เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 สถานีโทรทัศน์ช่องวัน (one31) ออกแถลงการณ์กรณีการใช้แมวเข้าฉากในละครเรื่องแม่หยัว ความตอนหนึ่งว่า “ช่องวัน 31 ขอชี้แจงว่า ทางเราคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสัตว์เป็นสำคัญ โดยแมวที่นำมาถ่ายทำนั้นมาจากบริษัทโมเดลลิงสัตว์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนำสัตว์ร่วมถ่ายทำละครและภาพยนตร์โดยเฉพาะมากกว่า 10 ปี และเป็นเจ้าของแมวตัวดังกล่าว รวมถึงเป็นผู้ดูแลแมวตลอดระยะเวลาการถ่ายทำในทุกขั้นตอน”

แม้ในแถลงการณ์จากสถานีโทรทัศน์จะระบุว่า “ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสัตว์เป็นสำคัญ” แต่ในฉากที่ให้แมวกินสำรับที่จัดเตรียม เพื่อทดสอบว่ามียาพิษผสมอยู่หรือไม่นั้น ทีมถ่ายทำกลับใช้ยาสลบเพื่อให้เกิดความสมจริง จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมถึงการคำนึงเรื่องสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัย เนื่องจากการวางยาสลบแมวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

คำถามที่คนให้ความสนใจกันมากคือ ระเบียบ กฎเกณฑ์ การดูแล และสวัสดิภาพ หากนำสัตว์มาใช้ในการถ่ายทำ โดย ดร.คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบในการขออนุญาตใช้สัตว์ในวงการบันเทิง จึงเป็นช่องโหว่ทำให้เกิดการใช้สัตว์ที่ผิดวิธี 

“อาจารย์ขอยกกรณีในต่างประเทศ โดยปกติจะมีการขออนุญาตใช้สัตว์ในการแสดง และมีกฎหมายในการป้องกันไม่ให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์ เช่น การใช้สัตว์ในโรงละครสัตว์มักมีการทรมานสัตว์ เขาจะมีการคุ้มครองด้วย”

อาจารย์คันธิราเสริมว่า สำหรับประเทศไทยมีการใช้สัตว์กับการแสดงภายในงานประเภทมหกรรมอยู่บ้าง เช่น การแสดงละครลิง ซึ่งมีการกล่าวถึงการใช้กฎหมาย เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์ ทว่าการใช้สัตว์ในวงการบันเทิงของสื่อประเภทภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีส์นั้นยังไร้กฎหมายที่ครอบคลุม 

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ระบุว่า แม้จะมีการบัญญัติมาตรา 25 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ว่าด้วยการขนส่งสัตว์หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ ‘เหมาะสม’ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่ก็เป็นเพียงข้อกำหนดว่าด้วย ‘การขนส่ง’ เท่านั้น ยังไม่มีข้อกำหนดกรณีการใช้สัตว์กับการแสดงประกาศไว้

อย่างไรก็ดี ดร.คันทิราแสดงความเห็นว่า ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ในประเทศไทยในกรณีการนำสัตว์เข้าร่วมการแสดง ควรใช้ ‘กฎหมายควบคู่กับจริยธรรม’ โดยต้องมีการสำรวจสวัสดิภาพของสัตว์ในการนำมาใช้ในการแสดงแต่ละครั้ง และสิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ต้อง ‘ขออนุญาต’ ในการใช้สัตว์โดยมีระเบียบที่ชัดเจน 

“ประเทศไทยไม่มีกฎหมายการคุ้มครองสัตว์ในการแสดงโดยตรง อีกคำถามจากการตั้งข้อสังเกตกรณีการวางยาสลบแมวในฉาก คือความเหมาะสมหรือไม่ เพราะโดยปกติการวางยาสลบเราใช้สำหรับรักษาสัตว์ไม่ได้ใช้สำหรับการแสดงแน่นอน ตามกฎหมายที่มีอยู่มันสามารถทำได้หรือไม่ได้ เพราะว่ามันยังไม่มีกฎหมายที่บัญญัติกรณีแบบนี้ไว้โดยตรง พอจะไปใช้กฎหมายของกรมปศุสัตว์ ก็ไม่สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นอีก” ดร.คันทิรากล่าว 

สำหรับกรณีการวางยาสลบแมวในการถ่ายทำละครเรื่องแม่หยัว ยังมีการตั้งคำถามถึงการกำกับของผู้เชี่ยวชาญเช่นสัตวแพทย์ ว่าอยู่ในสถานที่ถ่ายทำและดูแลการกระทำดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่องวัน ได้ยืนยันผ่านแถลงการณ์ว่า การวางยาสลบแมวในฉากอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญในการนำสัตว์ร่วมถ่ายทำละคร ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า มีสถานะเป็นสัตวแพทย์หรือไม่

Tags: , , , ,