งานศิลปะสุด Abstact อย่าง ‘กล้วยแปะเทปบนผนัง’ ถูกขายประมูลอยู่ที่มูลค่า 6.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 216 ล้านบาท) โดย จัสติน ซุน (Justin Sun) เจ้าพ่อคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) จากจีนเป็นผู้ทุบสถิติจากที่คาดการณ์ไว้ถึง 5 เท่าตัว
เชื่อว่า วินาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก ‘กล้วยแปะเทปบนผนัง’ (Banana duct-taped) ผลงานศิลปะจาก เมาริซิโอ คัตเตลัน (Maurizio Cattelan) ศิลปินชาวอิตาเลียน เจ้าของฉายา ‘Comedian’ จากผลงานเสียดสีวัฒนธรรมศิลปะร่วมสมัยที่เคยเป็นไวรัลในปี 2019 หลังโลกโซเชียลฯ ต่างรวมใจตีความสัญญะที่แอบแฝงในผลงานสุด Abstract ชิ้นนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2024 สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งเผยว่า ผลงานกล้วยแปะเทปบนผนัง ได้รับการประมูลด้วยเงินมูลค่ามหาศาลราว 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 216 ล้านบาท) ที่ห้องประมูลสินค้า Sotheby ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 27 ล้านบาท) ก่อนจะถูกแย่งซื้อจากนักประมูลทั่วโลกภายในพริบตา ด้วยราคามากกว่า 5 เท่าจากการประเมิน คือ 1-1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 34-52 ล้านบาท)
โฉมหน้าผู้ที่ได้ครอบครองผลงานศิลปะสุดไอคอนิก พร้อมกับใบรับรองและคู่มือการใช้งานคือ จัสติน ซุน มหาเศรษฐีคริปโตเคอร์เรนซีสัญชาติจีน และ CEO ของ Tron Foundation โดยมีตัวแทนประมูล คือ เฉิน ฮวา (Jen Hua) รองประธานจาก Sotheby สาขาเอเชีย พร้อมกับแสดงความรู้สึกยินดีว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นมากกว่างานศิลปะ
“นี่ไม่ใช่แค่งานศิลปะ แต่มันสะท้อนถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโลกศิลปะ มีม และชุมชนคริปโตฯ เข้าด้วยกัน ผมหวังว่า งานชิ้นนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนคิดและร่วมกันถกเถียงในอนาคต จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์” ซุนทิ้งท้ายว่า เขาจะ ‘กิน’ กล้วยใบนี้ เพื่อให้เกียรติงานในมิติศิลปะและประวัติศาสตร์
ย้อนกลับไปในอดีต กล้วยแปะบนผนังกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ เมื่อคัตเตลันนำมาจัดแสดงในงาน Art Basel ที่เมืองไมอามี (Miami) รัฐฟลอริดา (Florida) พร้อมกับตั้งราคาแพงหูฉี่ถึง 1.2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4 ล้านบาท) โดยที่วัสดุหลักอย่างกล้วย ถูกซื้อมาจากร้านขายของชำธรรมดาที่ไมอามีในราคาปกติ
ไวรัลกล้วยแปะบนผนังยิ่งถูกเป็นที่พูดถึงในวงกว้างขึ้น เมื่อ เดวิด ดาตูนา (David Datuna) ศิลปินชาวอเมริกัน ดึงกล้วยออกจากผนัง และหยิบไปกินต่อหน้าต่อใครหลายคน ด้วยเหตุผลว่า เขารู้สึก ‘หิว’ ขณะที่ในเวลาต่อมา นักเรียนศิลปะชาวเกาหลีคนหนึ่ง ก็เลียนแบบการแสดงดังกล่าวตาม
งานศิลปะกล้วยติดบนผนัง ก่อให้เกิดการถกเถียงหลากหลาย บ้างก็ว่า หัวใจสำคัญของงานคือการถกถามถึงคุณค่าในตัวงานเหมือนกับงาน ‘Fountain’ หรือ ‘โถปัสสาวะ’ ของ มาร์เชล ดูฌอง (Marcel Duchamps) งานศิลปะที่ขึ้นชื่อเรื่องความไร้สาระ แต่เจิดจรัสที่สุดในศตวรรษที่ 20 ด้วยการนำสิ่งของธรรมดามาจัดวางให้เกิดมุมมองใหม่
ขณะที่ เอ็มมานูเอล แปร์โรแตง (Emmanuel Perrotin) เจ้าของแกลเลอรีแปร์โรแตงที่จัดแสดงงานนี้เป็นที่แรก อธิบายความหมายของกล้วยแปะบนผนังว่า เป็นสัญญะถึงการค้าขายในระดับโลก อีกทั้งยังมีสองความหมาย ทั้งในมิติความสำราญและการวิพากษ์วิจารณ์ โดยมีที่มาจาก การที่เจ้าของผลงานชอบคิดถึงประติมากรรมรูปทรงคล้ายกล้วย และจำลองงานหลายแบบจนมาจบลงที่กล้วยของจริง และเวลาที่คัตเตลันเดินทางไปไหน เขามักจะพกกล้วยรวมถึงแขวนไว้บนผนังโรงแรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/style/duct-taped-banana-maurizio-cattelan-auction-hnk-intl
https://edition.cnn.com/style/article/art-basel-miami-maurizio-cattelan-banana-scli-intl/index.html
https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-duchamps-urinal-changed-art-forever
Tags: ศิลปะ, จีน, ศิลปะร่วมสมัย, งานศิลปะ, กล้วยแปะเทปบนผนัง, Justin Sun, การเสียดสี