่ระบบรัฐสวัสดิการ และโครงการบริการสาธารณะที่จะสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนในสังคมไร้ประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการนำเสนอของมาฮ์มุดที่เน้นให้เห็นว่า เมื่อระบบสวัสดิการสาธารณะถูกแทนที่ด้วยการดูแลตัวเอง และชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องใช้การก่อหนี้ส่วนตัว เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้แก่ตนเองและครอบครัว
เอกสารอ้างอิง
Lazzarato, M. The Making of the Indebted Man: An Essay on the Neoliberal Condition. Los Angeles, CA: Semiotext(e), 2012.
Mahmud, Tayyab. “Debt and Discipline.” American Quarterly 64, no. 3 (2012): 469–94.
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. CONATUS: ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์, 2561
ปิยนันท์ จินา. มนุษย์ หนี้ เสรีนิยมใหม่. 1 พฤษภาคม 2021. https://anthropologyyyyy.xyz/review/book-review/2021/มนุษย์-หนี้-เสรีนิยมใหม่/
Tags: Rule of Law, ระบบศีลธรรม, หนี้, กฎหมาย, ระบบเศรษฐกิจ